ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 13): มาตรฐานการตรวจสอบที่แสนจะแตกต่าง…

“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 13): มาตรฐานการตรวจสอบที่แสนจะแตกต่าง…

24 พฤษภาคม 2019


ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุว่าได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ

  • ต่อจากตอนที่12
  • เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 นายกิตติพันธ์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก ตอนที่13ดังนี้ (การสะกดเป็นไปตามต้นทาง)

    ผมอยากจะเขียนถึงกระบวนการตรวจสอบให้ทุกท่านที่ติดตามมาตลอดได้เข้าใจมากขึ้นครับ ว่าที่ผมบ่นดังๆมาตลอดว่าผมไม่ได้รับความเป็นธรรมนั้น ผมหมายถึงอะไร และเอาอะไรเป็นจุดอ้างอิง

    ตัวผมเองไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องกระบวนการตรวจสอบของรัฐวิสาหกิจ ผมจึงเริ่มที่จะค้นคว้าหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เพื่อที่จะเข้าใจถึงมาตรฐานการตรวจสอบและการดำเนินการทางวินัยของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานภาครัฐ โดยรวมๆแล้ว ผมคงพูดได้ว่า จากการค้นคว้าของผมนั้น หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจนั้นให้ความสำคัญกับกระบวนการที่ชัดเจน โดยเน้นเรื่องการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดสรรคณะกรรมการที่เข้ามาตรวจสอบต้องไม่เป็นผู้ที่มีความเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับเรื่องที่จะดำเนินการสอบสวน ไม่มีผลประโยชน์ที่ขัดแย้ง หรือความบาดหมางใดๆกับผู้ถูกกล่าวหา เรื่องการแจ้งข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน และการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบถึงข้อกล่าวหาอย่างละเอียด รวมถึงเข้าถึงเอกสารที่อ้างว่าเป็นพยานหลักฐาน เพื่อสามารถทำอุทธรณ์ได้ครบถ้วน

    จากการค้นคว้าเรื่องกระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐต่างๆ ผมเจอเอกสารที่สามารถอ้างอิงได้พอสมควรจากการค้นหาใน internet จากข้อมูลที่ผมหาได้ เพื่อความชัดเจน ผมได้เลือกเอากฎของสำนักงาน ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยมาเปรียบเทียบให้ทุกท่านดู เพราะผมคิดว่าหลักการในเรื่องดังกล่าวของสำนักงาน ก.พ. นั้นมีความครบถ้วน และเป็นหลักการและกระบวนการที่ใช้กับพนักงานของรัฐ และเนื่องจากในคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยก็มีอดีตข้าราชการระดับสูงหลายท่านที่มีความคุ้นเคยกับกระบวนการและหลักการดังกล่าวเป็นอย่างดี และยังมี อดีตเลขาธิการ สำนักงาน ก.พ. อย่างคุณนนทิกร กาญจนจิตรา อยู่ด้วย ผมจึงคิดว่าการเปรียบเทียบสิ่งที่ทางธนาคารกรุงไทยได้ปฏิบัติกับผมกับ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย น่าจะเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความเหมือนหรือความแตกต่างได้อย่างชัดเจน

    โดยสรุปนั้น หลักการของสำนักงาน ก.พ. เน้นหลักให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องได้รับ และ ก.พ.ยังตระหนักว่าเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการที่ป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ถูกต้อง จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องถูกกลั่นแกล้ง นี่คือกฎ ก.พ. ที่ยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหา

    แต่ผมคิดว่าธนาคารกรุงไทยซึ่งมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และผมซึ่งเป็นอดีตพนักงานธนาคารก็มีฐานะเป็นอดีตพนักงานของรัฐด้วยเช่นกัน กลับถูกปฏิบัติอย่างแตกต่างเป็นอย่างมาก ผมจึงไม่เข้าใจว่าทำได้อย่างไร และทำไมธนาคารกรุงไทยจึงทำแบบนี้ ดังนั้นผมจึงได้สรุปหลักการสำคัญๆของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยให้ทุกท่านได้ดูในรูปนะครับ และเปรียบเทียบสิ่งที่ธนาคารกรุงไทยปฏิบัติกับผม

    ผมอยากขอถามดังๆ ว่าการกระทำดังกล่าวโดยผู้มีอำนาจของธนาคารกรุงไทยกับผมนั้นทำได้หรือครับ เป็นการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์หรือไม่ ผู้มีอำนาจของธนาคาร คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดสุดพิเศษ และคณะกรรมการวินัยปฏิบัติต่อผมอย่างถูกกฎหมาย ถูกระเบียบ และมีมนุษยธรรม หรือไม่ อย่างไร และผมก็คงต้องฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยครับ ก่อนที่จะนำผลการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยมาตัดสินคุณสมบัติผมนั้น ช่วยกรุณาดูและยืนยันด้วยว่าธนาคารกรุงไทยได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามระเบียบธนาคาร และกฎหมาย เพื่อให้ถูกต้องตามหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดีที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้เน้นย้ำมาตลอด

