ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > มติ ศบค.ยกเลิก “เคอร์ฟิว-พื้นที่สีแดงเข้ม” ทั่วประเทศ – ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯถึง 31 ม.ค.65

มติ ศบค.ยกเลิก “เคอร์ฟิว-พื้นที่สีแดงเข้ม” ทั่วประเทศ – ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯถึง 31 ม.ค.65

26 พฤศจิกายน 2021


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

มติ ศบค.ยกเลิก “เคอร์ฟิว-พื้นที่สีแดงเข้ม” ทั่วประเทศ – ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯถึง 31 ม.ค.65 – สั่งคลัง-สภาพัฒน์ ฯจัดมาตรการเยียวยา “นายจ้าง-ลูกจ้าง” สถานบันเทิง ยืนยันเปิด “ผับ-บาร์-คาราโอเกะ” เต็มรูปแบบไม่เกิน 16 ม.ค.ปีหน้า – เพิ่มจังหวัดนำร่องการท่องเที่ยวเป็น 7 จังหวัด เตรียมออกใบรับรองฉีดวัคซีนอิเล็กทรอนิกส์ฟรี มอบเป็นของขวัญปีใหม่

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี หลังนอก ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 19/2564 โดยในวันนี้ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบ ปรับมาตรการควบคุมโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร อาทิ การปรับจำนวนวันกักตัว หรือ พำนักในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว เป็น 5, 10, และ 14 วัน , ปรับการตรวจหาเชื้อหลังการเข้าประเทศ สำหรับ Test and Go เป็น ATK , ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยยกเลิกพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด และห้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ฯ ครั้งที่ 15 ต่อไปอีก 2 เดือน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยนิด้าโพล พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจต่อมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 แต่อย่างไรก็ตาม ในประเด็นการให้ความสำคัญระหว่างความอยู่รอดทางเศรษฐกิจกับความปลอดภัยของสุขภาพ พบว่า ประชาชนร้อยละ 58.95 ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสุขภาพ แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก ผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังมีความกังวลกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงต้องสร้างความเข้าใจเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด และเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย รวมถึงการหายารักษาโควิดฯ เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาล และเตียงรักษาผู้ป่วยในทุกกลุ่มอาการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และร่วมมือ ร่วมใจกัน พาประเทศไทยกลับมาสู่สภาวะปกติ ธุรกิจเดินหน้า และประชาชนปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านการท่องเที่ยวและกีฬา” เป็นโครงสร้างหนึ่งภายใต้ ศบค. เพื่อบูรณาการการทำงานที่เกี่ยวกับการเปิดประเทศ และแก้ไขข้อขัดข้องที่อาจจะเกิดขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูประเทศและเศรษฐกิจ กระตุ้นพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการช่วยกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถประคองตัวต่อไปได้ ทั้งนี้ ขอให้ช่วยกันผลักดัน และหามาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนไทยให้มากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรียังขอให้ทุกหน่วยงานถอดบทเรียนจากการดำเนินการ และการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ของประเทศ เพื่อสร้าง Big Data เป็นฐานข้อมูลด้านสุขภาพของประเทศด้วย พร้อมสั่งการให้หาวิธีสร้างมูลค่าให้บัตรฉีดวัคซีน เพื่อให้เห็นว่าถ้าใครฉีดวัคซีน จะสามารถเดินทางได้ทั่วไทย แต่ถ้าไม่ฉีดต้องอยู่บ้าน โดยรณรงค์ให้ประชาชนมารับวัคซีน โควิด-19 รวมทั้งให้มีการสื่อสารเรื่องจำนวนเตียงรักษาที่มีเพียงพอ ขณะนี้มีการใช้เตียงเพียง 1 ใน 3 และผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขหาสาเหตุของการเสียชีวิต เน้นให้ยารักษาอย่างทั่วถึงเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิต รวมทั้งสื่อสารให้สถานประกอบการเร่งทำ COVID Free Setting ในการเตรียมพร้อมเปิดสถานประกอบการ โดยเฉพาะกิจการสถานบันเทิงที่ผู้ประกอบการต้องฉีดวัคซีน และมีการตรวจ ATK อย่างจริงจัง เพื่อคู่ขนานไปกับการประเมินสถานการณ์ประกอบการพิจารณาเปิดให้บริการ

นายกรัฐมนตรียังรับทราบการรายงานของเชื้อไวรัส โควิด-19 กลายพันธุ์จากภูมิภาคยุโรป และแอฟริกา โดยมอบหมายให้ กรมควบคุมโรคและกระทรวงสาธารณสุขติดตาม เพื่อเตรียมมาตรการ และอาจมีการห้ามการเดินทางไปยังประเทศต้นทางที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อ เพื่อไม่ให้มีการนำเชื้อกลับมา

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่าว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรตามเป้าหมาย พร้อมพัฒนาระบบการเก็บประวัติการฉีดวัคซีนที่สามารถแสดงได้ผ่านทางโทรศัพท์แทนสมุดพกพา เพื่อนำไปแสดงยังสถานที่ท่องเที่ยว สถานประกอบการต่าง ๆ ก่อนเข้าใช้บริการ ประกอบกับมาตรการเพิ่มเติมในพื้นที่ที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำจังหวัดเป็นผู้กำหนด อาทิ การตรวจ ATK หรือ RT-PCR

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า แม้จะมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT การจะจัดกิจกรรมใด ๆ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรการของ ศบค. มีขั้นตอนการตรวจคัดกรอง จำกัดจำนวนคนเข้างาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ อัตราการเสียชีวิตและผู้ติดเชื้อได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีตัวเลขของผู้ที่เสียชีวิตที่พบว่า ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งวัคซีนที่รัฐจัดสรรให้และวัคซีนทางเลือก เพื่อที่จะสะดวกแก่การเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ และไม่สร้างความเดือดร้อนแก่คนอื่นด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า หลังได้รับการรายงานปัญหายาเสพติดที่มีการส่งออก โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าที่มีการส่งออกอย่างละเอียด เนื่องจากอาจมีการดัดแปลงสินค้าและจะส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของประเทศไทย โดยได้ย้ำไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตำรวจ และทหาร ให้ช่วยกันดูแล โดยที่ผ่านมา ก็ทำอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องยอมรับว่าผู้กระทำผิดสามารถหาแนวทางหลีกเลี่ยงได้เสมอ ดังนั้น ภาครัฐ และสังคมต้องช่วยกัน หากใครมีข้อมูล เบาะแส หรือ หลักฐาน ให้แจ้งตามช่องทางสายด่วนต่าง ๆ โดยรัฐบาลยืนยันจะให้ความคุ้มครองและปกปิดข้อมูลเป็นความลับแก่ผู้ที่แจ้งเบาะแส และจะเร่งตรวจสอบโดยทันที หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องก็จะต้องนำตัวมาลงโทษตามกฎหมาย รวมถึงการละเมิดกฎหมายในด้านอื่น ๆ อาทิ การตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ การลักลอบค้ามนุษย์ สินค้าเกษตรผิดกฎหมาย น้ำมันเถื่อน ก็อยู่ในการดูแลของกระทรวงกลาโหม และการป้องกันทางชายแดน ซึ่งรัฐบาลได้เดินหน้าแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลกำลังแก้ไขปัญหาทุกด้านเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ฯ มีหลายโครงการที่กระทรวง/หน่วยงาน เสนอขึ้นมา แต่ต้องคำนึงถึงงบประมาณ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังด้วย บางมาครการอาจจะต้องใช้เวลา อาทิ การประกันราคาข้าว คำนึงถึงผู้ที่ได้ประโยชน์ว่าเกษตรกรได้ประโยชน์หรือไม่ และจะต้องไม่มีการทุจริตโดยเด็ดขาด รวมทั้งต้องแก้ไขปัญหาที่มีการทุจริตมาอย่างยาวนานด้วยเช่นกัน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวถึง ผลการประชุม ศบค.ว่า ที่ประชุมลงมติให้ขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 – 31 มกราคม 2565 เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่ประชุมศบค.ได้ขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 15 และได้มีการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร โดยปรับให้ไม่มีจังหวัดใดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิมมี 6 จังหวัด พื้นที่ควบคุม (สีแดง) เหลือ 23 จังหวัด จาก 39 จังหวัด พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) คงเดิมที่ 23 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) เพิ่มเป็น 24 จังหวัด จากเดิม 5 จังหวัด ไม่มีการปรับเพิ่มพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) และมีการเพิ่มจังหวัดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) เป็น 7 จังหวัด จากเดิม 4 จังหวัด

