ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 23 ก.พ. – 1 มี.ค. 2562
พ.ร.บ.ไซเบอร์ ผ่านฉลุย ไร้เสียงคัดค้าน – สนช. แจง ไม่คุกคามประชาชน มั่นใจในมาตรฐาน
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ.ไซเบอร์ ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ที่มีนางเสาวณี สุวรรณชีพ เป็นประธานเสนอ ด้วยคะแนน 133 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 งดออกเสียง 16 เสียงเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
อนึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้นั้น เป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และวิตกกังวลกันมากว่าจะคุกคามสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของประชาชน ไม่ว่าจะในเรื่องการนิยามความหมายของคำว่าภัยคุกคามไซเบอร์ไว้กว้างมาก, การให้เจ้าหน้าที่รัฐขอข้อมูลจากใครก็ได้เพื่อประโยชน์ในการทำงาน, การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ยึด-ค้น-เจาะ-ทำสำเนาคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์, ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสอดส่องข้อมูลแบบเรียลไทม์เมื่อมีภัยคุกตามไซเบอร์ระดับร้ายแรง, ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยไม่ต้องมีหมายศาลได้หากมีความจำเป็นเร่งด่วน, ไม่สามารถอุทธรณ์ยับยั้งการใช้อำนาจ ยึด-ค้น-เจาะ-ขอ ข้อมูลต่างๆ, การให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อมีภัยไซเบอร์ระดับวิกฤติ และการกำหนดว่าหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
**อ่านเนื้อหาโดยละเอียดได้ที่เว็บไซต์โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)**
ต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อกังวลดังกล่าวนั้น เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า นางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงว่า ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ของกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อสังคม และเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. แล้ว ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาแสดงความคิดเห็นและนำมาปรับแก้ไว้ในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว
นางเสาวณีกล่าวว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ยืนยันว่าไม่มีการรวบอำนาจรัฐ เพราะกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมภัยคุกคามไม่ให้มีผลกระทบต่อประเทศ อีกทั้งมีการกำหนดประเภทของภัยคุกคามไว้ชัดเจน ระบบการบริหารระงับยับยั้งต้องอาศัยการบริหารงานโดยคณะกรรมการนโยบายที่ดูแลสถานการณ์ เพื่อให้เกิดระบบงานที่เป็นมาตรฐาน
ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวอีกว่า ข้อกล่าวหาว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐเกินไปหรือไม่ ขอชี้แจงว่าไม่มีส่วนใดของกฎหมายจะไปใช้อำนาจรัฐในการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะเน้นการป้องกันกลุ่มคนที่มีเจตนาไม่ดีเท่านั้น นอกจากนี้การดำเนินการต้องมีการกำหนดตัวเจ้าหน้าที่ ที่มีความรู้ความสามารถเพื่อแก้ไขปัญหาระดับต่างๆ โดยการตรวจค้นจะต้องมีคำสั่งศาลเข้าไปก่อน
พล.ร.อ. ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ กรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้มอบหมายให้ภาครัฐไปดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงอยากขอให้ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วง ส่วนประเด็นที่เป็นห่วงว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปยึดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ขอยืนยันว่าจะกระทำโดยพลการไม่ได้ โดยต้องอำนาจจากศาลก่อน เพราะที่มีการกล่าวหากันก่อนหน้านี้เป็นข้อมูลเก่า แต่ สนช. ได้ปรับแก้ไขกฎหมายแล้ว
พยานหลักฐานพอวินิจฉัย ศาล รธน. ไม่ไต่สวนพยานคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ นัดชี้ชะตา 7 มี.ค.
วันที่ 27 ก.พ. 2562 เว็บไซต์ไทยพับลิก้ารายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารข่าวระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งเพื่อยุบพรรคไทยรักษาชาติ โดยศาลได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจึงกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติในวันที่ 7 มีนาคมเวลา 13.30 น. และนัดอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังในวันเดียวกันเวลา 15.00 น.
ด้านนายวัฒนะชัย สืบศิริบุษย์ ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดนครราชสีมา พรรคไทยรักษาชาติ ยื่นร้องสอดคำร้องยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบและธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายวัฒนะชัยกล่าวว่า เดินทางมายื่นร้องสอดตามสิทธิในฐานะที่เป็นผู้สมัคร ซึ่งส่วนตัวมีความมั่นใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ และได้ลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งมานานแล้ว ดังนั้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ จึงมั่นใจว่าจะเป็นผู้มีโอกาสที่ได้รับการคัดเลือกจากประชาชน ดังนั้นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญให้ความเป็นธรรม ส่วนรายละเอียดในคำร้องนั้นไม่ขอเปิดเผย และการเดินทางมาครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับพรรค แต่ยอมรับว่าหลังเหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนรู้จักพรรคไทยรักษาชาติมากขึ้น และได้รับการต้อนรับจากประชาชนมากขึ้น รวมถึงเข้าใจว่าพรรคไทยรักษาชาติอยู่ฝ่ายไหนระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายของพรรคพลังประชารัฐ
ส่วนความคาดหวังว่าศาลจะวินิจฉัยหลังการเลือกตั้งหรือไม่นั้น นายวัฒนะชัยกล่าวว่า ไม่มีความมั่นใจ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล แต่วันนี้ได้เฝ้ารอมาตั้งแต่ช่วงเช้า เพราะเข้าใจผิดคิดว่าศาลจะตัดสินวันนี้ แต่พอทราบว่าศาลไม่ตัดสินในวันนี้จึงตัดสินใจยื่นร้องสอดในคดีนี้
ส่วนนายฐานุวัฒน์ ภูมีบดินทร์ ทนายความของผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดเพชรบูรณ์ เพชรบุรี และนครศรีธรรมราช เดินทางมายังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอเข้าฟังการพิจารณาคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่ศาลนัดพิจารณาในช่วงบ่ายวันนี้ โดยนายฐานุวัฒน์ กล่าวว่า เข้าใจผิดคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี แต่ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าเป็นการประชุมภายในเท่านั้น ทั้งนี้มาในนามส่วนตัวในฐานะทนายของผู้สมัคร ที่กังวลเพราะหากพรรคถูกยุบก็จะกระทบต่อการลงสมัครรับเลือกตั้ง และผู้สมัครได้หาเสียงไว้มากแล้ว เบื้องต้นก็ได้มีการพูดคุยกับผู้สมัครถึงแนวทางที่เตรียมไว้ไม่ว่าศาลจะวินิจฉัยออกมาว่าอย่างไรแต่ไม่ขอเปิดเผยใดๆ
ด้านนายรุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเดินทางมาศาลรัฐธรรมนูญในช่วงเช้าซึ่งผู้สื่อข่าวได้ติดตามสอบถามถึงเหตุผลการเดินทางมายังศาลรัฐธรรมนูญทางโทรศัพท์ โดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ ระบุเพียงว่า ไม่ขอให้สัมภาษณ์ใดๆ เพราะคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงบ่ายเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำเอกสารของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับคดีที่ กกต. ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ มายื่นให้กับพรรคไทยรักษาชาติ หลังเมื่อเช้านี้นายรุ่งเรือง พิทยศิริ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมแนบแผ่นซีดีบันทึกข้อมูลเพื่อยืนยันหลักฐานที่อยู่ และไม่มีส่วนรู้เห็นกับการพิจารณารายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค โดยเอกสารดังกล่าว ระบุศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับเอกสารของนายรุ่งเรือง ไว้ประกอบการพิจารณาแล้ว
ตั้ง “บิ๊กป้อม” ประธานสรรหา ส.ว.
เว็บไซต์ WORKPOINT NEWS รายงานว่า วันที่ 26 ก.พ. 2562 พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในส่วนของ คสช. (คณะรักษาความสงบแหง่ชาติ) จำนวน 194 คน ว่า ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาเรียบร้อยแล้ว โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ได้ตั้งให้ตนเองเป็นประธาน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงรายชื่อคณะกรรมการสรรหา พล.อ. ประวิตร บอกว่า ไม่จำเป็นต้องรู้ ยืนยันมีตัวแทนสัดส่วนจากหลากหลายสาขาอาชีพและจะไม่เอาทหารใกล้เกษียณมาเป็น ส.ว.
