ThaiPublica > เกาะกระแส > รักษ์ป่าน่าน (ตอน1) …”บัณฑูร ล่ำซำ” ชี้ยุทธศาสตร์ตาจากฟ้าแจกสมุดพกชุมชน เครื่องมือ “ดูแลป่าต้นน้ำ” ป้องกันป่าหายปีละแสนไร่

รักษ์ป่าน่าน (ตอน1) …”บัณฑูร ล่ำซำ” ชี้ยุทธศาสตร์ตาจากฟ้าแจกสมุดพกชุมชน เครื่องมือ “ดูแลป่าต้นน้ำ” ป้องกันป่าหายปีละแสนไร่

15 มีนาคม 2014


เมื่อกลไกสังคมบิดเบี้ยวจะด้วยทุนสามานย์หรือเหตุผลใดก็ตาม เราจึงได้เห็นบทบาทขององค์กรภาคเอกชนที่ลุกขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนสังคมในด้านต่างๆ ที่ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่เว้นแม้แต่นายแบงก์ที่กระโดดมาเล่นบทผู้รักษาป่าต้นน้ำ

เมื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว การคงสภาพวิถีเดิมก็เป็นเรื่องยาก แต่การหยุดไม่ให้มีการทำลายป่าไปมากกว่านี้จึงน่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะช่วยยับยั้งปัญหาได้

ป่าเมืองน่านเป็นป่าต้นน้ำอีกผืนหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดของประเทศไทย เป็นหนึ่งในลำน้ำสายหลักที่ไหลมารวมกับแม่น้ำสายอื่นเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา สายน้ำที่หล่อเลี้ยงประเทศไทยมายาวนาน

ปิง วัง ยม น่าน เป็นชื่อแม่น้ำที่เราท่องจำมาตั้งแต่ชั้นประถม ที่รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา โดย 40% เป็นปริมาณน้ำของลำน้ำน่าน สะท้อนถึงความสำคัญว่าทำไมจึงต้องรักษาป่าต้นน้ำน่านอย่างจริงจัง

ภูโกร๋น จ.น่าน
ภูโกร๋น จ.น่าน

“ภูโกร๋น” เป็นภูเขาหัวโล้นที่เลื่องลือของจังหวัดน่าน ด้วยป่าถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว จนปลูกป่าไม่ทันการตัดป่า

“บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย นายแบงก์ที่ผันตัวเองมาเป็นชาวน่านหรือ “นันทบุรีศรีเมืองน่าน” บอกว่า วันนี้เราต้องตั้งโจทย์ว่าจะหยุดการทำลายป่าได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาเราปลูกป่าแต่ปลูกเท่าไรก็ไม่ทันการทำลายป่า

เมื่อถามว่าต้นตออยู่ที่ใครบัณฑูรกล่าวว่า “ผมว่าไม่มีใครเป็นผู้ร้าย เป็นเรื่องของมนุษย์ที่ต้องการทำมาหากิน และที่ดินมันไม่พอทำกิน เขาก็เขยิบไปทีละนิดๆ เพื่อจะปลูกได้อีก 1 ไร่ และไม่ได้ทำอยู่คนเดียว จะไปจับใครเข้าคุก ก็คนจนๆ ด้วยกัน กฎหมายมีชัดเจน หากว่าตามกฎหมายถูกจับติดคุกหมด แต่อย่าเอาเรื่องกฎหมายมาพูดในประเทศไทย มันใช้ไม่ได้ เขาไม่ใช่เป็นโจรที่มาขโมยไม้ประเทศไทย ไม่ใช่ที่นี่ (น่าน) เขาไม่มีกิน ทำไมฉันกระเถิบ (ขยายพื้นที่ทำกิน) ไปอีกนิดไม่ได้ อะไรกันหนักหนา เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนมานั่งตาปริบๆ ซึ่งมันยากจริงๆ ที่จะทำให้มนุษย์จำนวนมากมีพอที่จะอยู่ได้ดีพอสมควร คนเก่งจริงๆ มันเอาไปกินหมดในโลกทุนนิยม ข้างล่างพะงาบๆ จะเอาอะไรไปสู้ ทำอะไรเท่าไหร่ก็ถูกริบไปหมด โดยระบบสร้างมาแบบนั้น นี่คือความเป็นจริง ”

