ThaiPublica > คอลัมน์ > ประชุมศาลาประชาคม กลุ่มธุรกิจตลาดทุน ภัทร ตอนที่ 1 : กำพืดภัทร-กำพืดเตา

ประชุมศาลาประชาคม กลุ่มธุรกิจตลาดทุน ภัทร ตอนที่ 1 : กำพืดภัทร-กำพืดเตา

2 มีนาคม 2019


บรรยง พงษ์พานิช

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/banyong.pongpanich

เมื่อวันจันทร์ที่ 11 ก.พ. 2562 มีการจัดประชุมทั้งกลุ่มภัทร อันประกอบด้วย บริษัททุนภัทร, บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ภัทร ที่มีพนักงานรวมกันกว่า 500 คน โดยเป็นการประชุมพนักงานทุกคนเป็นครั้งแรกในรอบกว่าสามปี ซึ่งผมตั้งชื่อการประชุมเช่นนี้ว่า “ประชุมศาลาประชาคม” แทนที่ “town hall” ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เราทำ management buy out ซื้อหุ้นกลับจาก Merrill Lynch ในปี 1996

ในการเริ่มประชุม ผมได้รับมอบหมายให้เล่าเรื่องประวัติ พัฒนาการ และหลักการต่างๆ ที่ทำให้เราก่อร่างสร้างตัวจนมาถึงจุดนี้ได้ ซึ่งเป็นการพูดสดที่แทบจะไม่มีสคริปต์ มีเพียงโน้ตไม่กี่บรรทัด ก่อนที่จะลืม เลยขอเอามาเรียบเรียงไว้กันลืมหน่อยนะครับ

…สวัสดีครับ เพื่อนชาวภัทรทุกคน ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ได้รู้ว่าพวกเราเดี๋ยวนี้มีรวมกันมากกว่าห้าร้อยคนแล้ว เป็นการขยายตัวที่มากทีเดียว เพราะตลอดยี่สิบกว่าปีก่อน 2014 เราไม่เคยมีเกินสามร้อยคนเลย พอมีเกินสามร้อยทีไรก็มีเหตุให้ต้องเลย์ออฟใหญ่ทุกทีไป ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติ 1997 เทคบับเบิลแตก 2001 วิกฤติ 2008 หรือวิกฤติย่อยอื่นๆ แต่คราวนี้ผมเชื่อว่าเราปักฐานมั่นคงขึ้น หวังว่าแม้จะต้องเผชิญกับ great disruption ในตลาดการเงินในอนาคตอันใกล้อย่างค่อนข้างจะแน่นอน พวกเราก็จะปรับตัวฟันฝ่าร่วมกันไปได้

…แต่ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ ถ้าแม้ว่าโลกเปลี่ยน สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน จนไม่มีเหตุผลที่พวกเราจะต้องอยู่ร่วมกันอีกต่อไป ผมก็ยังเชื่อว่า “คนภัทร” จะเอาตัวรอดและรุ่งเรืองไปได้ เพราะเราเชื่อว่า Job security is what you have, not where you are. ที่ภัทรนั้น เรามีหลักการที่จะส่งเสริม กดดันให้ทุกคนได้เรียนรู้ ได้เพิ่มทักษะให้เต็มที่ ให้พ้นศักยภาพเดิมเสียด้วยซำ้ เราพยายามที่จะให้ทุกคน “have” ให้มากที่สุดอยู่แล้ว

เนื่องจากมีเพื่อนพนักงานใหม่ๆ เป็นจำนวนมากที่เพิ่งเข้ามาในสามปีนี้ ผมก็เลยจะถือโอกาสเล่ากำพืด ความเป็นมา พัฒนาการ และหลักการ ในการทำงานร่วมกันของเราให้ฟัง ส่วนพวกหน้าเก่าที่บางคนฟังมาหลายสิบครั้งแล้ว ก็ขอให้ทนฟังอีกสักครั้ง ถ้าเบื่อจะอ่านเฟซบุ๊กเล่นไลน์กันไปบ้างก็ไม่ว่ากัน

“ภัทร” นั้น ก่อตั้งในปี 1972 ภายใต้ชื่อ บงล.ภัทรธนกิจ (บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์) เมื่อคราวที่มีกฎหมายอนุญาตให้ใครก็ตามที่อยากตั้งบริษัทเงินทุนและมีทุนจดทะเบียนยี่สิบล้านบาท กับยอมอยู่ใต้กำกับของแบงก์ชาติมาตั้งได้ เพื่อให้กิจการทรัสต์เถื่อนซึ่งเกิดขึ้นดาดดื่นในสมัยนั้นมาอยู่ในการควบคุม มีบริษัทเงินทุนเกิดขึ้นในคราวนั้นประมาณหนึ่งร้อยแปดสิบแห่ง ซึ่งภายหลังล้มตายเจ๊งปิดไปเกือบเรียบ เหลือแค่ไม่เกินห้าแห่งที่ปัจจุบันกลายเป็นธนาคารไปเกือบหมดแล้ว

…ผู้ถือหุ้นแรกเริ่มของภัทรธนกิจเป็นของตระกูลล่ำซำและธุรกิจในเครือ เช่น ธนาคารกสิกรไทย เมืองไทยประกันชีวิต ล็อกซเล่ย์ ภัทรประกันภัย ซึ่งขอบอกเลยว่า เราโชคดีมากที่ได้ผู้ถือหุ้นที่ดีจริงๆ ทั้งให้โอกาส ให้เกียรติ ให้ได้ทำ เอื้อเฟื้อใจกว้างให้พวกเราได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเฉลี่ย และที่สำคัญไม่เคยเบียดเบียน กับทั้งคอยช่วยเหลืออุ้มชูเมื่อถึงคราวลำบาก ซึ่งถ้าหากไม่มีผู้ถือหุ้นเช่นนี้ เราไม่มีทางที่จะมีวันนี้ได้เลย

…ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าผู้ถือหุ้นเดิมจะไม่ได้ถือหุ้นแล้วตั้งแต่ปี 2546 แต่ผมขอให้พวกเรารำลึกถึงบุญคุณไว้ตลอดไปนะครับ

ผมจะขอเล่าถึงเหตุการสำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ 47 ปี ที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งการได้เรียนรู้ครั้งใหญ่ของพวกเรานะครับ

ในปี 1975 มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งภัทรก็ได้เข้าเป็นสมาชิกเริ่มแรกหนึ่งในสามสิบราย และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจในตลาดทุน อันถือเป็นต้นกำเนิดของพวกเราก็ว่าได้

พอกลางปี 1977 ตลาดหลักทรัพย์เกิดบูมขึ้นมาอย่างไม่มีปี่ขลุ่ยและไม่มีเหตุผล (ซึ่งก็พังลงในสองปีต่อมา) แต่นั่นก็เลยทำให้เกิดจุดเปลี่ยนเล็กๆ แต่สำคัญ เพราะภัทรก็เลยรับเอาเด็กหนุ่มเกเรจบ 2.0 แทบไม่มีวิชาความรู้ใดๆ แต่ถนัดทางการเบาะแว้งเบียดกระแทกแย่งซื้อขายในฟลอร์ค้าหุ้น ชื่อไอ้เตา เข้ามาร่วมงาน (หัวเราะ)

หลังจากตลาดหุ้นพังและซบเซาไปร่วมเจ็ดปีจนพนักงานด้านหลักทรัพย์ลดจากห้าสิบคนเหลือแค่ห้าคน (ตลาดหุ้นมีซื้อขายเฉลี่ยต่อวันแค่สิบเอ็ดล้านบาทในปี 1983) พอปี 1986 ตลาดเริ่มกลับมาคึกคักเพราะสถาบันต่างชาติเริ่มเข้ามาลงทุนตามกระแส “emerging markets” เราก็เลยได้มานั่งคิดถึงรูปแบบธุรกิจตลาดทุนกันใหม่ ผู้บริหารนำโดยคุณวิโรจน์ นวลแข ตัดสินใจวางรูปแบบตามอย่างสากล นำหลักการ global best practices มาใช้ ยอมลงทุนทำเรื่องยากทั้งๆ ที่คนอื่นๆ เขาก็ “แบบไทยๆ” หากินเอารวยง่ายรวยเร็วกันทั้งนั้น …เช่น

…ภัทรเป็น บล. แรกที่ตั้งฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ในปี 1987 ขณะที่คนอื่นใช้แต่กึ๋นผู้บริหาร ใช้แต่ข้อมูลวงใน ข่าวลือข่าวปั่น (บล. ที่สองที่ตั้งฝ่ายวิจัยตั้งในปี 1990)

…ภัทรตั้งฝ่ายวานิชธนกิจแรกในปี 1987 โดยแยกเป็นเอกเทศเต็มเวลา ขณะที่คนอื่นใช้พนักงานสินเชื่อบ้าง ค้าหุ้นบ้าง มาทำกันเฉพาะกิจ

