ThaiPublica > เกาะกระแส > คำต่อคำ! คำถาม- คำตอบกับ“นิตินัย”(ตอนจบ) เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว มั่นใจแจงชัดทุกประเด็นหากหักล้างฟังไม่ขึ้นพร้อมเดินหน้าประมูลทันที – ตั้งข้อสงสัยสื่อที่ตีข่าวนี้ถูกซื้อ

คำต่อคำ! คำถาม- คำตอบกับ“นิตินัย”(ตอนจบ) เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว มั่นใจแจงชัดทุกประเด็นหากหักล้างฟังไม่ขึ้นพร้อมเดินหน้าประมูลทันที – ตั้งข้อสงสัยสื่อที่ตีข่าวนี้ถูกซื้อ

20 มีนาคม 2019


ต่อจากตอนที่แล้ว…

  • คำต่อคำ! “นิตินัย” ติวสื่อ จั่วหัวข่าว เหตุเลือกโมเดลสัมปทานดิวตี้ฟรีรายเดียว – ระบุหลังเปิดเสรี pick-up counter เวลาผูกขาดดิวตี้ฟรีหมดลงแล้วจริงๆ
  • วันที่ 18 มีนาคม 2562 เวลา 10.30 น. นายนิตินัย ศิริสมรรถการ แถลงข่าวชี้แจงแนวทางการให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร 4 สนามบิน ของ ทอท. ณ ห้องประชุม สำนักงานใหญ่ ทอท. หลังจากชี้แจงเรียบร้อยได้เปิดให้สื่อมวลชนซักถามดังนี้

    คำถามแรกผู้สื่อข่าวถามว่าจะเลื่อนการประมูลไปนานแค่ไหน นายนิตินัยกล่าวว่า “ก็ช่วยกระจายข่าวให้ผมหน่อย ผมว่าไม่นานหรอก ผมอยากฟัง ถ้าตราบใดยังมีคำว่า ทอท. เดินหน้าไม่ฟังใคร ตอนนี้ผมฟังและชี้แจงแล้ว จากนั้นผมจะมาถามพวกเราอีกครั้ง อย่างเช่นเรื่องแบ่งหมวดหมู่สินค้า มีใครได้เคยฟังคำสัมภาษณ์ของท่านใดที่สามารถนำมาหักล้างเหตุผลที่ผมชี้แจงเรื่อง flow ของผู้โดยสารได้บ้าง ผมไม่เคยได้ยินนะ ตอนนี้ผมเข้าใจด้วยความบริสุทธิ์ใจ เรื่องหมวดหมู่สินค้า ผมเคลียร์นะ และที่ผมดูจากข่าวแล้ว ดูเหมือนว่า ทอท. ยังไม่เคลียร์เรื่อง 4 สนามบิน รวมสัญญาเป็น 1 สัญญา วันนี้จึงแถลงข่าวชี้แจง หากวันนี้ผมยังมีคนที่มีเหตุผลมาหักล้าง ผมอยู่นะ ผมจะถือว่าเรื่องการแบ่งหมวดหมู่สินค้า ผมยังชี้แจงไม่เคลียร์ แต่วันนี้ผมเข้าใจว่าผมชี้แจ้ง เรื่องการแบ่งหมวดหมู่สินค้าเคลียร์แล้ว ผมจะรอฟังเรื่องสัญญา 4 สนามบิน เชื่อว่าไม่กี่วันหรอก อ่านข่าวทุกวัน ผมฟังพี่ๆ ไปเขียนข่าวครับ และผมก็จะรอฟังคนแย้งอยู่ ถ้ามันไม่มี 3-5 วัน ก็จบ ถ้ามันไม่เร็ว ผมก็ต้องมาชี้แจงอีกรอบนึง อาจจะใช้เวลา 1 อาทิตย์ 2 อาทิตย์ หรือ 3 อาทิตย์ ก็ว่ากันไป แต่คงไม่นานถึง 3-6 เดือน เรื่องอะไรจะพูดกันนานถึง 2-3 เดือน”

    “ประเทศของเราควรคุยกันด้วยเหตุผล ผมทราบว่าท่านอยากได้อะไร แต่ผมอยากทราบว่าท่านไม่เห็นด้วย ท่านมีเหตุผลอะไร ผมก็รอฟังเหตุผลของท่านอยู่ ไม่อยากฟังว่าท่านอยากได้อะไร พอแล้ว ฟังมาครึ่งค่อนปีแล้ว ซึ่งเราได้นำมาปรับปรุง TOR แล้ว เราให้เหตุผลอันนี้ไปแล้วท่านมีเหตุผลอะไรดีกว่าผมคิดว่าอีกสัก 2 รอบพรุ่งนี้ พรุ่งนี้พวกเราไปเขียนข่าว อีก 1-2 วัน ผมก็รอฟังอีก และถ้าฟังแล้วไม่มีอะไร ก็ไปต่อไม่รอแล้วนะ แต่ถ้าฟังแล้วมีอะไร ผมก็จะมาพูดอีกสัก 1 รอบ อะไรอย่างนี้ ”

    ผมชื่อนิตินัยจบเศรษฐศาสตร์ขอแจงนิยาม “ผูกขาด”

