ThaiPublica > เกาะกระแส > เชอร์โนบิล ภาพยนตร์มินิซีรีส์ของ HBO โศกนาฏกรรมที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายของระบอบโซเวียต

เชอร์โนบิล ภาพยนตร์มินิซีรีส์ของ HBO โศกนาฏกรรมที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายของระบอบโซเวียต

15 มิถุนายน 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : hbo.com1

ในช่วง 6 พฤษภาคม ถึง 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ HBO และ Sky ของอังกฤษ ได้ออกอากาศภาพยนตร์มินิซีรีส์ 5 ตอน เรื่อง เชอร์โนบิล (Chernobyl) ที่เดือนเมษายน 1986 เกิดการระเบิดขึ้นในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลที่ตั้งในยูเครน และความพยายามที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของกัมมันตภาพรังสี ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการชื่นชมอย่างมากจากนักวิจารณ์และคนดู จากการสำรวจของเว็บไซต์ IMDb ได้คะแนนนิยมสูงถึง 9.7/10

26 เมษายน 1986, 1:23:58

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิลตั้งอยู่ที่เมืองเชอร์โนบิล จังหวัดปรีเปียต(Prypyat) ประเทศยูเครน สมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 4 แห่ง แต่ละแห่งผลิตไฟฟ้าได้ 1,000 เมกะวัตต์ เตาปฏิกรณ์เป็นแบบที่เรียกว่า RBMK เพราะใช้แร่แกรไฟต์ (graphite) เป็นตัวควบคุมปฏิกิริยาลูกโซ่นิวเคลียร์ เมื่อทราบข่าวการเกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล มีฮาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำโซเวียตในเวลานั้น ถามที่ปรึกษาว่า เกิดอะไรขึ้น ในเมื่อนักวิทยาศาสตร์โซเวียตเคยบอกว่า โรงงานมีความปลอดภัยมาก จนสามารถนำมาสร้างที่จัตุรัสแดง กลางกรุงมอสโก

อุบัติเหตุที่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลมีลักษณะย้อนแย้ง เพราะเกิดขึ้นขณะที่ทำการทดสอบระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า การทดสอบนี้ต้องการจะดูระบบความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ในกรณีที่เกิดไฟฟ้าดับทันทีทันใด ระบบปั๊มหล่อเย็นที่ส่งน้ำไปยังแกนปฏิกรณ์จะหยุดทันที โรงไฟฟ้ามีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองจากน้ำมันดีเซล แต่ต้องใช้เวลา 40 วินาที ถึง 3 นาที ก่อนจะทำงาน จากนั้น ปั๊มหล่อเย็นก็เริ่มทำงานใหม่

แม้ช่องว่างของระยะเวลานี้จะสั้น แต่ก็ถือว่าเป็นจุดอันตราย เพราะเป็นเวลาพอที่จะทำให้แกนปฏิกรณ์เริ่มหลอมละลายได้ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1986 เวลา 1:23:58 น. ในระหว่างการทดสอบระบบความปลอดภัยในภาวะฉุกเฉิน เครื่องปฏิกรณ์ตัวที่ 4 เกิดระเบิดขึ้นมา ทำให้กัมมันตรังสีฟุ้งกระจายสู่ชั้นบรรยากาศ ในระยะแรกเจ้าหน้าที่รายงานรัฐบาลโซเวียตว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ส่วนการแพร่ระบาดของกัมมันตภาพรังสีก็มีปริมาณเท่ากับเครื่องเอ็กซ์เรย์

ที่มาภาพ : hbo.com2

ภาพยนตร์ เชอร์โนบิล

ภาพยนตร์ 5 ตอนของ HBO เรื่อง เชอร์โนบิล เป็นเรื่องราวหายนะภัยที่เกิดขึ้นจริงจากฝีมือมนุษย์ แตกต่างจากกรณีอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูคุชิมะของญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ ภาพยนตร์แสดงให้เห็นว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นมาอย่างไร และทำไมจึงเกิดขึ้น รวมทั้งเรื่องราวของคนที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับภัยพิบัติครั้งนี้และต่อมาเสียชีวิตลงไป ตลอดจนความพยายามของรัฐบาลโซเวียตที่จะปกปิดเหตุการณ์นี้ เนื้อหาภาพยนตร์อาศัยความทรงจำของคนที่เคยอยู่ที่เมืองปรีเปียต ที่นักเขียนรางวัลโนเบล Svetlana Alexievich นำมาเขียนไว้ในหนังสือชื่อ Voice from Chernobyl (2012)

ภาพยนตร์เชอร์โนบิลอาศัยการถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านตัวแสดงเอก 3 คน คือ วาเลรี เลกาซอฟ (Valery Legasov) ที่มีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการ The Kurchatov Institute สถาบันนิวเคลียร์ของโซเวียต และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบสวนเหตุการณ์เชอร์โนบิล คนที่ 2 คือ โบริส เชียร์บีนา (Boris Scherbina) เป็นรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลโซเวียต และเป็นหัวหน้าคณะกรรมการสอบสวน

และคนที่ 3 เป็นนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์สตรีชื่อ อูลานา ฮอมยุค (Ulana Khomyuk) ภาพยนตร์สร้างตัวละครคนนี้ขึ้นมาเพื่อให้เธอเป็นตัวแทนนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่มีบทบาทการทำงานที่เสี่ยงภัยในการแก้ไขวิกฤตินิวเคลียร์ครั้งนี้ รวมทั้งบทบาทของเธอในการค้นหาความจริงว่าอะไรเป็นสาเหตุของการเกิดโศกนาฏกรรมครั้งนี้

ภาพยนตร์เริ่มต้นเมื่อ 2 ปีหลังจากเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล วาเลรี เลกานอฟ ที่เป็นกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุเชอร์โนบิล พูดบันทึกเทปที่บ้านของเขาถึงวิศวกรโรงไฟฟ้าชื่อ อนาโตลี ดิยัตลอฟ (Anatoly Dyatlov) ที่ได้รับโทษจำคุก 10 ปี ซึ่งน้อยไปจากความผิดพลาดของเขา ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หลังจากนั้น เลกานอฟก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1986 ดิยัตลอฟไม่ฟังเสียงคัดค้านของเจ้าหน้าที่ 2 คน ที่บอกว่า แกนของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดการหลอมละลาย โดยเขาส่งเจ้าหน้าที่ไปดูที่แกนปฏิกรณ์ หน่วยดับเพลิงถูกแจ้งให้มาที่โรงไฟฟ้า ทำให้คนงานและพนักงานดับเพลิงได้รับกัมมันตภาพรังสีแบบทันทีทันใด คนพวกนี้ถูกพาไปโรงพยาบาลในทันที

เจ็ดชั่วโมงหลังจากอุบัติเหตุ อูลานา ฮอมยุค นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ ที่เมืองมินส์ค ตกใจกับระดับกัมมันตภาพรังสีที่ตรวจจับได้ เธอโทรศัพท์ไปที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลแต่ไม่มีคนรับสาย ในการประชุมกับกอร์บาชอฟ ผู้นำโซเวียต วาเลรี เลกาซอฟ คัดค้านการประเมินของโบริส เชียร์บีนา ที่บอกว่า สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุม กอร์บาชอฟส่งทั้ง 2 คน ไปที่เชอร์โนบิล จากการตรวจสอบ ระดับกัมมันตภาพรังสีสูงกว่าจากรายงานหลายพันเท่า เลกาซอฟเสนอให้อพยพคนจากเมืองปรีเปียต แต่เชียร์บีนาเกรงว่าทางการมอสโกอาจจะไม่เห็นด้วย

ที่มาภาพ : hbo.com3

หลังจากควบคุมไฟไหม้ที่โรงไฟฟ้าได้แล้ว เลกาซอฟบอกกับเชียร์บีนาว่า การหลอมละลายของโรงไฟฟ้าจะทำให้แหล่งน้ำดื่มของคน 50 ล้านคนมีสารปนเปื้อน เลกาซอฟบอกกับอูลานา ฮอมยัค ว่า ให้ไปโรงพยาบาลที่มอสโก แล้วสัมภาษณ์พนักงานโรงไฟฟ้าที่อยู่ในที่เกิดเหตุ เพื่อหาสาเหตุที่เกิดขึ้น จุดนี้ทำให้ KGB เริ่มติดตามการเคลื่อนไหวของเธอและจับกุมเธอ แต่เลกาซอฟยืนยันให้ KGB ปล่อยตัวเธอ

อูลานา ฮอมยุค ได้เข้าไปค้นหาเอกสารในสถานที่เก็บเอกสารแห่งหนึ่งในมอสโก และพบเอกสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน ที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เลนินกราด ในปี 1975 แต่ทาง KGB ปกปิดเรื่องนี้ เชียร์บีนาบอกกับเลกาซอฟและฮอมยุคว่า พวกเขาทั้ง 2 คนจะต้องให้การในฐานะผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์ ในการพิจารณาคดีต่อเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล 3 คน

ในตอนสุดท้ายของภาพยนตร์ เลกาซอฟชั่งน้ำหนักว่า ตนเองจะพูดความจริงหรือไม่ในการให้การต่อศาล เพราะสิ่งนี้หมายถึงอนาคตของเขาทั้งหมด ก่อนหน้านี้ เขาไปแถลงที่องค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ว่า อุบัติเหตุเชอร์โนบิลเป็นความผิดพลาดจากการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้า และการรายงานของเขาครั้งนี้ได้รับคำชมเชยจาก KGB

แต่ในที่สุด เลกาซอฟยอมเสี่ยงกับอนาคตของเขาเอง เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุครั้งใหม่ขึ้นมา โดยเขากล่าวต่อศาลว่า “คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์เพื่อที่จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นที่เชอร์โนบิล” โดยใช้แผ่นป้ายสีน้ำเงินและสีแดง มาอธิบายการทำงานที่เป็นปกติในด้านต่างๆ ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หากป้ายสีน้ำเงินหายไป เหลือแต่ป้ายแดง ก็หมายความว่า หายนภัยกำลังจะเกิดขึ้น ยุโรปส่วนใหญ่จะปกคลุมด้วยกัมมันตภาพรังสี จะต้องอพยพผู้คนทั้งเมือง และอาจมีคนเสียชีวิตถึง 90,000 คน

แม้อุบัติเหตุครั้งนี้จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้า แต่เลกาซอฟกล่าวต่อศาลว่า การออกแบบระบบโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของโซเวียตก็ผิดพลาด ทั้งนี้เพราะต้องการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแบบต้นทุนที่ถูกกว่า ด้วยเหตุนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของโซเวียตจึงมีโครงสร้างแตกต่างจากตะวันตก โดยไม่มีการสร้างอาคารที่จะครอบคลุมตัวปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของกัมมันตภาพรังสี เหมือนกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศตะวันตก

ศาลถามเลกาซอฟว่า คำให้การของเขากำลังจะชี้ว่ารัฐโซเวียตมีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนี้ก็ขอเตือนว่า เขากำลังเดินบนเส้นทางอันตราย เลกาซอฟกล่าวตอบว่า รู้อยู่ว่าตัวเองกำลังเดินบนจุดอันตราย เพราะเราโกหกและปกปิดความเท็จกัน จนจำไม่ได้ว่ามีสิ่งนี้ “ทุกครั้งที่เราโกหก ทำให้เกิดหนี้สินที่มีกับสัจจะความจริง ไม่ช้าก็เร็ว หนี้สินนี้ก็ต้องได้รับการชำระ”

ที่มาภาพ : hbo.com4

หลังจากให้การต่อศาล เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ KGB เข้ามาพบเลกาซอฟและบอกกับเขาว่า ทางการไม่ยอมรับคำให้การของเขา การกระทำของเขาครั้งนี้จะไม่เป็นข่าว และถือว่าไม่ได้เกิดขึ้น นับจากนี้ เขาจะไม่มีตำแหน่งอำนาจหน้าที่การงานใดๆ อีกต่อไป หลังจากครบ 2 รอบของเหตุการณ์เชอร์โนบิล ในวันที่ 26 เมษายน 1988 เลกาซอฟก็ตัดสินใจฆ่าตัวตาย

ภาพยนตร์เชอร์โนบิลไม่ได้มีเนื้อหาต่อต้านระบอบโซเวียตหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ต่อต้านการโกหกและการปกปิดความจริง กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำโซเวียตเองก็เคยกล่าวว่า การพังทลายของโซเวียตไม่ได้มาจากนโยบายของเขา เรื่องกลาสนอสต์ (glasnost) หรือความโปร่งใส แต่มาจากอุบัติเหตุเชอร์โนบิล ที่เหมือนฟางเส้นสุดท้ายของระบอบโซเวียต

เรื่องและเอกสารประกอบ
Chernobyl, HBO TV Mini-Series, 2019.
Midnight in Chernobyl, Adam Higginbotham, Simon & Schuster, 2019.