ThaiPublica > คอลัมน์ > ประชุมศาลาประชาคม กลุ่มธุรกิจตลาดทุน ภัทร (ตอนจบ) : ความยั่งยืนที่สร้างได้

ประชุมศาลาประชาคม กลุ่มธุรกิจตลาดทุน ภัทร (ตอนจบ) : ความยั่งยืนที่สร้างได้

2 มีนาคม 2019


บรรยง พงษ์พานิช

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/banyong.pongpanich

ตอนที่2

ขอต่อตอนที่สามเลยนะครับ…

…แล้วก็มาถึงเรื่องสุดท้าย คือการ “ได้ภูมิใจ” ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เรามีมากคนและต่างคนก็ต่างมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน มีฉันทะไม่เหมือนกัน แต่ที่นี่ เราพยายามสร้างหลักการที่ชัดเจน สร้างฉันทะร่วมขององค์กรที่ทุกคนเข้าใจได้และ buy-in ได้ง่าย เราทำงานอยู่ในตลาดทุน เราก็เข้าใจหน้าที่ที่ตลาดทุนมีต่อระบบเศรษฐกิจ นั่นก็คือ “จัดสรรทรัพยากร” (resource allocation) ซึ่งตลาดทุนที่ดีนั้นต้อง “รวบรวมทรัพยากรได้พอเพียง จากแหล่งที่เหมาะสม มีต้นทุนทรัพยากร (ต้นทุนการเงิน) ที่แข่งขันได้ แล้วจัดสรรได้ดีให้กับคนที่ควรได้รับ (คนที่สามารถสร้างผลิตผลได้ดี) มีกระบวนการติดตามทรัพยากรที่ดี และมีการจัดสรรใหม่ได้ดี”

ดังนั้น อุดมการณ์ร่วมของภัทรก็ง่ายมากครับ คือ เราต้องการประกอบธุรกิจในตลาดทุนที่ดี ต้องการช่วยสร้างตลาดทุนที่ดีให้กับระบบเศรษฐกิจ ให้กับประเทศนี้ ไปพร้อมๆ กับการสร้างกำไร สร้างความมั่งคั่งของพวกเรา เรายึดมั่นในแก่นปรัชญาทุนนิยมที่ว่า “เราจะมีกำไรอย่างยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อคุณค่าของสินค้าและบริการที่เราสร้างขึ้นนั้นมีมากกว่าราคาที่ลูกค้าและสังคมจ่ายให้เรา เท่านั้น”

…ตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมา ผมมีความภูมิใจอย่างที่สุดที่ภัทรได้ช่วยตลาดทุนไทยอย่างมากมายยิ่งกว่าบริษัทหลักทรัพย์ใดๆ ในโลกนี้ ตลาดหลักทรัพย์ไทยที่มีขนาดสิบหกล้านๆ และมี free-float อยู่แปดล้านๆ บาทนั้น มีลูกค้าสถาบันทั้งในและนอกรวมกันกว่าหกล้านๆ บาท เป็นลูกค้าเราเกือบครึ่งหนึ่ง

…เราเอาเงินทุนต่างชาติเข้าประเทศมามากกว่า 1.5 ล้านๆ และก็ล้วนเป็นเงินทุนคุณภาพที่ช่วยให้กระบวนการจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดมาตรฐานบรรษัทภิบาลที่ดี ใครจะว่าเราเอาต่างชาติมายึดประเทศเราก็ไม่หวั่นไหวเพราะเรามั่นใจว่าประโยชน์มีมากกว่ามากมาย

…เราเป็นสถาบันการเงินไทยแห่งแรกที่ให้บริการ private wealth ตามมาตรฐานสากล

…ภัทรได้จัดจำหน่ายหุ้น (equity underwriting) มารวมกันกว่าแปดแสนล้านบาท ทำให้เกิดบริษัทไทยที่ดีขนาดใหญ่มากมาย มีการลงทุนการจ้างงานในจำนวนมากกว่านั้นอีกหลายเท่าตัว

…ภัทรเป็นที่ปรึกษา Merger&Acquisition มากว่าล้านๆ บาทแล้ว ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว M&A ช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจเพิ่มประสิทธิภาพได้มาก

…ถ้าใครบอกว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นการขายชาติ ผมนี่แหละที่ขายชาติมาหกครั้งแล้ว เพราะรัฐวิสาหกิจเกือบทุกแห่งในตลาดหลักทรัพย์นั้น ภัทรเป็นคนทำ IPO แทบทั้งนั้น ใครจะด่ายังไง ขอให้มั่นใจว่าเราช่วยชาติ ทำประโยชน์ให้ชาติอย่างมหาศาล ถ้า ปตท. ไม่เข้าตลาดเราไม่มีทางมีบริษัทระดับโลกที่มีกิจการมั่นคงอย่างนี้ ถ้า ปตท.สผ. ไม่เข้าตลาดก็ไม่มีทางที่จะของบประมาณรัฐไปเสี่ยงทำธุรกิจขุดเจาะหาพลังงานได้หรอกครับ ถ้า AOT ไม่เข้าตลาดก็ไม่รู้ว่าจะมีเงินสร้างสุวรรณภูมิได้เสร็จเมื่อไหร่ ถ้าแบงก์กรุงไทยไม่เข้าตลาดป่านนี้คงจะแย่เหมือนๆ กับธนาคารอิสลามก็เป็นได้

…นอกจากผลงานที่เป็นตัวเลขที่ผมกล้ายืนยันว่าไม่มีใครในตลาดทุนไทยเทียบภัทรได้แล้ว เรายังช่วยพัฒนาตลาดทุนในเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะสร้างกระบวนการ หรือผลิตภัณฑ์มาตรฐานที่ทำให้ใครๆ ต้องทำตาม เช่น เรื่อง book-building เช่น private wealth เช่น สินค้าอนุพันธ์ต่างๆ

