ThaiPublica > คนในข่าว > “ดร.มหาธีร์” ยกความสัมพันธ์มาเลเซียกับไทย “โมเดลสันติสงบสุขของสองประเทศเพื่อนบ้าน”

“ดร.มหาธีร์” ยกความสัมพันธ์มาเลเซียกับไทย “โมเดลสันติสงบสุขของสองประเทศเพื่อนบ้าน”

27 ตุลาคม 2018


เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมบรรยายพิเศษที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรื่อง “Malaysia-Thailand Bilateral Relations in the Context of ASEAN”

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตุน ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมบรรยายพิเศษที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรื่อง “Malaysia-Thailand Bilateral Relations in the Context of ASEAN”

ดร.ชโยดม สรรพศรี ทำหน้าที่พิธีกรได้กล่าวถึงประวัติ ดร.มหาธีร์สั้นๆ ว่า เกิดในปี 1925 ที่รัฐเกอดะฮ์ บิดาประกอบอาชีพครู สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และทำงานเป็นแพทย์ได้ 2 ปี ก่อนจะเข้าสู่วงการการเมือง ในนามสมาชิกของพรรคอัมโน และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่สี่ของมาเลเซียตั้งแต่ปี 1981-2003 ซึ่งระหว่างนั้นได้ปฏิรูปเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งการปรับโครงสร้างภาษี การส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ผลงานที่โดดเด่นคือการนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจอาเซียนปี 1997

ดร.มหาธีร์กลับเข้าสู่แวดวงการเมืองอีกครั้งในปี 2018 โดยได้รับการเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคม และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น

ความสัมพันธ์มาเลเซีย-ไทยเกิดขึ้นมายาวนาน

ดร.มหาธีร์เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า การบรรยายในเชิงวิชาการไม่ใช่รูปแบบของตัวเอง จากนั้นได้เล่าย้อนไปว่า เมื่อครั้งที่ไทยยังใช้ชื่อสยามนั้นมาเลเซียยังไม่เกิดขึ้น แต่มาเลเซียปรากฏขึ้นในปี 1957 ภายใต้ชื่อมาเลย์ เหตุผลที่มาเลย์ถือกำเนิดขึ้นเพราะถูกปกครองภายใต้อังกฤษเป็นเวลานาน และสหราชอาณาตัดสินใจแทนที่จะปกครองด้วยสนธิสัญญากับชาวมาเลย์ และพยายามรวมทุกรัฐเข้ามาเพื่อทำให้มาเลย์เป็นประเทศเดียวเปิดรับทุกคน แต่ในขณะนั้นประชาชน ผู้นำต่างพากันคัดค้าน หลังจากมาเลย์ก็ปรับเปลี่ยนแผนจากการเป็นสหภาพมาลายาขึ้นตรงต่อจักรวรรดิอังกฤษ มาเป็นสหพันธ์มาลายาในคาบสมุทรมาลายู ขณะนั้นยังไม่ได้รับอิสรภาพ

ในปี 1957 มาเลย์กลายเป็นรัฐเดียว คือ มาเลย์ แต่ช่วงนั้นยังตามหลังไทยอีกไกล อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้นเป็นเวลานานก่อนที่ได้รับอิสรภาพ มาเลเซียมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมาก่อน

“ผมเองมาจากรัฐเกอดะฮ์ อยู่ทางตอนเหนือของมาเลเซีย มีพรมแดนติดกับไทย จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ประชาชนทั้งสองประทศมีการเดินทางไปมาหาสู่กัน รัฐเกอดะฮ์เองยังมีความสัมพันธ์กับไทยซึ่งในขณะนั้นยังชื่อสยาม” ดร.มหาธีร์กล่าว

นอกจากนี้ สมาชิกราชวงศ์มาเลเซีย ผู้ปกครองคือสุลต่านได้เดินทางเข้าศึกษาในประเทศไทย และสามารถพูดภาษาไทยได้อย่างดีจนกระทั่งต้องกลับเรียนภาษามลายูใหม่ เมื่อดินทางกลับประเทศ นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย ตุนกู อับดุล ราห์มัน ก็เข้ามาศึกษาในประเทศไทย

ความสัมพันธ์ไทยมาเลเซียเกิดขึ้นมายาวนานก่อนที่มาเลเซียจะได้รับอิสรภาพอีก แม้บางช่วงจะห่างหายกันบ้างแต่ก็มาเลย์ก็ยอมรับในความเป็นรัฐเอกราชของสยาม และเพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน มาเลย์ได้ส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับไทยเป็นประเทศที่ใหญ่กว่ามาก และขณะนั้นคาบสมุทรมาลายูยังแบ่งออกเป็น 9 รัฐ แต่ละรัฐก็อ่อนแอไม่สามารถป้องกันตัวเองได้

เมื่ออังกฤษเข้ามา ซึ่งเราก็ยินดีเพราะเราเชิญเขามาดูแลประเทศ เราเชื่อว่าเราจะมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกโจมตีจากประเทศอื่น แต่โชคไม่ดีอังกฤษไม่เคารพข้อตกลงในสนธิสัญญา และกลับมาปกครองมาเลเซียราวกับมาเลเซียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์ที่ตกลงกันไว้นั้นเป็นลักษณะสนธิสัญญา มาเลเซียจึงไม่ใช่อาณานิคมของอังกฤษ

เมื่อเกิดสงครามขึ้น ญี่ปุ่นได้ยึดครองมาเลเซีย และญี่ปุ่นตัดสินใจว่า ในเมื่อไทยได้เข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ดังนั้น ควรที่จะส่งมอบรัฐ 4 รัฐทางเหนือ คือ กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และเกอดะฮ์ ให้กับไทย ในช่วงนั้นมาเลเซียจึงถูกปกครองด้วยประเทศไทย แต่เมื่อมาเลเซียต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากอังกฤษ ทั้ง 9 รัฐร่วมกันต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ดังนั้นในปี 1957 หลังจากที่มีการเจรจากันมานานกับอังกฤษ อังกฤษจึงให้อิสรภาพกับมาเลเซียในฐานะประเทศเดียว คือ สหพันธ์มาลายาในคาบสมุทรมาลายู

จากนั้นมาเลเซียจึงบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยตัวเอง และในบรรดาประเทศแรกที่มาเลเซียสร้างความสัมพันธ์ด้วยคือประเทศไทย ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อมาเลเซีย เพราะมีการนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร ผลไม้จากไทยมาอยู่แล้ว

“ความสัมพันธ์กับไทยได้แน่นแฟ้นขึ้น เมื่อมีคนบางกลุ่มได้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นในมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากไทยในการต่อสู้ขับไล่พรรคคอมมิวนิสต์ ในที่สุดไทยได้ให้ความช่วยเหลืออย่างมากด้วยการยอมให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้ามาตั้งรกรากในไทยได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราตระหนักและให้คุณค่ามาก”

เมื่อประเทศไทยมีปัญหาในชายแดนใต้ มาเลเซียจึงคิดว่าเป็นหน้าที่ของมาเลเซียในการที่จะช่วยไทยแก้ปัญหาในภาคใต้

นอกจากนี้ ไทยและมาเลเซียเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ดีต่อกัน ไทยเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับสองของมาเลเซียรองจากสิงคโปร์ แต่ไทยใหญ่ที่สุดในบรรดาสมาชิกประเทศอาเซียน มาเลเซียรู้สึกว่า การค้ายังเติบโตได้อีก เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาของทั้งไทยและมาเลเซีย

ยึดสันติวิธีแก้ไขความขัดแย้ง

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมาเลเซียตั้งอยู่บนพื้นฐานการรักษาความเป็นกลางของทั้งสองประเทศ จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามระหว่างประเทศ มาเลเซียในฐานะประเทศเอกราชต้องการที่จะเป็นกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่มาเลเซียสำนึก เพราะเมื่อมาเลเซียมีปัญหาความวุ่นวายจากพรรคมิวนิสต์ ไทยก็ได้ให้ความช่วยเหลือ

มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างมีแนวคิดว่า ควรที่จะรวมตัวกันขึ้นเป็นภูมิภาค ดังนั้นจึงก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือ ASEAN ในช่วงที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตเข้าทำหน้าที่บริหารประเทศอินโดนีเซีย เป็นการรวมตัวของประเทศกำลังพัฒนาไม่ร่ำรวยและเป็นประเทศยากจน แต่มองเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะให้ความสำคัญกับความขัดแย้งภายในประเทศ แต่ควรที่อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข แทนที่จะเข้าไปสู่สงครามจากพื้นที่ทับซ้อนระหว่างประเทศ

การก่อตั้งอาเซียนในช่วงแรกไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน แต่ต้องการที่จะนำผู้นำของทั้ง 5 ประเทศสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้น การก่อตั้งอาเซียนจึงมีผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสงบสุขและมีเสถียรภาพ และด้วยเหตุนี้ ประเทศอาเซียนรายอื่นจึงเข้ามาร่วม อาเซียนจึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ประเทศ โดยเป็นสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศ

“นี่คือความสำเร็จในแง่ที่ว่า สามารถรักษาความสงบสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ไม่ใช่ความสำเร็จในฐานะกลุ่มเศรษฐกิจ แม้ว่าประเทศสมาชิกจะมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องพื้นที่ทับซ้อน แต่อาเซียนได้แสดงให้โลกเห็นว่า สิทธิในพื้นที่ทับซ้อนสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องก่อสงคราม”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศไทย ซึ่งมีสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนในฝั่งทะเลตะวันออกของคาบสมุทร และทางภาคใต้ โดยปกติแล้วความขัดแย้งจะไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย แต่ผู้นำของไทยและมาเลเซียตัดสินใจว่าทางแก้ไขของพื้นที่ทับซ้อนที่ง่ายที่สุดคือในทะเล ซึ่งอาจจะมีน้ำมันอยู่ จึงตกลงที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันจากการผลิตน้ำมันของทั้งสองประเทศในสัดส่วน 50:50 นี่คือข้อตกลงที่ไม่มีที่ไหนเหมือน และหาไม่ได้ในประเทศอื่น”

“นี่คือสิ่งที่เราควรให้คุณค่า เพราะเราจัดการแก้ไขความแตกต่างด้วยการเจรจา ไม่มีการประท้วงของประชาชน หรือมีการลุกฮือขึ้น หรือมีความเคลื่อนไหวใดๆ นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศในขณะนั้น เห็นพ้องว่าแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือการแบ่งปันการผลิตในพื้นที่นั้น ทุกวันนี้ภายใต้ข้อตกลง พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) การผลิตก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้มีการแบ่งกันระหว่างไทยกับมาเลเซียในอัตราส่วน 50:50”

แนวทางนี้อาจจะไม่สำคัญสำหรับบางประเทศ แต่สำหรับเราแล้ว เราสามารถแก้ไขปัญหาโดยวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรง และจริงๆ แล้วมาเลเซียมีความขัดแย้งกับอินโดนีเซียในเรื่องสิทธิครอบครองเกาะ 2 เกาะในพื้นที่ทับซ้อนในทะเลในรัฐซาบาห์ และมาเลเซียยังปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับสิงคโปร์ด้วย ทั้งสองสิทธินี้มีการแก้ไขด้วยการนำเข้าสู่การพิจารณาของศาลโลก ซึ่งการนำความขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการของศาลโลกแล้วก็ต้องยอมรับคำตัดสินของศาลไม่ว่าจะออกมาอย่างไร คู่กรณีต้องยอมรับ

