ThaiPublica > เกาะกระแส > กกต.ติวผู้ว่าฯทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมเลือกตั้ง ชี้กาบัตรเลือกคนตาย ไม่ถือเป็นบัตรเสีย – นับรวมเป็นปาร์ตี้ลิสต์ “มหาดไทย” คาดผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,427,682 คน

กกต.ติวผู้ว่าฯทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมเลือกตั้ง ชี้กาบัตรเลือกคนตาย ไม่ถือเป็นบัตรเสีย – นับรวมเป็นปาร์ตี้ลิสต์ “มหาดไทย” คาดผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,427,682 คน

21 กุมภาพันธ์ 2019


เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมด้วยกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการ กกต. ชี้แจงรายละเอียดในการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้แก่ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี

นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) กล่าวว่า ขณะนี้ กกต. เป็นห่วงเรื่องการใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้าในวัน 17 มีนาคมนี้ จากเดิมตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 2 ล้านคน แต่วันสุดท้ายวันเดียวยอดผู้ลงทะเบียนเพิ่มขึ้น 8 แสนคน โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีผู้ลงทะเบียนจากต่างเขตเลือกตั้งนับหมื่นคน จึงแนะนำให้วางแผนรองรับตั้งแต่เรื่องการจราจรไม่ให้ติดขัด และต้องจัดคนเข้าห้อง ซึ่งแยกตามภาคและจังหวัดให้ได้ โดยให้ใช้เกณฑ์การจัดแบ่งผู้มีสิทธิออกเป็นห้องละ 800 คน และต้องปิดประกาศป้ายผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ครบ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้หมายเลขผู้สมัครมีเป็นจำนวนมากและไม่ซ้ำกันเลย จึงขอเชิญชวนเน้นให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโหวตในโทรศัพท์มือถือ ตรวจสอบข้อมูลว่าในเขตเลือกตั้งของท่านมีผู้สมัครกี่คน

รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ส่วนกรณีผู้สมัครจังหวัดชุมพร เขต 2 และจังหวัดร้อยเอ็ด เขต 4 ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว 2 คน รอบนี้สามารถกาบัตรลงคะแนนให้ได้ ไม่ถือเป็นบัตรเสีย เพราะในบัตรมีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์แฝงอยู่คะแนนของคนตายจะถูกส่งต่อให้พรรค แต่ถ้าผู้เสียชีวิตชนะการเลือกตั้ง กกต.ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ยกเว้นเฉพาะผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิเท่านั้นที่จะเป็นบัตรเสียดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้จำนวนบัตรเสียจะน้อย บัตรเสียจะมีเพียงเขียนข้อความ หรือ จดหมายฝากลงไปในบัตร

หลังการประกาศชื่อผู้สมัคร ล่าสุดมีคดีที่ศาลฎีกา 241 คดี แนวโน้มจะได้รับสิทธิสมัครกลับเข้ามาครึ่งๆ ดังนั้นการประชาสัมพันธ์ 2 สัปดาห์สุดท้าย จะเน้นย้ำถึงการกาเบอร์ผู้สมัครที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อจะเป็นบัตรเสีย ซึ่งโอกาสมีไม่ถึง 50 เขตเลือกตั้ง

“การใช้สิทธิล่วงหน้าในวันที่ 17 มีนาคมนี้จะเป็นด่านแรกของการเลือกตั้ง รวมถึงการใช้สิทธิเลือกตั้งสำหรับคนพิเศษ กลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งจำนวนคนไม่เยอะ แต่มีความซับซ้อน คล้ายจำลองการเลือกตั้งนอกเขต และในเขตมารวมกัน ซึ่งกทม.จัดที่บ้านบางแค แต่ในรอบนี้มีทั้งหมด 10 เขต แม้กฎหมายกำหนดให้กากบาทด้วยตนเอง แต่คนพิเศษ (ยกเว้นคนตาบอด) ที่ไม่สามารถกาบัตรด้วยตัวเอง เช่น คนพิเศษในกลุ่มมือสั่น มือไม่มีแรงแต่สติสัมปชัญญะดี สามารถร้องขอให้มีผู้ช่วยเหลือติดตามเข้าไปในคูหาลงคะแนน เพื่อช่วยกาบัตรได้ และขอให้ระวังผู้พิการที่อาจทดสอบระบบที่ราชการออกแบบ เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุผู้ถือบัตรผู้ป่วยจิตเวชไปขอใช้สิทธิ จนต้องแก้ปัญหาให้ใช้บัตรประชาชนแทนบัตรผู้ป่วย” นายณัฏฐ์กล่าว

นายณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นการวินิจฉัยบัตร กรณีผู้สมัครถูกตัดสิทธิ ก่อนนับคะแนน กกต.จะตัดชื่อบุคคลนั้นออกไปก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหาต้องวินิจฉัยบัตร ส่วนการรายงานผลแบบไม่เป็นทางการ กรรมการประจำหน่วยฯต้องกรอกผลคะแนนแบบไม่เป็นทางการ ในแอพพลิเคชั่นแรบบิทรีพอร์ต และกรอกเป็นเอกสารหลักฐาน เพื่อตรวจทานเปรียบเทียบ ป้องกันเหตุผิดพลาด หากกรอกตัวเลขในแรบบิทรีพอร์ตผิด ก็ไม่ต้องรับผิด กรณีกรรมการประจำหน่วยฯมาปฏิบัติงานไม่ครบอำเภอ ต้องส่งกรรมการสำรองมาให้ครบก่อนการนับคะแนน ส่วนข้อกังวลเรื่องบัตรพลัดหลง กรณีบัตรเลือกตั้งจะมี 4 สี ใช้ภาคละสี บัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และนอกราชอาณาจักรจะมีตำหนิไม่เหมือนกับบัตรที่ใช้ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีบัตรพลัดหลง โดยในวันที่ 6 – 7 มีนาคมนี้จะมีการติวเข้มการเลือกตั้งล่วงหน้า ส่วนกรุงเทพมหานครทราบว่าในวันที่ 23 กุมภาพันธ์นี้ จะประชุมเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการการเลือกตั้งล่วงหน้าของผู้ที่ลงทะเบียนใช้สิทธิจำนวน 4 แสนคน

มหาดไทยคาดผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,427,682 คน

ด้านนายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้มีจำนวนประมาณ 51,427,628 คน จัดหน่วยเลือกตั้ง 92,837 หน่วย ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการจัดการเลือกตั้ง ได้ตั้งเป้าหมายผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 80 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และตั้งเป้าบัตรเสียไม่เกินร้อยละ 2 จึงย้ำให้ทุกองคาพยพของกระทรวงมหาดไทย ประชาสัมพันธ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้มาใช้สิทธิให้มากที่สุดตามเป้า หลังจากที่จัดการเลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อปี 2554 มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 75

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยยังระบุถึงแผนการจัดเตรียมเอกสารประชาสัมพันธ์เลือกตั้งไปยังเจ้าบ้านที่มีสิทธิเลือกตั้งที่จะดำเนินการภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ยืนยันดำเนินการได้ทันตามกรอบเวลา มั่นใจเจ้าบ้านภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้จะสามารถแจ้งเจ้าบ้านเรื่องข้อมูลการเลือกตั้งได้หมด

นอกจากนี้ยังเตรียมการบริหารจัดการเลือกตั้ง การรักษาความสงบเรียบร้อยตลอดช่วงการเลือกตั้ง รวมถึงก่อนและหลังการเลือกตั้งด้วย โดยการบูรณาการกับตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการตั้งศูนย์อำนวยการระดับอำเภอที่มีทุกฝ่ายร่วมปฏิบัติหน้าที่อำนวยการเลือกตั้ง รองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภัยพิบัติ