ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > สำรวจเขื่อนแม่น้ำโขง (ตอน 1) เมื่อแม่น้ำถูกทำร้าย ชะตาคนพื้นที่แม่โขงเดลตา 20 ล้านชีวิตของเวียดนามจะจมทะเลหรือไม่

สำรวจเขื่อนแม่น้ำโขง (ตอน 1) เมื่อแม่น้ำถูกทำร้าย ชะตาคนพื้นที่แม่โขงเดลตา 20 ล้านชีวิตของเวียดนามจะจมทะเลหรือไม่

14 มิถุนายน 2019


ในช่วงวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2562 สำนักข่าวสารเวียดนาม หรือ Vietnam News Agency จึงได้เชิญสื่อมวลชนไทย นำโดย อาจารย์ทรงฤทธิ์ โพนเงิน อาจารย์พิเศษคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตร ศาสตร์ เดินทางไปเวียดนามเพื่อลงพื้นที่แม่โขงเดลตาให้สัมผัสกับสถานการณ์จริง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และจุดประกายความริเริ่มการร่วมมือระหว่างกันใน 4 ประเทศ โดยมี ฟาม ทัญ ฮาย (Pham Thanh Hai) และ เลือง หว่าง ย้าบ (Luong Hoang Giap) เจ้าหน้าที่ Foreign Press Center จากกระทรวงต่างประเทศเวียดนาม ทำหน้าที่ดูแลคณะสื่อมวลชนตลอดทั้ง 4 วันของการลงพื้นที่ ไปพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสนใจและศึกษาผลกระทบของการพัฒนาในลำน้ำโขง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานในพื้นที่ ซึ่งทำให้ได้รับข้อมูลที่อาจจะนำไปสู่การผลักดันร่วมกันของสองประเทศ คือไทยกับเวียดนาม

แม่โขง Mekhong หรือแม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ที่สุดสายหนึ่งในโลก มีระยะทาง 4,900 กิโลเมตร มีต้นทางจากภูเขาสูงในจีนไหลลงผ่านประเทศจีนใต้ มีความผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนนับหลายล้านคนในอุษาอาคเนย์ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา มานานนับหลายร้อยปี กระแสน้ำที่พัดพาตะกอนไหลเรื่อยมาทับถมที่ปากน้ำก่อนออกสู่ทะเลได้สร้างความอุดมสมบูรณ์ริมชายน้ำให้กับหลายพื้นที่ตั้งต้นน้ำลงมาปลายน้ำ จนกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของประเทศที่มีพรมแดนติดกับแม่น้ำโขง ที่ไหลแตกเป็นแม่น้ำสาขานับสิบสายในประเทศเหล่านี้

แต่ในรอบทศวรรษที่ผ่านมาแม่น้ำโขงไม่ได้หล่อเลี้ยงอู่ข่าวอู่น้ำใน 4 ประเทศให้อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม เนื่องมาจากการพัฒนาโครงการในทางตอนบนของแม่น้ำโขง ไล่เรียงจากจีนลงมา ทั้งโครงการสร้างเขื่อน และการระเบิดเกาะแก่งในร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ ปัจจุบันมีเขื่อนราว 14 เขื่อนที่กั้นลำน้ำโขง ซึ่งรวมเขื่อนที่สร้างในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านลาวตามยุทธศาสตร์การเป็น Battery of Southeast Asia จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะผู้ซื้อรายใหญ่อย่างไทย นอกจากนี้ยังมีเขื่อนในเวียดนามและกัมพูชาด้วย

หลายพื้นที่ปลูกข้าวและพื้นที่เกษตรในประเทศริมน้ำโขง 4 ประเทศนี้ต้องประสบกับการขาดแคลนน้ำและภัยแล้ง ไม่มีน้ำมากพอที่จะใช้ปลูกข้าวและทำการเกษตรได้ ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate change ซึ่งส่งให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น น้ำแข็งละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ก็ยิ่งซ้ำเติมประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำและบริเวณปากอ่าว จากการที่ไม่มีน้ำจืดไหลลงมากั้นน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามามากขึ้นในแผ่นดินจากระดับน้ำทะเลหนุน โดยเฉพาะไทยซึ่งมีที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับเวียดนามซึ่งมีที่ราบบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำหรือ Mekhong Delta ซึ่งประกอบด้วย 13 จังหวัด ในพื้นที่รวมกว่า 40,000 ตารางกิโลเมตร