เมื่อนำกรณีนี้เข้าสู่การตัดสินของศาลโลก อินโดนีเซียและมาเลเซีย ทั้งสองเกาะศาลตัดสินให้เป็นของมาเลเซีย แต่กรณีของสิงคโปร์นั้น ศาลตัดสินให้เป็นของสิงคโปร์ ซึ่ง ดร.มหาธีร์กล่าวว่า นั่นคือความผิดพลาดครั้งใหญ่ อย่างไรก็ตาม มาเลเซียก็ยอมรับคำตัดสินของศาล เกาะนั้นจึงเป็นทรัพย์ของสิงคโปร์ แต่มาเลเซียก็ยังเป็นเจ้าของเกาะสองเกาะอยู่ มิฉะนั้นแล้วมาเลเซียกับสิงคโปร์คงได้ทำสงครามกันแน่ นี่คือการแก้ไขปัญหาอย่างโง่เขลา สงครามไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพราะท้ายที่สุดไม่ว่าผู้แพ้หรือผู้ชนะ ไม่มีใครได้ประโยชน์จากหยดเลือดและความเสียหายที่เกิดขึ้นประเทศระหว่างสงคราม

“เราหวังว่าเมื่อใดก็ตามที่มีความขัดแย้ง ความแตกต่างเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีการแก้ไขด้วยสันติวิธี และผมก็ดีใจที่ประเทศไทยและมาเลเซียไม่มีข้อขัดแย้งกันเลยหลังจากที่มีการแก้ไขปัญหาได้แล้ว แต่กลับมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ ไทยได้ครึ่งหนึ่ง มาเลเซียได้ครึ่งหนึ่ง” ดร.มหาธีร์กล่าว

สำหรับด้านอื่นๆ ดร.มหาธีร์กล่าวว่า ก็มีปัญหาบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ เมื่อมีประชาชนอาศัยอยู่ในแนวชายแดนก็มักจะมองข้ามพรมแดนไป มีการข้ามพรมแดนไปมา โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนในชาติพันธุ์เดียวกัน ซึ่งก็สร้างปัญหา แต่มีการแก้ไขด้วยการเจรจา มีการกำหนดว่าใครบ้างมีสิทธิข้ามพรมแดน ใครที่ต้องนับว่าเป็นพลเมืองไทยหรือเป็นพลเมืองมาเลเซีย

“มาเลเซียมีประสบการณ์จากปัญหาการสร้างความแตกแยกภายในมาก่อน มีบางกลุ่มต้องการล้มล้างรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศได้รับอิสรภาพ มีการสู้รบแบบกองโจร ซึ่งการจัดการกับกองโจรนี้ทำได้ค่อนข้างยาก เมื่อผมบอกกับประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา ว่า ปัญหานี้แก้ไขได้ยากหากต่อสู้ตามลำพัง เรามีนโยบายที่จะเอาชนะจิตใจและความคิดของประชาชน แต่ในที่สุดกลุ่มคนที่มีเป้าหมายสร้างความแตกแยกนี้ก็ยอมรับการแก้ไขแบบสันติวิธี แต่เราแก้ไขปัญหานี้ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย รัฐบาลไทยได้ช่วยเหลืออย่างมาก รวมไปถึงการยอมรับให้กลุ่มคนที่สร้างความแตกแยกนี้เข้าอาศัยในประเทศไทย” ดร.มหาธีร์กล่าว

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า หากประเทศมีปัญหาความขัดแย้ง การแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีจะทำได้ง่ายกว่าและดีกว่า มาเลเซียไม่เชื่อในสงคราม แต่เราเชื่อในการแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจา หรือผ่านคณะอนุญาโตตุลาการ หรือผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ทางศาล และเราจะหลีกเลี่ยงความรุนแรง

“นับตั้งแต่ผมเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1981 ผมได้บริหารความสัมพันธ์กับประเทศไทยเช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น หรือแม้แต่การเผชิญหน้ากับอินโดนีเซียด้วยแนวทางสันติ รวมทั้งปัญหาสิทธิกับฟิลิปปินส์ด้วย ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดความรุนแรง แต่กับประเทศไทยที่เรามีปัญหาเรื่องคนที่หลบหนีจากไทยเข้าไปหาความปลอดภัยในมาเลเซีย ซึ่งเรามีการร่วมมือกับประเทศไทยมาเสมอ ดังนั้นจึงเป็นการยุติความรุนแรง และไม่มีปัญหาชายแดนอีกต่อไป” ดร.มหาธีร์กล่าว

โดยรวมแล้วความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับไทยเป็นความสัมพันธ์ที่ดี ผมขอยกว่านี่คือโมเดลความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยสันติความสงบสุข ของประเทศเพื่อนบ้านสองประเทศ หากมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นก็จะมีการแก้ไขด้วยสันติวิธี ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่ำกว่าการใช้ความรุนแรง เรารู้จักผู้นำของไทยอย่างดี และผู้นำของไทยมีความคุ้นเคยอย่างดีกับผู้นำมาเลเซีย ในความเป็นจริง ทั้งสองประเทศส่งเสริมความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ เมื่อใดก็ตามที่มีปัญหาเกิดขึ้น ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการเจรจาฉันมิตรระหว่างผู้นำ นี่คือเรื่องราวระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย และผมหวังว่าแนวคิดนี้จะมีการนำไปใช้ต่อเนื่องโดยทั้งสองประเทศตลอดไป ซึ่งเป็นความหวังของเรา

“ผมขอขอบคุณที่เชิญผมมาบรรยายเกี่ยวกับไทยและมาเลเซียในวันนี้ ผมจะพยายามตอบคำถามที่ถามเข้ามาหลังจากนี้” ดร.มหาธีร์กล่าว