เมื่อป่าถูกทำลายมันเป็นประเด็นแล้ว โดยมาจากข้างล่าง แต่ข้างบน(รัฐบาล)ไม่รู้เรื่องเลย เป็นเรื่องท้องถิ่นที่เขาตระหนัก แต่เขาไม่มีเงิน(งบประมาณ) ว่ากันไปตามมีตามเกิด

“งานสัมมนาที่จัดขึ้นหวังว่าอย่างน้อยเป็นการตั้งโจทย์ให้คนมีคำถาม ตั้งโจทย์ที่ไม่เหมือนเดิม เป็นการมองโจทย์อีกมุมหนึ่ง แล้วจะทำให้มีการเตือนไปในทิศทางที่พอมีความหวัง แม้เวลาไม่ได้หยุดรอ ไล่ไม่ทันป่าไม้ที่ถูกตัดก็ตาม เพราะสถิติที่ชี้ให้เห็นว่ามันโล้นไปเรื่อยๆ ยุทธศาสตร์คือโจทย์ที่ต้องวัดผลได้ว่าป่าไม้หยุดถูกทำลาย ถ้าทุกคนทำโครงการ คนนั้นก็ทำ คนนี้ก็ทำ แล้วพอเช็คสต็อกอีกปีแล้วป่ามันหาย แสดงว่าสอบตก ประเด็นนี้ทุกคนไม่เก็ต เพราะทุกคนจะทำแต่ในส่วนของตัว และมาบอกว่าของตัวดี ไม่เถียง.. แต่โดยรวม…เราแพ้ ป่าไม้มันหายไปจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้จะไปไล่เบี้ยเอากับใคร”

พร้อมย้ำว่า “ป่าไม้หายไปปีละแสนไร่ ใครรับผิดชอบ รัฐบาลเหรอ… รัฐบาลยังไม่รู้เลยว่ามีปัญหานี้ ไม่เป็นวาระแห่งชาติเลย ใครเห็นบ้างว่ามีการถกเรื่องนี้ในสภาว่ามีการทำลายป่าต้นน้ำ ไม่มี เขายังไม่รู้ว่ามีปัญหา มันยากตรงนี้ ถ้าไม่มียุทธศาสตร์ระดับชาติ ที่ได้แรงสนับสนุน ทั้งเรื่องงบประมาณ องค์ความรู้ ทรัพยากร ไม่มีทางสกัดการทำลายได้ ที่ผ่านมาก็ว่ากันไปตามมีตามเกิด ก็เป็นความเพียรพยายามที่น่าชื่นชม ที่สู้กันไป แต่มันไม่ทันความเป็นจริงของโลกทุนนิยม”

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย

นั่นคือปัญหาที่ทำให้นายบัณฑูรได้จับมือกับเครือข่ายพันธมิตรอาทิสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กองทัพบก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธนาคารกสิกรไทย ประสานกันออกมาขับเคลื่อนเพื่อรักษ์ป่าน่าน ซึ่งการจัดงานสัมมนาวิชาการ “รักษ์ป่าน่าน” เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำบลผาสิงห์ อ.เมือง จ.น่าน เพื่อที่จะตั้งโจทย์กันให้ชัดๆว่ายุทธศาสตร์ที่หยุดการทำลายป่า จะทำกันอย่างไร โดยนายบัณฑูรได้บรรยายเรื่อง “บริบทและยุทธศาสตร์ของการรักษาป่า” ว่า

“ดินดำ น้ำก็ดี พืชผักเขียวขจี วิถีสุขสบาย” วจีจากใจอันนี้ยังน่าใช้และยังใช้ได้กับจังหวัดน่าน ที่ทุกคนรู้สึกประทับใจในความอุดมสมบูรณ์และความเขียวขจีที่มีตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่นับวันวลีนี้ใช้ได้น้อยลงๆ ไปทุกวัน

คำว่ายุทธศาสตร์มีความหมายในเชิงจัดการว่าเป็นแผนที่ใช้แล้วต้องชนะ เป็นแผนที่ครอบคลุมทุกมิติของปัญหาที่เราเผชิญอยู่ นำไปปฏิบัติกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลากหลาย ที่ต้องร่วมมือกัน มาสู่แนวทางแก้ไข ในตอนจบเราชนะปัญหานั้น ถึงจะเรียกว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้ได้ ไม่ใช่แก้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ไม่จบ แล้วตอนจบไม่ได้ผล แสดงว่ายุทธศาสตร์ไม่ได้ผล คือไม่คิดให้ครบ ให้ทะลุตั้งแต่ต้น

