ThaiPublica > คอลัมน์ > อย่ามั่นใจจนหลอกตัวเอง

อย่ามั่นใจจนหลอกตัวเอง

8 กุมภาพันธ์ 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

ภาพลวงตา

มนุษย์หลอกตัวเองอยู่ทุกวันอย่างไม่รู้ตัว บางลักษณะก็ไม่สำคัญ แต่บางลักษณะสำคัญขนาดอาจทำให้การปรองดองที่สังคมกำลังพิจารณากันอยู่ในขณะนี้ล้มเหลวก็เป็นได้

ผมชอบหนังสือ “The Art of Thinking Clearly” (2013) ของ Rolf Dobelli มาก จึงขอนำเนื้อหาอีกเรื่องหนึ่งมาขยายความต่อเพราะสอดคล้องกับกาลสมัย

ถ้ามีคลิปโฆษณาวิตามินโดยเจ้าของบริษัทยืนยันว่ากินทุกวันมาตั้งแต่เด็กและเมื่อสื่อไปถามเขาว่ามันมีผลดีอะไรไหม ก็ตอบว่า “ผมมั่นใจว่าเป็นผลดีแน่นอน” คุณเชื่อเขาไหม?

คราวนี้หันกลับมาตัวเราเอง เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่คุณมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่น สิ่งศักดิ์สิทธ์มีจริง ทองคำและที่ดินของบ้านคุณราคาจะสูงขึ้นกว่าปัจจุบันใน 5 ปี ฯลฯ คุณก็จะบอกว่าของคุณน่าเชื่อถือกว่าอย่างแน่นอน คนโฆษณาวิตามินก็ต้องพูดแบบนี้เพราะเป็นผลประโยชน์ของตัวเขา แต่สำหรับกรณีของคุณนั้นมันเป็นการสังเกตภายใน (ใจ) ในขณะที่ของคนขายวิตามินเป็นการสังเกตภายนอก (ใจ) แต่คุณสามารถพิจารณาสิ่งที่อยู่ในใจคุณอย่างลึกซึ้งได้ คุณจึงกล่าวอย่างเป็นกลางเพราะมันเป็นความจริง

คำถามก็คือ การพิจารณาใคร่ครวญภายในสิ่งที่คุณมั่นใจหนักหนานั้นมันผ่องแผ้วและซื่อสัตย์เพียงใด ลองดูการทดลองต่อไปนี้เพื่อหาคำตอบ

นักจิตวิทยาชาวสวีเดนชื่อ Peter Johansson ได้ทำการทดลองโดยให้ผู้เข้าทดลองมองดูสองภาพที่สุ่มเลือกมา และให้เลือกว่าคนใดหน้าตาดีกว่ากัน จากนั้นเขาก็เอาภาพที่เลือกมาให้ดูใกล้ๆ เพื่อขอให้บรรยายว่าส่วนใดที่ช่วยทำให้หน้าตาดี อย่างไรก็ดีก่อนที่จะเอาภาพให้ดู Dr.Johansson แอบสลับรูปกับอีกรูปที่ไม่ได้เลือก

ผู้เข้าทดลองส่วนใหญ่ไม่ได้สังเกตว่ามีการสลับรูป แต่ก็สามารถบรรยายได้เป็นตุเป็นตะว่าส่วนใดของรูปที่เขาคิดว่าเลือกมานั้นดูดี ข้อสรุปก็คือ การใคร่ครวญพิจารณาของมนุษย์นั้นเชื่อถือไม่ได้ เมื่อเราค้นหาภายในใจของเรานั้น แท้จริงแล้วเราแสร้งหาหลักฐานมาประกอบสิ่งที่เราเชื่อว่าจริง

ความเชื่อว่าการใคร่ครวญนำไปสู่ความจริงและความแม่นยำมีชื่อเรียกว่า “ภาพลวงตาจากการใคร่ครวญ” (introspection illusion) ปรากฏการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นยิ่งกว่าการลวงให้เข้าใจผิดอย่างตั้งใจเพราะเป็นทึกทักเอาเองว่าถูกต้อง

เมื่อบุคคลมีความมั่นใจในความเชื่อของตนเอง ก็จะเกิดความรู้สึกขึ้น 3 ประการในใจเมื่อคนอื่นไม่เห็นพ้องกับตน คือ

(1) การละเลยเพิกเฉยกับความจริง คนที่ไม่เห็นด้วยขาดข้อมูลที่สำคัญ ถ้าเขารู้สิ่งที่เรารู้ เขาต้องมีความเห็นเหมือนที่เรามีแน่นอน กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมักคิดเช่นนี้ ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะหาคนมาเป็นพวกได้ด้วยการทำให้คนเหล่านี้เห็นแสงสว่างขึ้น กล่าวคือ โน้มน้าวให้เห็นสิ่งที่ตนเองเชื่อและมั่นใจว่าเป็นความจริงแท้แน่นอน

(2) คนปัญญาอ่อน คนที่ไม่เห็นด้วยนั้นมีข้อมูลเพียงพอ แต่จิตใจยังด้อยพัฒนา ปัญญาอ่อนจนไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ข้าราชการและผู้รักษากฎหมายมักมีความรู้สึกเช่นนี้จึงมักพยายามปกป้องพวกที่ “โง่เขลาเบาปัญญา” จากความไม่รู้ด้วยการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ

(3) คนชั่วร้าย คนที่ไม่เห็นด้วยนั้นมีข้อมูลเพียงพอและเข้าใจประเด็น เพียงแต่ต้องการเผชิญหน้าอย่างจงใจ เนื่องจากมีความตั้งใจที่ชั่วร้ายแฝงอยู่ กลุ่มผู้นำศาสนามักมีความรู้สึกเช่นนี้กับพวกที่ไม่เห็นตามตน เมื่อไม่นับถือ ก็ต้องเป็นสาวกของปีศาจ

กล่าวโดยสรุปก็คือ มนุษย์โดยทั่วไปมักมีความเห็นว่าไม่มีอะไรที่น่าเชื่อไปกว่าความเชื่อของตนเอง และการใคร่ครวญพิจารณาเปรียบเสมือนการขุดค้นและได้ความรู้ที่จริงแท้ออกมา

อย่างไรก็ดี ความจริงก็คือมนุษย์เราโดยทั่วไปไว้ใจสิ่งที่ตนเองเชื่อไม่ได้เพราะมักเอนเอียงไม่เที่ยงตรง ใจเราชอบที่จะสร้าง “หลักฐานเท็จ” ขึ้นมาสนับสนุนความเชื่อและความชอบของตนเอง ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังใจตนเองเป็นพิเศษ

การไม่ระมัดระวังการใคร่ครวญของตัวเราเองก่อให้เกิดอันตรายอย่างน้อย 2 ประการ

(ก) ถ้าเราเชื่อมั่นความเชื่อของเราอย่างไม่ระวังแล้ว introspection illusion ก็จะทำงาน และหากทำงานมากเกินไปเป็นเวลายาวนานแล้ว เมื่อเกิดมีความผิดพลาดในอนาคตก็จะก่อให้เกิดความเสียหายได้มากเป็นพิเศษ

(ข) การเชื่อว่าการใคร่ครวญพิจารณาของเราน่าเชื่อถือไว้วางใจมากกว่าของคนอื่นเสมอแล้ว ก็จะก่อให้เกิดภาพลวงตาว่าเราเป็นคนที่เหนือกว่าคนอื่น การถ่อมตนซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญยิ่งของความเป็นมนุษย์ก็จะมลายหายไป ภยันตรายต่างๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย

ลองจินตนาการดูว่า เมื่อแต่ละฝ่ายของกระบวนการฟื้นความสัมพันธ์มาพบกันโดยต่างก็มี “ภาพลวงตาจากการใคร่ครวญ” อยู่เต็มที่โดยมีความมั่นใจว่าความเชื่อของตนเองนั้นถูกต้องแม่นยำแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น

ในการดำรงชีวิต คนที่ไม่เคยมีความสงสัยเลยว่าสิ่งที่ตนเองเชื่ออยู่นั้นอาจผิดพลาด ไม่เที่ยงตรงแม่นยำ จะมีโลกพิเศษที่ตนเองอยู่ และเป็นโลกที่แสนเหงา

การระมัดระวังมีสติอยู่เสมอว่าตนเองอาจเป็นคนที่หลอกตัวเองได้อย่างแนบเนียนที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และเป็นการใคร่ครวญพิจารณาที่ถูกต้อง

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 7 ก.พ. 2560