จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด นำมาสู่การพาดหัวข่าว “ค่าโง่ทางด่วน 4,000 ล้านบาท” ที่รัฐโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต้องจ่ายให้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นเงินต้น 1,790 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยทบต้นมาเรื่อยๆ รวมแล้วประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท จนเป็นที่มาของการประท้วงของกลุ่มพนักงาน กทพ. เมื่อมีข่าวว่าคณะกรรมการ กทพ. มีมติแปลงเม็ดเงินที่ต้องจ่ายเป็นการยืดสัมปทานให้กับ BEM
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับการแพ้คดีของ กทพ. ในคดีนี้ ที่ต้องจ่ายกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นการฟ้องให้ กทพ. ชดเชยรายได้ที่ลดลงในช่วงเวลาแค่ 2 ปี คือ ปี 2542-2543 เท่านั้น ยังเป็นเงินมากมายขนาดนี้ ซึ่งตามสัญญากทพ. ต้องชดเชยจนถึงปัจจุบัน เมื่อคิดตามเกณฑ์คำพิพากษาเป็นเป็นเงินสูงถึง 75,000 ล้านบาททีเดียว
นี่คือตัวเลขที่ กทพ. ต้องชดเชย ผลจากการยื้อมาหลายยุคหลายสมัย จนค่าชดเชยทบต้นทบดอก กลายเป็นมรดกบาปที่ไม่มีใครกล้ารับเพื่อยุติคดีการชดเชยให้ BEM
เพราะการยุติว่าต้องการชดเชย นั่นหมายถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแล้ว เมื่อมีความเสียหาย ใครเป็นคนทำให้เสียหาย ต้องมีการหาคนมารับผิดชอบหรือไม่ ถ้ามี ใครจะต้องรับผิดจากการกระทำที่ทำให้รัฐเสียหายระดับนี้บ้าง ก็น่าจะมีคำตอบอยู่ แต่จะดำเนินการหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่ต้องชดเชยไม่ใช่แค่ 75,000 ล้านบาท!!
เพราะยังมีข้อเท็จจริงหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับ BEM ที่ไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง
ข้อเท็จจริงของข้อพิพาท “กทพ.- BEM”
กทพ. มีสัมปทานทางด่วนกับ BEM อยู่ 3 สัญญาที่มีปัญหาข้อพิพาทกับจำนวนมาก คือ สัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน ABC และ D) และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (ส่วน C+) ข้อพิพาทส่วนใหญ่เกิดจากเรื่องการปรับค่าผ่านทางและผลกระทบทางแข่งขัน โดยมีผลต่อเนื่องไปตลอดสัญญา
1. ข้อเท็จจริงกรณีข้อพิพาทที่ถูกพูดถึงในขณะนี้กว่า 4,000 ล้านบาท ที่ถูกเรียกว่าเป็น “ค่าโง่” นั้นเป็นข้อพิพาทตั้งแต่ปี 2542 ในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นข้อพิพาทจากผลกระทบทางแข่งขันที่ กทพ. ไม่ชดเชยรายได้ที่ลดลงสำหรับทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ให้แก่ NECL ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BEM เนื่องจากมีการก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต มาแข่งขันทำให้ทางด่วนสายนี้มีรายได้ลดลง
ตามสัญญาระบุว่า หากมีการก่อสร้างทางในพื้นที่ใกล้เคียงทำให้ทางด่วนสายนี้มีรายได้ลดลงถือเป็นทางแข่งขัน กทพ. จะชดเชยรายได้ให้ NECL ตามวิธีที่กำหนดในสัญญา
ที่ผ่านมา กทพ. ไม่ยอมชดเชย โดยอ้างว่าดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายไม่ใช่ทางแข่งขัน จึงเกิดข้อพิพาท คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินให้ NECL ชนะ แต่ กทพ. ไม่ยอมรับ โดยไปฟ้องเพิกถอนต่อศาลปกครอง และท้ายสุด เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กทพ. ชดเชยรายได้ที่ลดลงจากผผลกระทบทางแข่งขันในปี 2542-2543 ให้แก่ BEM เป็นเงิน 4,318 ล้านบาท ถ้านำบรรทัดฐานคำพิพากษานี้มาคิดค่าชดเชย ซึ่งคดีนี้จะมีผลต้องชดเชยถึงปัจจุบัน คิดเป็นเงินกว่า 75,000 ล้านบาท
