ThaiPublica > เกาะกระแส > ดอกไม้และการเมือง

ดอกไม้และการเมือง

21 พฤษภาคม 2019


วรากรณ์ สามโกเศศ

ดอกท้อ ที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/c/c2/Ume-M2377.jpg/1200px-Ume-M2377.jpg

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเมษายนของทุกปีเป็นฤดูกาลแห่งการบานและการชื่นชมดอกไม้ 3 ชนิดในเกือบทุกมุมโลก ได้แก่ ดอกท้อ ดอกโบตั๋น และดอกซากุระ อย่างไรก็ดี ผู้คนชื่นชมโดยอาจมิได้ตระหนักถึงเรื่องการเมืองที่โยงใยกับดอกไม้ 3 ชนิดนี้

ดอกท้อ (plum flower) เป็นดอกไม้ที่คนเอเชียตะวันออกชื่นชอบมาก มีดอกเป็นช่อออกสีชมพู ส่วนดอกโบตั๋น (peony) นั้นเป็นดอกไม้ที่เป็นคู่แข่ง มีลักษณะเป็นดอกใหญ่โดดๆ มีกลีบเป็นชั้นๆ มีหลากสีสวยสดงดงามมาก ดอกไม้ทั้งสองเป็นสิ่งที่กวีจีนเขียนถึงมาเป็นเวลานับพันๆ ปี

การที่คนไทยเรียกว่าดอกโบตั๋นเข้าใจว่ามาจากภาษาจีนที่เรียกว่า “หมู่ตาน” หรือภาษาญี่ปุ่นที่เรียกว่า “โบะตัง” ดอกโบตั๋นในจีนจะบานระหว่างกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคมโดยมีกว่า 1,200 ชนิด ในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 608-907) ดอกโบตั๋นโด่งดังมาก พระนางบูเช็กเทียน (จักรพรรดินี้องค์เดียวของจีน ค.ศ. 624-705) ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ โปรดให้มีการจัดสวนดอกโบตั๋นอย่างงดงามยิ่ง

ดอกท้อกับดอกโบตั๋นก่อให้เกิดประเด็นทางการเมืองแก่รัฐบาลจีนในปัจจุบันจนกระทั่งจีนไม่มีดอกไม้ประจำชาติ ในปี 2003 มีคณะกรรมการเลือกดอกไม้ประจำชาติแต่ก็เงียบหายไปเพราะไม่อาจตัดสินใจได้

เรื่องมันก็คือ ใน ค.ศ. 1903 ราชวงศ์ชิง (ราชวงศ์สุดท้ายของจีน พระนางซูสีไทเฮาทำให้ราชวงศ์นี้เป็นที่รู้จัก) ได้เลือกดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ ต่อมาใน ค.ศ. 1929 หลังจากราชวงศ์ชิงถูกโค่นล้ม รัฐบาลจีนยุคใหม่ได้ประกาศให้ดอกท้อเป็นดอกไม้ประจำชาติ และใน ค.ศ. 1964 ไต้หวันก็ใช้ดอกท้อเป็นดอกไม้ประจำชาติ

ดอกโบตั๋น ที่มาภาพ: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/2/24/Paeonia_ostii.jpg/1280px-Paeonia_ostii.jpg

จีนแผ่นดินใหญ่จึงยากที่จะเลือกดอกโบตั๋น เพราะราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นสาเหตุของความวุ่นวายและการล่มสลายของประเทศเคยเลือกแล้ว ครั้นจะเลือกดอกท้อ รัฐบาลจีนยุคใหม่และรัฐบาลไต้หวันซึ่งในอดีตเคยเป็นศัตรูกันก็ได้เลือกไปแล้ว อีกทั้งจะทำให้คนจีนจำนวนมากโดยเฉพาะในบริเวณเมืองซีอานและลั่วหยางซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงมายาวนานและเป็นศูนย์กลางของดอกโบตั๋นไม่พอใจ ดังนั้นจึงทำตามคติของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ว่าข้อขัดแย้งใดก็ตามจะสลายตัวไปด้วยเวลาและควรปล่อยให้คนรุ่นหลังเขาร่วมกันแก้ไขเอง จีนจึงไม่ตัดสินใจและไม่มีดอกไม้ประจำชาติอย่างเป็นทางการในทุกวันนี้

ดอกซากุระ (cherry) ดูจะเป็นดอกไม้ที่คนไทยยุคปัจจุบันคลั่งไคล้ถ่ายรูปกันมากที่สุด เพราะญี่ปุ่นซึ่งคนไทยชอบไปเที่ยวเป็นเจ้าของไปแล้วโดยปริยาย ซึ่งก็ไม่น่าตำหนิเพราะจะหาคนชาติใดในโลกที่รักใคร่ ชื่นชม และผูกพันกับดอกไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังที่คนญี่ปุ่นมีกับดอกซากุระนั้นเป็นไม่มี

