เป็นปรากฏการณ์การรายงานข่าวของสื่อสารมวลชนมาตลอดสัปดาห์ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ไม่ตรงกันหลายสำนักข่าว รวมไปถึงความสับสนในการแถลงข่าวและตัวเลขหลายตัวของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และภายหลังจาก กกต.ประกาศผลเลือกตั้งทั้งหมดอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2562 การคำนวณดังกล่าวก็ยังไม่ได้ข้อยุติ และ กกต.ยังสงวนท่าทีในการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อในเบื้องต้นแก่ประชาชนและพรรคการเมือง โดยระบุว่าต้องรอการประกาศคะแนนอย่างเป็นทางการก่อน เนื่องจากอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งผลดังกล่าวอาจจะล่าช้าออกไปจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า อ่าน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนที่ ๖๘ ก เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 และพบว่าการรายงานข่าวของสื่อมวลชนที่แตกต่างกันไปเกิดจากการตีความวิธีคำนวณที่แตกต่างกัน 2 วิธี โดยกฎหมายดังกล่าวได้ระบุวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อไว้ดังนี้
มาตรา ๑๒๘ ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งแล้ว การคํานวณหาจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อจะพึงได้รับ ให้คํานวณตามวิธีการดังต่อไปนี้ โดยในกรณีที่มีเศษให้ใช้ทศนิยมสี่ตําแหน่ง
(๑) นําคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจํานวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร
(๒) นําผลลัพธ์ตาม (๑) ไปหารจํานวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จํานวนที่ได้รับให้ถือเป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คํานวณตาม (๕) (๖) หรือ (๗) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่าเป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้
(๓) นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม (๒) ลบด้วยจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น
(๔) ภายใต้บังคับ (๕) ให้จัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (๓) เป็นจํานวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคนในกรณีมีเศษเท่ากัน ให้ดําเนินการตาม (๖)
(๕) ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรท่ีพรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๒) ให้พรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามจํานวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (๒) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจํานวนที่จะพึงมีได้ตาม (๒)
(๖) ในการจัดสรรตาม (๕) แล้วปรากฏว่ายังจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคํานวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลําดับจนครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน กรณีที่เศษที่เหลือของแต่ละพรรคการเมืองเท่ากันจนทําให้ไม่สามารถจัดสรรสมาชิกสภาผ้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อได้ครบจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้นําค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมาพิจารณา โดยหากพรรคการเมืองใดมีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมีหนึ่งคนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ให้พรรคการเมืองนั้นมีสิทธิได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคน และหากยังมีจํานวนค่าเฉลี่ยดังกล่าวเท่ากันอีก ให้ใช้วิธีจับสลาก