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าเปิดให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์นานแค่ไหน…นายนิตินัยตอบว่า ให้เวลาจนสังคมสิ้นข้อสงสัย วันนี้ เรื่องแบ่งตามหมวดหมู่สินค้า ผมยังไม่เห็นเหตุผลหักล้างเลย และขออีกประเด็น เรื่อง รวบ 4 สนามบิน ถ้าวันนี้ชี้แจงไปแล้ว ยังเงียบกันอยู่ ไม่มีการโต้ตอบ ยกเว้นโต้ตอบว่า “ไม่เอา อยากได้ ไม่เอาผูกขาด ถ้าอย่างนี้ ผมไม่ถือว่าเป็นประเด็น อะไรที่เป็นเรื่องเดิมๆ ผมไม่ ถือเป็นประเด็นใหม่ เช่น เรื่องไม่เอาอยากได้รวบ 4 สนามบิน ผูกขาด ถ้าวนกันอยู่แต่เรื่องผูกขาด ผูกขาดมันก็กลับไปเหมือนเดิม ก็นี่ไงภูเก็ตก็ไม่ได้ผูกขาดแล้ว จริง ๆ

    หลายท่านเห็นผมชื่อ ดร.นิตินัย คิดว่าผมจบปริญญาเอกด้านกฎหมาย ไม่ใช่ ผมจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ นิยามของการผูกขาดคือมีผู้ขายรายเดียว แต่ปัจจุบันไม่ได้มีผู้ขายรายเดียว นิยามของคำว่าผูกขาดคือ มีผู้ใดผู้หนึ่งชี้นำราคาสินค้าได้ แต่ปัจจุบันก็ไม่ได้มีชี้นำราคาสินค้า น้ำหอม, Black Label พวกเขาก็ต้องต่อสู้บนเวทีโลก ต้องสู้กับสนามบินอินชอน ต้องสู้กับสนามบินชางฮี

    ขออนุญาตสวมบทนักวิชาการเอานิยามผูกขาดมากางกันเถอะ ผมยังไม่เห็นเลยข้อไหนที่เข้าข่ายคำว่าผูกขาดเลยสักข้อเดียว เข้าคำว่ารายเดียวตอนนี้ก็มีหลายราย เข้าคำว่าเป็นผู้ชี้นำราคาสินค้าก็เป็น global competition แข่งกันระดับโลก ไม่มีการชี้นำ และถ้าชี้นำปัจจุบันคิงเพาเวอร์ฯ คงขาย Black Label ขวดละหมื่นบาทแล้ว ถ้าผูกขาดต้องชี้นำราคาสินค้าได้จริงนะครับ ก็ไม่ทราบ คุยกันด้วยเหตุผลทางวิชาการอย่างที่เรียนนะครับ ผมจบปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ ก็คิดว่าความรู้ทางเศรษฐศาสตร์คงไม่ลืมหมด

    ผมเข้าใจความเป็นห่วงของรัฐบาลห่วงอยู่ 2 ส่วนนะครับ คือ must have กับ nice to have must have คือ เรื่องกฎเกณฑ์กระบวนการ nice to have คือ ทอท. ทำอะไรอยู่ สังคมเขาบอกว่ากินรวบหัวรวบหาง 4 สนามบิน มันทำให้ประเทศผูกขาด คิดดูดีๆ แล้วหรือยัง เอาเอาเรื่อง nice to have ก่อน ผมพูดตลอดเกือบชั่วโมงแล้ว ผมบอกว่าเราคิดดูดีแล้ว ด้วยเหตุผลที่เราชี้แจงไปทั้งหมดเพียงแต่ขออภัยที่ประชาสัมพันธ์อ่อน วันนี้เราก็ขอเวลาใช้เวลาประชาสัมพันธ์และเรื่อง nice to have ผมก็จะฟังหลังจากผมเปิดแถลงข่าวไปแล้ว มัน nice ด้วยหรือเปล่า ตอนแรก nice to have แต่ ทอท. ไม่ได้แถลงข่าว มันจึงไม่ค่อย nice เท่าไหร่ มันเลยออกมาในรูปแบบผูกรวบ 4 สนามบิน เพราะฉะนั้นเรื่อง nice to have ผมขอประเมินกันอีกทีหนึ่ง นี่คือเหตุผลที่ต้องเลื่อนขายซอง

    ส่วนเรื่อง must have ยืนยันว่า ทอท. ทำถูกต้องทุกกระบวนการ ก็ต้องเรียนว่าไม่ได้ดื้อ รัฐบาลบอกอะไรมา ผมทำความเข้าใจว่ารัฐบาลบอกว่าช้าก่อน อย่าเร่ง ทำให้ถูกกระบวนการ และรอบคอบ อย่าให้เกิดการผูกขาด นี่คือข้อความจากรัฐบาลถูกไหมครับ คำตอบเราคือว่า ทอท. มั่นใจ ทำถูกตามกระบวนการแล้ว และจะไม่เร่งแล้วกัน รอชี้แจงให้ชัดเจนก่อนนี่คือคำตอบ

    ผมแปล message จากรัฐบาลแบบนี้จริงๆ ถ้าผมแปลผิด ฝากสื่อมวลชนช่วยแปลให้ผมทีว่าผมแปลผิดอะไร ผมเข้าใจว่าอย่างนั้นส่วนหนึ่ง คือ บอกว่าอย่าเร่ง ทำให้ถูกกระบวนการก่อน และอย่ารวบหัวรวบหาง สังคมเขายังงงๆ กันอยู่เลยวันนี้ ก็เลยบอกว่าผมทำ 2 อย่าง ส่วนกระบวนการ ผมยืนยันว่าเราทำถูกต้อง ส่วนเร่งเราจะไม่เร่งแล้ว ก็เอาให้มันสะเด็ดน้ำ ก่อนวิพากษ์วิจารณ์กันสัก 2-3 รอบก่อน

