ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > สำรวจเขื่อนแม่น้ำโขง (ตอนจบ) ใช้โมเดล OTOP ไทยช่วยเกษตรเวียดนาม – วิจัยพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงหวังสร้างแหล่งอาหารในอนาคต

สำรวจเขื่อนแม่น้ำโขง (ตอนจบ) ใช้โมเดล OTOP ไทยช่วยเกษตรเวียดนาม – วิจัยพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงหวังสร้างแหล่งอาหารในอนาคต

17 มิถุนายน 2019


ในช่วงวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2562 สำนักข่าวสารเวียดนาม หรือ Vietnam News Agency จึงได้เชิญสื่อมวลชนไทย นำโดย อาจารย์ทรงฤทธิ์ โพนเงิน อาจารย์พิเศษคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตร ศาสตร์ เดินทางไปเวียดนามเพื่อลงพื้นที่แม่โขงเดลตาให้สัมผัสกับสถานการณ์จริง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และจุดประกายความริเริ่มการร่วมมือระหว่างกันใน 4 ประเทศ โดยมี ฟาม ทัญ ฮาย (Pham Thanh Hai) และ เลือง หว่าง ย้าบ (Luong Hoang Giap) เจ้าหน้าที่ Foreign Press Center จากกระทรวงต่างประเทศเวียดนาม ทำหน้าที่ดูแลคณะสื่อมวลชนตลอดทั้ง 4 วันของการลงพื้นที่ ไปพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญที่มีความสนใจและศึกษาผลกระทบของการพัฒนาในลำน้ำโขง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานในพื้นที่ ซึ่งทำให้ได้รับข้อมูลที่อาจจะนำไปสู่การผลักดันร่วมกันของสองประเทศ คือไทยกับเวียดนาม

ในวันที่สองของการเดินทาง คณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่ เดินทางไปยังเมืองหมีเทอ (My Tho) จังหวัดเตี่ยนยาง (Tien Giang) มีขนาด 170,000 เฮกตาร์ เป็นหนึ่งใน 13 เมืองที่อยู่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญของเวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าว 85,000-90,000 เฮกตาร์ พร้อมกับลงเรือล่องแม่น้ำส่งเตียน 1 ใน 9 แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ไหลลงสู่งทะเลจีนใต้ พบว่าประสบปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งอย่างหนัก เป็นผลจากการที่ไม่มีน้ำจืดจากแม่น้ำโขงไหลมาดันน้ำทะเลที่หนุนสูงให้กลับออกไป

  • สำรวจเขื่อนแม่น้ำโขง (ตอน 1) เมื่อแม่น้ำถูกทำร้าย ชะตาคนพื้นที่แม่โขงเดลตา 20 ล้านชีวิตของเวียดนามจะจมทะเลหรือไม่
  • สำรวจเขื่อนแม่น้ำโขง (ตอน 2) เสนอไทย-เวียดนามจับมือร่วมวางอนาคตแม่น้ำโขง ชี้แม่โขงเดลตากับลุ่มเจ้าพระยาเจอปัญหาเดียวกัน
  • เมื่อเดินทางกลับโฮจิมินห์ซิตี้หลังจากลงพื้นที่สำรวจเมืองหมีเทอ ฟาม ทัญ ฮาย และ เลือง หว่าง ย้าบ นำคณะสื่อมวลชนไปพูดคุย จุง หว่าง เจือง นักวิจัยอาวุโสแห่ง The Southern Center for International Studies (SCIS) University of Social Sciences and Humanities ในโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งเกษียณจากการสอนในมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกากลับมาทำงานในบ้านเกิด

    ดึงแนวคิด OTOP หนุนเกษตรของไทยไปใช้

    จุง หว่าง เจืองมีความเห็นว่า การสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลไม่ใช่เป็นทางออกที่เหมาะสมเสมอไป เพราะแม้แต่เนเธอร์แลนด์ ที่สร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลก็ไม่ได้แนะนำให้สร้างเขื่อนกั้นนำทะเลอีกต่อไป เพราะพบว่าเขื่อนได้แยกระบบนิเวศออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบนิเวศนอกเขื่อนกับระบบนิเวศด้านหลังเขื่อน มีผลกระทบต่อทั้งสองด้าน นอกจากนี้การสร้างเขื่อนยังมีต้นทุนสูง

    ในจังหวัดก่าเมา ที่ประสบปัญหาน้ำทะเลหนุนและชาวบ้านต้องอพยพออกนอกพื้นที่ทุกปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันชาวบ้านไม่ต้องอพยพแล้ว เพราะมีการปลูกป่าโกงกางซึ่งช่วยกั้นน้ำและลดการกัดเซาะชายฝั่ง

    จุง หว่าง เจือง นักวิจัยอาวุโสแห่ง Center for International Studies(SCIS) University of Social Sciences and Humanities

    จุง หว่าง เจือง ยอมรับว่า ภาคภาคประชาสังคมในลุ่มน้ำโขงไม่เข้มแข็งมากพอ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฐบาล ดังนั้นการทำงานของเขาในเวียดนามจึงได้นำแนวคิดของไทยไปใช้

    จุง หว่าง เจือง เปิดเผยด้วยว่า เขาได้มีการทำงานเพื่อชุมชน 2 โครงการในเวียดนาม โดยนำแนวคิดของไทยมาใช้ โครงการแรกเอามาจาก OTOP ของไทย จากการไปเยี่ยมชมที่สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ นำแนวคิดนี้มานำเสนอให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของพื้นที่ขึ้นมา ใช้ชื่อในเวียดนามว่า OGOP โครงการสองก็นำจากไทย เพราะเกษตรกรบางครั้งไม่สามารถทำการเกษตรได้เพราะปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ไทยมีโครงการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือเกษตรกรณีที่ผลผลิตออกมากเกินไปหรือไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เพื่อให้มีชีวิตรอดพ้นในฤดูกาลนั้นได้ เวียดนามควรจะมีโครงการแบบนี้ด้วย เพราะทุกวันนี้คนอพยพออกจากแม่โขงเดลตาไปหางานทำในเมืองหรือพื้นที่อื่น ขายแรงงาน แม่โขงเดลตาต้องสร้างความสามารถ สร้างองค์ความรู้ ให้คนได้รู้จักใช้เทคโนโลยี

    จุง หว่าง เจือง กล่าวว่า เวียดนามก็ต้องเสริมความเข้มแข็งของตัวเองให้มากขึ้น โดยข้อแรก เพิ่มความแข็งแกร่งความยืดหยุ่น ข้อสอง ต้องพยายามจำกัดบรรเทาผลกระทบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ทิ้งขยะลงทะเล ไม่ใช้ปุ๋ย ก็จะจำกัดหรือลดผลกระทบลงได้ และข้อสาม ต้องปรับตัวเพราะไม่สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

    จุง หว่าง เจือง กล่าวต่อว่า จากการเก็บข้อมูลในแม่โขงเดลตาพบว่า ในข้อแรกเริ่มมีการดำเนินการบ้างแล้ว โดยรัฐบาลกลางนายกรัฐมนตรีได้ริเริ่มแนวคิดการรักษาแม่โขงเดลตา ให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้มากขึ้น ขณะนี้เป็นความพยายามที่ทุกจังหวัดหันมาร่วมมือกัน จากเดิมที่ต่างคนต่างทำ ซึ่งตัวอย่างในไทยที่เห็นชัดคือจังหวัดเลย มีการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง

    ข้อสอง หวังว่าจะมีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน หากสามารถสร้างเครือข่ายกับนักวิจัยไทยได้ ลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และไม่ต้องกังวลเรื่องท่าทีของจีนมากนัก เพราะสถานการณ์ของ 4-5 ประเทศต่างกัน มีความคล้ายคลึงกันหลายด้าน สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเข้มแข็งบนพื้นฐานที่ไม่แตกต่างกันมาก โดยอาจจะจัดให้มีการพบกันทุก 6 เดือนหรือปีละครั้ง แลกเปลี่ยนข้อมูลและเสนอแนวทางในการลดผลกระทบหรือการปรับตัว

    นอกจากนี้ เวียดนามต้องสร้างความตระหนักรู้ให้คนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ต้องมีการให้ความรู้ข้อมูลที่ถูกต้องว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ไม่ขาด และจำนวนประชากรโลกนับวันจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปริมาณอาหารก็จะไม่พอ รวมทั้งนโยบายที่ประกาศใช้ ต้องสนับสนุนและต้องปฏิบัติจริง และหาทางเลือกอื่นทดแทน ไม่พึ่งพาข้าว กุ้ง หรือพืชแบบเดิม เพราะมีสมุนไพรหรือพืชอีกหลายชนิดที่ปลูกได้ และผลิตอาหารจากพืชเหล่านี้

    รัฐบาลเวียดนามกำลังพิจารณาที่จะหันกลับไปส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพ 2 สายพันธุ์ จากเดิมที่ส่งเสริมให้ปลูกข้าวสายพันธุ์หนึ่งที่ให้ผลผลิตสูง โดยพื้นที่ปลูก 1 เอเคอร์เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 2 ตัน แต่คุณภาพด้อยกว่าข้าวคุณภาพของไทย รัฐบาลเวียดนามเห็นว่าการส่งเสริมการปลูกข้าวคุณภาพจะได้มูลค่าที่ดีกว่า แม้ต้องมีการดูแล แต่ได้รับความนิยมมากกว่า ดังจะเห็นจากข้าวไทยได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ

    วิจัยสายพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงหวังเพาะเลี้ยงเป็นอาหาร

    ศาตราจารย์ หว่าง ดุ๊ก ฮุย จาก University of Science

    นักวิชาการอีกคนที่คณะสื่อมวลชนได้พูดคุย คือ ศาตราจารย์ หว่าง ดุ๊ก ฮุย จาก University of Science ในโฮจิมินห์ซิตี้ ที่สนใจเรื่องระบบนิเวศของการประมงในทางตอนใต้ของเวียดนาม กำลังทำงานวิจัยพันธุ์ปลา Ca Bong Lau หรือ Pangasius Krempfi ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาสวาย เพื่อหาพันธุ์ปลาที่เหมาะสมที่จะเพาะพันธุ์เป็นแหล่งอาหารได้

    ศาตราจารย์ หว่าง ดุ๊ก ฮุย นัดพูดคุยกับคณะสื่อมวลชนที่สวนสาธารณะ Tao Dan ตั้งอยู่ในขตปกครองที่ 1 ถือได้ว่าเป็นปอดของคนโฮจิมินห์ มีพื้นที่ขนาดใหญ่สุด ในช่วงเช้าวันที่ 26 พฤษภาคม

    ศาตราจารย์หว่าง ดุ๊ก ฮุย กล่าวว่า คนจำนวนมากเข้าใจและรับรู้ปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและน้ำเค็มหนุน รวมทั้งน้ำที่มีระดับความเค็มมากขึ้นในแหล่งน้ำจืดของแม่โขงเดลตา ที่มีผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในบริเวณนั้น และเกรงว่าว่าปลาสายพันธุ์เดียวกับปลาบึกจะสูญพันธุ์ เนื่องจากปลาสายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่จะมีชีวิตอยู่ในน้ำจืด หากระดับน้ำเค็มเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้ปลาสูญพันธุ์ได้ หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์

    “ด้วยเหตุนี้เรามองไปในอนาคตระยะสั้น ว่าเพาะพันธุ์ปลามาทดแทนได้หรือไม่” ศาตราจารย์หว่าง ดุ๊ก ฮุย กล่าว

    ศาตราจารย์หว่าง ด๊ก ฮุย ให้ข้อมูลว่า ในสายพันธุ์ปลาบึกหรือ cat fish ที่มีหลายสายพันธุ์นั้น มีสายพันธุ์เดียวที่อาศัยได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม คือสายพันธุ์ที่กำลังศึกษา และเป็นสายพันธุ์เดียวที่สามารถอาศัยในน้ำเค็มและสามารถว่ายทวนน้ำจากแม่โขงเดลตาขึ้นไปทางตอนเหนือของแม่น้ำโขงที่บริเวณชายฝั่งไทยและลาว

    “โครงการที่เรากำลังศึกษามีคำถามสำคัญคือไม่รู้ว่าปลาสายพันธุ์วางไข่ที่ไหน เราต้องวิจัย โครงการนี้เริ่มมาได้ 2 ปี ปลาสายพันธุ์ที่เราวิจัยนี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในน้ำเค็มและน้ำจืด ว่ายจากแม่โขงเดลตาทวนน้ำขึ้นไปยังตอนเหนือของแม่น้ำโขง และว่ายจากแม่น้ำโขงในกัมพูชามายังเวียดนามได้ด้วย รวมทั้งอยู่ในลาว หน้าร้อนนี้ทีมของเราได้สำรวจที่กัมพูชาไปจนถึงลาว ขึ้นไปถึงใกล้กับจีน เราเก็บตัวอย่างน้ำมาทำการทดสอบทางเคมี เพื่อเปรียบเทียบน้ำแต่ละแห่งว่า ปลาใช้ชีวิตอยู่ได้หรือไม่และวางไข่ที่ไหน” ศาตราจารย์หว่าง ดุ๊ก ฮุย กล่าว

    ศาตราจารย์หว่าง ดุ๊ก ฮุย กล่าวว่า โครงการนี้ยังทำอย่างต่อเนื่อง แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจำนวนหรือฝูงของปลาสายพันธุ์นี้ใหญ่แค่ไหน เพราะแต่ละปีชาวประมงมีการจับปลาที่เริ่มโตแล้วมาเพาะเลี้ยงในกระชัง แต่ไม่มีใครรู้ว่าปลาวางไข่ที่ไหน จึงไม่สามารถจับลูกปลามาได้ หากโครงการเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ก็จะมีความรู้พื้นฐาน และสามารถเพาะเลี้ยงปลาสายพันธุ์นี้ได้ ซึ่งก็จะเป็นทางเลือกของแหล่งอาหารจากปลาสายพันธุ์นี้เมื่อสถานการณ์ในแม่โขงเดลตารุนแรงขึ้นจากน้ำทะเลหนุน

    ที่มาภาพ : https://www.hungthinhphat.co/tag/ca-bong-lau/

    ศาตราจารย์หว่าง ดุ๊ก ฮุย กล่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้ทำวิจัยคุณภาพน้ำ เพียงแต่ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำที่ปลาสายพันธุ์นี้อาศัยอยู่ได้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าปลาวางไข่ที่ไหน ปลาสายพันธุ์นี้ส่วนใหญ่จะรวมตัวในแม่โขงเดลตาซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวบ้านจับปลามากินได้ แต่ปลาสายพันธุ์นี้ก็อพยพขึ้นไปทางตอนบนของแม่น้ำโขงได้เช่นกัน