(๗) ในกรณีที่เมื่อคํานวณตาม (๕) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดําเนินการคํานวณปรับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคํานวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยให้นําจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ หารด้วยผลบวกของหนึ่งร้อยห้าสิบกับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่เกินจํานวนหนึ่งร้อยห้าสิบและให้นํา (๔) มาใช้ในการคํานวณด้วยโดยอนุโลม
(๘) เมื่อได้จํานวนผู้ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองแล้ว ให้ผู้สมัครตามลําดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรณีที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งตายภายหลังวันปิดรับสมัครรับเลือกตั้งแต่ก่อนเวลาปิดการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง ให้นําคะแนนที่มีผู้ลงคะแนนให้ มาคํานวณตาม (๑) และ (๒) ด้วย
ทั้งนี้ การดําเนินการตาม (๑) ถึง (๘) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกําหนด
ทั้งนี้ ตามวงเล็บ 1 จากข้อมูลของ กกต.ระบุว่ามีคะแนนรวม 35,532,647 เสียง เมื่อหาร 500 จะได้จำนวนเสียงเฉลี่ยที่ต้องการต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน คิดเป็น 71,065.2940 คะแนนต่อ ส.ส. 1 คน และตามวงเล็บ 2 และ 3 จะได้จำนวน ส.ส.พึงมีได้เบื้องต้น และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น เช่น พลังประชารัฐ ได้ ส.ส.พึงมี 118.6674 คน และได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น 21.6674 คน, เพื่อไทย ได้ ส.ส.พึงมี 111.4557 คน และได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น -25.5443 คน, อนาคตใหม่ได้ ส.ส.พึงมี 88.1717 คน และได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น 58.1717 คน
สูตร 1 หักเศษก่อนปรับฐาน ส.ส. – ตัดพรรคเล็กออกก่อน
หลังจากนั้นวงเล็บ 5 ระบุให้กรณีที่พรรคการเมืองได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตมากกว่าจำนวน ส.ส.พึงจะมีได้ จะไม่ได้รับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเลย และให้นำ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด 150 ที่นั่งไปจัดสรรให้พรรคการเมืองอื่นที่มีจำนวน ส.ส.พึงจะมีได้มากกว่า ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่ห้ามเกินจำนวน ส.ส.พึงจะมีได้ ซึ่งในกรณีนี้มีเพียงพรรคเพื่อไทยที่ได้จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 137 คน เกินกว่า ส.ส.พึงจะมีได้ที่ 11.4557 คน (คอลัมน์ที่ G)
ทั้งนี้ ตามวงเล็บ 5 มิได้ระบุว่าจะให้จัดสรรให้พรรคการเมืองที่เหลืออย่างไร แต่ไประบุว่าในวงเล็บ 4 ว่าให้จัดสรรจํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับให้ครบ 150 คน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตามจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น (วงเล็บ 3) เป็นจํานวนเต็มก่อน หากไม่ครบให้จัดสรรตามเศษส่วนจากมากไปน้อยตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับตามวงเล็บ 4 ทำให้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกิน 150 คน (ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีพรรคใดพรรคหนึ่งมีจำนวน ส.ส.เขตมากกว่า ส.ส.พึงมีได้เบื้องต้น จนทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้น ตามวงเล็บ 3 ติดลบ) และกฎหมายได้กำหนดวิธีการคำนวณต่อไปในวงเล็บ 7