…ผมกล้าพูดอย่างเต็มปากว่า กำไรที่เราได้นั้น น้อยกว่าประโยชน์ที่ลูกค้าและสังคมได้ พวกเราต่างก็สละเวลาเข้าไปช่วยงานส่วนกลางกันมาตลอด ผมเองเคยเป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทยให้รัฐบาล เคยเข้าไปพยายามช่วยเผด็จการปฏิรูปประเทศ (ถึงจะไม่สำเร็จและถูกดีดออกมาก่อนก็เถอะ) เราภูมิใจได้ว่า ท่ามกลางความสำเร็จ ท่ามกลางความมั่งคั่งของพวกเรา เราทำประโยชน์ให้ส่วนรวมด้วยตลอดมา ชาวภัทรนั้นไม่ต้องถือคติที่ถูกพรำ่สอน ถูกบังคับให้ท่องว่าให้แยกแยะประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตนออกจากกัน แล้วเป็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนส่วนตัว ซึ่งทุกคนท่องกันแล้วก็ไม่มีใครทำได้สักคน เพราะสำหรับพวกเรานั้น เราหล่อหลอมให้ประโยชน์ตนกับประโยชน์ท่านนั้นเป็นเรื่องเดียวกันมาตลอด

ทั้งหมดนั่นคือเรื่องของการทำที่ทำงานให้เป็นสวรรค์ ให้มีความหมาย ผมนั้นทำงานที่นี่มา 42 ปีไม่เคยเปลี่ยนงานเลย จากเสมียนเคาะกระดานตลาดหุ้น จากพนักงานชั้นต้นเงินเดือน 2,450 มาจนได้เป็นประธาน คนจำนวนมากเปลี่ยนงาน หาที่ทำงานที่เหมาะกับตน ที่จะเป็นสวรรค์ของตน แต่ผมตัดสินใจมากว่าสามสิบปีแล้วว่าจะสร้างมันแทนที่จะวิ่งหา

…และก็แน่นอนครับไม่มีอะไรที่จะสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว ผมแค่มีส่วนมาชักชวนเพื่อนๆ ที่มีทัศนคติสอดคล้องกัน ที่มีจุดมุ่งหมายใกล้เคียงกันมาร่วมกันทำเพื่อให้ที่นี่เป็นสวรรค์สำหรับทุกคนที่มาร่วม ไม่ใช่สำหรับผมหรือใครคนเดียวกลุ่มเดียว

เรื่องราวง่ายๆ เป้าหมายง่ายๆ หลักการง่ายๆ แต่ยึดถือและทำอย่างต่อเนื่องมาอย่างมุ่งมั่นจริงจังอย่างที่เล่ามาทั้งหมดนี่แหละครับ ที่ทำให้ภัทรเป็นอย่างที่เราเป็นในวันนี้ และทำให้ผม จากเด็กธรรมดามาจากบ้านนอกคนหนึ่ง จากคนที่ไม่ได้เก่งกาจอะไร แต่ได้โอกาสมาอยู่ มาทำร่วมกับชาว “ภัทร” ทั้งหลาย ทั้งที่ยังอยู่และที่เคยอยู่ เลยทำให้ได้มีวันนี้ ได้ตั้งตัว ได้ประสบผลสำเร็จมีชื่อเสียงตามควร และที่สำคัญที่สุด ได้ทำงานที่มีความหมาย ได้ภูมิใจว่าสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นและสังคมพร้อมๆ ไปกับประโยชน์ตน

วันนี้เราไม่มี “ภัทร” แต่โดดๆ แล้ว มีแต่กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ซึ่งก็ชัดเจนว่าจะสานต่อแนวทางอย่างเดิมต่อไปร่วมกัน ผู้บริหารรุ่นใหม่ที่นำโดยคุณอภินันท์และคนอื่นๆ ก็คงจะสานต่อหลักเดิมกับเพิ่มหลักการใหม่ๆ ที่ดีขึ้นมาต่อไป …แน่นอนครับ โลกอนาคตนั้นเป็นโลกแห่ง VUCA ที่มีแต่ความผันผวน (votality) ความไม่แน่นอน (uncertanty) ความซับซ้อน (complexity) และความคลุมเครือ (ambiguity) ธุรกิจการเงินที่เราทำอยู่คงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ต้องถูก disrupt อย่างมโหฬารต่อไป แต่ผมมั่นใจว่า ถ้าเรายึดหลักการที่จะทำให้เป็นองค์กรที่ผู้ร่วมทุกคน “ได้เรียน-ได้ทำ-ได้สตางค์-ได้สนุก-ได้ภูมิใจ” แล้ว ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นพวกเราก็จะฝ่าฟัน ประสบผลสำเร็จและมีความสุขได้

พูดมายืดยาว ทั้งๆ ที่เขาขอให้มาพูดเปิดนิดเดียว เห็นจะต้องจบเสียที แต่ยังไม่ไปไหนหรอกครับ ยังอยู่เรียนรู้ด้วยกันต่อไป คงจะมีโอกาสได้มาพล่ามให้ฟังในเรื่องอื่นๆ อีกในโอกาสอันควร

สวัสดีครับ

ป.ล. ต้องขอสารภาพว่า ที่พูดวันนั้นเป็นการพูดสด แล้วจำเอามาเขียนเล่า พอเขียนจริง ยาวและละเอียดกว่าที่พูดเยอะ แถมใส่อารมณ์เพิ่มไปไม่น้อยเพราะมานั่งเขียนบนเครื่องบิน จิบไวน์จิบแชมเปญไปด้วย ใครทนอ่านจนจบหวังว่าจะได้ประโยชน์บ้างนะครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562