    ในช่วงการทำวิจัย 2 ปีนี้จากการเก็บตัวอย่างน้ำพบว่าอุณหภูมิน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 0.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่สูงขึ้นและระดับน้ำเค็มที่สูงขึ้นมีผลกระทบต่อปลาสายพันธุ์นี้ แม้ปลาสายพันธุ์ที่ศึกษาเป็นสายพันธุ์เดียวที่ปรับตัวให้มีชีวิตทั้งในน้ำทะเลและน้ำจืดได้ แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลให้ปลาสายพันธุ์อื่นที่มีราว 20 สายพันธุ์ไม่เจริญพันธุ์ ฝูงปลาไม่ขยายจำนวน และบางสายพันธุ์อพยพเข้ามาในน้ำจืดลึกมากขึ้น ปลาบางสายพันธุ์อพยพเข้าไปได้ไม่ไกลนัก และสายพันธุ์ที่อพยพไปได้ไกลคือปลาบึกและ ปลา Ca Bong Lau ซึ่งแม้ปรับตัวเข้ากับน้ำเค็มได้ดี แต่ต้องเป็นน้ำเค็มที่เชื่อมต่อกับน้ำจืด

    ศาตราจารย์หว่าง ดุ๊ก ฮุย กล่าวว่า หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อเนื่อง ปลาบางสายพันธุ์อาจจะสูญพันธุ์ เพราะในทางตอนล่างของแม่โขงปลาได้วางไข่ไปทั่ว ซึ่งคิดว่าจำนวนฝูงปลาจะลดลง เพราะน้ำเค็มมากขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้น และจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการอาหารก็เพิ่มขึ้น

    ศาตราจารย์หว่าง ดุ๊ก ฮุย กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการวิจัยนี้ในปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับน้ำทะเลสูงมากถึง 50% จากเดิมในช่วงปกติที่น้ำทะเลหนุนเพียง 1 ใน 4 และเป็นช่วงทุ่งนาประสบภาวะแห้งแล้งทั่วเอเชีย เป็นสภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติ โดยปกติแล้วระดับความเค็มของน้ำอยู่ที่ 13 parts per million (ppm) แต่ปีนั้นระดับความเค็มมากว่า 25 ppm แม้ยังไม่กระทบต่อฝูงปลาเพราะปลาสามารถปรับตัวได้ทั้งน้ำเค็มและน้ำจืด

    เงื่อนไขที่มีผลต่อการลดลงของปลา คือ มลพิษในน้ำ จากการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล องค์ประกอบทางเคมีของน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งความเข้าใจของรัฐบาลและชุมชน ในการสนับสนุนโครงการลงทุนต่างๆ โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการและวิถีชุมชนในท้องถิ่น เช่น แม่โขงเดลตา ประชาชนส่วนใหญ่ทำประมงน้ำจืด เลี้ยงปลาในกระชัง แต่กลับมีโครงการผลิตไฟฟ้า

    ศาตราจารย์หว่าง ดุ๊ก ฮุย กล่าวว่า ปีนี้ทำวิจัยร่วมกับไทยและกัมพูชา คาดว่าในปีหน้าจะมีข้อสรุปบางอย่าง เพราะการศึกษาหวังว่าจะสามารถเพาะพันธุ์ปลาขึ้นมาได้ เพื่อช่วยชาวประมงน้ำจืด โครงการได้นำเสนอรับทุนจากกองทุนยุโรป และหวังว่าจะได้เงินมาสนับสนุนโครงการนำร่องในการเพาะพันธุ์ปลา โครงการวิจัยนี้จึงเป็นพื้นพื้นฐานที่นำไปต่อยอดได้ และแม่โขงเดลตามีการประมงเลี้ยงปลาในกระชังจำนวนมก

    ไทยใช้แม่น้ำโขงร่วมกับลาวเป็นระยะทางยาวถึง 700 กิโลเมตร ขณะที่เวียดนามมีส่วนในแม่น้ำโขง 200 กิโลเมตร ส่วนสายน้ำโขงที่ไหลพาดผ่านกัมพูชามีความยาวกว่า 400 กิโลเมตร หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขร่วมกัน พื้นที่ที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของแต่ละประเทศอาจจะหดหาย ชีวิตประชากรไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคนจะได้รับผลกระทบ

    ที่มาภาพ:https://www.hungthinhphat.co/tag/ca-bong-lau/