ThaiPublica > คอลัมน์ > “ป๋วยทอล์ค” ทัศนะว่าด้วยการศึกษา : การเตรียมเยาวชนเข้าสู่ประชาคมโลก

“ป๋วยทอล์ค” ทัศนะว่าด้วยการศึกษา : การเตรียมเยาวชนเข้าสู่ประชาคมโลก

31 มีนาคม 2015


บรรยง พงษ์พานิช

ที่มาาภาพ : เฟซบุ๊กBanyong Pongpanich
ที่มาาภาพ : เฟซบุ๊กBanyong Pongpanich

อย่างที่บอกแหละครับ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา แต่การใดที่อาจจะสนองคุณคนที่มีบุญคุณต่อชาติได้ ผมก็ย่อมจะต้องสนอง มีผู้ขอให้เอาบทพูด 15 นาที ของผมมาโพสต์อีกทีครับ

ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก

เราเข้าสู่ประชาคมโลกมาเนิ่นนาน และความเชื่อมโยงกับประชาคมโลก ก็ได้ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตลอดมาพร้อมๆ ไปกับโลกาภิวัตน์

การร่วมอยู่ในประชาคมโลก หมายถึงว่าเราได้รับโอกาสที่จะได้เรียนรู้ ได้แบ่งปันความรู้ และวิทยาการที่ถูกค้นคว้าพัฒนาจากทั่วทุกมุมโลกตลอดช่วงอารยธรรมของมนุษย์และสะสมไว้เป็นภูมิปัญญาสากล

แต่ในขณะเดียวกัน การเข้าสู่ประชาคมโลก ยังหมายถึงว่าเราจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ กับผู้คนทั่วทุกมุมโลก เพื่อแย่งชิงทรัพยากร แข่งขันในการพัฒนา เพื่อจะได้มีที่ยืนที่มั่นคงและสง่าผ่าเผยในประชาคมโลก

ในด้านการศึกษา ก็ย่อมหมายถึงการที่เราทุกคน (ไม่เฉพาะแต่เยาวชน) จะต้องเรียนรู้ติดตามพัฒนาการด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก แล้วนำภูมิปัญญาสากลนั้นมาประสมประสานกับภูมิปัญญาไทย เพื่อนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตน แก่สังคม แก่ประเทศชาติ แก่มนุษยชาติโดยรวมในที่สุด

ซึ่งในแง่นี้ ประวัติชีวิตการศึกษาและการทำงานของอาจารย์ น่าจะเป็นภาพสะท้อนที่ดี ในฐานะคนไทยที่ได้รับโอกาสได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาวิชาการจากประเทศตะวันตกที่เจริญแล้ว ซึ่งเมื่อกลับมาก็ได้ร่วมกับท่านอื่นๆ นำความรู้ที่ได้รับมาปฏิบัติให้เกิดผลประโยชน์แก่สังคมไทย

อาจารย์ป๋วยนับได้ว่าเป็นหัวขบวนสำคัญของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเทคโนแครต (technocrats) ซึ่งก็คือกลุ่มข้าราชการที่ได้รับทุนไปเล่าเรียนศึกษาภูมิปัญญาสากล และนำเอาความรู้ของโลกกลับมาพัฒนาประเทศไทย ซึ่งนอกจากอาจารย์ป๋วยจะริเริ่มแนวทางเช่นนี้ ท่านยังได้ส่งเสริมให้คนไทยจำนวนไม่น้อยได้รับโอกาสเช่นเดียวกับท่าน โดยตลอดเวลาที่ท่านเป็นผู้บริหารหน่วยงานใดก็ตาม การให้ทุนการศึกษาไปเล่าเรียนเอาความเจริญจากประเทศอื่นถือเป็นวาระสำคัญของท่านตลอดมา

ในด้านการทำงานเพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศของอาจารย์ป๋วย ก็ยิ่งสะท้อนภาพชัดเจน สิ่งที่ท่านทำร่วมกับเทคโนแครตท่านอื่นๆ นั้น เป็นการนำเอาระบบวิธีการที่เคยใช้ได้ผลในประเทศพัฒนาแล้วมาดัดแปลงใช้กับประเทศเรา ท่านเป็นผู้นำจัดตั้งและพัฒนาองค์คณะที่สำคัญๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ฯลฯ ซึ่งจะว่าไปแล้ว คุณูปการในด้านนี้ของอาจารย์ ก็เป็นการนำเอาภูมิปัญญาสากล เอาความรู้ของโลกมาปรับใช้กับประเทศไทย ในแนวทาง “ทำประเทศไทยให้เป็นตะวันตก” หรือ “westernize Thailand” นั่นเอง

30 ปีแห่งการทำงานหนัก เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศของอาจารย์ป๋วย กับอีกเกือบ 40 ปีที่เราได้ใช้รากฐานเหล่านั้นเดินต่อมา ประเทศไทยสามารถที่จะถีบตัวจากประเทศที่ยากจนเกือบที่สุดของอาเซียน เมื่อกึ่งพุทธกาล 2500 ดีกว่าแค่เพียงประเทศลาวและอินโดนีเซีย มาเป็นประเทศมั่งคั่งเป็นอันดับ 3 ของ 12 ประเทศ จากประเทศยากจนมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง จากการที่มีคนจนมากถึงครึ่งหนึ่งของประชากรมาเหลือไม่ถึงร้อยละสิบ

มาวันนี้ ปี 2558 โลกเปลี่ยนไปมาก รากฐานและวิธีการแบบเดิมๆ ไม่เพียงพออีกต่อไป ความรู้มีมากมายกว่าเดิมหลายเท่านัก มีสาขาวิชาเพิ่มขึ้นมากมาย มีกระบวนการรวบรวมสะสมและเข้าถึงความรู้ ที่พัฒนาไปถึงขั้นที่ว่าความรู้ในตำรับตำราที่อาจารย์ป๋วยสะสม ในห้องสมุด ธปท. หรือของธรรมศาสตร์ทั้งหมดรวมกัน ยังไม่ถึง 1 ใน 10 ของความรู้ที่จะหาได้ในโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว

กระบวนการเรียนรู้และกระบวนการสั่งสอนต้องเปลี่ยนไป การที่ “ครู” เป็นแหล่งความรู้ ทำหน้าที่ถ่ายทอดส่งสิ่งที่ตัวเองรู้ ลำเลียงความรู้จากตัวผู้รู้ไปสู่ผู้เรียน ในกระบวนการ “chalk and talk” เป็นเรื่องไม่เพียงพออีกต่อไป

โลกทุกวันนี้เป็นโลกแห่งอินเทอร์เน็ต โลกอย่างทุกวันนี้ ไม่ได้เพียง “เสนอ” โอกาสให้เราได้ใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของโลกเท่านั้น แต่ “บังคับ” ว่าเราจำเป็นต้องใช้มันเลยทีเดียว เพราะทุกวันนี้ ไม่ว่าคนๆ หนึ่งสะสมความรู้มากเพียงใด สุดท้ายความรู้นั้นย่อมน้อยและล้าหลังกว่าความรู้ในอินเทอร์เน็ตเสมอไป

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกัน ผู้ที่มีศักยภาพในการเรียนจากอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกกันว่าการเรียนออนไลน์นี้ จะสามารถเรียนได้อย่างเต็มที่กว่าที่คนสมัยอาจารย์ป๋วยจะเรียนได้มากนัก

ด้วยอินเทอร์เน็ต เด็กในเมืองไทยเดี๋ยวนี้ สามารถเรียนได้จากไม่เพียงคุณครูหน้าชั้น แต่อาจเรียนได้จากกูรูของเรื่องนั้นจากหน้าห้องเลคเชอร์มหาลัยชั้นนำของโลก

เว็บไซต์อย่างเช่น Khan Academy มีเรื่องให้เลือกเรียนตั้งแต่การหารสั้นไปจนการกระทบกันของจักรวาล แทบไม่มีเรื่องอะไรที่เกิน “ชั้นเรียน” ของเด็กนั้นๆ

สื่อการสอน ซึ่งเดิมเป็นหนังสือหรือกระดานดำ ปัจจุบันพัฒนาไปไกลมาก จนถ้าเด็กสนใจเรื่องชีวโมเลกุล เดี๋ยวนี้ก็มีวิชวลซิมูเลชัน (visual simulation: การจำลองภาพเสมือนจริง) ที่ให้เด็กสามารถเดินดูภายในโมเลกุลได้ละเอียดลออ เห็นภาพเหมือนกับเดินดูภายในตึก

การจะเปลี่ยนเด็กให้แสวงหาความรู้ได้เองนี้ ครูเองจะต้องเปลี่ยนก่อน ครูในยุคนี้ต้องเป็นผู้เสริมการเรียน มากกว่าผู้ให้ความรู้ ครูจะไม่ได้แค่แสดงว่าความรู้อยู่ตรงไหนในหนังสือ แต่ต้องช่วยนักเรียนหาว่าความรู้อยู่ตรงไหนในโลกแห่งความเป็นจริง ครูจะต้องไม่พยายามตอบ แต่ต้องพยายามช่วยระดมสมองกับเด็กเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาหรือความไม่รู้เฉพาะหน้า ซึ่งวิธีที่จะง่ายที่สุดก็คือครูต้องทำตัวเป็นผู้ที่ยังไม่รู้เหมือนกันกับเด็ก และก็แสดงให้เห็นไปพร้อมกันว่าการหาความรู้นั้นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและงดงาม ต้องสอนเพื่อให้เรียน มากกว่าสักแต่สอนเพื่อให้รู้

