ThaiPublica > คอลัมน์ > ปีหน้าอุษาคเนย์จะเฟื่องฟู

ปีหน้าอุษาคเนย์จะเฟื่องฟู

18 ธันวาคม 2021


กวี จงกิจถาวร

ปีหน้าประเทศในอุษาคเนย์จะต้องออกรับหน้าประเทศต่างๆ มากหน้าหลายตาที่เป็นทั้งอภิมหาอำนาจ หรือมหาอำนาจ ทั่วทุกมุมโลก เพราะอินโดนีเซียจะเป็นประธานของ G20 กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน ส่วนไทยนั้นรับผิดชอบการประชุมเอเปก ซึ่งทางกระทรวงต่างประเทศก็ได้เปิดตัวไปแล้ว

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สามสมาชิกอาเซียนต้องมานั่งเป็นประธานขององค์กรที่พัวพันกับมหาอำนาจทั่วโลก รวมทั้งทุกเศรษฐกิจของโลก ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้สถานภาพและภาพลักษณ์ รวมทั้งอำนาจการต่อรองของอุษาคเนย์ดีขึ้นมากทีเดียว

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อังกฤษซึ่งเป็นประธาน G7 ได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศ G7 ซึ่งมีสมาชิกจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมัน แคนาดา ออสเตรเลีย ผ่านทางวิดีโอ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเข้าประชุม

เมื่อเร็วๆ นี้อาเซียนต้อนรับอังกฤษเข้ามาในกลุ่มในฐานะที่เป็นประเทศคู่เจรจาใหม่สุด หลังจากที่ปิดประตูมานานถึงเกือบสามสิบปี อังกฤษอยากเอาใจอาเซียนที่ตอบสนองความต้องการเสริมสร้างสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคง หลังจากที่ได้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

ในอดีตช่วงยุคสงครามเย็น อุษาคเนย์ถูกแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ

  • กลุ่มที่เป็นโลกเสรี ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียนดั้งเดิม คือ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน
  • กลุ่มที่สองคือเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ในตอนนั้นเรียกรวมกันเป็นอินโดจีน
  • ส่วนกลุ่มสุดท้ายมีประเทศเดียวคือเมียนมาที่ไม่ร่วมกับใครทั้งสิ้น เนื่องจากเมียนมาเป็นประเทศที่ยึดหลักความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

หลังสงครามเย็น รวมทั้งการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ทำให้ประเทศอุษาคเนย์เลิกแบ่งแยกความคิดทางการเมือง ตัดสินใจมารวมตัวเข้ากันเป็นกลุ่มเดียว ภายใต้หลังคา “อาเซียน” ซึ่งเพิ่มจำนวนสมาชิกอย่างรวดเร็วเกือบเท่าตัวภายในสี่ปี จากหกสมาชิกในปี 1995 มาเป็นสิบประเทศภายในปี 1999 อีกไม่นานติมอร์ตะวันออกก็จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่อาเซียน

การที่อุษาคเนย์ทั้งสิบประเทศสามารถรวมตัวกันได้เป็นประชาคมเศรษฐกิจ ทำให้อาเซียนมีพลังและอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ทำให้มหาอำนาจและประเทศคู่เจรจาไม่สามารถมองข้ามความสำคัญของอาเซียนไปได้ อาเซียนมีประชากรรวมกันทั้งหมด 650 ล้านคน ใหญ่กว่าสหภาพยุโรปซึ่งมีประชากรเพียง 550 ล้านคน ตลาดการค้าอาเซียนจึงใหญ่กว่าและพลังซื้อของกลุ่มบริโภคในอาเซียนก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ยิ่งไปกว่านั้นในวันที่ 1 มกราคม 2022 ข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคหรืออาร์เซบ หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) จะมีผลบังคับใช้ทันที ทำให้อาเซียนและประเทศคู่เจรจาอีกห้าประเทศเป็นตลาดการค้าเสรีที่ใหญ่เป็นที่สุดในโลก

มหาอำนาจเหล่านี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในโลกตะวันตกยกเว้นญี่ปุ่นไม่ต้องการให้อุษาคเนย์ตกอยู่ในอิทธิพลหรืออ้อมกอดจีน สหรัฐอเมริกายังเป็นโต้โผชงลูกต่อต้านจีนให้พรรคพวกตัวเองโดยหยิบประเด็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศจีนมาเป็นประเด็นขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอนาคตไต้หวัน/ทิเบต วิกฤติในซินเจียง ที่น่าสังเกตคืออาเซียนไม่เล่นเกมหมากรุกที่สหรัฐอเมริกาวางแผนไว้

อุษาคเนย์รู้ดีว่าผลประโยชน์ของภูมิภาคอยู่ที่ไหน ความเป็นกลาง การไม่เลือกข้างนั้นเป็นนโยบายหลักของประเทศในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว สมาชิกในอาเซียนยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจทุกค่าย ทำให้ประเทศเหล่านี้ชอบมาคบค้าสมาคมกับภูมิภาคนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ทำการคัดเลือกแบ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มประชาธิปไตยกับกลุ่มเผด็จการ การแบ่งแยกโดยใช้มาตรฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาเป็นดรรชนีชี้นำ ทำให้สหรัฐอเมริกาเสียเพื่อนไปเยอะมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย เพราะไทยไม่ได้รับเชิญ เท่ากับว่าการปกครองของไทยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้กรุงวอชิงตันไม่ยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตย)

น่าเสียดายที่การเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาต้องยกเลิกเพราะนักข่าวที่ติดตามมากับคณะติดโรคโควิด-19 ทำให้ทั้งสองประเทศพลาดโอกาศที่จะปรับความเข้าใจและเสริมสร้างความร่วมมือใหม่ๆ

ฉะนั้น อนาคตสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเก่าแก่ยาวนานกว่า 200 กว่าปีอาจจะต้องมีการประเมินกันใหม่ เพราะภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ปีหน้าจะมีความสำคัญต่อการทูตไทยเพราะเราเป็นเสาหลักของผืนแผ่นดินในอุษาคเนย์

ในอนาคต ไทยจะผลิกโฉมใหม่ได้หรือไม่ ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเหตุการณ์ภายในประเทศเพราะมันส่งผลโดยตรงต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