เมื่อถูกถามว่า มีการโจมตีในประเด็นการเลือก ส.ว. ว่าตั้งมาเองแล้วก็มาเลือกนายกรัฐมนตรีและพรรคพลังประชารัฐ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ก็แล้วแต่สื่อ สื่อจะให้เลือกอย่างไร
ต่อกรณีดังกล่าว เว็บไซต์ PPTVHD36 รายงานว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้ปฏิเสธที่จะให้เหตุผลในการแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตร เป็นประธานสรรหา ส.ว. โดยย้อนถามนักข่าวกลับมาว่า “ทำไมล่ะ” พร้อมเดินกลับตึกไทยคู่ฟ้าทันที
ศาลอุทธรณ์พิพากษา “ยุงยุทธ” คุกสองปีไม่รอลงอาญา คดีที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์
วันที่ 28 ก.พ. 2562 เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฐานใช้ตำแหน่งอำนาจหน้าที่โดยมิชอบช่วยเหลือ บริษัท อัลไพน์เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ให้การซื้อขายที่ดินอัลไพน์กระทำได้ ทั้งๆ ที่เป็นที่ธรณีสงฆ์
ศาลเห็นว่านายยงยุทธกระทำผิดจริง จึงพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยเป็นการพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และไม่รอลงอาญา
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษา จำคุก 2 ปีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อายุ 71 ปี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จากกรณี ป.ป.ช. ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง เมื่อเดือน มิ.ย. 2555 ชี้มูลความผิดกล่าวหา นายยงยุทธ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2544 ในการจดทะเบียนโอนมรดกและโอนสิทธิขายที่ธรณีสงฆ์ของที่ดินวัดธรรมามิการามวรวิหาร จ.ปทุมธานี จำนวน 732 ไร่โดยมิชอบ ซึ่งกรณีของนายยงยุทธ เป็นการพิจารณาต่อเนื่องมาจากที่ ป.ป.ช. เคยชี้มูลความผิดนายเสนาะ เทียนทอง อดีต รมช.มหาดไทย
โดยนายยงยุทธได้เพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดิน ปี พ.ศ. 2544 ที่ได้ยกเลิกโฉนดที่ดินแบ่งแยกและเพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนมรดก ระหว่างมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้จัดการมรดกกับมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ผู้รับโอน และระหว่างมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ขายที่ดินให้กับบริษัทอัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัทอัลไพน์กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด ผู้ซื้อ อันเป็นการโอนที่ธรณีสงฆ์โดยมิชอบ
ปากีฯ สั่งปิดน่านฟ้าหลังยิ่งเครื่องบินรบอินเดียตก
วันที่ 28 ก.พ. 2562 เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานว่า ปากีสถานสั่งระงับเที่ยวบินพาณิชย์ตามสนามบินใหญ่ๆ ในแคว้นไคเบอร์ปัคตุนฮวา และแคว้นปันจาบทั้งหมด หลังจากความตึงเครียดบริเวณชายแดนระหว่างปากีสถานและอินเดียเพิ่มสูงขึ้น
สำนักงานการบินพลเรือนปากีสถาน (CAA) ประกาศข่าวเรื่องนี้ผ่านทวิตเตอร์ของพวกเขา โดยระบุว่า “สำนักงานการบินพลเรือนแห่งปากีสถานขอประกาศปิดน่านฟ้าอย่างเป็นทางการจนกว่าจะมีการแจ้งเพิ่มเติม”
บริการการบินที่สนามบินต่างๆ ในเมือง ลาฮอร์, เปศวาร์, มูลตาน, ไฟซาลาบัด, การาจี, ซิอัลโกต และกรุงอิสลามาบัด ถูกระงับหลังจากกองทัพอากาศปากีสถานอ้างว่ายิงเครื่องบินรบ 2 ลำของอินเดียจนตก และอ้างว่าจับตัวนักบินอินเดียได้ 2 คน
ขณะที่ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกกับหนังสือพิมพ์ ดอว์น (Dawn) ของปากีสถานว่า ท่าอากาศยานนานาชาติเปศวาร์จะถูกใช้เพื่อการทหารจนกว่าจะมีการเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อีกครั้ง และมีการประกาศเตือนภัยระดับสีแดงด้วย ด้านผู้จัดการสนามบินเมืองลาฮอร์ เผยว่า เที่ยวบินขาเข้าและขาออก ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศถูกระงับจนกว่าจะมีคำสั่งอื่น
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน สำนักงานการบินพลเรือนอินเดีย (DGCA) ประกาศระงับเที่ยวบินที่สนามบิน 9 แห่งในเมืองศรีนคร, ชัมมู, เลห์, ปถานคต, อมฤตสาร์, ชิมลา, คังกรา, คุลลู มานาลี และพิธรการห์ ตั้งแต่ 27 ก.พ. ไปจนถึง 27 พ.ค. แต่ล่าสุด DGCA เผยว่า สนามบินในเมืองดังกล่าวกลับมาให้บริการตามปกติแล้ว
ทั้งนี้ ปากีสถานยิงเครื่องบินรบของอินเดียตก เพื่อตอบโต้ที่อินเดียส่งเครื่องบินรบข้ามเส้นแบ่งเขตหยุดยิงระหว่างทั้ง 2 ประเทศในแคว้นแคชเมียร์ ไปทิ้งระเบิดโจมตีเป้าหมายในปากีสถานเป็นครั้งแรกในรอบ 48 ปี หลังจากเกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธจุดระเบิดโจมตีขบวนรถตำรวจอินเดียเมื่อ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 ราย