…ภัทรใช้ระบบป้องกันความขัดแย้งอย่างเคร่งครัด มี Chinese wall ระหว่างฝ่ายต่างๆ (ที่จนวันนี้ยังไม่รู้ว่าบริษัทอื่นๆ เขาทำกันหรือยัง) มีกฎห้ามพนักงานและผู้บริหารจองซื้อหุ้น IPO (เราทำกันก่อนมี กลต. ตั้งห้าปี)

…ภัทรเปลี่ยนระบบการขายหุ้น IPO จาก club deal (พวก บล. ร่วมกันไปดีลกับผู้ออกหลักทรัพย์) มาเป็น book building (ช่วยผู้ออกหลักทรัพย์ไปดีลกับตลาด) ในขณะที่คนอื่นยึดมั่นแบบเดิม จนทำให้มี IPO marketshare เกือบ 60%

…เรียกได้เลยว่าเราเหมือนเป็น “แกะดำ” ทำตัวไม่เหมือนใคร ผมถูกค่อนแคะตลอดว่า “เรื่องมาก” บ้าง “บ้าฝรั่ง” บ้าง แต่เราก็ยึดมั่นเพราะมั่นใจว่า กูนี่แหละเป็นแกะขาว

ช่วงที่ตลาดบูมขึ้นมาเพราะ globalization นั้น กองทุนต่างชาติซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ฝรั่งที่มาสั่งผ่านสมาชิกโบรกเกอร์ไทยอีกทีแล้วแบ่งเศษค่าคอมมาให้ และการที่ภัทรมี IPO marketshare สูงมาก ทำให้โบรกเกอร์ฝรั่งที่มี volume สูงๆ อยากมาเป็นพาร์ตเนอร์ด้วย แต่ในที่สุดในปี 1991 เราก็ตัดสินใจไปเลือกเป็นพาร์ตเนอร์กับ SG Warburg ซึ่งถือว่าดีที่สุดในประเทศอังกฤษเวลานั้น แต่ยังไม่ขยายธุรกรรมมาเมืองไทยเลย เราตกลงสร้างงานวิจัยร่วมกัน ตั้งฝ่ายบริการลูกค้าร่วมกัน ยอมรับกฎระเบียบเข้มของอังกฤษ เราเลือกที่จะเรียนรู้ด้วยกัน พัฒนาด้วยกันกับเขา สร้าง marketshare จากศูนย์ร่วมกัน เรียกว่าเลือกทางยากมากกว่าจะเอาง่ายๆ เลือกคนที่มีโวลุ่มสูงๆ อยู่แล้ว ซึ่งการตัดสินใจครั้งนั้นทำให้เราได้โอกาสพัฒนาตัวเองได้เรียนรู้อย่างมาก และเป็นฐานสำคัญที่ทำให้ไม่ต้องปิดตัวเมื่อคราววิกฤติ

ผลจากความมุมานะ ในที่สุดก็ส่งผลให้ “ภัทรธนกิจ” โดดเด่นมากในธุรกิจตลาดทุน ตั้งแต่ปี 1992 เราก็มี marketshare เป็นอันดับ 1 ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง (ทำให้ SG Warburg ได้อันดับหนึ่งไปด้วย) รวมไปถึงตลาดตราสารหนี้ด้วย (ซึ่งเรื่องนี้เรายังทำเป็น club deal ร่วมกับพันธมิตรสามสี่ราย)

…แต่พอปี 1995 SGW ดันไปควบรวมกับ Swiss Bank Corp. (ภายหลังควบรวมอีกทีกับ UBS) ซึ่งดันมีหุ้นอยู่ใน บงล. อื่น เขาเลยขอหย่าขอเลิกกับเรา (ซึ่งไม่กี่ปี บงล. นั้นก็เจ๊งเรียบร้อย) เราก็เลยต้องหาคู่ค้าใหม่ ไปร่วมมือกับ Goldman Sachs สัญชาติอเมริกันที่ทั้งเก่งทั้งเขี้ยวทั้งเรื่องมากที่สุดในโลกแทน ยิ่งทำให้เราเรียนรู้มากขึ้นไปใหญ่

การเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ …เรารุ่งเรืองนำหน้าฟู่ฟ่าอยู่ไม่นาน พอปี 1997 ประเทศไทยก็เกิดวิกฤติการเงิน “กุ้ง” ครั้งยิ่งใหญ่ โดยตลาดทุนซบเซานำหน้าตั้งแต่ปี 1996 ในวิกฤติครั้งนั้นสถาบันการเงินไทยล้มระเนระนาดไปกว่าร้อยแห่ง เหลืออยู่เป็นเอกชนได้ไม่ถึงสิบแห่ง “ภัทรธนกิจ” ก็เช่นกัน ต้องปิดตัวลงในปี 1999

