ThaiPublica > คอลัมน์ > หุ่นยนต์ผ่าตัด

หุ่นยนต์ผ่าตัด

6 มีนาคม 2018


วรากรณ์ สามโกเศศ

เรื่องราวของหุ่นยนต์ผ่าตัด ฟังดูเสมือนเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ หากแต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่มีมาเกือบ 20 ปีแล้วในโลก บ้านเราก็มีมาหลายปีแล้วและมีหลายตัวด้วย หุ่นยนต์นี้มิได้ทำหน้าที่แทนแต่ช่วยแพทย์ผ่าตัดเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และหน้าตาก็มิได้เป็นหุ่นยนต์ดังที่เราจินตนาการ

เท่าที่มีหลักฐาน มนุษย์ใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาความเจ็บป่วยมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณเมื่อ 5พันปีก่อน โดยเจาะกระโหลกเพื่อขับไล่ผีชั่วร้ายที่สิงร่างอยู่ และเจาะกรามเพื่อให้หนองไหล เข้าใจว่ามีการผ่าตัดกันไม่น้อยโดยพระเป็นผู้ผ่าตัด มีการเย็บแผลและใช้น้ำผึ้งเป็นตัวสมานการอักเสบ ต่อมาก็มีการผ่าตัดในอารยธรรมอินเดียและจีน

ในยุคสมัยใหม่แต่ดั้งเดิม การผ่าตัดส่วนใหญ่ในบริเวณช่องท้องและเชิงกรานใช้วิธีผ่าเปิดเป็นแผลยาวเพื่อตัดเนื้อร้าย ตัดไส้ติ่ง เอานิ่วออกฯลฯ โดยมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับควบคู่กับการพัฒนาดมยาสลบ อย่างไรก็ดีมันทำให้ร่างกายชอกช้ำมากจึงทำให้แพทย์คิดหาวิธีอื่นที่ได้ผลเหมือนกันแต่เจ็บปวดน้อยลงและฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วกว่าเพราะชอกช้ำน้อยกว่า

วิธีหนึ่งที่มีการพัฒนาการมาตั้งแต่ปี 1910 และก้าวหน้าเป็นลำดับจนถึงทศวรรษ 1990 จึงมีการแพร่หลายก็คือ Laparoscopy หรือการผ่าตัดในบริเวณท้องและเชิงกรานโดยการกรีดแผลยาวเสมือนรูเพียง 0.5-1.5 เซ็นติเมตร และใช้เครื่องมือลงไปผ่าโดยอาศัยกล้องที่ถ่ายทอดภาพมาบนลงจอ

ปัจจุบันเป็นที่นิยมมาก บางแห่งก้าวหน้าขึ้นโดยใช้หุ่นยนต์ซึ่งควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ช่วย โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2009 หุ่นยนต์ก็คือเครื่องมือแพทย์ที่ทำงานประกอบกันหลายชิ้น มิได้มีหน้าตาเหมือนหุ่นยนต์ในภาพยนตร์แต่อย่างใด ที่เรียกว่าหุ่นยนต์ก็เพราะมันเคลื่อนไหวได้ การเคลื่อนไหวก็นิ่มนวลและแม่นยำกว่ามือมนุษย์ คิดคำนวณความลึกของอวัยวะและความยาวของแผลที่กรีดอย่างสอดคล้องกัน ดูดของเหลว ล้วงหยิบอวัยวะ ใช้เข็มแทง กรีดตัด ฯลฯ

อย่างไรก็ดีวิวัฒนาการของการใช้หุ่นยนต์เพื่อผ่าตัดมิได้หยุดเพียงแค่นี้ ปัจจุบันไปไกลขึ้นทุกที กล่าวคือใช้ทั้งคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมผนวกกัน (ผ่าตัดโดยส่งคำสั่งให้หุ่นยนต์ปฏิบัติการจากแพทย์ผ่าตัดที่อยู่ห่างไกลเป็นพัน ๆ กิโลเมตรได้)

การใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดนั้นแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบการผ่าตัด (มิใช่หุ่นยนต์) ใช้สองวิธีในการควบคุมเครื่องมือผ่าตัดแทนการผ่าตัดโดยตรงด้วยมือกล่าวคือ (1) แพทย์ผ่าตัดตามปกติโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยเหลือสนับสนุนไม่ว่าในการถ่ายทอดภาพลงบนจอ การเคลื่อนไหวมือของหุ่นมาช่วยงาน ฯลฯ (2) แพทย์ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผ่าตัดโดยบังคับการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์และมือโดยแพทย์บังคับผ่านจอควบคุม

ในหลายกรณีมักมีการผสมกันระหว่างการทำงานของแพทย์ผ่าตัดแบบปกติ ทั้งผ่าแบบเปิดกับผ่าแบบรูผสมกับการใช้หุ่นยนต์ที่มีความฉลาดในการทำงานเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น ถ่ายทอดภาพจากแผลที่เจาะลงไป เพื่อขึ้นบนจอแบบ 3 มิติและขยายภาพอีกหลายพันเท่าเพื่อความสะดวกในการทำงานของแพทย์ ในสมองของหุ่นยนต์มีข้อมูลที่ได้มาจาก MRI สภาวะของคนไข้ ลักษณะพิเศษอื่น ๆ ฯลฯ เพื่อนำมาประมวลใช้ในการทำงานของมัน

แพทย์ผ่าตัดอวัยวะต่าง ๆ ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน เช่น รักษาชีวิต พิสูจน์ความเป็นเนื้อร้าย เสริมความงาม ฯลฯ ทำให้มีความซับซ้อนในการใช้หุ่นยนต์เป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแพทย์