วงเล็บ 7 ระบุว่าหลังจากคำนวณจัดสรร ส.ส.ตามวงเล็บ 5 (ซึ่งต้องคำนวณตามวงเล็บ 4 อีกที) แล้วมีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกิน 150 คน ให้ปรับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใหม่ไม่ให้เกิน 150 คน “ตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจํานวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ” ในกรณีนี้ อาจจะตีความได้ว่าเมื่อได้คำนวณจำนวนที่จะจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามวงเล็บ 5 (และวงเล็บ 4) มาแล้ว จะทำให้พรรคที่สัดส่วนไม่มากพอจะได้ ส.ส. หรือมีค่าน้อยกว่า 1 แต่มากกว่า 0 จะได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเท่ากับ 0 คนทันที และส่วนเกินจะนับเฉพาะพรรคที่ได้จัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออย่างน้อย 1 คน ซึ่งมีเพียง 14 พรรค และได้รับจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรวมกัน 152 คน หรือเกินไป 2 คน (คอลัมน์ที่ H)
จากสูตรตามวงเล็บ 7 ระบุให้คิดอัตรส่วนของจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้รับจัดสรรไปเป็นจำนวนเต็ม หารด้วย 152 ก่อนจะคูณด้วย 150 เพื่อทำให้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของทั้ง 14 พรรครวมกันจะไม่เกิน 150 คน (คอลัมน์ที่ I) หลังจากนั้นเมื่อคำนวณตามวงเล็บ 4 อีกครั้ง ทำให้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของทั้ง 14 พรรค รวมกันเหลือเพียง 138 คน (คอลัมน์ที่ J) และต้องจัดสรรเพิ่มอีก 12 คน ตามเศษที่เหลือจากมากไปน้อยตามลำดับ (คอลัมน์ที่ K และ L) และได้เป็นจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพึงจะมีได้ขั้นสุดท้ายตามวงเล็บ 2 (คอลัมน์ที่ M)
สูตร 2 ปรับฐานตามอัตราส่วนจริง – พรรคเล็กดึงคะแนนพรรคใหญ่
ทั้งนี้ ควาามแตกต่างของจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกิดขึ้นเมื่อตีความข้อความในวงเล็บ 7 แตกต่างกันไป จากข้อความที่ว่า “…คํานวณปรับจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่ โดยคํานวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ…” ซึ่งตีความหมายถึงอัตราส่วนที่ “ทุกพรรค” จะได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และไม่ได้ใช้อัตราส่วนจากที่คำนวณว่าจะจัดสรรตามวงเล็บ 5 ก่อนหน้านี้ ในกรณีนี้พรรคที่สัดส่วนไม่มากพอจะได้ ส.ส. หรือมีค่าน้อยกว่า 1 แต่มากกว่า 0 จะยังได้รับการจัดสรร ส.ส.ตามอัตราส่วนจริงๆ ของคะแนนเสียง ซึ่งอาจจะได้พรรคละไม่ถึง 1 คน และทำให้โดยรวมทุกพรรคมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกินไปถึง 175.5443 คน
หลังจากนั้นจะปรับจำนวน ส.ส.แบบัญชีรายชื่อใหม่ตามอัตราส่วนนี้จากสูตรในวงเล็บ 7 ด้วยการนำอัตราส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค หารด้วย 175.5443 คน ก่อนจะคูณด้วย 150 คน เพื่อจัดสรรไม่ให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกิน 150 คน (คอลัมน์ที่ O) หลังจากนั้นเมื่อคำนวณตามวงเล็บ 4 อีกครั้ง เริ่มต้นจากปัดเศษลงเป็นจำนวนเต็ม (คอลัมน์ที่ P) ทำให้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีของทุกพรรครวมกันเหลือ 129 คน จาก 12 พรรค และต้องจัดสรรเพิ่มอีก 21 คนตามเศษที่เหลือจากมากไปน้อยตามลำดับ (คอลัมน์ที่ Q และ R) และได้เป็นจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพึงจะมีได้ขั้นสุดท้ายตามวงเล็บ 2 รวมทั้งสิ้น 26 พรรค (คอลัมน์ที่ S)
สูตร 1 VS สูตร 2 – อะไรสะท้อนเสียงของประชาชน?