สถานการณ์ที่เกิดไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นปัญหาร่วมของประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดแม่น้ำโขงร่วมกัน ทั้ง ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แม้แต่ละประเทศแบ่งปันแม่น้ำโขงในความยาวไม่เท่ากัน รวมไปถึงเมียนมาที่แม้จะพื้นที่ติดริมน้ำโขงเพียงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ แต่หากไม่ร่วมมือกันแก้ไข อู่ข้าวอู่น้ำที่เลี้ยงประชากรทั้งในภูมิภาคและของโลก รวมทั้งประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน จะได้รับผลกระทบมหาศาล

เขื่อนลำน้ำโขงชี้ชะตาชีวิต 20 ล้านคนในแม่โขงเดลตา

ในวันแรก ฟาม ทัญ ฮาย และ เลือง หว่าง ย้าบ ได้จัดให้สื่อมวลชนไทยซึ่งมีสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าร่วมอยู่ด้วยนั้น ได้พูดคุยกับ หว่าง เวียด (Huang Viet) อาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยกฎหมายแห่งโฮจิมินห์ซิตี้หรือ Ho Chi Minh City University of Law ซึ่งเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงของเวียดนามตอนใต้ ในด้านกฎหมายระหว่างประเทศ

จุดนัดพบของ หว่าง เวียด กับสื่อมวลชนคือร้านกาแฟแห่งหนึ่งในบรรดาร้านกาแฟที่มีนับร้อยในโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชาวเวียดนามที่มักจะนัดหมายกันที่ร้านกาแฟ เนื่องจากส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ทำงานซึ่งมักจะมีพื้นที่ขนาดเล็กไม่สามารถรองรับแขกได้

อาจารย์หว่าง เวียด เปิดเผยว่า สาเหตุที่มีความสนใจต่อการพัฒนาในลำน้ำโขง มาจากความสนใจต่อข้อขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะในบริเวณแม่น้ำโขง เนื่องจากมีประเด็นกฎหมายระหว่างประเทศครอบคลุมความขัดแย้งในแม่น้ำโขงที่กำลังมีการพัฒนาหลายโครงการ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าปัจจุบันแม่น้ำโขงที่ไหลลงจากบนลงล่างมายังบริเวณแม่โขงเดลตาลดน้อยลงมาก ทำให้การปลูกข้าว การดำเนินชีวิตของประชาชนลำบากมากขึ้นหลายด้าน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้น้ำทะเลหนุน สถานการณ์จึงรุนแรงมากขึ้นสำหรับชาวบ้าน

หว่าง เวียด (Huang Viet) อาจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยกฎหมายแห่งโฮจิมินห์ซิตี้

ระดับน้ำในแม่โขงลดลงมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ข้อแรก การกระทำของมนุษย์ โดยประเทศที่อยู่ทางตอนบนของแม่น้ำโขง จีน และลาว มีโครงการพัฒนาในแม่น้ำโขงจำนวนมาก โดยเฉพาะการสร้างเขื่อน จีนสร้างเสร็จแล้วมากกว่า 10 โครงการ รวมทั้งยังมีโครงการที่กำลังสร้าง ขณะที่ลาวมีแผนสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงทั้งหมดกว่า 20 เขื่อน กัมพูชากำลังสร้าง 1 แห่ง และในเวียดนามเองก็มี แม้มีประชาชนคัดค้านไม่เห็นด้วย ประการที่สอง เกิดจาก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ climate change ซึ่งประเด็นนี้ทำอะไรไม่ได้เพราะอยู่นอกเหนือการควบคุม

อาจารย์หว่าง เวียด กล่าวว่า เริ่มสังเกตเห็นผลกระทบจากการพัฒนาโครงการในแม่น้ำโขงเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์เกิดขึ้นเร็วและเลวร้าย นับวันยิ่งอันตรายมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากได้ทำวิจัยเรื่องนี้ไว้แล้ว มีข้อมูลชัดเจน ถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ หรือแม่โขงเดลตาและสื่อมวลชนต้องลงไปดูพื้นที่เพราะจะได้เห็นของจริง

“สำหรับผมแม้ไม่มีตัวเลขรายละเอียดของผลกระทบ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ ชาวนาวชาวสวนต้องเปลี่ยนอาชีพ ต้องไปเข้าเมืองหางานทำ สถานการณ์ในแม่น้ำโขงที่เลวร้ายลงทำให้คนต้องโยกย้ายออกนอกพื้นที่ไปทำงานที่อื่น เพราะปลูกข้าวไม่ได้ เข้ามาทำงานในเมือง เป็นลูกจ้าง เด็กจำนวนมากไม่สามารถไปโรงเรียนเพราะที่บ้านไม่มีเงิน พ่อแม่ปลูกข้าวไม่ได้ ไม่มีอาชีพ” อาจารย์หว่าง เวียด กล่าว

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงสุดได้แก่ จังหวัดซอกจาง (Soc Trang) จังหวัดโหวยาง (Hau Giang) จังหวัดก่าเมา (Ca Mau) พื้นที่ที่ชาวนาปลูกข้าวไม่ได้มีมากขึ้น แหล่งปลูกข้าวสำคัญของเวียดนามจึงได้รับกระทบเพราะน้ำจืดน้อยลง น้ำทะเลหนุน ปี 2017 ปริมาณน้ำที่ไหลลงจากแม่โขงสู่ 3 จังหวัดลดลง 15-30% ทำให้ผลผลิตของจังหวัดซอกจางลดลงคิดเป็นมูลค่า 9 พันล้านเวียดนามด่อง คาดว่าปี 2020 พื้นที่การเกษตรจะลดลง 50,000 เฮกตาร์

แม่โขงเดลตาเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหลักของเวียดนาม โดยปกติจะมีการปลูกข้าว 2 ครั้งต่อปี แต่บางครั้งรัฐบาลส่งเสริมให้ปลูก 3 ครั้งต่อปีเพื่อขยายการส่งออก อย่างไรก็ตามขณะนี้ปลูกได้เพียง 1 ครั้ง แม้มีระบบชลประมาณแต่ไม่มีน้ำมากพอ และโดยทั่วไปเวียดนามจะประสบกับภาวะน้ำแล้งประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน

นอกจากนี้ มีการคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญว่า โครงการพัฒนาที่ดำเนินการเสร็จแล้วและโครงการกำลังดำเนินการอยู่ซึ่งจะแล้วเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้าจะกระทบประชาชนอย่างมาก โดยพื้นที่แม่โขงเดลตาซึ่งมีความสูงเท่ากับน้ำทะเลจะจมน้ำ เพราะน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้พื้นที่ราบขนาดใหญ่ของแม่โขงเดลตาต้องอยู่ใต้น้ำ

“วิถีชีวิตของคนในบริเวณนั้นต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะในการผลิตอาหาร ข้าว ผลไม้ หรือการเลี้ยงปลา ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปทำมาหากินอย่างอื่นที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร และจะตกอยู่ในภาวะการขาดแคลนอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร และประชาชนต้องอพยพไปที่อื่น เพราะอยู่ที่เดิมไม่ได้ และไม่รู้จะทำมาหากินอะไร” อาจารย์หว่าง เวียด กล่าว

หลากกรอบข้อตกลงที่ไร้ผลบังคับ

“การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงทำให้ผลผลิตการเกษตร ผลไม้ ข้าว และพืชผลอีกหลายชนิดลดลงมาก ส่งผลกระทบต่อประชาชน 20 ล้านที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร ของบริเวณแม่โขงเดลตา จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องร่วมมือกันและช่วยเหลือกันในระดับรัฐบาล ในการดำเนินการหารือกับประเทศอื่นเพื่อขอความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงร่วมกันอย่างยั่งยืน” อาจารย์หว่าง เวียด กล่าว

รัฐบาลเวียดนามมีโครงการช่วยเหลือประชาชนในแม่โขงเดลตาแต่ไม่ได้เป็นโครงการใหญ่ และในภาพรวมไม่มีโครงการแก้ไขได้อย่างยั่งยืน เพราะปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าจะทำได้ประเทศเดียว รัฐบาลยังไม่มีวิธีหรือโครงการไหนที่คิดว่าจะแก้ไขได้

“รัฐบาลเวียดนามตระหนักดีแต่ทำอะไรไม่ได้มาก ไม่มีความสามารถ และโดยสถานการณ์อย่างนี้ รัฐบาลเวียดนามเพียงประเทศเดียวแก้ไขยากมาก ในพื้นที่ที่ต่ำกว่าระดับกว่าน้ำทะเล รัฐบาลเวียดนามไม่มีเงินมากพอที่จะสร้างเขื่อนกั้นน้ำเหมือนเนเธอร์แลนด์ วิถีชีวิตของคน 20 ล้านคนต้องเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้ เวียดนามเรียกร้องความร่วมมือจากหลายประเทศเพราะเวียดนามประเทศเดียวแก้ไขปัญหานี้ไม่ได้ อันที่จริงเป็นปัญหาของภูมิภาค” อาจารย์หว่าง เวียด กล่าว

อาจารย์หว่าง เวียด กล่าวว่า ปัจจุบันแม่น้ำโขงมีกรอบข้อตกลงหลายฉบับแต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ เพราะการร่วมมือกันไม่เข้มแข็ง แม้ 4 ประเทศที่มีแม่น้ำโขงร่วมกัน อีกทั้งคณะกรรมาธิการแม่โขงหรือ Mekhong River Commission (MRC) ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก็ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะขอให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลง ประกอบกับ MRC ไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการบังคับ เพียงแต่ให้ข้อเสนอแนะเท่านั้น นอกจากนี้จีนก็ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงนี้

“ประเทศที่อยู่บนแม่น้ำโขงให้ความสำคัญกับผลประโยชน์มากกว่าให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนที่อาศัยในบริเวณแม่น้ำโขง และใช้แม่น้ำโขงเลี้ยงชีวิต นักการเมืองมักประเมินผลประโยชน์ก่อนอย่างอื่น ประชาชนในประเทศบนแม่น้ำโขง กัมพูชา เวียดนาม และไทย ได้ต่อสู้ไม่ให้มีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ” อาจารย์หว่าง เวียด กล่าวและว่า บางโครงการมีการจัดการกับการอพยพ การจัดหาที่อยู่ให้ใหม่และชดเชยประชาชนอย่างดี แต่มีหลายโครงการมีปัญหาในการจัดการ 60 ล้านคนที่ใช้ชีวิตริมฝั่งโขงจึงได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง

อาจารย์หว่าง เวียด กล่าวว่า เรื่องแม่น้ำโขงมี 4 ประเทศ คือ เวียดนาม ไทย กัมพูชา ลาว ที่มีส่วนในแม่น้ำโขงร่วมกัน จึงควรที่จะหารือกันในวง 4 ประเทศ

กรอบข้อตกลงในลุ่มแม่น้ำโขง

1. คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) ซึ่งมีภารกิจหลักคือ ส่งเสริมและประสานงานการด้านการจัดการและการพัฒนาแหล่งน้ำและทรัพยากรอันเกี่ยวเนื่องอื่นๆ แบบยั่งยืน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิกและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยการส่งเสริมแผนงานยุทธศาสตร์และกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งจัดหาข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ และให้คำแนะนำด้านนโยบาย ทำหน้าที่สนับสนุนประเทศสมาชิกทั้งสี่ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง อันได้แก่ กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม เพื่อดำเนินการ การเจรจาข้ามพรมแดนและยกระดับความร่วมมือข้ามพรมแดน

2. ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ค.ศ. 1995 (The Agreement on the Co-ordination for the Sustainable Development of the Lower Mekhong Basin 1995) ที่กำหนดหน้าที่หลักของสมาชิกให้รักษาปริมาณการไหลในแม่น้ำโขงและปกป้องความสมดุลทางสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา

3. ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Aeyawadee-Chaopraya-Mekong Economic Coorperation) ACMECS เป็นข้อตกลงความร่วมมือด้านธุรกิจระหว่างประเทศไทยพม่าลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นข้อตกลงที่กลายมาจาก Economic Coorperation Strategy (ECS) เพื่อความร่วมมือที่เกิดขึ้นในช่วงโรคซาร์ระบาด

4. การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion – GMS) ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน

5. กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation – MLC) พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยในปี 2555 ที่จะจัดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก ได้มีการจัดตั้งกรอบความร่วมมือขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558

วิกฤติน้ำเค็มรุกล้ำกัดเซาะชายฝั่ง

การสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงที่กักกันกระแสน้ำที่นอกจากมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนตามสองฟากฝั่งของสายน้ำแล้ว ยังซ้ำเติมการดำรงชีวิตประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่โขงเดลตาซึ่งประสบกับปัญหาพื้นดินถูกกัดเซาะจากน้ำทะเลหนุน และทำการเกษตรไม่ได้เนื่องจากน้ำเค็มรุกล้ำ ขาดน้ำจืดที่จะไหลลงมาดันน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ผู้สื่อรายงานว่าในวันต่อมา คณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปยังเมืองหมีเทอ (My Tho) จังหวัดเตี่ยนยาง (Tien Giang) ซึ่งมีขนาด 170,000 เฮกตาร์ เป็นหนึ่งใน 13 เมืองที่อยู่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญของเวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าว 85,000-90,000 เฮกตาร์

แม่น้ำส่งเตียน ด้านหลังจะเห็นสะพานแขวนข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมเชื่อมจังหวัดเตียงยาง กับจังหวัดเบ้นแจ (BEN TRE)

จังหวัดเตี่ยนยางมีพื้นที่ติดทะเลทางด้านตะวันออก บริเวณที่แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงไหลออกทะเลจีนใต้ คณะสื่อมวลชนได้ลงเรือล่องแม่น้ำส่งเตียน 1 ใน 9 แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ไหลลงสู่งทะเลจีนใต้ ซึ่งพบว่าประสบปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งอย่างหนัก

เหงียน ดุ๊ก ทินห์ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร จังหวัดเตี่ยนยาง และ เตริ่น วัน งวาน เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมให้ข้อมูลว่า ปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งปากแม่น้ำส่งเตียนได้รุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปี 2016 ที่น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมาก ส่งผลกระทบอย่างมากให้กับชาวบ้านที่อาศัยในบริเวณนี้และเลี้ยงชีพด้วยการเกษตร ประมงชายฝั่ง เลี้ยงปลาในกระชังที่จัดว่าเป็นแหล่งเลี้ยงปลาใหญ่แห่งหนึ่งในเวียดนาม

เหงียน ดุ๊ก ทินห์ เจ้าหน้าที่ สำนักงานเกษตร (เสื้อฟ้ากลาง)

เหงียน ดุ๊ก ทินห์ กล่าวว่า น้ำจากแม่โขงที่ไหลลงมาลดลงมาก ทำให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่การเกษตรมากขึ้น บางครั้งรุกเข้าไปไกลเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 40 กิโลเมตร น้ำกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้นแม้มีการปลูกต้นไม้เพื่อกันกระแสคลื่นแล้วก็ตาม ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพออกจากพื้นที่ราว 200-300 ครัวเรือน

ภาครัฐได้แก้ไขด้วยการสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะ แต่ทำไม่ได้ตลอดแนว เพราะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ เนื่องจากใช้เงินจากรัฐบาลกลาง 70% ที่เหลือ 30% จากงบของจังหวัด ทำให้ขณะนี้สร้างเขื่อนได้ความยาวเพียง 7 กิโลเมตร ยังเหลืออีก 2.2 กิโลเมตร โดยได้มีการจ่ายเงินชดเชยให้ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่ที่ต้องสร้างเขื่อนครัวเรือนละ 50,000 ด่อง

เขื่อนกั้นนำ

เหงียน ดุ๊ก ทินห์ ยังได้นำคณะสื่อมวลชนไปยังสำรวจเกาะ Tan Long หรือเกาะมังกร ซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำที่มีใกล้ชายฝั่งมากที่สุดและมีคนอาศัยหนาแน่นมากที่สุดราว 3,830 คน ในบรรดาเกาะกลางแม่น้ำที่มีทั้งหมด 4 เกาะประกอบด้วย เกาะ Tan Long เกาะ Con Lan พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้เมืองร้อนของเกษตรกร เกาะ Con Qui เป็นเกาะที่เล็กที่สุด และเกาะ Con Phung

ชาวบ้านรายหนึ่งซึ่งเป็นอดีตทหารผ่านศึกวัย 80 ปี เล่าให้ฟังว่า เดิมเกาะนี้มีพื้นที่ใหญ่กว่านี้มาก แต่ถูกน้ำกัดเซาะเข้ามาเป็นระยะทางถึง 300 เมตร ปัจจุบันเกาะ Tan Long มีพื้นที่ 362 เฮกตาร์ เพราะในช่วง 10 ปีนี้ปัญหาน้ำกัดเซาะรุนแรงมากขึ้น

ปัญหาน้ำทะเลสูงน้ำเค็มรุกล้ำผืนดินและกัดเซาะชายฝั่งยังสร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง

ฟาม ทัญ ฮาย(ที่3 จากขวา) และ เลือง หว่าง ย้าบ (ที่ 3 จากซ้าย)
ชาวบ้านชี้ไปที่ชายฝั่งเดิมก่อนถูกน้ำกัดเซาะ
กระชังเลี้ยงปลา

จากเกาะ Tan Long ฟาม ทัญ ฮาย และ เลือง หว่าง ย้าบ (Luong Hoang Giap) เจ้าหน้าที่ Foreign Press Center ได้นำคณะสื่อมวลชนไปยังเกาะ Con Lan เพื่อสำรวจพื้นที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งจังหวัดเตี่ยนยาง ซึ่งก็พบว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากพากันลงจากเรือท่องเที่ยวเพื่อลงเรือพายลำเล็กๆของชาวบ้านที่จอดเรียงรายรอรับนักท่องเที่ยวไปตามลำคลอง

ชาวบ้านที่นี่ได้ใช้พืชผลทางการเกษตรมาแปรรูปเพื่อจำหน่ายนักท่องเที่ยว ได้แก่ มะพร้าวแก้ว ลูกอมน้ำตาลมะพร้าว ไอศครีมมะพร้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะสื่อมวลชนได้เดินทางต่อไปยังหมู่บ้านแด่นด๋อ ตำบลเตินแถ่ง (Tân Thành) อำเภอก่อก้องด่อง (Go Cong Dong) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาเดียวกัน คือน้ำทะเลหนุนและน้ำกัดเซาะตลิ่ง พื้นที่ตรงนี้ มีชาวบ้านอาศัยอยู่ราว 550 ครัวเรือน

ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวประมง และมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีการจอดเรือเต็มไปหมดราว 50 ลำ แต่ 15 ปีก่อนพื้นที่นี้เริ่มประสบปัญหาตลิ่งพัง และรุนแรงมากขึ้นจนพื้นที่นี้ชายฝั่งถูกน้ำกัดเซาะเข้ามาถึง 100 เมตร ชาวบ้านต้องอพยพเข้าไปในผืนดินลึกมากขึ้น

ปี 2018 เป็นปีที่ประสบกับน้ำทะเลหนุนสูงมากกว่าปกติ และปัจจุบันระดับน้ำสูงกว่าเดิมมาก แต่การที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้วยการสร้างเขื่อนเป็นความยาว 700 เมตรทำให้ชาวบ้านไม่เดือดร้อนนัก ขณะเดียวกันได้มีการปลูกป่าโกงกางกันน้ำกัดเซาะมากขึ้น และได้ย้ายจุดจอดเรือออกไป

หมู่บ้านประมงแด่นด๋อ ตำบลเตินแถ่ง

การสร้างเขื่อนกันตลิ่งทรุด การอพยพออกจากพื้นที่ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านได้ในระดับหนึ่ง แต่ตราบใดที่การพัฒนาโครงการในแม่น้ำโขงยังไม่มีความร่วมมือที่ชัดเจน วิถีชีวิตของชาวบ้านในแม่โขงเดลตาก็ยังคงมีความไม่มีความยั่งยืนในระยะยาว