…แต่ด้วยการยอมรับความจริง (face the brutal fact) เราก็เลยแยกธุรกิจตลาดทุนออกมาตั้ง บล.ภัทร แล้วขายหุ้น 51% ให้กับ Merrill Lynch อีก 49% ให้กับธนาคารกสิกรไทยในกลางปี 1998 ซึ่งนอกจากจะทำให้ บล.ภัทร เป็น บล. เดียวที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของ บงล. ที่ปิดตัวไปเพราะวิกฤติแล้วยังดำรงอยู่ได้จนทุกวันนี้ ยังทำให้พวกเราทุกคนได้ “โอกาส” ที่ดีและสำคัญที่สุดในชีวิตที่จะได้เรียนรู้พัฒนาตัวเองไปสู่ “ระดับโลก” อย่างแท้จริง ผมเคยบอกพวกเราเมื่อครั้งนั้นว่า พวกเราสองร้อยกว่าคน ถ้าเรียนจบแล้วไปสมัครงาน Merrill ผมว่าเขารับอย่างมากก็สามคน แต่นี่เราทุกคนได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรระดับโลก ก็ขอให้ทุกคนใช้โอกาสตักตวงความรู้ พัฒนาตัวเองให้เต็มที่

เรียนรู้พัฒนาภายใต้ชื่อ Merrill Lynch Phatra อยู่ได้ห้าปี พอปี 2003 เราก็ได้เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้สืบเนื่องมาจากการเปลี่ยน global strategy ของ Merrill ที่ขอให้เราลดขนาด ลดขอบเขตการทำธุรกิจลง เราเลยถือโอกาสทำ management buy-out ซื้อหุ้นทั้งหมดคืนมาโดยผู้บริหารและพนักงานกว่า 40 คน และยังคงมีสัญญาทำธุรกิจ cross-border ร่วมกัน ซึ่งนอกจากทำให้เราได้ทำธุรกิจขยายตัวต่อเนื่องแล้ว มูลค่าที่ซื้อมาโดยใช้เงิน 500 ล้านบาท (จากที่ขายไปเมื่อห้าปีก่อน 5,200 ล้าน) นั้น วันนี้ก็มีมูลค่าประมาณหมื่นล้านบาท ทำให้พวกเราลืมตาอ้าปาก ตั้งตัวกันได้ดีทีเดียว นับเป็นกลุ่ม professional ที่มั่งคั่งจากอาชีพสุจริตกลุ่มหนึ่งของประเทศ

กลับมาเป็น บล.ภัทรได้สองปีเราก็เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และพอถึงปี 2012 เราก็คิดว่าธุรกิจหลักทรัพย์แบบอิสระคงจะถึงทางตัน เติบโตได้ยาก จึงเข้าควบรวมกับ ธนาคารเกียรตินาคิน ซึ่งเป็นธนาคารขนาดเล็กดำเนินกิจกรรมได้จำกัด …การตัดสินใจในครั้งนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย แต่ในที่สุดเราก็ร่วมกันพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี สามารถขยายทั้งธุรกิจ รายได้ และกำไร จากกำไรรวมแค่ปีละสองพันล้านเมื่อห้าปีก่อน วันนี้เรามีกำไรปีละร่วมหกพันล้านบาท แถมการดำเนินงานมีความมั่นคงขึ้น เทียบกับพวกบริษัทหลักทรัพย์ อิสระอื่นๆ ที่วันนี้เหลือกำไรแค่ครึ่งเดียวของเมื่อห้าปีก่อน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณคุณอภินันท์ (เกลียวปฏินนท์) ด้วย ที่ยอมย้ายจากเป็น president ของภัทร ไปเป็น president และ CEO ของกลุ่ม รวมทั้งผู้บริหารอื่นๆ และพนักงานทุกคนที่ร่วมมือร่วมใจกันมาตลอดทาง

ทั้งหมดที่เล่ามา เป็นประวัติ 47 ปีของภัทร และประวัติการทำงาน 42 ปีของผมโดยสังเขป ซึ่งตั้งแต่ควบรวม เราจะไม่มีเรื่องราวของ “ภัทร” แต่โดดๆ อีกแล้ว เราจะมีก็แต่เรื่องราวของ “กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร” ที่จะทำงานร่วมกันฟันฝ่าไปด้วยกัน พวกเราห้าร้อยกว่าคนก็จะหลอมรวมเป็นพวกเดียวกับทั้งกลุ่มกว่าสี่พันคนร่วมสร้างความสำเร็จไปด้วยกัน

อ่านตอน 2

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กBanyong pongpanich วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562