    ถ้ามีคำเดิมๆ เช่น เรื่องผูกขาด ก็คงต้องดูว่ามันผูกขาดตามนิยามใดทางเศรษฐศาสตร์ หรือนิยามใดตามรัฐศาสตร์ ก็มาหารือกัน ก่อนที่ผมจะมานั่งบริหารที่นี่ ผมเป็นนักวิชาการ ผมก็มีความสุขที่ได้คุยเรื่องวิชาการอีกครั้ง และก็ยินดีอยากคุยเรื่องวิชาการ ถ้าผูกขาดก็ต้องรอให้สะเด็ดน้ำก่อน ก็ขอร้อง ไม่ใช่ว่าเราไม่ฟังจะเดินหน้าอย่างเดียว และวันนี้ก็จะรอ

    ยันฝ่ายกฏหมายระบุทำได้ ไม่มีใครหลับหูหลับตาทำ

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่ารมว.คมนาคมไม่แน่ใจว่ากรณีนี้เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯใหม่หรือไม่…นายนิตินัยกล่าวว่า ปกติการดำเนินการใดๆ ภายในหน่วยงาน หมายถึง กรณีทั่วไป การดำเนินการโดยหน่วยงาน ถ้าหน่วยงานนั้นอ่านกฎหมายแล้วไม่มีข้อสงสัย หน่วยงานนั้นก็ดำเนินการ หน่วยงานไหนอ่านข้อกฎหมายแล้วสงสัยประการใด ก็จะทำเรื่องไปสอบถามผู้คุมกฎ แต่ปรากฏว่าที่เราออก TOR ไป เราคิดว่าเราไม่มีข้อสงสัย

    ขออนุญาตขอสไลด์มาตรา 7 (พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ) พวกเรามาช่วยกันอ่าน เรียนตามตรง ผมชื่อ ดร.นิตินัย ไม่ได้จบกฎหมายจริงๆ ผมพยายามอ่าน หน่วยงานเจ้าของโครงการที่จัดทำโครงการร่วมทุนในกิจกรรมเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะดังต่อไปนี้ ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ผมขีดเส้นใต้ก่อนนะครับ สิ่งที่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ต้องเป็นโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ 2 เรื่องนะครับ นี่คือ message ที่หนึ่ง ในกิจกรรมต่อไปนี้ด้วยคือ ท่าอากาศยาน ถัดมา อันนี้ที่เป็นประเด็นมาก กิจกรรมตามวรรคหนึ่งท่าอากาศยาน แต่ต้องเป็นท่าอากาศยานที่เป็นบริการสาธารณะกับโครงสร้างพื้นฐานนะครับ ให้รวมถึงกิจกรรมเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการดังกล่าว หมายความว่าอะไรครับ กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นที่ให้มีท่าอากาศยานถูกไหมครับ เหมือนคำว่ากิจกรรมอะไรเอาออกแล้วอากาศยานมันยังลงได้ ผู้โดยสารเดินผ่านเข้า-ออกจากด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แล้วขึ้นรถกลับบ้านได้ กิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ที่เอาออกแล้วมันยังเป็นท่าอากาศยานได้ และบรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการท่าอากาศยานได้ ก็ไม่ควรเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องจำเป็นถูกไหมครับ

    ยกตัวอย่าง หัวลำโพงมีพ่อค้าขายไก่ เข้าไปขาย ต้องชะลอไปถามสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่าเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ก่อนหรือเปล่า ผมเข้าใจว่าหัวลำโพงอาจจะพิจารณาได้มั้งครับ ว่าการขายไก่มันไม่ได้ทำให้รถไฟเข้าชานชาลาได้หรือไม่ได้ อย่างที่เรียนนะครับ ประการแรก ต้องเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่เกี่ยวกับท่าอากาศยาน และเกี่ยวไม่ใช่เฉพาะในวงไข่แดงเท่านั้น ยังเกี่ยวไปถึงไข่ขาว tier 2 และ tier 3 ด้วย และ tier 2-3 รวมทั้งยวงที่ทำให้เกิดท่าอากาศยาน ดังนั้น อะไรที่ไม่ได้อยู่ในวงนี้ ไม่เกี่ยว ผมก็เลยดูท่าอากาศยานของพวก ทอท. ว่าวงไหน

    ขอกราบเรียนด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ ก่อนทำอะไรเรื่อง ทอท. ก็มีฝ่ายกฎหมาย มีฝ่ายนิติกร มีคณะอนุกฎหมายต่างๆ ก่อนทำอะไรเราก็ต้องเอากฎหมายมานั่งดู ไม่มีใครหลับหูหลับตาทำโดยไม่ดูกฎหมาย หลังจากพิจารณาแล้ว ตามกระบวนการโดยทั่วไป ถ้าสงสัยกลัวจะไม่ใช่ ก็ต้องส่งตีความดีกว่าไหม ถ้าไม่สงสัยเราก็ดำเนินการ ในอดีตก่อนเปิดขายซองวันที่ 19 มีนาคม 2562 เพราะเราอ่านกฎหมายแล้ว เราไม่สงสัย เราก็เลยคิดว่า เราสามารถดำเนินการไปได้ตามกระบวนการ

    เอาภาพใหญ่ก่อน 3 จุดที่ผมตีกรอบเอาไว้ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็ว่ากันไป แต่โดยส่วนตัว ผมว่าเราพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ดูตามกรอบ ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เป็นห่วง ครม. ก็เป็นห่วงบอกว่าถ้ากิจการอะไรก็แล้วแต่ หากหลุดออกจากสโคปนี้แล้วจะดำเนินการได้ ต้องมีคนกลางมาดูนะ ก็มีกระบวนการล็อกไว้อีกชั้นนะ ชั้นที่สองเราก็มีคนกลางมาดู อย่างคณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท. ก็มีคนกลางมีอัยการมาดู มีคนนอกอยู่ ตอนร่าง TOR ก็มีอยู่ ถึงวันชี้แจง (เดิม) เป็นวันที่ 2 เมษายน 2562 ที่ ทอท. จะเปิดชี้แจงเรื่องคุณสมบัติ แต่ตอนนี้ไม่รู้จะเป็นวันที่เท่าไหร่ ไม่แน่ใจ ทอท. ก็จะเชิญหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องเข้ามาตามความเป็นห่วงของ มติ ครม. วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา เราค่อยๆ กลัดกระดุมทีละเม็ด เม็ดไหนที่กลัดแล้วและมันถูก ก็บอกว่าไปถอดออก มันคงไม่ถูกต้อง คราวนี้เม็ดไหนที่มันกลัดไปแล้วบอกว่าผิด ไม่ว่าจะเป็น nice to have หรือ must have เราก็ยินดีจะถอด แต่ถ้ากลัดไปแล้วมันถูก แล้วจะตอบสังคมยังไง ว่ามันถูกแล้วไปถอดออกทำไม

    ทอท. มองแล้วและเข้าใจว่าอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นประเด็นสังคมเป็นข่าว และเจ้าหน้าที่เขาดูอยู่ และเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็จะมีการโต้แย้งจากเจ้าหน้าที่ เราก็ชี้แจงกับสังคมไป ตามกระบวนการตามกฎหมาย ผู้มีอำนาจหน้าที่มีอยู่แล้ว ในการพิจารณา ไม่ต้องเป็นห่วง

    มติ ครม. วันที่ 5 มีนาคม 2562 บอกให้เอาคนกลางเข้ามา ก็มีแล้ว ก็ฝากพี่น้องสื่อมวลชน ตราบใดที่ยังมีข้อสงสัย ไม่ว่าจะเป็น must to have หรือ nice to have เรายังไม่เดินหน้า คือสงสัยอะไร เรายังไม่เดินหน้า ก็เดี๋ยวต้องดูที่ชี้แจงวันนี้แล้ว ยังสงสัยก็ต้องชี้แจงตามกระบวนการต่างๆ อย่างที่เรียน เราคิดว่าเราทำถูกต้องตามกระบวนการแล้ว กระทรวงอยากให้เราชี้แจงอย่างไรตามกระบวนการ เราก็ยินดีไม่ได้ขัดอะไร แต่ว่าวันนี้เป็น step ที่ 1 ที่เราทำความเข้าใจก่อน ถ้าทำความเข้าใจและเข้าใจก็จบ ถ้าทำความเข้าใจแล้วไม่เข้าใจ ก็ทำความเข้าใจต่อไป อาจจะทำความเข้าใจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือออกแถลงข่าว เป็นต้น

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าเรื่องนี้รัฐมนตรีคมนาคมแนะนำให้ถามสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ… นายนิตินัยกล่าวว่า วันนี้ ทอท. ก็ส่งสัญญาณไปว่า ทอท. เข้าใจอย่างนี้ ก็รอฟังสำนักรัฐฯ จะพูดอะไรไหมหรืออะไร ก็ว่ากันเป็นเรื่องของ communication การ communication มีหลายรูปแบบ แต่ตราบใดก็แล้วแต่ ถ้าเรายัง communication ไม่สะเด็ดน้ำ เราไม่ไปต่อ วันนี้ผมขอ communication ว่า must have เราได้ทำหมดแล้ว nice to have ขออภัย บางทีอาจจะสื่อสารไม่ครบ วันนี้ขออนุญาตสื่อสารให้ครบทุกอย่างแล้ว เราจะรอฟังเหตุผลหักล้างว่าเข้าใจไหม ถ้าไม่เข้าใจ เราก็ดำเนินการสื่อสารต่อไม่ว่าจะใช้กระบวนการใดก็แล้วแต่

    ผู้สื่อถามว่าทำหนังสือไปถามสำนักรัฐฯ หรือไม่… นายนิตินัยตอบว่า ผมต้องขอดูก่อน ถ้ามันเคลียร์ก็ตามนั้น แต่ถ้ามันไม่เคลียร์ก็ต้องไปถาม

    ผู้สื่อข่าวว่าได้ชี้แจง รมว.คมนาคมครบถ้วนทั้งหมดหรือไม่…นายนิตินัยตอบว่า “ก็ไม่ค่อยหมด ก็เรียนตามตรงว่าเป็นเรื่องเทคนิค อย่างเรื่องประมูล 4 สนามบิน ผมก็เป็นเด็กน่ะ คงไม่มีเวลามากดไมล์ ถามท่านครับ ท่านฟังผมอธิบาย 1 ชั่วโมงได้ไหม มันก็อยู่ในที่ประชุมไม่กี่นาทีผมเองก็ลนๆ หน่อย อาจจะอธิบายแบบจับปูดำขยำปูนาหน่อย ผมอาจอธิบายไม่ค่อยเคลียร์เท่าไหร่ แต่ก็อธิบายท่านด้วยเวลาที่กระชั้นด้วย และผมก็เตรียมคำอธิบายไปไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ท่านก็เลยเป็นห่วง จึงผมจึงต้องมาแถลงข่าวชี้แจงจะได้ไม่มีข้อกังขา”

    จริงๆ ผมหวังมากเลยนะครับ หากแถลงข่าวออกไปแล้ว สังคมเข้าใจ ก็ไปต่อ เชื่อว่ามันไม่ 100% หรอก แต่ผมก็เชื่อว่าความพยายามในวันนี้ มันก็ต้องได้ผลบ้าง 100% ที่กังขาอยู่ อาจเหลือสัก 30% แล้วค่อยมาเก็บงาน 30% ที่เหลือ ผมอยากให้งานประมูลครั้งนี้เสร็จทันภายในกันยายน 2562 อย่างน้อยได้มีเวลาเตรียมการสัก 1 ปี ซึ่งผมไม่เชื่อว่าผมจะใช้เวลาสื่อสารกับสังคมถึง 3 เดือน ข้อสงสัย 100% พรุ่งนี้ผมก็คาดหวังเหลือสัก 30% แต่ถ้ามีประเด็นมาหักล้างคำชี้แจงของ ทอท. ได้แล้ว มันเป็นประเด็น ซึ่งผมตอบไม่ได้ ผมไม่เดินต่อ

    คนค้านต้องหักล้างข้อมูล ทอท.ให้ได้

    ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีมาตรา 7 ระบุให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำหนดโดยเห็นชอบของ ครม.ทำ อย่างไร…นายนิตินัยกล่าวว่า ตอนนี้มันยังไม่มี (คณะกรรมการ) จะให้ทำยังไงครับ ต้องอ่านอย่างนี้นะ ผมจะค่อยๆ ลำดับความคิดให้ ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ที่พูดมาทั้งหมด ใครจะเข้ามาอยู่ในห้องนี้ ห้องนี้คือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ขอตรวจบัตรก่อน ตรวจบัตรว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือบริการสาธารณะหรือไม่ ใครไม่เข้าข่าย 2 ประเภทนี้ไม่ต้องเข้าห้องนะครับ อันที่ 2 หลังจากตรวจบัตรแล้ว ก็ต้องมานั่งดูว่าที่เข้าข่ายหรือไม่ใช่เข้าข่ายเฉพาะหัวโจก ต้องเข้าข่ายบริวารแวดล้อมด้วย แต่บริวารแวดล้อมก็เป็นบริวารแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกิดท่าอากาศยาน ถ้าเกี่ยวเนื่องแล้วให้คณะกรรมการนี้มานั่งดูอีกทีนึง แต่ถ้าไม่เกี่ยวเนื่อง ก็ตามนัยของกฎหมาย เขากำหนดไว้แค่นี้ให้จับหัวโจก และผู้ที่เกี่ยวเนื่อง ยังไงก็แล้วแต่ ผมกำลังจะเรียนว่านี่คือเหตุผลของ ทอท. ทำไมเราเปิดขายซอง

    “ผมไม่ได้จบกฎหมาย คุณ(พร้อมระบุชื่อสื่อมวลชนที่ถาม)ก็ไม่ได้จบกฎหมาย วันนี้เป็นการชี้แจงเป็นกระบวนการสื่อสาร หากสื่อสารไปแล้วมีนักกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ท่านไหนมีเหตุผลเดี๋ยวก็จะแย้งมาเองครับ สังคมเขาดูกันอยู่ วันนี้มีอยู่ไม่กี่สิบคน อย่ามานั่งเคาะกันเลย สื่อสารไปแล้วให้สังคมเขาดูกันดีกว่า แต่เราจะบอกว่า ทอท. เข้าใจอย่างได้ที่พูดไป ใครก็แล้วแต่จะวิเคราะห์อย่างเรา หรือไม่เหมือนกัน เดี๋ยวสังคมเขาก็ตอบกันมาเองแหละ วันนี้ต้องขอเป็นวันของการสื่อสาร เราคิดยังไงจะส่งตีความอย่างไรเดี๋ยวมีกระบวนการ มีเจ้าหน้าที่มีผู้มีอำนาจ อยู่ตามกระบวนการอยู่แล้ว”

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า วรรคสุดท้ายระบุเป็นอำนาจของคณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม. ไม่ได้ให้รัฐวิสาหกิจวินิจฉัยเอง…นายนิตินัยตอบว่า ตามที่เรียนไปแล้วนะครับ คุณ(สื่อมวลชนที่ถาม)ไม่ใช่นักกฎหมาย ผมก็ไม่ใช่นักกฎหมาย ผมก็บอกแล้วว่าเราคิดอย่างนี้แล้วจะยังไง ก็ให้สังคมเขาดู ให้นักกฎหมายผู้ที่เกี่ยวข้องเขาดู ถ้าเห็นว่าไม่ใช่ ก็รอฟังอยู่เนี่ยครับ ถูกต้องไหมครับ เราก็ไม่ได้จบกฎหมายนะ ใจเย็นๆ ยังมีนักกฎหมายเก่งๆ มาช่วยดู

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าหารือกับสำนักรัฐฯ เพิ่มเติมหรือยัง…นายนิตินัยตอบว่า ถ้าเขาเรียกร้องให้ส่ง ทาง ทอท. ก็ยินดี คือผมอ่านหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ผู้อำนวยการสำนักรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ให้ ทอท. ดำเนินการไปพลางๆ ก่อน

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าสำนักรัฐฯ บอกทำไปก่อนวินิจฉัยมีความเสี่ยงเป็นโมฆะ…นายนิตินัยตอบว่า ก็ถึงวันนั้นก็เป็นโมฆะ ไงครับ เห็นไหม ทุกที่ก็มีคนดูอยู่แล้ว ถ้าดำเนินการผิดกระบวนการก็ถือเป็นโมฆะ ไม่ต้องห่วงว่าจะได้คนมาประกอบการผิดๆ ตามกระบวนการก็จะมีการพิจารณาอยู่แล้ว

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าหน่วยงานกลางที่ร่วมกำหนด TOR มีหน่วยไหนบ้าง…นายนิตินัยกล่าวว่า ในคณะกรรมการรายได้ก็มีอัยการและคนนอกร่วมอยู่ด้วยครับ