2. ข้อเท็จจริงข้อพิพาทเรื่องค่าผ่านทางเกิดขึ้นในปี 2546 ในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม จากกรณีที่ กทพ. ไม่ปรับขึ้นค่าทางด่วนให้ BEM ตามสัญญา ซึ่งกำหนดว่าทุกๆ 5 ปี ให้ปรับขึ้นค่าทางด่วนตามเงินเฟ้อที่มากขึ้น โดยปัดขึ้นเป็นจำนวน 5 บาท เพราะตลอด 5 ปีไม่ได้ปรับ แต่ กทพ. ใช้วิธีปัดลง หากคำนวนแล้วไม่ถึง 5 บาท ทำให้ BEM ได้รับความเสียหายจากรายได้ที่ลดลงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ กทพ. ชดใช้ BEM แต่ กทพ. ไม่ยอมรับการชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และได้ยื่นฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลปกครอง ซึ่งวงเงินที่ต้องชดใช้จนถึงปัจจุบันคิดเป็นเงินประมาณ 60,000 ล้านบาท
ดังนั้น ถ้ารวมข้อ 1 และ 2 กทพ. ต้องชดใช้ให้ BEM ประมาณ 135,000 ล้านบาท
“ประยุทธ์” ตั้งทีมเจรจาไกล่เกลี่ย
จากตัวเลขที่รัฐโดย กทพ. ต้องชดใช้ให้ BEM สูงขนาดนี้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามประชาชนได้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้ตั้งคณะทำงานเจรจาไกล่เกลี่ยกับ BEM
จากคำสั่งดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้รายงานคำพิพากษาและแนวทางการเจรจาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ และ ครม. ได้มีมติให้หน่วยงานของรัฐอาจดำเนินการเจรจาต่อรองกับคู่พิพาท เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐ โดยให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ชอบด้วยกฎหมาย และคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
“เดิมไม่มีใครที่จะกล้าเจรจา ด้วยข้อพิพาทนี้มาตัดสินในรัฐบาล คสช. จึงต้องเร่งแก้ เพราะถ้าปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไป โดยให้ กทพ. ยื้อสู้คดีต่อไปก็จะทำให้เสียหายมากขึ้น หากรัฐบาล คสช. ไม่แก้ไข สุดท้ายก็จะเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล คสช. ด้วย นายกฯ ประยุทธ์จึงเป็นคนสั่งให้เอาเข้า ครม. เพื่อจะได้เจรจากันได้ โดยนายกฯ ประยุทธ์อยากเห็นผลการเจรจาคือ ทำอย่างไรให้ผลที่ออกมาเป็นประโยชน์ที่คืนให้แก่สังคมได้ด้วย และรัฐไม่ต้องจ่ายเงิน นำภาษีของประชาชนไปสนับสนุน กทพ.และ BEM ได้รับการชดเชยที่เหมาะสม” แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ กรอบการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่าง กทพ. และ BEM เพื่อยุติเรื่องนี้ คือต้องไม่นำข้อพิพาทเดิมมาฟ้องร้องกันอีก โดยที่ กทพ. จะไม่มีการชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินสดให้แก่ BEM และมีเงื่อนไขว่า BEM จะลงทุนปรับปรุงทางด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร และการปรับค่าผ่านทางจะเป็นแบบคงทีทุก 10 ปี โดยที่ กทพ. ต้องได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางไม่น้อยไปกว่าเดิม เช่น ปัจจุบัน 50 บาท ปี 2571 จะปรับเป็น 60 บาท ปี 2581 จะปรับเป็น 70 บาท
BEM ลดหนี้เหลือ 64,000 ล้าน พร้อมแลกเป็นสัมปทาน 38 ปี
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สำหรับผลการเจรจาได้ข้อสรุปว่า
1. กทพ. และ BEM จะถอนฟ้องยุติข้อพิพาททั้งหมด โดยไปรับสิทธิรายได้ในอนาคตจากการขยายสัมปทานแทน มูลค่าข้อพิพาททั้งหมดประมาณ 135,000 ล้านบาท จะลดลงเหลือประมาณ 64,000 ล้านบาท ถ้าเทียบกับเงินที่ กทพ. ต้องจ่ายจากข้อพิพาทจากเรื่องผลกระทบทางแข่งขันที่ต้องจ่ายจนถึงปัจจุบัน 75,000 ล้านบาท ก็ถือว่าต่ำกว่า ทั้งนี้ทุกสัมปทานจะสิ้นสุดสัญญาในปี พ.ศ. 2600
2. BEM จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วน โดยจะมีการสร้างทางยกระดับชั้นที่ 2 จากอโศก-งามวงศ์วาน ระยะทาง 17 กิโลเมตร และก่อสร้างช่องจราจร Bypass โดยไม่มีการเวนคืนที่ของประชาชน มูลค่าก่อสร้างประมาณ 31,500 ล้านบาท โดยจะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม เพื่อแก้ปัญหาจราจรให้กับประชาชน และลดภาระการลงทุนของรัฐ
3. กทพ. และ BEM จะแบ่งสัดส่วนรายได้ค่าผ่านทางเท่ากับที่ กทพ. ได้รับอยู่ในปัจจุบัน
แหล่งข่าวกล่าวว่า “หากเรื่องนี้ไม่จบรัฐก็เสียหายมากขึ้น BEM ก็ยืนบนสังคมลำบาก ข้อตกลงดังกล่าวน่าจะเป็นวิน-วินกับทุกฝ่ายเป็นข้อตกลงที่กางกันบนโต๊ะ รัฐไม่ต้องจ่ายเงิน 130,000 ล้านบาท แลกกับยืดสัญญาสัมปทานไป 38 ปี และให้เอกชนลงทุนสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาจราจร โดยประชาชนไม่เสียค่าผ่านทางเพิ่ม เป็นข้อตกลงที่รัฐบาลค่อนข้างพอใจ แต่เรื่องนี้จะต้องเข้าคณะกรรมการร่วมทุนพิจารณาอีกครั้งในเดือนนี้”
เบื้องหลังความยืดเยื้อ
แหล่งข่าวกล่าวถึงที่มาที่ไปของข้อพิพาทที่ยืดเยื้อมานาน 20 ปีว่า รัฐบาลในอดีตมักหาผลประโยชน์จาก กทพ. เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องมากมาย มีกระแสข่าวการเอื้อผลประโยชน์ให้ฝ่ายการเมือง อาทิ งานก่อสร้าง สัมปทาน เวนคืนที่ดิน เช่าที่ดิน เช่น การเวนคืนที่ดิน มีกลุ่มทุนการเมืองดักซื้อที่ไว้ก่อนแล้วรอเวนคืนหรือรอราคาพุ่งขึ้นก็ขายต่อจนร่ำรวย หรือการเช่าที่ใต้ทางด่วน ที่ทุกวันนี้เป็นขุมทรัพย์ ไม่มีคนนอกรู้ ยกเว้นคนใน กทพ. และการเมืองกลุ่มเก่าๆ ที่มีเครือข่ายอยู่
หรือในสมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะต้องปรับค่าผ่านทางตามสัญญาให้กับ BECL (BEM ในปัจจุบัน) แต่ กทพ. ตัดสินใจไม่ให้ขึ้นค่าทางด่วน โดยอ้างว่าทำเพื่อประชาชน เป็นเหตุให้ BECL ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ กทพ. เป็นหน่วยงานที่มีข้อพิพาทมาก รวมทุกคดีเป็นเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ที่ผ่านมารัฐบาลได้เข้ามาแก้ปัญหาข้อพิพาทแต่ไม่สำเร็จ แต่ กทพ.พยายามยื้อเวลา โดยอ้างว่าข้อพิพาทยังไม่สิ้นสุด เพราะเกรงว่าถ้าการเจรจาได้ข้อยุติ มีการตั้งสอบหาความผิดทางละเมิด ก็จะต้องโดนด้วย จึงต้องยื้อ ปัดเรื่องไปข้างหน้า โดยให้ กทพ. ฟ้องไปเรื่อยๆ รวมทั้งการให้ข้อมูลผิดๆ กับพนักงาน เกี่ยวกับฐานะการเงินที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะกระทบต่อเงินเดือนและสวัสดิการ
แต่ครั้งนี้ไม่สามารถที่จะยื้อได้อีก เพราะศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาเป็นที่สุดแล้ว
เป็นความเสียหายที่ลากยาวกันมาหลายยุคหลายสมัย เป็นมรดกบาปที่ไม่มีใครกล้ารับ
และนี่คือข้อเท็จจริงที่พูดกันไม่ครบมานาน…