เคล็ดลับดูแลสุขภาพ

ดร.มหาธีร์บรรยายเป็นเวลากว่า 20 นาทีโดยไม่มีการเตรียมคำบรรยายล่วงหน้า จากนั้นได้ให้เวลาในการตอบคำถามจากผู้เข้ารับฟังการบรรยายทั้งจากการส่งล่วงหน้าหนึ่งวัน และคำถามที่รวบรวมก่อนการบรรยายจะเริ่มขึ้นในเวลาไม่กี่นาที

คำถามแรก ดร.มหาธีร์ได้ทำสถิติโลกไว้หลายอย่าง เช่น ทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียนานที่สุดถึง 22 ปี กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวัย 93 ปี และนับว่าเป็นสุภาพบุรุษในวัย 93 ปีที่หล่อที่สุด (ซึ่งเรียกเสียงปรบมือทั่วหอประชุมจากผู้เข้าฟังการบรรยาย) จึงขอถามว่ามีเคล็ดลับในการดูแลตัวเองอย่างไร และขอให้กรุณาแบ่งปันสูตรในการดูแลสุขภาพให้ดีและยังคงเฉียบคมให้กับผู้เข้าฟังในวันนี้

ดร.มหาธีร์ตอบว่า ไม่มีเคล็ดลับอะไร เพียงแต่ผมเป็นคนไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่ม ทำให้สามารถหลบเลี่ยงโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่จากการดื่มได้ และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ไม่รับประทานอาหารมากเกินไปเพราะจะทำให้อ้วน เพราะเมื่ออ้วนแล้วอายุจะสั้น เราสามารถอิ่มเอมกับอาหารอร่อยได้ แต่อายุจะสั้นหากกินมากเกินไป นี่คือ 3 สิ่งที่ผมทำ และผมก็ออกกำลังกายบ้าง และโดยที่ผมไม่มีปัญหากับโรคที่รักษาไม่ได้ ทำให้อายุยืนขึ้นบ้าง

อันที่จริงแล้วผมเข้ารับการผ่าตัดมาแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงที่ผมยังเป็นหมอไม่มีใครคิดว่าการผ่าตัดช่องอกจะทำได้ แต่ปัจจุบันการผ่าตัดมีความทันสมัยด้วยเทคโนโลยี การคิดค้นเทคนิคต่างๆ ทำให้มีการผ่าตัดได้ นอกจากนี้ผมยังมีการทำ bypass หัวใจ แต่ผมก็มีชีวิตรอดมาได้ หลายคนก็มีชีวิตอยู่ต่อได้ ช่วงที่ผมผ่าตัดหัวใจนั้น เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งผมเข้ารับการผ่าตัดที่กัวลาลัมเปอร์ แม้ว่าในตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีสามารถไปรับการรักษาในต่างประเทศได้ แต่ผมเลือกที่จะรักษาที่กัวลาลัมเปอร์ และทุกวันนี้การผ่าตัดหัวใจเป็นเรื่องปกติ

นอกจากนี้ ผมคิดว่า การทำตัวให้ active อยู่เสมอก็จะช่วยได้ คนส่วนใหญ่เมื่อเกษียณแล้ว ก็ใช้ชีวิตแบบเรื่อยเปื่อย ใช้เวลาไปกับการนอนเสียมาก ไม่อ่านหนังสือ ไม่คุยกับผู้คน เมื่อไม่อ่านหนังสือไม่คุยกับคน ไม่เขียน ไม่ถกเถียง สมองก็ไม่ทำงาน ก็เหมือนกับกล้ามเนื้อของเราถ้าไม่ใช้งานก็จะไม่มีแรง

ผมชอบที่จะต่อสู้กับคน (หัวเราะ) ดังนั้นผมต้อง active ตลอดเวลา (ผู้เข้าฟังการบรรยายหัวเราะทั่วหอประชุม)

คำตอบของผมคือ อย่ากินมากเกินไป ใช้งานสมอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าจะมีส่วนช่วย และเมื่อเกษียณแล้วอย่าหยุดทำงาน

คำถามที่สองเป็นคำถามต่อเนื่องจากคำถามแรกว่า การไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่ม ทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่ในด้านจิตใจทำอย่างไรให้ความคิดและจิตใจแข็งแรงด้วย เพราะในฐานะนักการเมืองน่าจะเจอแรงกดดันมากมาย และท่านเป็นนายกรัฐมนตรีนานถึง 22 ปีก็น่าจะเครียดบ้าง จัดการกับความเครียดอย่างไร

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า “ผมไม่เครียดมากนัก ผมเชื่อว่า ผมไม่เครียด แต่หมอบอกผมว่าหัวใจผมรับไม่ค่อยไหว ต้องผ่าตัด ดังนั้น ทั้งที่ไม่เครียดและไม่เป็นโรคอะไร แต่บางครั้งก็มีปัจจัยอื่นที่เข้ามา บางครั้งแม้มีความเครียด แต่บางคนยังมีอายุยืน ผมบอกตัวผมเองว่า หากผมไม่อยู่ สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็ต้องยอมรับ ต้องยอมรับปัญหาที่กำลังประสบ”

เที่ยงตรง เป็นกลาง ยุติธรรม

คำถามที่สาม เริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า You are always my idol and role model, you are a man of honour, worth, integrity and sacrifice ตามด้วยคำถามว่า ระหว่างที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี 22 ปีนั้น เราเรียนรู้อะไรจากท่านบ้าง และคิดว่าอะไรคือการตัดสินใจที่ดีที่สุดในช่วงนั้น

ดร.มหาธีร์ตอบว่า สิ่งที่สำคัญของประเทศประชาธิปไตยคือ ผู้นำต้องตระหนักว่าประชาชนกำลังคิดอะไร พวกเขารู้สึกอะไร และอะไรที่พวกเขาต้องการให้เราทำให้ และต้องพยายามทำให้มากกว่าความต้องการของพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แน่นอนว่าไม่สามารถเป็นไปได้ตลอดเวลา แต่เมื่อไรก็ตามที่สามารถทำในสิ่งที่คนต้องการให้ทำได้ พวกเขาก็ยังคงสนับสนุนผู้นำนั้นต่อไป