วันนี้เราเผชิญปัญหาที่ปลุกปล้ำกันมานาน ไม่ใช่ว่าไม่ได้ทำกันอย่างดี ทำกันอย่างดีในหน่วยงานต่างๆ ในการจัดการปัญหาความสูญเสียของป่าเมืองน่าน ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำสำคัญของเมืองไทย

เราพูดถึงจังหวัดน่านที่ประกอบด้วย 15 อำเภอ 99 ตำบล เกือบ 900 หมู่บ้าน มีพื้นที่ทั้งหมด 7.6 ล้านไร่ หากเอาพื้นที่เป็นหลัก น่านนับเป็นจังหวัดที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทย

วิถีชาวน่านอิงกับชีวิตที่อยู่ริมน้ำเป็นส่วนใหญ่ มีลำน้ำสำคัญๆ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตที่อยู่ริมน้ำ ความเป็นน่าน ชุมชนน่าน ต้องไปรวมกับสายน้ำอื่นๆ รวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา

รักษ์ป่าน่าน 4-1

ถามว่าต้นน้ำที่เรียกว่าป่าของเมืองน่านเป็นต้นน้ำที่สำคัญไหม ปิง วัง ยม น่าน มาบรรจบกันเป็นเจ้าพระยา ในส่วนของลุ่มแม่น้ำน่าน มีมวลน้ำ 40% ซึ่งเป็นผลการศึกษาเมื่อปีที่แล้วของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ สำรวจปริมาณน้ำที่ไหลจากต้นน้ำทั้ง 4 ของประเทศไทย

“จะบอกว่าอะไรที่เกิดขึ้นที่ป่าเมืองน่าน ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ จะไม่มีผลกระทบต่อความเป็นไปของทั้งประเทศไทยเลย ถือว่าไม่ดูตัวเลข เป็นตัวเลขที่พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเป็นข้อมูลที่สะท้อนความเป็นจริง”

แต่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับจังหวัดน่าน ภูมิประเทศของน่าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาประมาณ 85% ของพื้นที่จังหวัดทั้งหมด ที่เหลือ 15% คือที่ราบริมลำน้ำน่านที่คนน่านอาศัยอยู่ ชีวิตของน่านกระจุกตัวที่ราบริมน้ำ

ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 พื้นที่ป่าไม้น่านทั้งหมดมีจำนวน 6.4 ล้านไร่ สอดคล้องกับความสำคัญของป่าเมืองน่านที่เป็นป่าต้นน้ำสำคัญของไทย

นี่คือโจทย์ใหญ่ เพราะป่าจะหายไปเรื่อยๆ ดังนั้นการเก็บสถิติจึงเป็นประเด็นสำคัญ เราอยากเก็บสถิติให้ชัดเจนให้ถูกต้อง เพื่อจะได้จับปัญหาให้ถูก แต่การไปนับต้นไม้เป็นไร่ๆ มันหากันไม่เจอ ดีที่สุดคือยิงลงมาจากฟ้า ตาจากฟ้าแม่น เพราะเราจะวิเคราะห์ความเป็นอยู่ หรือความไม่เป็นอยู่แล้วของป่าเมืองน่าน โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลนี้สามารถย้อนหลังได้ 30 ปี

ปรากฏว่าพื้นที่ป่าไม้จังหวัดน่านตั้งแต่ปี 2507 จำนวน 6.4 ล้านไร่ พื้นที่เดิมที่เป็นป่า มันไม่เป็นป่าแล้ว ตั้งแต่ปี 2507 จนถึง 2547 แสดงเวลา 40 ปีของชีวิตป่าเมืองน่าน ช่วงแรกไหลงมาเบาๆ ช่วงที่สองลงมาแรง และช่วงที่สามแรงที่สุด

รักษ์ป่าน่าน

หากคิดเป็นความสูญเสียของพื้นที่ป่าของจังหวัดน่านที่หายไป โดยเฉลี่ยที่หายไปต่อปีในแต่ละช่วงเวลา ช่วงแรกหายไปปีละ 17,000 ไร่ ช่วงที่สองตั้งแต่ปี 2547–2551 เฉลี่ยปีละ 50,000ไร่ ช่วงที่สามลงปรี๊ดเลย ลงไปเฉลี่ยปีละ 125,000 ไร่ หายไปจริงๆ

“หากดูในเชิงแพทย์มันเป็นเซลล์มะเร็ง พื้นที่ป่าสงวนเป็นป่าโล้นมากขึ้นเรื่อยๆ มะเร็งกินมากขึ้นๆ ทุกวัน อันนี้เป็นตัวเลขที่น่าตกใจที่สุด ผมว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราประเมินพื้นที่ป่าที่หายไปแบบนี้”

ที่ผ่านมาทุกคนทำโครงการสารพัดอย่าง มีความเพียรพยายามของหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่เป็นของท้องถิ่นจังหวัดน่าน และที่มาช่วยกันคนละไม้ละคนมือ ไม่มีใครทำไม่ดี ทุกคนตั้งใจดีที่จะสกัดกั้นปัญหานี้ ปลูกป่า บวชป่า กันไม่ให้มาตัดป่า ด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งวิธีการรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ แต่ตอนจบถ้าเราประเมินอย่างนี้ สมุดพกจากฟ้าบอกว่าเราสอบตก ประเทศไทยสอบตก ไม่ว่าจะด้วยตั้งใจดีอะไรก็ตามที่ทำกันมา มันไม่พอ และสมุดพกอันนี้จะออกทุกปี

และที่น่ากลัวคือว่า คะแนนตกมันเร็วมากขึ้นกว่าแต่ก่อน วันหนึ่งมันคงไม่เป็นปัญหา เพราะป่าหมดไป ถ้าขืนไปในความเร็วอย่างนี้ ทุกคนนั่งทำตากันปริบๆ ออกไปก็ไปทำอะไรต่างๆ ที่เราตั้งใจจะทำ อีกปีกลับมา ป่าหายไป 1 แสนไร่ 2 แสนไร่ อันนี้คือโจทย์ที่ไม่มีคำตอบง่ายๆ

รักษ์ป่าน่าน 1-1

จากที่วิเคราะห์ มันมีแนวโน้มอันหนึ่งที่น่าสนใจคือ ราคาของพืชไร่ของข้าวโพด ยาง ในเวลาเดียวกันกับกราฟที่เราแสดงพื้นที่ป่า และที่น่าสนใจอีกตัวคือมูลค่าของการใช้ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ นี่คือโรคสมัยใหม่ ตัวเลขที่ออกมามันมีความโยงใยกันชัดเจน ยิ่งราคาพืชไร่มีสูงขึ้น ราคาการใช้สารต่างๆ มีมากขึ้น คือสะท้อนความเป็นจริงของชีวิตเศรษฐกิจของมนุษย์ ก็คืออยากทำมาหากิน ก็ไม่มีใครว่าอะไร ถามว่าจนไหม จน มีจนจริงๆ หรือว่าจนเพราะว่าไม่มีเท่ากับเพื่อนบ้านก็รู้สึกว่าจน ก็ดิ้นรนกระเสือกกระสน หากินจากพื้นที่มีอยู่จำกัด พื้นที่ที่มีอยู่จำกัดไม่พอก็กระเถิบที่ละนิดๆ ตัดป่าไปเรื่อยๆ อย่างนี้ และผลตัวเลขของพื้นที่ป่าก็ออกมาอย่างนี้

“มนุษย์ทำกับตัวเองทั้งนั้น ด้วยความจำเป็นที่จะอยากจะมีมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่ของเสียหายอะไรกับการที่มนุษย์อยากมีมากขึ้น แต่หากใช้วิธีอย่างนี้มันจะทำลายตัวเอง ทำลายบ้านของเรา ทำลายพื้นที่ที่จะอยู่อาศัยไปในอนาคต”

รักษ์ป่าน่าน 2-1

คำถามว่ามันจะแก้อย่างไร อยากให้ดูว่า โดยเทคโนโลยีตาจากฟ้าเราสามารถคำนวณได้หมด ว่าแต่ละอำเภอมีพื้นที่เท่าไหร่ แล้วถ้าจะขยายความ แยกออกไปเป็นพื้นที่ป่าสงวนเท่าไหร่ เป็นพื้นที่หายไปแล้วตั้งแต่ปี 2507 เป็นต้นมา หายไปแล้ว 1.5 ล้านไร่ ตอนนี้เหลือพื้นที่ป่า 4.8 ล้านไร่ และในความเร็วปัจจุบันที่ป่าหายไป จะหายไปปีละ 125,000 ไร่ หรือจะหายไปเร็วกว่านี้ ขึ้นอยู่ที่ว่ามนุษย์นั้นเร่งตัวเองขนาดไหนที่จะเอาประโยชน์จากพื้นที่ ซึ่งในที่สุดเป็นการทำลาย

หากดูลึกลงไปสามารถวิเคราะห์เป็นรายตำบล ที่ยกตัวอย่างคือพื้นที่ป่าไม้อำเภอสันติสุข โดยเฉลี่ยป่าในจังหวัดหายไปแล้ว 1 ใน 4 ของป่าสงวน เฉพาะอำเภอสันติสุขหายไป 37% ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยีทำให้เราสามารถให้คะแนนข้อสอบได้

อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา ที่จะแสวงหาแนวทางแก้ปัญหา เราอย่าหลอกตัวเอง คะแนนนี้ไม่หลอกใคร เพราะเป็นข้อมูลจากดาวเทียม ดังนั้นการแก้ปัญหาป่าถูกทำลายต้องหายุทธศาสตร์ที่มากไปกว่าสิ่งเดิมๆที่ได้ทำไปแล้ว

“ยุทธศาสตร์เป็นความพยายามที่จะล้อมปัญหาให้จับต้องได้ จับให้มั่น คั้นให้อยู่ แล้วติดตามผลได้ จากนี้ไปเราจะติดตามผลการฟื้นฟูและรักษาป่าเป็นคณิตศาสตร์ เป็นรายปี เราทำได้เพราะมีเทคโนโลยีดาวเทียวของเราเอง ชื่อว่าดาวเทียมไทยโชติ แล้วเราสามารถลงลึกได้เป็นรายตำบล สามารถออกคะแนนสอบของ 99 ตำบลของจังหวัดน่านได้”

เมื่อได้วิธีการที่ติดตามผลแล้ว จากหลังนั้นเราต้องหาหน่วยงานที่ต้องเป็นเจ้าภาพ หากมะรุมมะตุ้มกันทำคนละทีสองที ที่ผ่านมาทำกันแบบนั้น ไม่ใช่ไม่ดี ทุกคนทำด้วยความตั้งใจดี แต่ไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบที่ต้องมาขึ้นเวทีตอบทุกปี เป็น accountability unit ลักษณะที่ว่าหนีไม่ได้ หากข้อสอบออกมาเป็นรายตำบล ตำบลนั้นต้องตอบ เราจะกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบเป็นรายตำบล 99 ตำบล ลงถึงชุมชน เป็นอำนาจชุมชนเป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา และอำนาจอื่น ทรัพยากรอื่นๆ มาร่วมกันช่วยเหลือ เพราะนี่คือบ้านของชุมชน 99 ตำบล โดยมีนายก อบต. ซึ่งเป็นมิติใหม่ในการจัดการท้องถิ่น มีกำนันซึ่งเป็นมิติดั้งเดิม มีประธานสภาองค์กรชุมชน ทุกคนอยู่ในตำบลเดียวกัน คน 3 คนต้องทำงานด้วยได้ เพื่อความก้าวหน้าและสามารถยับยั้งปัญหานี้ของชุมชนนั้น โดยต้องแจกงานกันออกไปเดี๋ยวนี้ จึงจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า เมื่อคะแนนสอบออกทุกปี ต้องถามว่าทำไมท่านสอบตก จะให้ช่วยอะไร ทำไมคะแนนไม่ดีขึ้น

นายบัณฑูร ล่ำซำ บรรยาย"บริบทและยุทธศาสตร์ของการรักษาป่า"
นายบัณฑูร ล่ำซำ บรรยาย”บริบทและยุทธศาสตร์ของการรักษาป่า”

ส่วนองค์กรอื่นๆ ที่มีอยู่ในเมืองน่านเอง มูลนิธิต่างๆ ทั้งที่มาจากที่อื่นๆ ต้องมาร่วมให้องค์ความรู้ เพราะจะให้องค์กรระดับตำบลไปทำทุกอย่างมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมีความรู้หลายอย่าง อาทิ ความรู้การบริหาร ดิน น้ำ อันนี้เรื่องสำคัญ ความรู้พันธุกรรมศาสตร์ ต้องหาวิธีที่จะได้พืชพันธุ์ปลูกแล้วได้ผลผลิตสูง ทนต่อโรค ทนต่อดินฟ้าอากาศ

ส่วนการตลาดเป็นเรื่องใหญ่สุด การที่ขายของได้ราคา นอกจากผลิตของดี เราต้องสามารถส่งของนั้นไปถึงปลายทางได้ แต่ตอนนี้ท้องถิ่นไม่สามารถควบคุมตรงนี้ได้เลย คนที่ทำเส้นทางการค้าไปสู่ตลาดโลกคือคนที่คุมยี่ห้อ คนที่คุมซูเปอร์มาร์เก็ต เอาส่วนใหญ่ของที่ผลิตที่นี่ไปหมด ที่เหลือกินในท้องถิ่นเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อย อันนี้คือความเป็นจริงของโลกทุนนิยมที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่ต้องหาทางสู้ แต่ถ้าสู้แบบเดิมๆ สู้ไม่ไหว เพราะว่าโครงสร้างมันสร้างไว้แน่นมาก คนที่คุมยี่ห้อ คุมเส้นทางสินค้าต่างๆ เอาส่วนแบ่งของคุณค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าชิ้นนั้นไปเลย

เพราะฉะนั้น ผลิตสินค้าดีก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ บริหารดิน น้ำ …แต่ว่าผลิตแล้วต้องเก็บส่วนใหญ่ไว้ที่ท้องถิ่นได้ ซึ่งโจทย์ยังไม่มีคำตอบได้ แต่เป็นโจทย์ที่ต้องคิด อย่างน้อยเป็นยุทธศาสตร์ให้รู้ว่านี่คือเส้นทางที่เราจะไป ต้องหาทางขายสินค้าออกไปโดยไม่โดนกินง่ายๆ เหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งยังต้องจัดการสังคมท้องถิ่น เพราะมนุษย์อยู่ได้ด้วยวัฒนธรรม ความเป็นชุมชนที่อยู่แล้วมีความสุข ถึงจะอยู่ด้วยความรู้สึกหวงแหน มีความรักในท้องถิ่นที่ตั้งใจทำงานเพื่อท้องถิ่น
รักษ์ป่าน่าน 3

ในการนี้ประการแรก เราต้องเข้าใจบริบทของคำว่าแหล่งชุมชน นี่จะเป็นปรัชญาสำคัญในการที่จะใช้ในการที่จะดำเนินการแก้ปัญหานี้ ต้องสามารถเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ควบคู่ภูมิปัญญาของโลกที่พัฒนาไปขั้นหนึ่งแล้ว

ประการที่สอง นโยบายการกระจายอำนาจ ต้องยอมรับว่าโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นการกระจุก แบบบนลงล่าง นับวันได้รับความนิยมน้อยลง ต้องให้เกิดความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในระดับท้องถิ่น ในชีวิตความเป็นอยู่ แต่ต้องช่วยกัน เพราะเรายังเป็นประเทศไทยด้วยกัน

ประการที่สาม ดังที่สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเป็นพระราชดำริในการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น แปลว่ายั่งยืนสู่เยาวชน ไม่ว่าอะไรที่เราทำกัน หากคนอีกยุคหนึ่งที่จะเป็นเจ้าของประเทศนี้ไม่สามารถรับช่วงต่อได้ มันก็ไม่ยั่งยืน ก็จบแค่นี้ เราคิดต่อให้ทะลุให้ได้ หากเราทำไม่สำเร็จ คนรุ่นต่อไปก็ต้องคิดต่อทำให้สำเร็จ ที่จะสายเกินไปเพราะเวลาไม่อยู่ข้างเรา แต่ยังมีเวลาอยู่ จึงเสนอเป็นแนวคิดยุทธศาสตร์ด้วยการจับโจทย์เป็นตำบล เป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องที่ดี

ข้อมูลเพิ่มเติมรักษ์ป่าน่าน และวิดิโอบรรยาย“บริบทและยุทธศาสตร์ของการรักษาป่า”