    จากนั้นนายนิตินัยได้ให้ผู้สื่อข่าวอ่านมติ ครม. วันที่ 5 มีนาคม 2562 มีใจความว่า ให้มีผู้แทนจากหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณา กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่ชัดเจนและโปร่งใสในการคัดเลือกเอกชน และควรกำหนดกลไกในการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินการอย่างเหมาะสมเพียงพอด้วย ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีความเห็นมา

    นายนิตินัยกล่าวว่า นี่ไงครับตัวแทนจากหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง คืออัยการ แต่ตัวแทนที่เกี่ยวข้อง ตามที่อ่านมาทั้งหมด ต้องมีใครคัดเลือกไหมครับ เขาไม่ได้เขียนไว้ นี่ไง ส่วนกลไกก็มี TOR ไงครับ ผ่านความเห็นชอบของบอร์ด ทอท. ก็ตามที่ประกาศไงครับ เริ่มขายซองวันที่ 19 มีนาคม 2562 ชี้แจงรายละเอียดวันที่ 2 เมษายน 2562 ช่วงชี้แจงรายละเอียด ก็มีหน่วยงานกลางเข้าไป ประกาศผลวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 ก็จะมีหน่วยงานกลางเข้าไป นี่คือกระบวนการชี้แจง มีการพาดูพื้นที่ ตอบข้อซักถามนี่คือกระบวนการไงครับ ที่ผู้สื่อข่าวอ่านให้ฟังสักครู่ ตรงตามมติ ครม. เลย ผมเชื่อว่า เราทำตามกระบวนการที่อ่านเมื่อสักครู่นี้ หน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้บอกใช่ไหมครับว่าใครเป็นคนกำหนด ไม่ได้บอกว่าใครเป็นคนกำหนด คนกลางที่เกี่ยวข้อง เดี๋ยววันที่ชี้แจงคุณสมบัติของผู้ประมูล ก็จะเชิญตัวแทนของสำนักรัฐฯ เกี่ยวข้องในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้นใหญ่ของ ทอท. ผมก็เชื่อว่าเกี่ยวข้อง ตอนต้นก็มีตัวแทนจากอัยการ

    ผู้สื่อข่าวถามว่าเชิญ ACT ร่วมสังเกตการณ์ด้วยหรือไม่… นายนิตินัยตอบว่า ประเด็นคือ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ดูเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง แต่กรณีนี้เราไม่ได้ซื้อ และเราไม่ได้จ้าง แต่เราขายสิทธิประกอบการ และผมก็มาดู มันก็ไม่ได้เข้าสโคปของ ACT ที่ดูจัดซื้อกับจัดจ้าง อันนี้ประมูลขายสิทธิการประกอบกิจการ ก็เลยเป็นเครื่องหมายคำถาม แต่ก็ไม่เป็นไร คำถามสังคมมีมากแล้ว ผมก็ไม่อยากตั้งคำถามว่าทำไม ท่านไม่ทราบ หรือว่ามันไม่อยู่ในสโคป

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าเรื่องนี้เคยหารือกับประธานบอร์ด ทอท. แล้วใช่ไหม…นายนิตินัยตอบว่าก็คุยครับ ตอนแรกท่านคิดว่าเราทำมาถูกต้อง และทำมาหลายเดือนแล้ว แต่พอเกิดกระแสสังคมขึ้น ครั้งนี้ชะลอ เพราะกระแสสังคมไม่ต่างจากกรณี “เทอร์มินัล 2” ก็ชะลอเพราะกระแสสังคมก็รอฟัง

    ตั้งข้อสงสัยสื่อที่ตีข่าวดิวตี้ฟรี “สื่อถูกซื้อ”

    ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไม ทอท. ไม่แจงรายละเอียดทั้งหมดตั้งแต่แรก ชื่อบริษัทที่ปรึกษาเปิดเผยได้หรือไม่…นายนิตินัยตอบว่า จริงๆ ข้อมูลในโลกนี้มีเยอะมาก ผมอาจอยากจะรู้ว่าคุณมีพี่น้องไหม พี่ชื่ออะไร เพียงแต่ว่าวันนี้ไม่มีใครเขาอยากรู้เหมือนผมว่าคุณมีพี่น้องกี่คน ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอยากทราบเรื่องอะไร ที่ผ่านมาเราก็ตอบทุกประเด็นที่สงสัย วันนี้สงสัยอะไร ก็ถามมาเราก็จะตอบ แต่ถามว่าเมื่อ 150 วันที่ผ่านมาทำไมไม่ตอบเรื่องนั้น ผมก็ไม่ทราบได้ว่าเมื่อ 150 วันที่แล้วจะสงสัยเรื่องอะไรกัน สงสัยประเด็นไหน ผมก็ตอบทุกประเด็น อันนี้สงสัยประเด็นไหนก็ตอบมา บอกได้

    “แต่ว่านะครับ ขออภัยจริงๆ ผมก็เป็นมนุษย์ปุถุชน ผมก็มีข้อสงสัย และข้อสงสัยของผม บางข้อก็ทำให้ผมต้องสงวนท่าทีในการตอบบางคำถาม เช่น บางองค์กรออกมา บางหน่วยออกมาพูด โดยที่ไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับตน มีอะไรอยู่ข้างหลังไหม บางสื่อออกมาตีข่าวตลอดเวลา โดยที่ไม่ฟังเหตุผลของเรา สื่อนี้มีจรรยาบรรณไหม ถูกซื้อไปไหม ผมก็อดสงสัยของผมไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการชี้แจง ผมก็ต้องมีความระมัดระวังด้วย เพราะมีมูลเหตุอันเชื่อได้ว่า มีอะไรแปลกๆ แต่แน่นอนครับ เราก็ต้องเดินไปให้รอบคอบ และตอบคำถามสังคม แต่ต้องเข้าใจ ผมก็สงสัยเหมือนกันในหลายๆ สื่อและหลายๆ องค์กรเช่นเดียวกันครับ”

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าเรื่องที่ชี้แจงต่อสังคมไปวันนี้ จะรอกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมนานเท่าไหร่…นายนิตินัยตอบว่า ก็คงไม่นาน แถลงไปแล้ว หากพรุ่งนี้ไม่มีประเด็นใหม่ ประเด็นข้อกังขา 100% ลดเหลือ 30% หรือไม่มีคอมเมนต์ก็ดูพรุ่งนี้ ถ้าพวกเราอ่านและคงเดากันได้ว่าเป็นคำถามเดิมๆ ไม่มีเหตุผลน่ะผมก็ไปต่อ ใครก็ได้มีเหตุผลอะไร ผมบอกว่า flow ผู้โดยสารมันเปลี่ยนไป มีหลายท่านบอกว่าไม่จำเป็น หากจำนวนผู้โดยสารเปลี่ยน เดี๋ยวผู้ประกอบการปรับตัวสินค้าเขาได้ ผมก็เลยแอบคุยตลกๆ ว่า ถ้าอย่างนั้นผมย้ายร้านท่านไป location ที่ไม่ดี ท่านก็ไปปรับสินค้าของท่านเอาไหม เขาบอกว่าไม่เอาๆ หากไม่มีกระแสโต้แย้งหรือมีโต้แย้งนิดๆ หน่อยๆ ผมก็อาจจะคุยอีกรอบ และจากนั้นก็กำหนดวันเปิดขายซองเลย แต่ถ้าคำโต้แย้งมีเหตุผลหักล้าง เราก็ต้องเอากลับมาคิด แต่ถ้าเป็นคำโต้แย้งที่ไม่มีเหตุผลหักล้าง ผมก็ต้องชี้แจงอีกเล็กๆ น้อยแล้วก็เดินหน้าเลย เปรียบเสมือนซักผ้าล้างไม่กี่น้ำ 1-2 น้ำ พรุ่งนี้ลงแฟ้บ พรุ่งนี้ลงน้ำเปล่าอีกรอบ ก็จบ

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าจำเป็นต้องเสนอบอร์ด ทอท. พิจารณาอีกหรือไม่… นายนิตินัยกล่าวว่า เหมือนกับกรณีของบริษัทที่ออกแบบเทอร์มินัล 2 วันนั้นหลังจากฟัง Airport Consultative Committee (ACC) แล้ว อยากให้ ทอท. ปรับแบบ ถ้าปรับปรุงเล็กน้อยก็ไปเพิ่มงานให้กลุ่มดวงฤทธิ์ ถ้าปรับปรุงเยอะก็ต้องประมูลใหม่ก็เหมือนกัน อย่างที่ผมชี้แจงไปแล้ว หากไม่มีเหตุผลหักล้างก็ไปตามนั้น แต่ถ้ามีเหตุผลหักล้างมากมายถึงขนาดต้องเปลี่ยนโครงสร้าง ก็ต้องกลับมาเข้าบอร์ด ทอท. ใหม่ ถ้าพรุ่งนี้ไม่มีคอมเมนต์หรือสิ้นข้อสงสัยเมื่อไหร่ ผมขอพิจารณากำหนดวันขายซองต่อไป

    นายนิตินัยกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องเข้าข่าย พ.ร.บร่วมทุนฯ หรือไม่ อย่างที่เรียนนะครับ วันนี้เป็นวันของการสื่อสาร สื่อสารออกไปแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่อง nice to have ก็คอมเมนต์มา วันนี้ผมได้สื่อสารว่า ทอท. เข้าใจอย่างไร แต่ไม่ได้ดื้อแพ่ง ถ้า ทอท. เข้าใจแล้วและสิ่งที่ ทอท. เข้าใจผิด ก็บอกมา ยินดีดำเนินการ วันนี้ไม่ใช่การโต้วาที ไม่ใช่การหยิบพารากราฟไหนมาแสดงวิสัยทัศน์ทางนิติศาสตร์ ไม่ใช่ฟอรัมวันนี้นะครับ วันนี้ไม่ใช่ฟอรัมการขอความเห็นเชิงนิติศาสตร์กับนักข่าว ซึ่งจบนิเทศศาสตร์นะครับ และคนพูดชื่อนายนิตินัย ซึ่งไม่ได้จบนิติศาสตร์ วันนี้ไม่ใช่ฟอรัมนั้นนะครับ วันนี้เป็นฟอรัมที่เราคุยกัน เป็นฟอรัมนักข่าว เป็นฟอรัมที่สื่อข่าวสาร สื่อสารเสร็จแล้วเดี๋ยวมีนิติกร เดี๋ยวมีอะไรต่างๆ เขาออกมากันเอง เพราะฉะนั้นวันนี้อย่ามาคาดคั้น กับผมว่ายืนยันนะว่าไม่ส่ง ยืนยันนะว่าอย่างนู้น อย่างนี้ วันนี้ไม่ใช่เรื่องของการตีความทางนิติศาสตร์

    ผมขอพูดอีกทีหนึ่ง ก่อนหน้าที่ยังไม่ได้ส่ง แต่ต้องโควตให้ถูกต้อง อย่าตัดบางช่วงบางตอน วันนี้เป็นเวทีของการสื่อสาร สื่อสารไปเสร็จปุ๊บ ใครมีคอมเมนต์อะไร เรายอมฟังคอมเมนต์ แต่ไม่ใช่เวลาที่ให้นิเทศศาสตร์วิเคราะห์นิติศาสตร์ ไม่ใช่เวลาที่ให้นายนิตินัยซึ่งจบเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์นิติศาสตร์เช่นเดียวกัน ขออนุญาตนะครับจะได้กระชับ

    ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าขอถามชื่อบริษัทที่ปรึกษาของ ทอท. อีกครั้ง…นายนิตินัยตอบว่า ชื่อ Prime Street ถามว่าผลการศึกษาสามารถเปิดเผยได้หรือไม่ ก็นี่ครับที่ผมเล่าไปทั้งหมด คือผลการศึกษาของ Prime Street เรื่องของผู้โดยสาร ทำไมถึงเลือกใช้ category ไม่ได้ คือ จริงๆ ผลการศึกษาหนามาก พอมีคอมเมนต์เรื่อง category มา ผมได้มอบหมายให้รองผู้อำนวยการสายพัฒนาธุรกิจ ทอท. นำคอมเมนต์จากผม ซึ่งผมรับมาจากสังคมอีกทอดส่งให้บริษัทที่ปรึกษาไปศึกษาเพิ่ม ที่ผมชี้แจงคือหนึ่งในผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา ผมไม่ได้คิดเอง

    นายนิตินัยกล่าวเพิ่มเติมว่า การติดกระดุมเม็ดแรก สำคัญว่าจะกลัดที่การกระจายรายได้เลือกให้สัมปทานหลายราย หรือกลัดกระดุมเม็ดแรกโดยการหาผู้ที่แข็งแรง มันก็ถูกทั้ง 2 อย่าง แต่ที่ชี้แจงมาแต่แรกมันจะกระจายตาม category ก็ไม่ได้ กระจายหลายคน บอก volume ของสนามบินหาดใหญ่ไปก็เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้บอกตามตรง ก็ไม่ได้ติดตามหรอกว่ากลุ่มคิงเพาเวอร์ฯ ใหญ่พอที่จะชนะทุกคน หรือมีใครที่ใหญ่กว่า หรือมีต่างชาติที่ใหญ่อยู่ในเอเชียและเก่งกว่าก็ไม่รู้ครับ ก็ใครเก่ง คนนั้นแหละครับ นี่คือโมเดลของการหาผู้ที่แข็งแรง(เพิ่มเติมโดยไทยพับลิก้า…เงื่อนไขคุณสมบัติผู้ประมูลต้องเป็นนิติบุคคลไทยเท่านั้น) หากจะมาบอกว่าอย่างนี้ฉันไม่แข็งแรงก็แข่งไม่ได้สิ หากประเทศไทยเราต้องการให้ผู้ไม่แข็งแรงมาแบ่งๆ กัน แล้วหน้าตาประเทศไทยจะเป็นอย่างไร และเราก็เปิดดิวตี้ฟรีในเมืองแล้วไง มันก็เกิดการแข่งขันอยู่ดี ผมไม่เถียงเลยว่าโมเดลนี้จะได้ยักษ์ใหญ่แข่งขันในเวทีโลก และก็มีคำถามต่อแล้วยักษ์เล็กๆ ทำยังไง ผมก็ต้องถามกลับว่า หรือจะเอาโมเดลยักษ์เล็กๆ หลายๆ คน แต่มันไม่มีศักยภาพ ถ้าแข็งแรงก็มาแข่งสิครับ

    ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่ายืนยันยังไงก็ไม่มีการเปิดสัมปทานแยกตามหมวดหมู่สินค้าใช่หรือไม่…นายนิตินัยตอบว่า หลังจากผมชี้แจงไปแล้วคิดว่ายังผูกขาดอยู่หรือเปล่า ถ้าผูกขาด ผูกขาดด้วยอะไร ก็ต้องให้เหตุผลหักล้าง ก็ต้องเอาคนที่คิดว่าผมผูกขาด เอาเหตุผลมาว่าทำไมถึงผูกขาดรายเดียว ก็ไม่ใช่แล้วไง ถ้าไม่รู้ บอกว่าจะเรียกว่าผูกขาด ก็ต้องปล่อยให้เขาไม่รู้ต่อไป แต่การศึกษาทำให้คนรู้ว่าการผูกขาดคือรายเดียว ชี้นำราคาได้อะไรต่างๆ อยู่ ตำราสากลเป็นหลักประมาณนี้

    ผู้สื่อข่าวถามว่าเปิดเสรี Pick-up Counter จะใช้โมเดลไหน นายนิตินัยตอบว่า ยังไม่ทราบครับ เพราะบอร์ด ทอท. เพิ่งสั่งผมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 แสดงว่าถามประเด็นอื่นแสดงว่าประเด็นวันนี้ผมพูดจนเคลียร์ ไม่รู้จะถามอะไร จึงถามประเด็น pick-up counter เรียนตรงๆ ยังไม่ได้ดูเลย เพราะว่าเป็นเงื่อนไขของบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 หลังจากวันนั้นก็ดูสิ ผมยังไม่ได้ทำงานทำการ มัวแต่ชี้แจงข่าวอยู่

    ผู้สื่อข่าวถามว่าได้ตัวผู้ชนะการประมูลเมื่อไหร่…นายนิตินัยตอบว่า ผมมีความเชื่ออย่างแรง เราจะสามารถเคลียร์ข้อสงสัยได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ขอดูว่าความเชื่ออย่างแรงของผมจะแผ่วลงหรือไม่ ถ้าพรุ่งนี้จะมีประเด็นใหม่ๆ อะไรหรือเปล่า ความเชื่ออย่างแรงของผมอาจจะแผ่วลงหรือเปล่า แต่ตอนนี้เชื่อว่าอธิบายได้

    อ่านแถลงข่าวของ ทอท. เพิ่มเติม

    อ่านข่าวทั้งหมด เจาะธุรกิจดิวตี้ฟรีไทย