ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: ผลเลือกตั้ง 26 พรรคได้ปาร์ตี้ลิสต์ – ค่ายประชาธิปไตยหาย 10 ที่นั่ง ‘เพื่อไทย’ จ่อดำเนินการกกต. และ “สิงคโปร์เปิดช่องให้รัฐส่องแชต กันข่าวปลอมระบาด”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: ผลเลือกตั้ง 26 พรรคได้ปาร์ตี้ลิสต์ – ค่ายประชาธิปไตยหาย 10 ที่นั่ง ‘เพื่อไทย’ จ่อดำเนินการกกต. และ “สิงคโปร์เปิดช่องให้รัฐส่องแชต กันข่าวปลอมระบาด”

11 พฤษภาคม 2019


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 4-10 พ.ค. 2562

  • ผลเลือกตั้ง 26 พรรคได้ปาร์ตี้ลิสต์ ค่ายประชาธิปไตยหาย 10 ที่นั่ง “เพื่อไทย” จ่อดำเนินการตามกม.กับ กกต.
  • รมต.-สนช.ตบเท้าลาออกเตรียมเป็น ส.ว.-ชื่อ “บิ๊กติ๊ก” โผล่ด้วย
  • สรรพสามิตจ่อหารือเก็บภาษีเบียร์แอลกอฮอล์ 0% อาจสูงกว่าน้ำผลไม้แต่ต่ำกว่าเบียร์
  • เห็นชอบเก็บภาษีมอเตอร์ไซค์ตามปริมาณปล่อยคาร์บอน เริ่มปีหน้า
  • สิงคโปร์เปิดช่องให้รัฐส่องแชต ป้องกันข่าวปลอมระบาด
  • ผลเลือกตั้ง 26 พรรคได้ปาร์ตี้ลิสต์ ค่ายประชาธิปไตยหาย 10 ที่นั่ง “เพื่อไทย” จ่อดำเนินการตามกม.กับ กกต.

    หลังจากวันที่ 8 พ.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มาตรา 128 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป. ส.ส.) ไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เนื่องจากเห็นว่า ทั้งสองมาตราเป็นบทบัญญัติที่มีหลักการเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณและคิดอัตราส่วนของ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน ตามมาตรา 81 วรรคหนึ่งวงเล็บสอง

    ต่อมาในวันเดียวกัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 91 และมาตรา 93 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 22 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. พ.ศ. 2560 มาตรา 129 ประกอบมาตรา 128 พ.ร.ป. ส.ส. พ.ศ.2561 โดยมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ กกต.ได้ประกาศผลจำนวน 149 คน ดังนี้

      1. พรรคอนาคตใหม่ 50 คน
      2. พรรคประชาธิปัตย์ 19 คน
      3. พรรคพลังประชารัฐ 18 คน
      4. พรรคภูมิใจไทย 12 คน
      5. พรรคเสรีรวมไทย 10 คน
      6. พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน 
      7. พรรคเพื่อชาติ 5 คน
      8. พรรคชาติไทยพัฒนา 4 คน 
      9. พรรครวมพลังประชาชาติไทย 4 คน
      10. พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 คน
      11. พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน
      12. พรรคชาติพัฒนา 2 คน 
      13. พรรคประชาชาติ 1 คน
      14. พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน
      15. พรรคพลังชาติไทย 1 คน
      16. พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน
      17. พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 คน
      18. พรรคพลังไทยรักไทย 1 คน
      19. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน
      20. พรรคประชานิยม 1 คน
      21. พรรคประชาธรรมไทย 1 คน
      22. พรรคประชาชนปฏิรูป 1 คน
      23. พรรคพลเมืองไทย 1 คน
      24. พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน
      25. พรรคพลังธรรมใหม่ 1 คน
      26. พรรคไทรักธรรม 1 คน

    เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ยืนยันว่าการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนี้เป็นไปตามมาตรา 128 ของ พ.ร.ป. ส.ส. กรณีไม่สามารถจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน และ กกต.ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถ้าเห็นว่าถ้าไม่เป็นไปตามกฎหมายให้สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ ยืนยันว่าได้รับอำนาจจากศาลรัฐธรรมนูญ และสำนักงาน กกต.เสนอสูตรการคำนวณแบบนี้เพียงสูตรเดียวให้ กกต.พิจารณา และหากสูตรนี้ถูกก็ไม่มีสูตรอื่นแล้ว แต่สาเหตุที่ประกาศเพียงแค่ 149 ชื่อ เนื่องจากมีการประกาศรับรอง ส.ส.แบบแบ่งเขตเมื่อวานนี้เพียง 349 เขต ซึ่งยังไม่ครบ 350 เขต จึงต้องคำนวณตามสัดส่วน และถ้ามีการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดเชียงใหม่ เขต 8 และรับรอง ส.ส.แล้วจะนำ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมาคำนวณใหม่ 

    ทั้งนี้ การประกาศผลดังกล่าวทำให้ขณะนี้มีพรรคการเมืองที่มี ส.ส.รวมทั้งหมด 27 พรรค ดังนี้

      1. พรรคเพื่อไทย ส.ส. 136 คน (ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ)
      2. พรรคพลังประชารัฐ ส.ส. 115 คน แบ่งเป็นเขต 97 คน และ บัญชีรายชื่อ 18 คน 
      3. พรรคอนาคตใหม่ ส.ส.80 คน แบ่งเป็นเขต 30 คน บัญชีรายชื่อ 50 คน
      4. พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส. 52 คน แบ่งเป็นเขต 33 คน บัญชีรายชื่อ 19 คน
      5. พรรคภูมิใจไทย 51 คน แบ่งเป็นเขต 39 คน บัญชีรายชื่อ 12 คน
      6. พรรคชาติไทยพัฒนา 10 คน แบ่งเป็นเขต 6 คน บัญชีรายชื่อ 4 คน
      7. พรรคเสรีรวมไทย 10 คน (ไม่มีส.ส.เขต)
      8. พรรคประชาชาติ 7 คน แบ่งเป็นเขต 6 คน บัญชีรายชื่อ 1 คน
      9. พรรคชาติพัฒนา 3 คน แบ่งเป็นเขต 1 คน บัญชีรายชื่อ 2 คน
      10 .พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      11. พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 คน แบ่งเป็นเขต 1 คน บัญชีรายชื่อ 4 คน
      12. พรรคเพื่อชาติ 5 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      13. พรรคพลังท้องถิ่นไท 3 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      14. พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      15. พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      16. พรรคพลังชาติไทย 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      17. พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      18. พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      19. พรรคพลังไทยรักไทย 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      20. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      21. พรรคประชานิยม 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      22. พรรคประชาธรรมไทย 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      23. พรรคประชาชนปฏิรูป 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      24. พรรคพลเมืองไทย 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      25. พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      26. พรรคพลังธรรมใหม่ 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)
      27. พรรคไทรักธรรม 1 คน (ไม่มี ส.ส.เขต)

    นอกจากนี้ การคำนวณตามสูตรดังกล่าวทำให้ขณะนี้ 7 พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงในสภารวมกันจำนวน 245 เสียง แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 136 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 80 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง และพรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง โดยที่จำนวนเสียงดังกล่าวนี้น้อยกว่าทีแรกที่คำนวณได้ 255 เสียง

    อนึ่ง ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าพรรคจะเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐในการจัดตั้งรัฐบาล โดยระบุว่า “ขอเรียนว่ายังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาล และ แบ่งกระทรวง ภูมิใจไทย กำลังฟัง เสียงประชาชน”

    ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก อนุทิน ชาญวีรกูล (http://bit.ly/2VPHP5a)

    อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกันกับที่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ โดยมีใจความสำคัญว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 128 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ก็ตาม แต่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยลงไปในรายละเอียดถึงวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่า กกต.สามารถที่จะคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส. 1 คนได้หรือไม่ ดังนั้น ต้องยึดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณที่ไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 โดยพรรคการเมืองที่จะได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าจำนวนคะแนนต่อ ส.ส. 1 คนย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงขัดต่อมาตรา 128 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วย

    แถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยยังระบุอีกด้วยว่า การดำเนินการเช่นนี้ของ กกต.ไม่เป็นไปตาม พ.ร.ป. ส.ส. เข้าข่ายจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และจะดำเนินการตามกฎหมายกับ กกต.ต่อไปในทุกช่องทาง

    รมต.-สนช.ตบเท้าลาออกเตรียมเป็น ส.ว.- ชื่อ “บิ๊กติ๊ก” โผล่ด้วย

    พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ที่มาภาพ : http://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=68778&t=news

    การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2562 ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่จะมีการประชุมเต็มคณะ เนื่องจากมีรัฐมนตรี 15 คน ที่ได้ลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้งนี้รายชื่อรัฐมนตรี 15 คนมีดังนี้

      พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม
      พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี
      นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
      พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน
      นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ
      พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ
      นายอุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ
      พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
      นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา
      นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รมช.ต่างประเทศ
      นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์
      นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม
      นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย
      นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง

    จากการรายงานของเว็บไซต์บีบีซีไทยนั้น นอกจากการลาออกของเหล่า ครม.บางส่วนแล้ว ด้านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ทยอยลาออกจากตำแหน่งเพื่อแต่งตัวเป็น ส.ว.เช่นกัน ซึ่งนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. เปิดเผยว่า ทราบว่า สนช. กว่า 60 คนถูกทาบทามให้ไปเป็น ส.ว. หากมีการลาออกพร้อมกันก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของ สนช. เพราะคาดว่าประธาน สนช.และรองประธานทั้ง 2 คน มีชื่อที่จะได้รับตำแหน่งด้วย รวมถึงประธานกรรมาธิการ (กมธ.) คณะต่าง ๆ เช่น นายกล้านรงค์ จันทิก, นายสมชาย แสวงการ, นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์, นายตวง อัณทะไชย ฯลฯ

    อนึ่ง ในบรรดา สนช.ที่ลาออก หนึ่งในนั้นมี พล.อ. ปรีชา จันทร์โอชา ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย และทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันมาก

    ด้าน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า พล.อ. ปรีชา ก็เคยเป็น สนช.มาแล้ว จะเป็น ส.ว.ต่อ ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย และยังบอกว่าตนไม่ทราบเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์การขาดงานในฐานะ สนช.ของ พล.อ. ปรีชา ต้องไปถาม พล.อ. ปรีชากันเอง

    สรรพสามิตจ่อหารือเก็บภาษีเบียร์แอลกอฮอล์ 0% อาจสูงกว่าน้ำผลไม้แต่ต่ำกว่าเบียร์

    ที่มาภาพ: Adam Wilson บนเว็บไซต์ Unsplash (http://bit.ly/2O5YCKR)

    วันที่ 8 พ.ค. 2562 เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการจัดเก็บภาษีเบียร์แอลกอฮอล์ 0% ว่า ได้มีการเตรียมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขและภาคเอกชน ในช่วงสิ้นเดือน พ.ค. 2562 นี้ เพื่อกำหนดแนวว่าจะต้องจัดเก็บภาษีหรือไม่ และจะจัดเก็บเท่าใด

    ในส่วนของกรมสรรพสามิตนั้นยืนยันร่วมในหลักการเดิมที่ให้จัดเก็บ เพราะในต่างประเทศมีการใช้ชื่อเรียกและทำการตลาดในกลุ่มเบียร์เช่นเดียวกับเบียร์ปกติ ซึ่งเป็นช่องทางที่อาจนำไปสู่การให้กลุ่มนักดื่มใหม่เข้ามาบริโภคเบียร์มากขึ้น

    สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพพสามิตเบียร์ในปัจจุบัน จัดเก็บตามสัดส่วนของแอลกอฮอล์ แต่เบียร์ 0% นั้น อาจต้องปรับหลักการเสียภาษีใหม่ที่คำนึงถึงผลกระทบสุขภาพของผู้ดื่ม เบื้องต้นคาดว่าอัตราภาษีจะสูงกว่าภาษีน้ำผลไม้ แต่จะต่ำกว่าภาษีเครื่องดื่มเบียร์ ซึ่งทั้งหมดไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายใหม่ เพราะกฎหมายในปัจจุบันเปิดช่องให้ดำเนินการได้ อย่างไรก็ตามจะต้องสรุปเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน

    เห็นชอบเก็บภาษีมอเตอร์ไซค์ตามปริมาณปล่อยคาร์บอน เริ่มปีหน้า

    นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

    วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เว็บไซต์ไทยพับลิก้ารายงานว่า นายณัฐพร นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตของรถจักรยานยนต์ จากเดิมที่เก็บตามความจุของกระบอกสูบเป็นตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสอดคล้องกับกรณีของรถยนต์ที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและฝุ่นละอองขนาดเล็กของประเทศ

    โดยกำหนดให้รถจักรยานยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า ให้เก็บอัตราภาษีตามมูลค่า 1%, รถยนต์แบบใช้พลังงานเชื้อเพลิงหรือแบบผสม แบ่งเป็นกรณีที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 10 กรัมต่อกิโลเมตร อัตราภาษีตามมูลค่า 1%, ระหว่าง 10-50 กรัมต่อกิโลเมตร เก็บอัตราภาษีตามมูลค่า 3%, ระหว่าง 50-90 กรัมต่อกิโลเมตร เก็บอัตราภาษีตามมูลค่า 5%ม ระหว่าง 90-130 กรัมต่อกิโลเมตร เก็บอัตราภาษีตามมูลค่า 9% และมากกว่า 130 กรัมต่อกิโลเมตร เก็บอัตราภาษีตามมูลค่า 18%

    สำหรับรถจักรยานยนต์ต้นแบบที่ผลิตหรือนำเข้ามาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะ ที่ไม่เคยมีการจำหน่ายในท้องตลาดเป็นการทั่วไปในไทยและไม่เคยได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิตมาก่อน หรือเคยได้รับแต่ยุติการวิจัยฯ ให้เก็บอัตราภาษีตามมูลค่า 0% หรือยกเว้นภาษี และนอกเหนือจากนี้ให้เก็บอัตราภาษีตามมูลค่า 20%

    ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 รถจักรยานยนต์ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานมลพิษตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรมเทียบเท่ากับมาตรฐานยูโร 4 ดังนั้นจึงควรให้กลุ่มอุตสาหกรรมมีเวลาในการปรับตัวและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ก่อน ทั้งนี้ เบื้องคาดว่าสำหรับรถจักรยานยนต์ขนาดเล็กจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นคันละ 200 บาทต่อปี และรถจักรยานยนต์ขนาดกลางและประเภทออฟโรดจะมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นคันละ 1,500 บาทต่อปี และคาดว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่ม 709 ล้านบาทต่อปี แต่หากผู้ผลิตและผู้บริโภคมีการปรับตัวก็คาดว่าจะมีภาระภาษีดังกล่าวลดลง

    สิงคโปร์เปิดช่องให้รัฐส่องแชต ป้องกันข่าวปลอมระบาด

    วันที่ 9 พ.ค. 2562 เว็บไซต์บีบีซีไทยรายงานว่า สิงคโปร์ได้ผ่านกฎหมายป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอม ซึ่งเปิดทางให้ทางการสามารถสอดส่องแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงแชตส่วนตัวของประชาชนได้ และด้วยกฎหมายนี้ รัฐบาลจะสามารถสั่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ลบข้อมูลที่เห็นว่าเป็นเท็จซึ่งเป็น “ปฏิปักษ์ต่อสาธารณประโยชน์” และสั่งให้โพสต์ข้อความแก้ไขได้

    อนึ่ง ทางการระบุว่า กฎหมายจะปกป้องประชาชนจากข่าวปลอม แต่ผู้คัดค้านวิจารณ์ว่ากฎหมายนี้เป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพของประชาชน

    ทั้งนี้ กฎหมายนี้ห้ามไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลเท็จซึ่งรัฐบาลบอกว่าเป็นภัยต่อสาธารณะ ผู้ใดที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดอาจถูกปรับอย่างหนัก หรือ/และ ถูกจำคุกถึง 5 ปี และยังห้ามไม่ให้มีการใช้บัญชีปลอม หรือบอต ในการเผยแพร่ข่าวปลอม โดยมีโทษปรับถึง 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือกว่า 23 ล้านบาท และมีโทษจำคุกถึง 10 ปี นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ได้กับหลายแพลตฟอร์ม ตั้งแต่โซเชียลมีเดีย ไปจนถึงเว็บไซต์ข่าว ซึ่งจะถูกลงโทษด้วยหากไม่ทำตามคำสั่งให้ลบข้อมูล หรือโพสต์ข้อมูลแก้ไข