วรากรณ์ สามโกเศศ
ในปัจจุบันถ้าได้ยินคำว่า Pokémon Go ต่ำกว่า 10 ครั้งต่อวัน คงนอนไม่หลับเป็นแน่ บ้านเรามักพูดถึงแต่เรื่องอันตรายอันเกิดจากเกมที่ร้อนแรงนี้ แต่โดยแท้จริงแล้วมีอีกหลายประเด็น เมื่อประมวลภาพเข้าด้วยกันแล้วกล่าวได้ว่าเกมนี้ทำให้โลกระส่ำ
Pokémon Go (PG) เป็นเกมที่คิดค้นโดยบริษัท Niantic ซึ่ง Google เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับ Nintendo ของญี่ปุ่น PG ไม่ใช่เกมแรกหากมีมาหลายเวอร์ชันแล้วโดย PG เป็นเวอร์ชันล่าสุด เกมชื่อ Ingress ของบริษัทนี้ซึ่งเปิดตัวก่อนหน้านี้ คนเล่นต้องเดินออกไป “จับ” สัตว์หรือตัวการ์ตูนของฝ่ายตรงข้ามโดยใช้ Google Map แต่เมื่อไม่ได้รับความนิยมเพราะเล่นยาก PG จึงเป็นเวอร์ชันที่ปรับปรุงออกมารับตลาด
Pokémon เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ต่อมามีการทำเป็นภาพยนตร์และเอาตัวละครในเรื่องมาอยู่ในเกม เพิ่มตัวการ์ตูนมากขึ้นจนถึง 722 ตัว และพัฒนาจนมาเป็น PG ในที่สุด PG เปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 และภายในเวลา 3 อาทิตย์ใน 30 ประเทศที่เปิดตัว มีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน PG 400 ล้านครั้ง
ประเด็นแรก ที่ห่วงกันในเรื่องอันตรายนั้นเป็นเรื่องจริง มีอุบัติเหตุที่คนเล่นตกลงไปในน้ำ ในท่อน้ำ ตกมอเตอร์ไซค์ ถูกรถชน เกี่ยวพันในอุบัติเหตุจำนวนมาก มันเป็นเหตุการณ์ที่คล้ายกับการก้มหน้าใช้สมาร์ทโฟนแต่ต้องเดินไปด้วยและสนุกไปด้วยกับการ “จับ” ดังนั้น อันตรายจึงย่อมมีมากกว่า
ความเพลิดเพลินและความมุ่งมั่นจะ “จับ” ให้ได้มากตัว อาจนำไปสู่ที่เปลี่ยว ถูกจี้ปล้น หรือทำร้ายก็มีไม่น้อยในหลายประเทศ การต้องเปิดเผยสถานที่ตนเองในแผนที่ขณะเล่นก็เท่ากับเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวซึ่งคนมุ่งร้ายอาจหาประโยชน์ได้
ประเด็นที่สอง เราเสียเวลากับ Facebook กับ Line กับการดูคลิปมาเพียงพอแล้ว เมื่อมี PG ให้เล่นก็จะยิ่งทำให้เสียเวลาและเสียงานมากขึ้น (ต้องเคลื่อนไหวไปอยู่ในที่ๆ ไม่จำเป็นต้องไป ละทิ้งหน้าร้านที่ต้องเฝ้าหรือถ้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเล่น PG ขณะเข้าเวรก็น่าเป็นห่วง) สมาร์ทโฟนทำลายสมาธิการเรียนในห้องเรียน ทำลายชั่วโมงทำงานของลูกจ้างเพียงพอแล้วโดยไม่จำเป็นต้องมี PG มาเพิ่ม
ประเด็นที่สาม เจ้าของเกมทำเงินได้มากมายจากเกมนี้ที่ถึงแม้จะดาวน์โหลดฟรีก็ตาม บริษัทสามารถเอาข้อมูลที่คนเล่นต้องเป็นสมาชิก Gmail ไปทำประโยชน์ทางการค้าได้มากมาย เช่น วิเคราะห์แบบแผนการบริโภค ขาย e-mail address (ทำได้ในหลายประเทศ) เป็นฐานลูกค้าที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป ฯลฯ ที่สำคัญที่สุดก็คือ สามารถเอาตัวการ์ตูนใดไป “หยอด” ลงที่ใด จำนวนเท่าใด ให้ปรากฏตัวบ่อยครั้งเท่าใด ฯลฯ ได้ทั้งนั้น โดยขึ้นอยู่กับการจ่ายเงินของศูนย์การค้าหรือธุรกิจที่ต้องการให้ลูกค้าที่เล่นเกมไปปรากฏตัวมากๆ ในศูนย์การค้าหรือหน้าร้านค้าซึ่งย่อมทำให้โอกาสทางธุรกิจมีมากขึ้น ตัวอย่างคือ McDonald ในญี่ปุ่นรวม 2,900 สาขาจ่ายเงินจำนวนมากให้ Niantic เพื่อให้ “หยอด” ตัวการ์ตูนหน้าร้านมากๆ เพื่อแก้ไขปัญหาธุรกิจ เข้าใจว่าในบ้านเราก็มีคนจ่ายเงินกันไม่น้อย น่าเสียดายที่เงินเหล่านี้ไหลออกไปนอกประเทศแทบทั้งหมด
นอกจากนี้ บริษัทเกมก็สามารถหาเงินจากการขาย “อาวุธ” เครื่องมือ “จับ” อุปกรณ์นำทาง ตลอดจนแอปพลิเคชันเสียเงินอื่นๆ เพื่อช่วยให้ “จับ” ได้ถนัดมือขึ้น และสนุกสนานมากขึ้นด้วย
ประเด็นที่สี่ Niantic ควรรับผิดชอบในการ “หยอด” การ์ตูนไว้ในสถานที่ที่อาจเกิดอันตราย เช่น ริมถนนที่รถสัญจรไปมามาก ควบคุมไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12-13 ปี เล่น เลือกสถานที่ “หยอด” เช่น วัดวาอาราม สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โรงพยาบาล สถานที่ราชการ เวลาของการปล่อย ตลอดจนความถี่ โดยมุ่งความปลอดภัยของผู้บริโภคประกอบการแสวงหารายได้ด้วย
ประเด็นที่ห้า ไม่น่าเชื่อว่า PG สามารถสร้างความตึงเครียดระหว่างประเทศได้ จีนและรัสเซียออกประกาศว่าจะไม่ยอมให้ PG เข้าไปในประเทศ เพราะเป็นเกมของ CIA ที่แฝงการทำจารกรรมอย่างแนบเนียน กล่าวคือเมื่อภาครัฐห้ามประชาชนไม่ให้เข้าไป “จับ” ในที่หวงห้ามซึ่งอาจเป็นที่ตั้งขีปนาวุธ แหล่งเก็บอาวุธ ที่ตั้งลับทางทหารหรือการค้นคว้าวิจัยที่ลับ ฯลฯ เจ้าของเกมก็จะรู้ได้ว่าสถานที่เหล่านี้คือสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ เมื่อคนเล่นมากขึ้นในทุกพื้นที่ CIA ก็จะสามารถเก็บข้อมูลได้กว้างขวางมากขึ้น
นอกจากนี้ การ “จับ” ก็จะต้องเปิดกล้องซึ่งเปิดโอกาสการถ่ายรูปอาคารของราชการซึ่งอาจเป็นเป้าหมายของโดรน (drone) ได้ในอนาคต เนื่องจากเมื่อโดรนสามารถจับคู่ภาพถ่ายที่เก็บไว้ในเครื่องกลสมองกับภาพอาคารจริงก็พุ่งเข้าโจมตีได้แม่นยำ
สงครามเย็น (ค่อนไปทางร้อนในหลายกรณี) ระหว่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน ในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความระแวงได้ในทุกโอกาส PG เกิดขึ้นมาท่ามกลางบริบทของความระแวง ดังนั้นจึงอาจทำให้ความขัดแย้งเขม็งเกลียวยิ่งขึ้นอย่างน่าหวาดเสียวหากเกิดความเข้าใจผิดขึ้น
ไม่น่าเชื่อว่าเกมของโลกไซเบอร์เพียงเกมเดียวสามารถเขย่าโลกได้ถึงเพียงนี้ ในเวลาไม่ถึง 6 อาทิตย์พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการออกกำลังเดินมากขึ้น มีความสนุกสนานมากขึ้น พ่อแม่กับลูกสามารถร่วมสนุกกัน พ่อแม่ต้องพาลูกออกไป “ล่า” ในเวลาวิกาล หรือต้องออกไปโดยลำพังเพื่อ “จับ” มาให้ลูกเพื่อจะได้เอาไปโชว์เพื่อนที่โรงเรียนในวันรุ่งขึ้น มีชีวิตที่เสี่ยงอันตรายมากขึ้น ฯลฯ
ถึงแม้วันหนึ่ง PG จะจางหายไปตามกฎธรรมชาติ แต่ระหว่างที่มีพละกำลังอยู่ตามแฟชั่นโลกในขณะนี้ เราก็ต้องช่วยกันควบคุมให้อยู่ในกรอบแห่งความสนุกสนานและความพอเหมาะพอควรอย่างปราศจากอันตรายให้จงได้
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ อังคาร 16 ส.ค. 2559