ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > สำรวจเขื่อนแม่น้ำโขง (ตอน 2) เสนอไทย-เวียดนามร่วมวางอนาคตแม่น้ำโขง ชี้แม่โขงเดลตากับลุ่มเจ้าพระยาเจอปัญหาเดียวกัน

สำรวจเขื่อนแม่น้ำโขง (ตอน 2) เสนอไทย-เวียดนามร่วมวางอนาคตแม่น้ำโขง ชี้แม่โขงเดลตากับลุ่มเจ้าพระยาเจอปัญหาเดียวกัน

16 มิถุนายน 2019


ในช่วงวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2562 สำนักข่าวสารเวียดนาม หรือ Vietnam News Agency ได้เชิญสื่อมวลชนไทย นำโดย อาจารย์ทรงฤทธิ์ โพนเงิน อาจารย์พิเศษคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เดินทางไปเวียดนามเพื่อลงพื้นที่แม่โขงเดลตาให้สัมผัสกับสถานการณ์จริง เพื่อสร้างความตระหนักรู้และจุดประกายความริเริ่มการร่วมมือระหว่างกันใน 4 ประเทศ โดยมี ฟาม ทัญ ฮาย (Pham Thanh Hai) และ เลือง หว่าง ย้าบ (Luong Hoang Giap) เจ้าหน้าที่ Foreign Press Center จากกระทรวงต่างประเทศเวียดนาม ทำหน้าที่ดูแลคณะสื่อมวลชนตลอดทั้ง 4 วัน ไปพูดคุยกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความสนใจและศึกษาผลกระทบของการพัฒนาในลำน้ำโขง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานในพื้นที่ เพื่อรวบรวมรับข้อมูลที่อาจจะนำไปสู่การผลักดันร่วมกันของสองประเทศ คือไทยกับเวียดนาม

ที่มาภาพ : https://vietnamnews.vn/society/424857/forum-slams-mekong-dam-construction-warns-livelihoods-at-stake.html#iWewjXfacu20u3AR.97

ในวันที่สองของการเดินทาง คณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่ เดินทางไปยังเมืองหมีเทอ (My Tho) จังหวัดเตี่ยนยาง (Tien Giang) ซึ่งมีขนาด 170,000 เฮกตาร์ เป็นหนึ่งใน 13 เมืองที่อยู่ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญของเวียดนาม มีพื้นที่ปลูกข้าว 85,000-90,000 เฮกตาร์ พร้อมกับลงเรือล่องแม่น้ำส่งเตียน 1 ใน 9 แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ไหลลงสู่งทะเลจีนใต้ พบว่าประสบปัญหาน้ำกัดเซาะตลิ่งอย่างหนัก เป็นผลจากการที่ไม่มีน้ำจืดจากแม่น้ำโขงไหลมาดันน้ำทะเลที่หนุนสูงให้กลับออกไป

  • สำรวจเขื่อนแม่น้ำโขง (ตอน 1) เมื่อแม่น้ำถูกทำร้าย ชะตาคนพื้นที่แม่โขงเดลตา 20 ล้านชีวิตของเวียดนามจะจมทะเลหรือไม่
  • เมื่อเดินทางกลับโฮจิมินห์ซิตี้หลังจากลงพื้นที่สำรวจเมืองหมีเทอ ฟาม ทัญ ฮาย และ เลือง หว่าง ย้าบ นำคณะสื่อมวลชนไปพูดคุย จุง หว่าง เจือง นักวิจัยอาวุโสแห่ง The Southern Center for International Studies (SCIS) University of Social Sciences and Humanities ในโฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งเกษียณจากการสอนในมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกากลับมาทำงานในบ้านเกิด

    จุง หว่าง เจือง เกิดที่จังหวัดเตี่ยนยาง เป็นหนึ่งใน 13 จังหวัดที่ตั้งในแม่โขงเดลตา แต่เติบโตที่โฮจิมินห์ซิตี้ก่อนที่จะเดินทางไปสหรัฐฯ และได้ใช้ชีวิตในสหรัฐฯ ร่วม 50 ปี นับตั้งแต่ไปศึกษาต่อในปี 1947 รวมทั้งเป็นอาจารย์สอนที่ซานฟรานซิสโก

    หลังเกษียนในปี 2015 ได้กลับมาเวียดนาม และทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ (climate change) และระบบนิเวศ (ecology) เน้นไปที่ลุ่มน้ำโขง (Mekhong Basin) โดยเฉพาะที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekhong Delta) นอกจากนี้ยังได้ทำงานร่วมกับ International River มาเป็นเวลานาน

    การพูดคุยกับจุง หว่าง เจือง ใช้ร้านกาแฟเป็นที่นัดหมายเช่นเดิม แต่ร้านกาแฟแห่งนี้ขายกาแฟที่ผ่านการปลูกแบบออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์ที่วางขายในร้านทุกอย่างเป็นออร์แกนิก

    จุง หว่าง เจือง ได้ให้ข้อมูลตอกย้ำการพัฒนาโครงการในแม่น้ำโขงอีกครั้งว่า มีการสร้างเขื่อนจำนวนมากตั้งแต่จีนลงมายังลาว ต่อไปถึงกัมพูชา รวมทั้งเวียดนามเองที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนสองฝั่งโขง ประชาชนที่พึ่งพาการใช้น้ำจากแม่น้ำโขง และระบบนิเวศ

    แม่น้ำมังกร 9 สายเหลือแค่ 7 สาย

    จุง หว่าง เจือง นักวิจัยอาวุโสแห่ง The Southern Center for International Studies (SCIS) University of Social Sciences and Humanities

    จุง หว่าง เจือง เล่าว่า เมื่อเกษียณจากการทำงานในสหรัฐฯ ได้เดินทางกลับประเทศ จากนั้นได้เดินทางขึ้นไปยังจีนเพื่อสำรวจแม่น้ำโขงไล่ลงมาตอนล่าง พบว่าตลอดลำนำโขงมีการสร้างเขื่อนจำนวนมาก โดยในจีน มี 10 เขื่อน

    “ปี 2015 ผมได้เดินทางไปขึ้นสำรวจสายน้ำโขง ทั้งแม่โขงตอนบนและตอนล่าง ได้ขึ้นไปถึงยูนนานพบว่ามีการสร้างเขื่อนจำนวนมากในแม่น้ำโขง ทั้งเขื่อนหม่านว่าน เสี่ยวว่าน ต้าเฉาชาน ในจีนบริเวณตอนบนของแม่น้ำโขง หรือที่เรียกกันว่า ล้านช้าง (Lancang) ลงมาถึงเมืองสิงห์ หลวงน้ำทา หลวงพระบาง ปากแดง ในลาว รวมทั้งเชียงแสน เชียงของในไทย ลงไปถึงสะหวันเขต ปากเซ สีพันดอน ในลาว จากนั้นข้ามไปกัมพูชา รัตนคีรี มณฑลคีรี ลงจนไปถึงจุดบรรจบของแม่น้ำโขงกับโตนเลสาบในกัมพูชา และได้ไปเยี่ยมหมู่บ้านลอยน้ำในโตนเลสาบ จากนั้นลงมาที่เวียดนาม บริเวณชายแดนเวียดนามกับกัมพูชา” จุง หงว่าง เจือง กล่าว

    นอกจากนี้ได้สำรวจแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่ไหลแยกเข้าเวียดนามบริเวณแม่โขงเดลตา ซึ่งเดิมมีทั้งหมด 9 แม่น้ำสาขา ทำให้รู้จักกันในชื่อ 9 มังกร และเรียกแเม่โขงเดลตาว่า กู๋ลองยาง แต่พบว่าขณะนี้เหลือเพียง 7 สาขา เนื่องจาก 2 แม่น้ำสาขาแห้ง ไม่มีน้ำไหลเลย โดยแม่น้ำสาขาสายแรกมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงจนไม่มีนำไหลเข้า แม่น้ำสาขาสายที่สองแห้งผากจนหมดสภาพแม่น้ำ เกิดจากการสร้างเขื่อนเพื่อกันน้ำทะเลหนุน ซึ่งจุง หว่าง เจือง กล่าวว่า คือปัญหาที่แม่โขงเดลตากำลังเจอ

    จุง หว่าง เจือง กล่าวว่า แม่โขงเดลตาเป็นพื้นที่กว้างใหญ่ประกอบด้วย 13 จังหวัดเชื่อมต่อกัน จากแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ซึ่งแม่โขงที่ไหลเข้ามาเวียดนามแยกเป็น 5 สาขาในทางตอนเหนือ ส่วนที่เหลือ 2 สาขาได้แยกในพื้นที่ทางใต้

    “เวียดนามมีพรมแดนที่ติดแม่น้ำโขงเพียง 200 กิโลเมตรเท่านั้น ขณะที่ไทยและลาวมีชายแดนติดแม่น้ำโขงเป็นความยาวถึง 700 กิโลเมตร แต่ประเด็นคือประชาชนในแม่โขงเดลตามีเกือบ 20 ล้านคน มีพื้นที่ 43,000 ตารางกิโลเมตร ประชาชนส่วนใหญ่เลี้ยงชีวิตด้วยการปลูกข้าว เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (aqua-culture) ดังนั้นเวียดนามจึงพึ่งพิงพื้นที่ปากแม่น้ำค่อนข้างมาก จีดีพีของแม่โขงเดลตาก็สูงเป็นอันดับสามของประเทศรองจากอันดับหนึ่งอย่างโฮจิมินห์ซิตี้และอันดับสองอย่างฮานอย อีกทั้งความเชื่อมโยงระหว่างโฮจิมินห์กับแม่โขงเดลตามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่แม่โขงเดลตากำลังประกับความท้าทายอย่างมาก” จุง หว่าง เจือง กล่าว

    ความท้าทายอย่างแรก กระแสน้ำถูกควบคุมจากเขื่อน ขณะนี้ในตอนบนของแม่น้ำโขง จีนได้สร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 11 แห่ง เริ่มจากตงหวาเฉียวลงมาทางตอนล่าง ซึ่งมีผลต่อกระแสน้ำ โดยจากการวัดการไหลของน้ำที่นครพนมของไทยซึ่งเป็นจุดวัดหลัก พบว่ากระแสน้ำน้อยลงจากเดิม ก่อนหน้านี้ทุกๆ 1 วินาทีจะมีกระแสน้ำไหล 20,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันลดลงมากจนเหลือเพียง 2,000 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น เหลือ 1 ใน 10 ของเดิม หมายความว่ากระแสน้ำที่เคยพัดพาความอุดมสมบูรณ์ทั้งดินและแร่ธาตุต่างๆ มายังตอนล่างของแม่โขงลดลงจากการสร้างเขื่อน

    “อีกทั้งลาวที่ต้องการเป็นแบตเตอรี่ออฟเอเชีย มีการสร้างเขื่อนไซยบุรี น้ำเทิน น้ำงึม ปากแบง ลงมาถึงดอนซาว บางเขื่อนสร้างเกือบจะเสร็จ ขณะที่กัมพูชาก็กำลังจะสร้างเขื่อนเพิ่ม ก็จะยิ่งไปสู่สถานการณ์ที่ร้ายแรงขึ้นอีก ดังนั้นประชาชนปากแม่น้ำจึงตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงเพราะขาดแคลนทรัพยากร ขาดแคลนน้ำ ขาดแคลนการดำเนินชีวิต วิถีชีวิต และจะกระทบต่อความมั่นคงอาหารในที่สุด” จุง หว่าง เจือง กล่าว

    ในแม่น้ำโขงมีกรอบความร่วมมือจำนวนมาก เช่น GMS, MRC, Mekong-Lancang Cooperation, Lancang Mekhong Corporation แต่กระนั้นก็ยังคำถามเกี่ยวกับกรอบข้อตกลงฉบับหลัง เพราะการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา ประเด็นหลักมุ่งไปที่ Belt Road Initiatives (BRI) ที่จีนพยายามเชื่อมโยงเข้ามาและ BRI มีเป้าหมายหลักที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนพื้นฐานนั้นเน้นไปที่ ถนนและเขื่อน

    ความท้าทายที่สอง คือ ระบบนิเวศ (ecology) เปลี่ยนแปลงไปของแม่โขงเดลตา จากการรุกล้ำของน้ำเค็มเพราะบริเวณนี้เดิมมีน้ำ 3 ประเภท คือ 1) น้ำเค็ม 2) น้ำกร่อยคือน้ำเค็ม น้ำจืด น้ำฝนผสมกัน 3) น้ำฝนหรือน้ำจืด น้ำทั้ง 3 ประเภทนี้ ทำให้เกิดอาชีพทางการเกษตร 3 ด้าน ด้วยกัน น้ำเค็มทำให้เกิดอาชีพประมงน้ำเค็ม ทำฟาร์มกุ้งได้ ทำฟาร์มปูม้าได้ จัดเป็นแหล่งโปรตีน

    ส่วนน้ำกร่อยทำฟาร์มกุ้งและพืชที่อยู่ในน้ำเค็มได้ แต่น้ำเค็มทำให้ไม่สามารถปลูกข้าวได้ แม้ขณะนี้สามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้ปรับตัวและไม่ตายเมื่อขาดน้ำได้ แต่ได้ผลผลิตน้อย เพราะต้องอาศัยน้ำจากระบบชลประทาน ดังนั้นการเก็บเกี่ยวผลผลิตจึงขึ้นอยู่กับน้ำอย่างมาก ทั้งน้ำกร่อยและน้ำจืดที่มาจากน้ำฝน แต่น้ำฝนต้องอาศัยธรรมชาติ บางปีเจอปรากฏการณ์เอลนีโญ น้ำน้อย บางปีเจอภัยลานีญาน้ำมาก

    “ปี 2018 มีปัญหามากเพราะน้ำจืดจากแม่น้ำโขงไหลงลงมาน้อยไม่มากพอที่จะดันน้ำทะเลที่หนุนเข้ามาในชายฝั่ง ทำให้น้ำเค็มไหลเอ่อเข้ามาในแผ่นดินยาวถึง 50 กิโลเมตร ทำให้ชุมชนปากแม่น้ำที่ประกอบอาชีพเกษตร ทั้งเลี้ยงปลาในกระชัง ปลูกข้าว ประสบกับความยากลำบากในการดำรงชีวิต” จุง หว่าง เจือง กล่าว

    ความท้าทายที่สาม คือ ดินเสื่อมสภาพ ที่ผ่านมารัฐบาลส่งเสริมการปลูกข้าว เพราะต้องการแข่งกับไทยในการส่งออกข้าว เมื่อมีการปลูกข้าวมากเกินไป โดยปกติแล้วการทำนาปีละ 2 ครั้งถือว่าเหมาะสม แต่บางครั้งรัฐบาลเวียดนามเองส่งเสริมให้ทำนาปีละ 3 ครั้ง ส่งผลให้มีการใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ดินจึงเสียสภาพ การที่จะทำให้ดินฟื้นฟูสภาพ ต้องอาศัยน้ำฝนจำนวนมาก น้ำที่ไหลลงมาจากตอนบนเพื่อให้พัดพาสิ่งตกค้างในดินออกไป

    ความท้าทายข้อที่สี่ คุณภาพน้ำ การสร้างเขื่อนจำนวนมาก การผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวนมาก ทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมลง จากการระบายน้ำเสียที่แม้บำบัดแล้วลงกลับสู่แม่น้ำ คุณภาพน้ำนี้มีผลต่อการเกษตร การประมง ชาวเวียดนามจำนวนมากดำรงชีวิตด้วยการทำประมงน้ำจืดในแม่น้ำ เลี้ยงปลาในกระชังที่ส่วนหนึ่งได้การส่งออก ดังนั้นวิถีชีวิตชาวบ้านได้รับผลกระทบ

    ที่มาภาพ :
    https://theaseanpost.com/article/lancang-mekong-cooperation-blessing-or-curse

    เสนอแม่โขงเดลตากับลุ่มเจ้าพระยาทำงานร่วมกันวางอนาคตแม่โขง

    จุง หว่าง เจือง เสนอให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างไทยกับเวียดนาม เพราะแม่โขงเดลตากับลุ่มเจ้าพระยาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างกัน กำลังจะจมน้ำทะเลทั้งคู่ และจากการเดินทางไปแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังหลายครั้ง ได้เห็นการกัดเซาะชายฝั่งของน้ำ ป่าไม้หายไป และเป็นโอกาสที่ไทยจะได้รู้สถานการณ์ของเวียดนาม เวียดนามจะได้รู้สถานการณ์ของไทย และจะได้รู้สถานการณ์ประเทศอื่น

    จุง หว่าง เจือง กล่าวว่า แม่โขงเดลตาเป็นที่ราบกว้างใหญ่ เหมือนกับปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ออกสู่ทะเลในไทย ซึ่งเป็นที่ราบขนาดใหญ่เช่นกัน และประกอบจาก 4 แม่น้ำสายหลักคือ ปิง วัง ยม น่าน แต่แม่โขงเดลตากว้างกว่าเจ้าพระยาที่ราบ มีแม่น้ำ 9 สาขาแม้จะเหลือเพียง 7 สาขาก็ตาม ยังมีลำคลอง ลำธาร สายน้ำที่แยกออกจากแม่น้ำโขงจำนวนมากหลายร้อยสาขา รวมแล้วเป็นระยะทางมากกว่า 5 พันกิโลเมตร ดังนั้นสายน้ำที่เชื่อมต่อกันนี้จึงมีความสำคัญในการที่จะนำน้ำมาสู่ที่เพาะปลูก การเกษตรริมน้ำ เกษตรกรจึงเดือดร้อนมาก

    “ผมคิดว่าเรา ไทยกับเวียดนาม สามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะทั้งสองประเทศกำลังประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน เราสามารถแบ่งปันข้อมูลแชร์ความคิดกันได้ แชร์เทคโนโลยี แชร์งานวิจัยเพื่อป้องกัน หรือทำวิจัยร่วมกัน ไทยมีการดำเนินการหลายอย่างที่จะฟื้นฟูน้ำ รวมทั้งผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำและรักษาแม่น้ำในแนวทางธรรมชาติ เช่น ที่ปากมูล ที่พยายามรักษาคุณภาพน้ำร่วมกับชาวบ้าน” จุง หว่าง เจือง กล่าว

    จุง หว่าง เจือง กล่าวว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงหรือ MRC ในหลายปีที่ผ่านมา แม้มีการทำวิจัยสำรวจ แต่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการที่จะบังคับหรือกำหนดให้มีการปฏิบัติตามได้ ทั้งๆ ที่ควรเป็นองค์กรที่สามารถทำงานได้ เช่น การแจ้งกับจีนว่าการสร้างเขื่อนมีผลกระทบต่อประเทศที่อยู่ทางใต้ของแม่โขง

    “เราสามารถมีการดำเนินการข้ามพรมแดนร่วมกันได้ ตัวอย่างเช่น การวิจัยร่วมกันของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือสถาบันราชภัฏนครพนม มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถร่วมกันมือมหาวิทยาลัย กั่นเทอ (Can Tho) ในเวียดนามได้ เราต้องมองอนาคตแม่น้ำโขงร่วมกันเพราะขณะนี้ อาหารและน้ำสามารถกลายเป็นต้นเหตุสำคัญของการทำสงครามในอนาคต”จุง หว่าง เจือง กล่าว

    จุง หว่าง เจือง กล่าวว่า ไทยและเวียดนามมีความเชื่อในพุทธศาสนาที่คล้ายกัน มีความเคารพในธรรมชาติ มีแนวคิดใกล้เคียงกัน ด้วยแนวคิดนี้ไทยและเวียดนามซึ่งเป็นประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันก็จะช่วยบรรเทาและจำกัดผลกระทบได้ เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด แต่สามารถลดผลกระทบได้ อีกทั้งไทยกับเวียดนามมีที่ตั้งไม่ห่างกัน ใช้เวลาบินเพียง 1 ชั่วโมงก็สามารถทำงานร่วมกันได้