“แต่หากผู้นำมีพฤติกรรมเหมือนกับทรราช ผมก็ถูกเรียกว่าทรราช แต่ผมไม่ใช่ ผมไม่ยอมรับ เราเคยเจอทรราชคนไหนบ้างที่ลาออก ผมลาออก ดังนั้นผมไม่ใช่ทรราช”

สิ่งที่ต้องทำคือ พบปะประชาชน คุยกับพวกเขา จับมือพวกเขา สิ่งง่ายๆ เหล่านี้ก็จะทำให้ได้รับความนิยม ในประเทศประชาธิปไตย ทำให้มั่นใจว่าจะได้คะแนนโหวตผ่านการรับเลือกตั้ง ผมนำสมัครลงรับเลือกตั้ง 5 ครั้ง ผมได้รับการเลือกตั้งทุกครั้ง ด้วยคะแนนมากถึง 2 ใน 3
คำถาม หากย้อนเวลากลับไปได้ระหว่าง 1981-2003 มีอะไรที่ต้องการแก้ไขบ้างหรือไม่

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า ตั้งแต่แรกแล้ว ผมบอกตัวเองว่าผมจะไม่ยอมให้ตัวเองไม่เที่ยงตรง ไม่เป็นกลาง ไม่ยุติธรรม ต่อคนอื่น เป็นสิ่งที่ผมพยายามรักษามาตลอด แต่มีบางอย่างเกิดขึ้นกับผู้นำคนหนึ่ง ผมคิดว่าเขาทำผิดกฎหมาย และผมก็รู้สึกเสียใจ เพราะอาจจะมีหนทางอื่นในการดำเนินการกับบางคนที่ทำผิด แต่ผมเลือกให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย แม้ผลที่ตามมาคือความขัดแย้ง ความรู้สึกที่ไม่ดีต่อผม แต่ไม่กระทบต่อความนิยมในตัวผมมากนัก จนกระทั่งผมก้าวลงจากตำแหน่ง ซึ่งก็มีการรณรงค์ให้ผมลงจากตำแหน่ง ผมตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่ง เพราะผมทำหน้าที่มานานมากแล้ว ปัญหาที่ผมมีกับผู้นำคนนี้กวนใจผมตลอดเวลา ทำให้บางคนต่อต้านผม เพราะคิดว่าผมไม่ยุติธรรม

แก้กฎระเบียบ อุปสรรค หนุนเอกชนให้สำเร็จ

คำถาม มาเลเซียมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในช่วงที่ผ่านมา และการกลับมาของท่านดูราวกับถึงเวลาปฏิรูปด้าน governance ของมาเลเซีย ท่านจะมีการปฏิรูปอะไรอีกหรือไม่ ตั้งใจที่จะนำมาเลเซียไปในทิศทางไหน

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า คนที่ต่อต้านผมในช่วงที่ผมเป็นนายกรัฐมนตรีต่างเรียกร้องให้ปฏิรูป แต่ผมมองว่าไม่จำเป็นที่ต้องปฏิรูป เพราะระบบยังทำงานได้ดี ระหว่างการเลือกตั้งประชาชนยังลงคะแนนได้ ส่วนใหญ่แล้วผมได้รับการเลือกตั้ง แล้วจะปฏิรูปไปทำไม ระบบยังทำงานได้ เมื่อผมก้าวลงจากตำแหน่งก็มีคนมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อจากผมถึง 2 คน ด้วยระบบเดียวทำให้สามารถบริหารจัดการในสิ่งที่ดี่ที่สุดให้กับประเทศได้ แต่ประชาชนไม่ชอบ ดังนั้น มองย้อนกลับไป บางทีผมอาจจะทำบางอย่างผิดพลาดไป ซึ่งหนึ่งในนั้นผมคิดว่าน่าจะเป็น เพื่อที่จะพัฒนาประเทศ เราต้องการกำลังภาคเอกชน และผมสนับสนุนภาคเอกชน แน่นอนว่าบางรายประสบความสำเร็จ บางรายล้มเหลว แต่เมื่อประสบความสำเร็จก็จะกลายมาเป็นพวกพ้องของผม ก่อนหน้านั้นผมไม่รู้จักมาก่อน แต่เมื่อเขาประสบความสำเร็จผมก็สร้างความสัมพันธ์ ดังนั้น การที่จะช่วยใครก็ต้องเป็นแนวทางที่เขาจะได้ประโยชน์จากผม เหมือนกับการให้เงินใครคนหนึ่งไป 1 ล้านแต่ไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

ดังนั้นเมื่อผมเห็นใครประสบความสำเร็จ ผมก็หนุนให้ทำให้ดีขึ้นอีก หากเขาประสบความสำเร็จก็จะถูกจัดว่าเป็นพรรคพวกผม แต่หากล้มเหลว ไม่มีใครสนใจ ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องดีสำหรับผมในการหนุนใครไปข้างหน้า แต่ให้เดินไปตามระบบ ตามเงื่อนไขโดยที่เกี่ยวกับการประเมินของผมให้น้อยที่สุด ก็จะไม่มีใครมาตำหนิได้ว่าผมช่วยเหลือพวกพ้อง นี่คือการปฏิรูปที่เราจะต้องทำ

และเราต้องการปรับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเป็น 2 วาระเท่านั้น และนายกรัฐมนตรีต้องผ่านสภา นี่คือการปฏิรูป และต้องพิจารณาว่ามีกฎหมายไหนที่เป็นข้อจำกัดหรือภาระ เราก็จะแก้ไข หรือยกเลิก และร่างกฎหมายใหม่

อำนาจต้องมีเพื่อประชาชน

คำถาม มีรายงานข่าวว่าท่านจะลุกจากตำแหน่งใน 2 ปี มองว่ามาเลเซียหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า ผมไม่รู้จริง แต่ผมเคยมีประสบการณ์ในการเลือกคนขึ้นมาสืบทอด คนแรก มูซา ฮิตัม ก็ต่อต้านผมในภายหลัง คนต่อมา อับดุลลาห์ อาห์หมัด บาดาวี ก็พยายามที่จะกำจัดผม หลังจากนั้นมีอันวาร์ อิบราฮิม ทุกคนต้องการที่จะกำจัดผม แต่ผมก็ตัดสินใจว่า ถ้ายังงั้นก็เอาไป จึงก้าวลงจากตำแหน่ง แต่ไม่ใช่เพราะพวกเขากดดันให้ออก แต่เป็นเพราะผมทำงานมานาน 22 ปี คนที่ผมคัดเลือกมาสืบทอดเป็นคนที่ดีมีความสามารถ แต่เมื่อได้อำนาจแล้วกลับไม่สามารถจัดการกับอำนาจที่มีได้ เพราะคิดถึงตัวเองทั้งๆ ที่การมีอำนาจนั้นเพื่อประชาชน ไม่ใช่เพื่อตัวพวกเขา ต้องทำงานเพื่อประชาชน เพื่อประเทศ ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง และเมื่อไรก็ตามที่เริ่มคิดว่าจะใช้อำนาจเพื่อตัวเอง ก็ไม่ถูกต้อง แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้รับตำแหน่ง ทั้งที่ก่อนรับตำแหน่งพวกเขาเป็นคนดี

ยึดมั่นในคุณค่าของเราเอง-คุณค่าของเอเชีย

คำถาม มุมมองของท่านต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่ม LBGT ในมาเลเซีย

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า เราไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวแยกตัวออกจากสังคมโลกได้ ส่วนอื่นของโลกกำลังมีอิทธิพลต่อทุกประเทศ แต่ระบบการให้คุณค่าต่างกัน ผมยึดมั่นในคุณค่าของเอเชียมาตลอด โลกฝั่งตะวันตกมักคิดว่าคุณค่าของตะวันตกคือคุณค่าที่แท้จริง และทำให้รุ่งเรืองและประสบความสำเร็จ แต่เมื่อพูดถึงเสรีภาพก็ต้องให้เสรีภาพต่อประเทศอื่นที่มีคุณค่าด้านอื่นด้วย คุณค่าของเรามีพื้นฐานจากความคิดของเรา จากความศิวิไลซ์ของเรา ศาสนาของเรา เป็นต้น

เราต้องยึดมั่นในชุดคุณค่าที่แตกต่างกันแต่เราเห็นบางครั้งเอเชียยอมรับคุณค่าตะวันตกโดยไม่มีคำถาม แน่นอนว่าทุกวันนี้เราใส่สูทผูกไท เราปรับระบบเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมของเราให้เป็นแบบตะวันตก แต่จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องยอมรับหรือลอกเลียนทุกอย่าง หากวันหนึ่งตะวันตกตัดสินใจว่าจะเดินเปลือยกาย เราต้องทำตามหรือไม่

“ผมคิดว่าเรามีคุณค่าของเราเอง ผมภูมิใจที่เรามีคุณค่าของเราเอง ในขณะนี้เราไม่ยอมรับ LBGT แต่หากพวกเขายอมรับ ก็เป็นเรื่องของพวกเขา แต่อย่าบังคับเรา ตัวอย่าง ในตะวันตกเราเห็นการแต่งงานของชายกับชาย หญิงกับหญิง ครอบครัวไม่ได้เกิดขึ้นจากพ่อแม่และลูกอีกแล้ว แต่มาจากผู้ชายสองคนรับเด็กมาเลี้ยงดู เรียกตัวเองว่าครอบครัว สถาบันครอบครัว สถานะการแต่งงานถูกละเลยในตะวันตก แล้วเราจะไปทำตามทำไม เรามีระบบการให้คุณค่าของเรา เราต้องการรักษาระบบคุณค่าของเรา และการปฏิเสธคุณค่าบางอย่างที่มาจากตะวันตกนั้นหมายถึงการที่เรามีเสรีภาพ”

การก่อการร้ายไม่ได้มาจากความเชื่อทางศาสนา

คำถาม ท่ามกลางความเชื่อศาสนาที่สุดขั้วและการก่อการร้าย ท่านมีคำแนะนำให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะไทยในบริบทชายแดนใต้อย่างไร มาเลเซียจะช่วยเหลือไทยอย่างไร

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า ผมไม่คิดว่าการก่อการร้ายมาจากความเชื่อทางศาสนา คุณลองมองไปที่สาเหตุของการก่อการร้าย ก็จะพบว่าเป็นเพราะมีความอยุติธรรมเกิดขึ้น ทำให้พวกเขามีความโกรธ ยกตัวอย่างเช่น หากมีคนมาบอกว่าเชียงใหม่ควรแยกไปเป็นของประเทศอื่นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของไทย ผมคิดว่าไทยมีสิทธิที่จะประท้วงและต้องรักษาสิทธิ แต่ที่เราเห็นในตะวันตกในตะวันออกกลาง พื้นที่นั้นเป็นของชนบางกลุ่ม ของบางประเทศ หากนำไปยกให้กับอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อสร้างประเทศใหม่ นอกจากนี้ยังพวกเขาต้องการพื้นที่คืน แต่ไม่สามารถเอาคืนด้วยการทำสงครามแบบเดิมได้เพราะไม่มีอาวุธ ขณะที่ความไม่ยุติธรรมยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เมื่อพวกเขาโกรธและสิ้นหวังก็หันเหไปในสิ่งที่เรียกว่าการก่อการร้าย ทั้งการใช้ระเบิดพลีชีพ ระเบิดตั้งเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกติคนจะไม่ทำกัน และไม่ใช่เพราะเรื่องศาสนาแต่เป็นเรื่องความอยุติธรรม ผมไม่แน่ใจว่าหากมีการแก้ปัญหาการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย จะทำให้การก่อร้ายลดลงไปหรือเพิ่มการก่อการร้ายให้มากขึ้น

ในช่วง 17 ปีก่อนเราไม่เคยประสบกับภาวะแบบนี้ มีความเชื่อทางศาสนาแบบสุดขั้วแต่ไม่เคยมีปัญหาเกิดขึ้น แต่ปัจจุบันการก่อการร้ายขยายวงไปทั่วโลก เพราะความสิ้นหวังและความโกรธที่ไม่สามารถเอาพื้นที่คืนมาได้

คำถาม ประเทศไทยไม่ค่อยมีนโยบายด้านการยืนยันสิทธิมากนัก เมื่อเทียบกับภูมิบุตรของมาเลเซีย มองว่าคนที่ภูมิหลังด้านเชื้อชาติต่างกันจะมีโอกาสด้านสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกันหรือไม่

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า มาเลเซียเป็นประเทศที่มีคนหลายเชื้อชาติ ซึ่งเป็นผลจากคนที่อยู่ดั้งเดิมไม่ต้องการปรับตัวใหม่ปรับวิถีชีวิตใหม่เพราะการเป็นอาณานิคม เมื่ออังกฤษเข้ามาในมาเลเซียก็เริ่มทำธุรกิจหลายอย่าง เช่น เหมืองแร่ แต่กลุ่มคนดั้งเดิมนี้ไม่ต้องการไปทำงานในธุรกิจเหล่านี้ พวกเขาต้องการใช้ชีวิตแบบเดิม เช่น การทำการเกษตร ซึ่งไม่มีรายได้นัก แต่เป็นเพราะมีคนต่างชาติเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นคนจีนจากจีนแผ่นดินใหญ่ คนอินเดีย มาตั้งถิ่นฐานที่มาเลเซียและมองเห็นถึงโอกาส มีการพัฒนารวดเร็ว ดังนั้นเราจึงเห็นว่าบางเชื้อชาติจึงยากจน บางเชื้อชาติมีเงินมาก เมื่อมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรวยกับคนจน ความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้น แต่เมื่อคนรวยเป็นคนเชื้อชาติหนึ่ง คนจนเป็นอีกเชื้อชาติหนึ่ง ความขัดแย้งก็มีโอกาสเพิ่มขึ้น และเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ เราก็คิดว่าเราจะช่วยคนจน บางส่วนในกลุ่มคนจนให้ยกระดับขึ้นมาให้เท่าเทียมกับคนที่ก้าวหน้าไป สิ่งที่เราทำเรียกว่า การยืนยันสิทธิ หรือ affirmative action ให้โอกาสพวกเขา พยายามที่จะช่วยเหลือ เพื่อที่จะให้มาตรฐานการศึกษาสูงขึ้น สนับสนุนทางการเงิน ตัวอย่างเช่น คนจนไม่มีเงินส่งลูกไปเรียนหนังสือต่างประเทศ ฐานะจึงยากจนอยู่ แต่การทำนโยบายการยืนยันสิทธิให้โอกาสคนจนทำธุรกิจ ให้โอกาสทางการศึกษา พวกเขาก็จะก้าวมาเท่าเทียมกลุ่มคนรวย และหากเราไม่ทำความไม่เท่าเทียมนี้ก็จะถ่างกว้างมากขึ้น นำไปสู่ความขัดแย้ง การหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เราต้องทำนโยบายการยืนยันสิทธิ

อาเซี่ยน 600 ล้านคนสามารถผลิตในสิ่งที่ตลาดต้องการได้ทุกอย่าง

คำถาม ปีหน้าไทยจะทำหน้าที่ประธานอาเซียน คาดหวังว่าไทยจะทำอะไรเป็นอย่างแรก

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า ผมเชื่อว่าประเทศอาเซียนมีศักยภาพสูง เฉพาะประชากรอย่างเดียวก็มากกว่า 600 ล้านคน แม้ว่าจะยากจนแต่นับว่าเป็นตลาด และตลาดที่ใหญ่ขนาดนี้เราสามารถเพิ่มผลผลิตของตัวเองได้ ทุกวันนี้เราซื้อสินค้าจากข้างนอก เราสามารถสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง และหากเราทำได้เงินจะหมุนเวียนอยู่ในนี้ไม่ไหลออก แต่คนส่วนใหญ่ชอบแนวทางที่ง่ายคือซื้อจากข้างนอก ด้วยตลาดที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน เราสามารถผลิตในสิ่งที่ตลาดต้องการได้ทุกอย่าง และหากสามารถรวมกันได้และทำให้เหมาะสม ผมค่อนข้างมั่นใจว่าอาเซียนจะเติบโตเร็วกว่านี้ เหมือนกับเกาหลี จีน ที่หันมาผลิตเพื่อขาย ไม่ใช่ซื้อ แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคด้วย ที่ชอบซื้อจากข้างนอกเพราะคุณภาพ แต่ไม่เคยพยายามที่จะผลิตด้วยตัวเอง

ผมยังจำได้ว่าญี่ปุ่นผลิตรถยนต์คันแรกได้ ซึ่งดูแล้วใช้ไม่ได้ แต่ญี่ปุ่นเดินหน้าผลิตรถยนต์ ผลิตให้ดีขึ้นจนทุกวันนี้รถยนต์ติดอันดับ ก็เพราะผลิตรถยนต์ด้วยตัวเอง ผมก็เห็นว่าเราต้องผลิตด้วยตัวเอง ผนึกจุดแข็งอาเซียนที่ตลาดขนาดใหญ่ และควรใช้จุดแข็งของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แม้อาเซียนในตอนแรกตั้งขึ้นเพื่อลดข้อขัดแย้ง แต่ในระยะหลังมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ไทยมีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน เวียดนาม 70 ล้านคน ฟิลิปปินส์มากกว่า 100 ล้านคน

คำถาม เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการรวมตัวของสหภาพยุโรป มีบทเรียนอะไรบ้างจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจ

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า ขณะนี้สหภาพยุโรปไม่ได้เป็นปึกแผ่น มีความขัดแย้งระหว่างกันหลายด้าน อังกฤษตัดสินใจถอนตัวออก เราต้องร่วมกันในด้านเศรษฐกิจ แต่ในด้านการเมืองเราควรปล่อยให้แต่ละประเทศบริหารจัดการกันเอง และหากประเทศไหนไม่พร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตยก็เป็นเรื่องของประเทศนั้น การพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองและระบบกฎหมายจะสร้างความขัดแย้งมากขึ้น

คำถาม ในอาเซียนมีประเทศสมาชิกที่ถูกจัดเป็นกลุ่ม CLMV และเร็วๆ นี้มีไทยเข้าไปเพิ่มเป็น CLMVT ท่านคิดว่ามาเลเซียถูกทิ้งหรือไม่

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า จากงานเลี้ยงต้อนรับของรัฐบาลไทยมีการนำสินค้าหัตถกรรมมาให้ชมก็พบว่า คนไทยมีฝีมือที่ยอดเยี่ยม มีความละเอียด การออกแบบ รูปแบบสวยงาม แสดงให้เห็นถึงทักษะงานที่ดี ซึ่งเมื่อมีทักษะการทำงานด้วยมือที่ดีแล้ว หากสามารถนำทักษะนี้มาใช้ในงานด้านวิศวกรรมในการพัฒนาสินค้าทันสมัย เช่น การเลือกใช้วัตถุดิบ ยกระดับอุตสาหกรรมซึ่งจะส่งผลดี ประเทศไทยล้ำหน้ามาเลเซียไปแล้วในเรื่องนี้ หวังว่ามาเลเซียจะตามทัน

คำถาม ในยุคที่เทคโนโลยีการผลิตมีความก้าวหน้า มีการใช้หุ่นยนต์ เทคโนโลยี AI ซึ่งกำลังแทนที่คนมากขึ้น ทั้งแรงงานมีทักษะและไม่มีทักษะอาเซียนควรทำอย่างไร

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า อาเซียนต้องหาความรู้ใหม่ ต้องจัดสรรงบประมาณมากขึ้นเพื่อการทำวิจัย เราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของเราขึ้นมาได้ ผมยังจำได้ในในช่วงที่อังกฤษมีการพัฒนาเครื่องจักรเย็บผ้ารุ่นใหม่ที่ตัดเย็บเสื้อผ้าฝ้ายได้เร็วขึ้น ได้มากขึ้น ก็ไม่ได้ลดคนลง แต่กลับต้องการคนมากขึ้นเพียงคนต้องมีการฝึกให้ใช้เทคโนโลยีเป็น แม้แต่ในมาเลเซียก็มีการพัฒนาโปรแกรมให้คนใช้ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีแนวทางใหม่ในการเข้าถึงข้อมูลและความรู้ ช่องทางหรือแนวทางมีอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ช่องทางนั้นอย่างไร

เลือกในสิ่งที่ดีต่อเรา เหมาะสมกับประเทศของเรา

คำถาม ปัจจุบันหลายประเทศมีนโยบายเศรษฐกิจหลากหลาย จีนมี Belt and Road Initiative อินเดียมี Act East และอเมริกามี America First อาเซียนควรเดินอย่างไร

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า ประเทศที่ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงไปก็จะก้าวหน้าไปได้ แม้แต่ในด้านการเมือง เดิมมีระบบกษัตริย์ ปัจจุบันมีระบบประชาธิปไตยซึ่งมีหลายรูปแบบ คนที่เห็นระบบที่ดีก็ควรที่จะประยุกต์ใช้ และไม่ยึดมั่นในระบบเดิมๆ อาเซียนต้องเรียนรู้อย่างมากจากภูมิภาคอื่นๆ มาเลเซียมีนโยบาย Look East ที่ต้องการเรียนรู้จากเกาหลี จากญี่ปุ่น และตอนนี้จากจีน เพราะญี่ปุ่นสามารถฟื้นตัวได้เร็วจากซากปรักหักพังที่เกิดจากสงคราม และกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นต้องมีแนวทางที่ถูกต้อง และหากเราพบว่า ยุโรปหรืออเมริกามีแนวคิดใหม่เกี่ยวกับระบบใหม่ มีความแตกต่างจากเรา ก็อย่าบังคับให้เราทำตาม แต่เราจะเรียนรู้และเลือกในสิ่งที่ดีต่อเรา เหมาะสมกับประเทศของเรา

คำถาม ปัจจุบันคนจีนชอบทุเรียนมากขึ้น มีการแข่งขันกันในตลาดจีนระหว่างทุเรียนหมอนทองของไทยกับทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซีย ท่านมองว่าการเมืองระหว่างทุเรียนสองพันธุ์นี้จะไปในทิศทางไหน

ดร.มหาธีร์กล่าวว่า ผมเชื่อว่าหากทั้งไทยและมาเลเซียแข่งขันกันในตลาดทุเรียนในจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ แม้จะมีเพียง 1% ของประชากรทั้งหมด ทั้งไทยและมาเลเซียก็จะพากันรวย ทุกคนต้องการปลูกทุเรียนมากขึ้น ในไทยคิดว่าเก็บทุเรียนก่อนที่จะสุกกลิ่นจึงไม่แรงมากนัก แต่หากปล่อยให้สุกและร่วงลงกลิ่นจะแรงมากทีเดียว ทั้งจีนและญี่ปุ่นก็ชอบทุเรียน แต่ทุกคนก็มีความชอบที่ต่างกัน เมื่อเทียบกับชีสแล้วกลิ่นทุเรียนนับว่าดีกว่ามาก ผมก็กินทุเรียน