โดยสรุป การผ่าตัดโดยทั่วไปในปัจจุบันด้วยหุ่นยนต์ แพทย์เจาะรูขนาดเล็ก 3-4 รู และสอดกล้องที่ถ่ายทอดภาพ 3 มิติออกมาโดยเป็นภาพขยาย 360 องศา (รอบตัว) ของบริเวณที่จะผาตัด แพทย์มองเข้าไปในเครื่องที่มีจออยู่ข้างใน และทำงานผ่านการบังคับมือและเท้าคล้ายการเล่นเกมส์เพื่อบังคับการเคลื่อนไหวของแขนหุ่นยนต์ ซึ่งถืออุปกรณ์ผ่าตัด ทีมงานผ่าตัดก็จะติดตามเฝ้าดูโดยแพทย์อาจใช้การผ่าตัดธรรมดาร่วมด้วย เช่น การเย็บแผลและดูแลความเรียบร้อยขั้นสุดท้าย

หุ่นยนต์ผ่าตัดจริง ๆ จังอย่างสมบูรณ์เกิดขึ้นเมื่อมีผู้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ผ่าตัดตัวแรกที่มีชื่อว่า AESOP ในปี 1994 และต่อมาก็พัฒนา Zeus ขึ้นในปี 2001 แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงถูกควบกิจการไปไปโดยคู่แข่งคือบริษัทผู้สร้าง da Vinci ต่อมาในปี 2003
Da Vinci Surgical System ของสหรัฐอเมริกา เป็นระบบผ่าตัดโดยหุ่นยนต์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของโลกในปัจจุบัน ได้รับการอนุญาตโดย FDA ในปี 2000 เหตุที่ตั้งชื่อนี้ก็เพราะ Leonardo da Vinci เป็นผู้ศึกษากายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ อีกทั้งสเก็ตภาพของหุ่นยนต์เป็นคนแรกของโลกเมื่อ 500 กว่าปีมาแล้ว พร้อมกับเป็นศิลปินวาดภาพผู้ยิ่งใหญ่ของโลก

Da Vinci ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ผ่าตัดได้คล่องตัวที่สุด (ผ่าตัดอวัยวะที่มือแพทย์ไปถึงไม่ถนัด มองเห็นละเอียดและกว้างไกลแบบสามมิติ) ทำให้ชอกช้ำน้อยที่สุด ผ่าตัดได้แม่นยำและมีโอกาสเกิดการแทรกซ้อนได้น้อยกว่า

Da Vinci ซึ่งผ่าตัดได้หลากหลายอวัยวะและหลากหลายสภาวการณ์ แต่ที่นิยมกันมากที่สุดก็คือผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดต่อมลูกหมาก และซ่อมแซมลิ้นหัวใจ da Vinci จะมี 4 แขนโอบล้อมคนไข้จากข้างบน โดย 3 แขนถือเครื่องมือเช่น มีด กรรไกร เข็ม ฯลฯ แพทย์จะสั่งให้เคลื่อนไหวผ่านจอในเครื่องโดยนั่งอยู่ในห้องเดียวกันผ่านการเคลื่อนไหวมือเพื่อสั่งให้แขนหุ่นยนต์ทำงาน ข้อมือของแขนนั้นเคลื่อนไหวได้รอบทิศอย่างชนิดที่มือมนุษย์ทำไม่ได้ da Vinci ถูกสร้างขึ้นเพื่อช่วยให้การผ่าตัดแบบ Laparoscopy มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแพทย์ไม่ต้องยืนและเหลือบมองดูจอ 2 มิติ ทีไม่ชัดและปรับกล้องไปด้วย

ถึงปลายปี 2016 มีการติดตั้ง de Vinci จำนวน 3,803 เครื่องทั่วโลก โดย 2,501 เครื่องอยู่ในสหรัฐอเมริกา 644 ในยุโรป 476 ในเอเชีย (ของไทยมีอยู่ 6 เครื่อง โดยอยู่ในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยรัฐ 5 เครื่อง อีก 1 เครื่อง ในโรงพยาบาลเอกชน) อีก 182 อยู่ในที่อื่น ๆ ของโลก ราคาประมาณ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ และค่าดูแลรักษาอีกหลายแสนเหรียญต่อปี

ปัจจุบันกว่าร้อยละ 90 ของการผ่าตัดต่อมลูกหมาก (อวัยวะของผู้ชาย ไม่ใช่ชิ้นส่วนของรถยนต์ และมีตัว “ก” ตอนท้าย)ในสหรัฐอเมริกาใช้ da Vinci เนื่องจากตำแหน่งของต่อมลูกหมากนั้นยากต่อการทำงานอย่างถนัดมือของแพทย์ การผ่าตัดอวัยวะอื่น ๆ นั้นเริ่มมีการใช้กันมากขึ้นเป็นลำดับในช่วงเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมา

แพทย์ผ่าตัดจำนวนไม่น้อยในสหรัฐอเมริกาต่อต้านการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดเพราะมีค่าบริการสูงมากเป็นพิเศษและไม่จำเป็นในหลายกรณี อย่างไรก็ดีคลื่นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการแพทย์ที่เพิ่มพูนคุณภาพชีวิตถาโถมเข้าใส่โลกมนุษย์อย่างยากที่จะไปหยุดมันได้
หุ่นยนต์ผ่าตัดถึงจะวิเศษแค่ไหนก็เป็นทาสของแพทย์ผ่าตัดอยู่ดี มันเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้ทำงานสะดวกขึ้น มิใช่เป็นสิ่งที่มาทดแทนแพทย์ผู้ซึ่งใช้วิจารณญาณบนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ในการตัดสินใจ

หมายเหตุ : คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 27 ก.พ. 2561