    จุง หว่าง เจือง กล่าวว่า การเริ่มโครงการแม่โขงศึกษาเดิมควรเป็นหน้าที่ของ MRC แต่ MRC ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เข้มแข็งพอ แต่การร่วมมือระหว่างกันสามารถใช้ช่องทาง International River ได้ ทำงานร่วมกับ Mekhong School ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเหมาะสม หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านภูมิศาสตร์ รวมไปถึงราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยกั่นเทอในเวียดนาม มหาวิทยาลัยในกัมพูชา มหาวิทยาลัยโฮจิมินห์

    จุง หว่าง เจือง เปิดเผยว่า ได้เสนอแนวคิดนี้ไปที่ International River และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่โฮจิมินห์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับ แต่ยังไม่มีเครือข่ายในประเทศอื่น เช่น อาจจะเริ่มจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความพร้อมในทุกด้านมากกว่าประเทศอื่น และให้ประเทศอื่นเป็นสาขา

    “โครงการ Mekhong Studies เริ่มเป็นรูปเป็นร่างบ้างแล้ว โดยมีอาจารย์ ANU จากออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญแม่น้ำโขง ก็ให้ความสนใจ แต่ต้องมีการพูดคุยเพื่อสรุปแนวคิดและแนวทางความร่วมมือ การประสานงานกัน ทำงานร่วมกัน เช่น การส่งเด็กไปเรียนแลกเปลี่ยน เพราะภาษาไม่ใช่อุปสรรค ลาวพูดไทยได้ เวียดนามก็ไม่มีปัญหา เป็นการรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญใน 5 ประเทศ อันนี้เป็นโครงการระยะยาว” จุง หว่าง เจือง กล่าว

    เมื่อมีข้อตกลงระยะยาวร่วมกัน ก็สามารถกำหนดเป้าหมายตามกรอบระยะเวลา เช่น การทำวิจัยระหว่างไทยเวียดนามให้สำเร็จในปี 2025 และปี 2030 ก็ทำแผนมองไปข้างหน้า ส่วนระยะสั้นปี 2020 อาจจะจัดประชุมร่วมกันได้ โดยจุง หว่าง เจือง กล่าวว่า ต้องการจัดประชุมระหว่างกันขึ้นที่ไทยหรือเวียดนาม และจะไม่จัดที่เมืองใหญ่ แต่จะจัดในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อผู้เข้าประชุมจะได้เห็นสถานการณ์จริง และการทำงานนั้นต้องทำร่วมกันประชาชน ต้องนำประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากผลกระทบมาร่วมด้วย

    เขื่อนสตึงเตร็งในกัมพูชา ที่มาภาพ : https://theaseanpost.com/article/lancang-mekong-cooperation-blessing-or-curse

    จุง หว่าง เจือง กล่าวอีกว่า เวียดนามต้องการทำงานร่วมกับไทย ทำงานร่วมกับกัมพูชา ทำงานร่วมกับลาว และมีข้อตกลงร่วมกันเพียง 4 ประเทศ ไม่รวมจีน ต้องร่วมมือกันใน 4 ประเทศ ที่อยู่ตอนล่างของแม่น้ำโขง ต้องร่วมมือกัน ทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน เพราะทั้งสองฝั่งของแม่โขง คือ ไทย ลาว เวียดนาม

    “ผมหวังว่า ไทย เวียดนาม และอีก 3 ประเทศจะสามารถจัดตั้งโครงการแม่โขงศึกษา Mekhong Studies เน้นไปที่การเรียนรู้แม่โขง การแชร์พรมแดนแม่โขงร่วมกัน ประเด็นความอยู่รอด ซึ่งเป็นความฝันของผมที่ต้องการจะเห็น เพราะเราจะสามารถทำงานร่วมกันได้ ส่วนจีนนั้นก็เปิดให้เข้าร่วมภายหลังได้ เพราะเรา 4-5 ประเทศมีความเหมือนกันหลายด้าน” จุง หว่าง เจือง กล่าว

    อีกประเด็นหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมาก ซึ่งประเด็นนี้สามารถทำงานร่วมกันในเวทีระหว่างประเทศได้ โดยอาจจะต้องมีการทำข้อตกลงเพิ่มเติม ทำงานร่วมกันควบคู่กับรักษาแม่น้ำโขง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบริเวณแม่น้ำโขง

    (อ่านต่อตอนที่3)