สิ่งเหล่านี้ มองเผินๆ เหมือนเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่พิจารณาดีๆ ก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ครูดีๆ ทำกันมาแต่ไหนแต่ไร เพียงแต่เมื่อก่อนทำได้เป็นส่วนน้อย เพราะครูต้องใช้เวลาสอนเนื้อหา แต่ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีได้เอื้อให้สิ่งเหล่านี้ เพราะเนื้อหาก็ให้เด็กค้นเอาจากสื่อออนไลน์ของโลก แล้วครูหันมาใช้เวลากับการกระตุ้นเด็กให้ออกค้นด้วยความกระหายส่วนตน ซึ่งจะเป็นเชื้อที่จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต

การเรียนออนไลน์โดยมีครูเป็นผู้ช่วยอย่างที่ว่ามานี้ นอกจากจะช่วยให้เด็กหาความรู้ได้กว้างและต่อเนื่องแล้ว ยังจะช่วยแก้ปัญหาสำคัญที่สุดของการศึกษาอีกประการหนึ่ง ก็คือการเรียนการสอนแบบตัดเสื้อตัวเดียวให้คนทั้งประเทศใส่ (one size fits all) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว (เด็กคนที่เข้าใจก็เข้าใจ คนที่ไม่ก็ถูกละทิ้ง) ตรงกันข้ามวิธีนี้ จะทำให้การเรียนเป็นเรื่องที่เหมาะกับ “จังหวะ” ของเด็กแต่ละคนได้อย่างที่สุด

เด็กเลือกเรียนในเวลาที่ตัวเองพร้อม และในความเร็วที่ตัวเองพร้อม ชั้นเรียนปกติ เด็กได้ฟังเนื้อหาแค่ครั้งสองครั้ง แต่วิธีนี้ เด็กคนหนึ่งจะฟังเนื้อหากี่ครั้งก็ได้

เด็กแต่ละคนมีเรื่องที่รู้และไม่รู้ไม่เท่ากัน วิธีนี้ จะทำให้เด็กเลือกเนื้อหาที่จะตอบโจทย์ตนเองได้มากที่สุด

ข้อมูลการลองผิดลองถูกหรือเลือกเนื้อหาทั้งหมดในคอมพิวเตอร์ จะถูกส่งไปที่ที่ครู ซึ่งช่วยให้ครูวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างละเอียดกว่าแต่ก่อน และทำให้ง่ายต่อการชี้แนะ

การเรียนออนไลน์ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ในระดับหนึ่ง เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เหมือนกัน คือข้อมูลที่ดีที่สุดของโลก

หากทำได้อย่างนี้ ก็ไม่ต้องกลัวว่าโลกจะเปลี่ยนไปเช่นไร หรือ AEC จะมาเมื่อไหร่ เพราะเด็กมีศักยภาพที่จะเรียนจากความรู้ของโลกที่แปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เป็นพลวัต ไม่ใช่เกาะอยู่กับเพียงชุดความรู้ชุดใดชุดหนึ่งอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้น เด็กที่มีทักษะในการเรียนความรู้จากโลก ย่อมมีทักษะในการเรียนรู้บริบทของประเทศ หรือบริบทรอบตัวด้วย ซึ่งทำให้เขามีศักยภาพที่จะนำเอาความรู้สากลมาปรับใช้ในจุดที่ตัวเองยืนอยู่ได้อย่างเหมาะสม และนั่นน่าจะทำให้ประเทศเรามีอาจารย์ป๋วยเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนไม่น้อย

นี่อาจเป็นวิธีเตรียมการที่ดูไม่แน่ไม่นอน วัดขอบเขตอะไรได้ยาก แต่ความเป็นพลวัตนั้นควรเป็นเป้าของการศึกษามากกว่าความตายตัวอยู่แล้ว เหมือนดังที่กวีวิลเลียม บัตเลอร์ เยตส์ William Butler Yeats กล่าวไว้ว่า “Education is not the filling of a pail, but the lighting of a fire.” – เป้าของการศึกษานั้นไม่ควรเป็นดุจการกรอกน้ำลงถัง แต่ควรเป็นดั่งเช่นการจุดไฟให้ลุกโพลง

Cr: ธนกร จ๋วงพานิช ที่ร่างสปีชให้กว่าครึ่ง

หมายเหตุ ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 28 มีนาคม 2558