ทั้งนี้ หากเทียบจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อระหว่าง 2 สูตรจะพบว่า จำนวน ส.ส.ของสูตรที่ 2 จะถูกกระจายไปยังพรรคเล็กมากกว่า เนื่องจากพรรคเล็กจะไม่ถูกตัดรายชื่อออกไปจากการคำนวณในเบื้องตามวงเล็บ 4 แต่คำนวณตามจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้รับเบื้องต้นแทน (ตามวงเล็บ 3) และทำให้มีตัวเลข ส.ส.ที่เกินกว่า 150 สูงกว่าสูตรแรก และเมื่อคำนวณปรับฐานตามวงเล็บ 7 ด้วยการหาร 176 ก่อนจะคูณด้วย 150 ซึ่งเทียบเท่ากับการลดสัดส่วน ส.ส.ที่จัดสรรในเบื้องต้นของแต่ละพรรคที่รวมกันมากถึง 175 คน ลงพรรคละ 15% จึงทำให้พรรคใหญ่ที่มีจำนวน ส.ส.ก่อนปรับฐานสูงจะได้รับผลกระทบมากกว่าพรรคเล็ก
ตัวอย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ถูกปรับฐานจาก 58.1717 คน (ตามการคำนวณขในวงเล็บ 3) เหลือเพียง 49.7069 คน (ตามการคำนวณในวงเล็บ 7) หรือลดลงไป 8.4646 คน ขณะที่พรรคเล็กอย่างพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ถูกปรับฐานจาก 1.9221 คน เหลือเพียง 1.6424 คน หรือลดลงไปเพียง 0.2797 คน
ขณะที่สูตรแรกจะเริ่มต้นจากจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อตามจำนวนเต็ม (วงเล็บ 4) ก่อน ทำให้พรรคที่ได้สัดส่วน ส.ส.ไม่ถึง 1 คน ถูกตัดทิ้งไป ก่อนจะปรับฐานลงตามจำนวนพรรคที่เหลืออยู่ โดยในกรณีนี้จะปรับฐานจากสูตรตามวงเล็บ 7 ด้วยการหาร 152 ก่อนจะคูณด้วย 150 ซึ่งเทียบเท่ากับการลดสัดส่วน ส.ส.ที่จัดสรรในเบื้องต้นลงพรรคละ 1.3% เท่านั้น เนื่องจากมีส่วนที่เกินไปไม่มากเมื่อเทียบกับสูตรที่ 2 และทำให้พรรคใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบเท่ากับการคำนวณตามสูตรที่ 2
ตัวอย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ถูกปรับฐานจาก 58 คน (ตามการคำนวณในวงเล็บ 4) เหลือเพียง 57.2368 คน (ตามการคำนวณในวงเล็บ 7) หรือลดลงไป 0.7632 คน หรือหากเทียบจากจาก 58.1717 (ตามการคำนวณในวงเล็บ 3) จะลดลงไป 0.9349 คน ขณะที่พรรคเล็กลงมาอย่างพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยถูกปรับฐานจาก 1 คนเหลือเพียง 0.9868 คน หรือลดลงไปเพียง 0.0132 คน หรือหากเทียบจากจาก 1.9221 (ตามการคำนวณในวงเล็บ 3) จะลดลงไป 0.9353 คน
อนึ่ง หากเทียบกับเจตนารณ์ของรัฐธรรมนูญมีต้องการให้ “เสียงของประชาชน” ถูกสะท้อนออกมาใกล้เคียงกับ “จำนวน ส.ส.รวม” มากที่สุด หรือก็คือให้ใกล้เคียงกับจำนวน ส.ส.พึงมีได้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบทั้ง 2 สูตรว่าคลาดเคลื่อนออกไปจากจำนวน ส.ส.พึงมีได้ของแต่ละพรรคเพียงใด ในลักษณะผลรวมของส่วนต่างของค่าสัมบูรณ์จากแต่ละพรรค (ไม่รวมพรรคเพื่อไทย) พบว่าสูตรแรกจะมีจำนวน ส.ส.จริงจะแตกต่างออกจากจำนวน ส.ส.พึงมีได้ 25.5443 คน ขณะที่สูตรที่ 2 จะแตกต่างออกไปจากจำนวน ส.ส.พึงมีได้ 32.5382 คน โดยในรายละเอียดจะพบว่าในสูตรแรกส่วนต่างดังกล่าวจะเกินจากพรรคเล็กๆ ที่มีสัดส่วนเกือบถึงจำนวน ส.ส. 1 คน แต่กลับไม่ได้ ส.ส.เป็นหลัก ขณะที่สูตรที่ 2 ส่วนต่างจะเกิดจากพรรคใหญ่ที่ถูกถ่วงน้ำหนักลงจากการปรับฐานมากกว่าพรรคเล็ก จนจำนวน ส.ส.ลดลงมากกว่า
นอกจากนี้ หากคำนวณตามสูตรที่ 2 จะมีปรากฏการณ์ที่พรรคเล็กที่จำนวนเสียงไม่ถึงขึ้นต่ำของจำนวนเสียงที่จะได้ ส.ส.พึงมี หรือไม่ถึง 71,065.2940 เสียง โดยมีตั้งแต่ 33,748 คะแนนจนถึง 69,417 คะแนน หรือคิดเป็นจำนวน ส.ส.พึงจะมีได้เบื้องต้น ตั้งแต่ 0.4749 คน จนถึง 0.9768 คน แต่กลับได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคละ 1 คน รวมทั้งสิ้น 11 พรรค ขณะที่ในกรณีของสูตรแรกจะไม่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ดังนั้น ในระยะต่อไปอาจจะต้องจับตาดู กกต.อย่างใกล้ชิดว่าจะตีความและคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออย่างไร เนื่องจากทั้ง 2 สูตรต่างมีผลต่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน