เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 เวลา 9.00 น. พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยสาเหตุหัวใจล้มเหลวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีประกาศให้สถานที่ราชการ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงเครึ่งเสาตั้งแต่ 27 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2562 เป็นเวลา 7 วัน และให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ทุกข์ตั้งแต่ 27 พฤษภาคม – 17 มิถุนายน 2562 (ยกเว้นวันที่ 3 มิถุนายน 2562) รวม 21 วัน
พล.อ. เปรม เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา อายุ 99 ปี ได้รับพระราชทานนามสกุล “ติณสูลานนท์” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2462 เป็นบุตรของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) และนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์)
พล.อ. เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)
หลังสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2484 พล.อ. เปรม ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีน ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา และเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2485-2488 ที่เชียงตุง หลังสงคราม พล.อ. เปรม ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า พล.อ. เปรม ได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี
ปี 2516 ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ปี 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ปี 2520 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี 2521
จากนั้น พล.อ. เปรม เข้าร่วมรัฐประหาร 2 ครั้ง ครั้งแรก นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และ ครั้งที่ 2 ยึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520
พล.อ. เปรม ได้ก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองครั้งแรกในสมัยรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ช่วงปลายสมัยของรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ พล.อ. เปรม ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เป็นตำแหน่งสุดท้าย ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 สมัยในช่วงปี 2523-2531
ผลงานด้านการเมือง ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ. เปรม มีผลงานทางด้านการเมืองที่สำคัญๆ เช่น การผลักดันนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” เพื่อยุติการทำสงครามสู้รบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับฝ่ายรัฐบาล โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยหลบหนีเข้าป่าได้กลับมาพัฒนาประเทศร่วมกับรัฐบาล
ผลงานทางด้านเศรษฐกิจ ช่วงปี 2524 เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาการขาดดุลการค้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทของไทยผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งตัวขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะพืชผลเกษตรประสบปัญหา
รัฐบาล พล.อ. เปรม ได้ตัดสินลดค่าเงินบาทถึง 3 ครั้ง และได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายบริหารอัตราแลกเปลี่ยนจาก “ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่” ระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็น “ระบบตะกร้าเงิน” ทำให้การบริหารค่าเงินบาทมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ส่งผลให้ภาคการส่งออกพลิกฟื้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ รัฐบาล พล.อ. เปรม ยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เป็นช่วงจังหวะเวลาที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยกันเป็นจำนวนมาก จนทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่ “ยุคโชติช่วงชัชวาล”
หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ เปรม เป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531, ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531 และมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2541
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศยกย่อง พล.อ. เปรม ไว้ในฐานะรัฐบุรุษ จากนั้นได้รับโปรดเกล้าฯ จากในหลวงรัชกาลที่ 10 ให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว ช่วงวันที่ 13 ตุลาคม – 1 ธันวาคม 2559 ก่อนดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2559 เป็นต้นมา