สำหรับคนญี่ปุ่น การบานของดอกซากุระคือสัญลักษณ์ของการเริ่มฤดูใบไม้ผลิ อากาศอุ่น ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่อันงดงาม ประเพณี Hanami คือการฉลองใต้ต้นซากุระที่บานสะพรั่งอย่างสนุกสนานด้วยเสียงเพลงและการดื่มกิน คนญี่ปุ่นจะออกจากบ้านไปชื่นชมความงามของดอกซากุระกันทุกปี ปัจจุบันในเมืองหนึ่งบานอยู่เพียง 8 วันเท่านั้น ซึ่งแตกต่างไปจากสมัยโบราณที่ไม่บานพร้อมกันทั้งเมือง (ปัจจุบันเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่นบานไม่พร้อมกันแต่มักอยู่ระหว่างอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนมีนาคมถึงวันแรกๆ ของเดือนเมษายน ที่บานล่าสุดคือเมืองซัปโปโรในฮอกไกโดที่บานประมาณต้นเดือนพฤษภาคม)

นักเขียนคนหนึ่งของญี่ปุ่นชื่อ Naoka Abe ได้เขียนหนังสือชื่อ “The Sakura Obsession” (2019) และตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดในปัจจุบันดอกซากุระจึงบานพร้อมกันเป็นเวลาเพียง 8 วัน อย่างคล้ายกันในทุกเมือง คำตอบก็คือ 7 ใน 10 ต้น เป็นสายพันธุ์เดียวกัน คือ สายพันธุ์ที่มีชื่อว่า Somei Yoshino (โซเมอิ-โยชิโน) ซึ่งโตเร็ว ให้ดอกเต็มที่ในเวลา 5 ปี ดอกเป็นสีชมพูงดงาม แต่บานอยู่เพียง 8 วัน และก็ร่วงพร้อมกันหมด

เธอพบว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ให้ดอกสีขาวงดงาม ต้นโต เช่น พันธุ์ Taihaku พันธุ์ Daikoku ซึ่งมีดอกสีชมพูหรือสายพันธุ์ Yama-zakura ฯลฯ และอีกนับร้อยสายพันธุ์ได้สูญหายไปจากญี่ปุ่นในระหว่างกลางทศวรรษ 1860 จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้ด้วยเหตุผลทางการเมือง

ญี่ปุ่นในกลางทศวรรษ 1860 หรือเริ่มยุคสมัยเมจิ ลัทธิทหาร (Militarism) ขยายตัวอย่างรวดเร็วเพื่อสนับสนุนสถานะขององค์จักรพรรดิอันนำไปสู่สงครามกับรัสเซีย จีน และสงครามโลกครั้งที่สองในที่สุด

ซากุระสายพันธุ์โซเมจิ-โยชิโน มีลักษณะพิเศษคือบานพร้อมกันและร่วงพร้อมกัน มีสีสันชมพูงดงาม โตเร็ว จนถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตนให้แก่ชาติและองค์จักรพรรดิ กล่าวคือมีความสามัคคีจนสามารถตายพร้อมกันได้เพื่ออุดมการณ์ รัฐบาลสนับสนุนให้ปลูกอยู่พันธุ์เดียวตลอดจนถึง ค.ศ. 1935 โดยละเลย และทอดทิ้งสายพันธุ์อื่นๆ จนสูญหายไปจากญี่ปุ่น

Abe ได้ค้นคว้าและพบว่าหากไม่มีคนอังกฤษชื่อ Collinwood Ingram (ค.ศ. 1880-1981) ซึ่งเป็นคนรักต้นซากุระ และได้นำสายพันธุ์จำนวนมากที่คนญี่ปุ่นทอดทิ้งไปปลูกไว้ที่อังกฤษแล้ว ป่านนี้สายพันธุ์ซากุระที่งดงามและมีอยู่หลากหลายในอดีตก็คงสูญพันธุ์ไปหมด

ดอกซากุระที่ศาลเจ้ายาซูกูนิ กลางกรุงโตเกียว

ซากุระสายพันธุ์โซเมจิ-โยชิโน แพร่กระจายอยู่ทั่วเกาะญี่ปุ่นในปัจจุบัน จนทำให้เกิดการบานในเวลาสั้น ไม่มีการสลับกันบาน ไม่มีดอกและสีที่แตกต่างกัน โดยอยู่ในป่า ในเขา ในสวนสาธารณะจากหลายสายพันธ์ดังที่เคยเป็นในอดีต

การกลมกลืนกันหมดของต้นซากุระสะท้อนค่านิยมของคนญี่ปุ่นในเรื่องการไม่ชอบความแปลกแยก การเป็นชนชาติที่มีคนชาติพันธุ์เดียวกันอยู่ถึง 98% ในประชากร 127 ล้านคน ทำให้ความแปลกแยกเป็นสิ่งที่แปลกประหลาด คนญี่ปุ่นจะแต่งกายคล้ายกัน มีมารยาทและวัตรปฏิบัติในการดำเนินชีวิตคล้ายกัน หากใครที่มีพฤติกรรมแปลกออกไปจากกรอบของความกลมกลืนก็จะกลายเป็นคนที่อยู่ในสังคมได้อย่างยากลำบาก

มนุษย์นอกจากจะพยายามทำให้ธรรมชาติสอดคล้องกับวิถีการดำรงชีพของตนซึ่งตรงข้ามกับสัตว์แล้ว ยังใช้สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมมารับใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตนเองอีกด้วย และในกระบวนการกระทำเช่นนี้ก็ทำร้ายความเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งไปด้วยอย่างนึกไม่ถึง

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 23 เมษายน 2562