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า จากการปรับให้ไม่มีจังหวัดใดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ทำให้ไม่มีการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวนับแต่นี้เป็นไปต้นไป

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมการยังเห็นชอบเรื่องปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 โดยให้ในสถานบันเทิงให้ดำเนินงานตามแผนเดิม (ฉบับที่ 37) ตามประกาศศบค.เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 โดยคาดว่าจะเปิดกิจการสถานบันเทิงในช่วงเดือนธันวาคม และหากพบการกระทำผิดจะต้องปิดบริการ และผู้รับผิดชอบพื้นที่จะต้องถูกดำเนินโทษทางวินัย

“การขอให้เปิดกิจกรรม-กิจการสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้เน้นย้ำว่าต้องภายในวันที่เท่าไร แต่ต้องมีแนวทางให้ได้ภายในเดือนธันวาคมี้ เราต้องดูตามสถานการณ์ด้วย ในที่ประชุมเมื่อวันที่ 12 พฤจิกายนที่ผ่านมา อยากให้ออกไปหลังปีใหม่ ถ้าจะต้องเปิดมันมีความเสี่ยงหลายประเด็น คือ การถ่ายเทอากาศกับพฤติกรรมการดื่มที่เปิดแมสก์และพูดคุยกัน และถ้าย้อนกลับไปคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทินมีไม่น้อยกว่า 2 คลัสเตอร์ ตั้งแต่ปี 2563”

“แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีผู้ทำงานกลางคืนได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ ขอให้พิจารณาให้เปิดสถานบันเทิงในเดือนธันวาคมนี้ เราเห็นใจพี่น้องประชาชนที่ทำงานด้านสถานบันเทิง เอาอย่างนี้แล้วกัน เอาคำว่า 16 มกราคมออกไป แล้วดูความพร้อมเป็นระยะ ถ้าผู้ประกอบการมีความร่วมมืออย่างเต็มที่ อาจจะได้เร็วกว่า 16 มกราคมก็ได้”

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค. ได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานสำรวจผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจากสถานบันเทิงว่ามีจำนวนเท่าไร และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์ฯ พิจารณาว่าจะเยียวยาอย่างไรเป็นลำดับต่อไป

นพ.ทวีศิลป์กล่าวถึง การขยายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ให้ครอบคลุมทั้งบางบกและทางเรือ เพราะวิธีการ Test and Go รวมถึงมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักรที่ผ่านมา เช่น Sandbox หรือ Quarantine ซึ่งพบว่าผลจากมาตรการดังกล่าว ทำให้พบผู้เดินทางที่ติดเชื้อในระดับต่ำ และอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ศบค.ได้ให้ของขวัญปีใหม่กับประชาชนไทยคือ เอกสารรับรองวัคซีนรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถขอผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะที่การขอใบรับรองวัคซีน (Vaccine Passort) ในรูปแบบกระดาษมีค่าธรรมเนียม 50 บาท แต่ทั้งนี้รูปแบบของใบรับรองขึ้นกับประเทศที่จะเดินทางว่าสามารถใช้ในรูปแบบออนไลน์ได้หรือไม่

สุดท้าย นพ.ทวีศิลป์ให้ข้อมูลว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รายงานสถานการณ์แรงงานในประเทศ และความก้าวหน้าในการนำแรงงานเข้าประเทศ โดยนายสุชาติ กล่าวในที่ประชุมว่าเป้าหมายของแรงงานที่ประเทศไทยต้องการคือ 424,703 คน และเปิดสถานที่กักตัวแล้ว 5 จังหวัด ตาก ระนอง หนองคาย มุกดาหาร และสระแก้ว ที่สำคัญคือการได้พูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นต้นทางว่ามีความเห็นสอดคล้องกัน

“ต้องกราบเรียนผู้ประกอบการและผู้ลักลอบคนเข้ามาว่า ท่านไม่ต้องทำแล้ว อีกไม่นานจะเข้าเมืองถูกกฎหมาย 4 แสนกว่าคนอย่างปลอดโรคปลอดภัย และเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี 4 แสนคนนคุ้มแน่นอนกับการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว