ThaiPublica > คอลัมน์ > เงินสดอุดหนุนเด็กขาดแคลน

เงินสดอุดหนุนเด็กขาดแคลน

1 พฤษภาคม 2013


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

อย่าประมาทเงินสดเป็นอันขาด เพราะเงินสดมีอานุภาพอันเนื่องมาจากความคล่องตัว ยิ่งการให้เงินสดอุดหนุนเด็กเล็กที่ยากจนโดยตรงแล้วยิ่งเกิดผลกระทบในด้านบวกมากดังที่มีหลักฐานจากประเทศอื่นๆ

สังคมไทยถือได้ว่าไปไกลพอควรในการมีระบบให้ความคุ้มครองทางสังคมแก่สมาชิกซึ่งประกอบด้วย (1) การประกันสังคมแก่ผู้ใช้แรงงานที่เป็นระบบทางการ (2) การให้เงินเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ (3) การให้เงินกู้ยืมหมู่บ้าน และ (4) สาธารณสุขทั่วหน้า

ถึงแม้ว่าผู้ใหญ่จะได้รับความช่วยเหลือไปพอควร ทั้งผู้สูงอายุ (เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ 60-70 ปี 600 บาทต่อเดือน; 70-80 ปี 700 บาทต่อเดือน; 80-90 ปี 800 บาทต่อเดือน) และผู้อยู่ในวัยทำงาน (รักษาพยาบาลฟรี และมีเงินกองทุนประกันสังคม) แต่เด็กไทยที่ขาดแคลนยังได้รับความช่วยเหลืออย่างจำกัดอยู่มาก

ในปัจจุบัน นอกจากเด็กจะได้รับการศึกษาฟรี ได้รับเครื่องแบบ อุปกรณ์การศึกษาฟรี ซึ่งพอช่วยได้ในระดับหนึ่งแล้ว เด็กที่อยู่ในสภาวะเสี่ยง เช่น เป็น HIV/AIDS เด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน ฯลฯ บางส่วนได้รับเงินช่วยเหลือเป็นเงินสดโดยให้แก่ผู้ปกครองครั้งเดียว 2,000 บาทต่อคนต่อปี โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างไรก็ดี การให้เงินช่วยเหลือนี้เป็นไปตามเงินทุนที่มีในแต่ละปี มิได้มีกฎเกณฑ์บังคับให้เป็นประจำโดยจัดสรรจากงบประมาณประจำปี

หลายประเทศในโลกปัจจุบันทั้งที่พัฒนาแล้ว เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น แอฟริกาใต้ บราซิล เม็กซิโก ให้เงินสดโดยตรงแก่ผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในประเทศเรา โครงการเช่นนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยเฉพาะเด็กที่พ่อแม่ขาดแคลน

งานวิจัยเรื่องเด็กในปัจจุบันพบว่า การเลี้ยงดูเด็กในวัย 0-6 ขวบ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตอย่างเป็นขั้นตอนต่อไป (หนังสือสำคัญตีพิมพ์ในปี 2000 ชื่อ From Neurons to Neighborhoods ให้หลักฐานสนับสนุนเรื่องนี้อย่างมาก) และการเลี้ยงดูที่ดีนั้นครอบคลุมเรื่องอาหารที่เพียงพอ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ขัดสนเกินไป เวลาที่พ่อแม่มีให้แก่ลูก ความอ่อนโยน-ความรักใคร่-ความห่วงอาทร (LTC: Loving-Tender-Care) ฯลฯ ทั้งหมดนี้หนีเรื่องเงินทองไปไม่ได้อย่างแน่นอน

ChildSupport ที่มาภาพ : http://www.lib.uct.ac.za/governmentpublications/files/2012/06/ChildSupport.jpg
ChildSupport ที่มาภาพ : http://www.lib.uct.ac.za/governmentpublications/files/2012/06/ChildSupport.jpg

เงินสดที่พ่อแม่ผู้ขาดแคลนได้รับ จะสามารถช่วยสร้างปัจจัยซึ่งจำเป็นเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องอาหารและเวลาที่พ่อแม่จะพอเจียดให้แก่ลูก ไม่ต้องออกไปทำงานหาเงินตลอดเวลา บางคนอาจเถียงว่าเงินจำนวนนี้อาจ “ลงขวด” หรือเป็นเงินสู่การพนันจนไม่ได้ช่วยลูกจริงจัง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจมีบ้าง แต่น่าจะเป็นจำนวนที่มีน้อยกว่าจำนวนที่สร้างประโยชน์ ถ้าชีวิตเรามัวแต่เอาตัวอย่างที่มีไม่มากมาเป็นกำแพงแล้ว เราคงไม่ต้องทำอะไรกันเป็นแน่

สำนักงาน UNICEF ประจำประเทศไทยได้เสนอแนะเรื่อง Child Support Grant (CSG) เช่นนี้สำหรับประเทศไทยมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ข้อเสนอแนะก็คือ ภาครัฐควรให้เงินสดโดยตรงแก่ครอบครัวของพ่อแม่หรือผู้ปกครองที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (มีอยู่ประมาณ 2.5 ล้านครัวเรือน) เดือนละ 600 บาทต่อเด็กหนึ่งคน ตั้งแต่เกิดจนอายุ 6 ขวบ

จำนวนเงินที่ประมาณว่าต้องใช้ต่อปี หากใช้อัตรานี้ก็คือ 1,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.02 ของ GDP เงินจำนวนนี้เทียบไม่ได้เลยกับโครงการจำนำข้าวที่เสียหายปีละเหยียบแสนล้านบาท

เด็กไม่ใช่อนาคตของประเทศ หากคือปัจจุบัน ถ้าเราไม่ดูแลเด็กขาดแคลนในวัย 0-6 ขวบแล้ว เราก็จะไม่มีโอกาสมีอิทธิพลต่อเขาในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของชีวิตอีกแล้ว อย่าลืมว่ามนุษย์มีโอกาสมีชีวิต 0-6 ขวบเพียงครั้งเดียว มันไม่มีโอกาสหวนคืนมาอีกเลย การลงทุนในช่วงเวลานี้คือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

คุณ Andrew Claypole หัวหน้าฝ่ายนโยบายสังคมของ UNICEF ประจำประเทศไทย ได้พยายามผลักดัน CSG มานานพอควร เนื่องจากเห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นในประเทศอื่น และเห็นว่าเป็นนโยบายที่ท้าทายสำหรับสังคมไทย

ผู้เขียนเห็นว่ายอดเงินพันล้านบาทในบ้านเราในปัจจุบันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่พูดถึงกันแล้ว เราคุ้นเคยกับตัวเลขหลักแสนและล้านล้านบาท การลงทุนในตัวเด็กผู้ขาดโอกาสทั้งประเทศในอัตราที่เรามีปัญญาจ่ายได้อย่างไม่ยากเย็นนักจะเป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าอย่างยิ่งในระยะยาว

หากสาธารณชนสนับสนุน CSG และมีการบังคับการจ่ายด้วยกฎหมาย โดยบรรจุอยู่ในงบประมาณทุกปี สังคมเราจะประหยัดงบประมาณในเวลาข้างหน้าได้อีกมากมาย เพราะเด็กที่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอในวัยที่สำคัญ สมองจะเจริญเติบโตและมีโอกาสเจ็บป่วยน้อยลงในวัยผู้ใหญ่

เราเสียเงินกันมากมายมาแล้วในโครงการประเภท “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ถ้าเราจะเสียเงินเพิ่มขึ้นอีกไม่มาก และไปลดที่เลอะเทอะลงเสีย ก็จะเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุด และเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดในเรื่องการใช้ทรัพยากรการเงินที่ทุกสังคมมีจำกัด

ตีพิพม์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคาร 29 เม.ย. 2556