    ผมขอยกตัวอย่างเรื่องที่ผมเพิ่งได้รับรายงานมานะครับ ตามที่ผมเขียนมาตลอด ธนาคารกรุงไทยนั้นได้ปฏิเสธการให้เอกสารที่อ้างว่าเป็นพยานหลักฐานมาโดยตลอด โดยล่าสุดนั้นผมได้อุทธรณ์ไปที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ซึ่งผมได้รับการรายงานมาว่าทางคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นได้มีมติให้ทางธนาคารกรุงไทยเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวกับผม แต่ทางธนาคารกรุงไทยก็ยังคัดค้านต่อไป โดยอ้างว่า เปิดเผยข้อมูลไม่ได้เพราะจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทางคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม ซึ่งเป็นผู้พิจารณาให้มีมติการเปิดเผยข้อมูลนั้น จะดำเนินการส่งเรื่องต่อให้ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาเศรษฐกิจได้พิจารณาต่อไป ผมว่าก็แปลกดีนะครับ หลักการของสำนักงาน ก.พ. ยิ่งกว่าชัดเจนเรื่องการให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับการเข้าถึงเอกสารต่างๆที่เป็นพยานหลักฐาน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ขอให้ส่งเอกสารที่อ้างว่าเป็นหลักฐาน ทางคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารก็ได้มีมติให้เปิดเผยเอกสารดังกล่าวถึงสองครั้ง แต่ทางธนาคารกรุงไทยก็ยังปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเหล่านั้นอยู่ดี ผมไม่รู้นะครับ ว่าเพราะอะไร ผมคิดว่าอาจจะกลัวว่าผมจะชี้แจงได้หมดหรือเปล่าครับ ผมไม่ทราบว่าไม่ต้องการให้ผมชี้แจงหรือเปล่าครับ

    ก่อนหน้านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตัดสินคุณสมบัติผมด้วยวาจาโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อร้องเรียนผมอย่างครบถ้วน ผมเห็นว่าน่าจะไม่ยุติธรรมกับผมและไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมายนะครับ ผมได้ต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นเพราะได้นำส่งเอกสารต่างๆให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยมาโดยตลอด วันนี้ผมไม่แน่ใจว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้รับข้อมูลครบถ้วนจากกรุงไทยแล้วหรือยัง ผมคิดว่าประเด็นที่ผมได้ร้องเรียนไป ตอบง่ายนิดเดียวครับ คำถามส่วนใหญ่ตอบได้ว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ และมีระเบียบหรือจุดอ้างอิงอะไรบ้าง ผมก็แปลกใจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเองกลับไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนกว่านี้ได้

    ผมก็ตั้งคำถามให้กับทางธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยครับ ว่าการตัดสินผมก่อนที่จะได้รับข้อมูลครบถ้วน เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร และวันนี้หากทางธนาคารกรุงไทยยังไม่ให้เอกสารที่เป็นข้อกล่าวหากับผม แม้ว่าเวลาผ่านไปนานเกือบ 5 เดือน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีข้อสงสัยหรือไม่ อย่างไร และถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่ามีกระบวนการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่เป็นธรรมแล้ว ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เคยส่งหนังสือให้ผมเพื่อบอกว่าได้ขอให้ทางธนาคารกรุงไทยได้ให้รายละเอียดข้อกล่าวหาและเอกสารที่เกี่ยวข้อง แต่ธนาคารกรุงไทยก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม เมื่อเป็นอย่างนี้ ผมอยากทราบว่าธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการอะไรบ้าง หรือหากเห็นว่าไม่ถูก ควรทำให้ถูกหรือไม่…

    ผมมั่นใจว่า ทุกหน่วยงานมีคนดีและมีคนไม่ดีอยู่ร่วมกัน การตระหนักรู้ถึงความผิดชอบชั่วดี และแก้ไขสิ่งที่ผิดให้เป็นสิ่งที่ถูกก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ผมจึงร้องขอให้ผู้มีอำนาจ รวมถึงผู้กำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ทำสิ่งที่ถูกกฎหมายเถอะครับ

    ที่มาภาพ :https://www.facebook.com/kittiphun.anutarasoti/posts/2538214346191415