ThaiPublica > คอลัมน์ > แปรรูปรัฐวิสาหกิจ (ตอน6) : การขายหุ้น ปตท. 2544 – IPO ครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย

แปรรูปรัฐวิสาหกิจ (ตอน6) : การขายหุ้น ปตท. 2544 – IPO ครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย

20 มีนาคม 2014


เมื่อปีที่แล้ว ผมได้เขียนเรื่อง “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” ไว้ 3 ตอน ยังไม่จบ มีผู้โต้แย้งเข้ามาพอสมควร พอดีมีเรื่องอื่นๆ ชวนให้ไปเขียนหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาความแตกแยกที่เริ่มปะทุและยกระดับความร้าวลึกขึ้นมา เลยยังไม่ได้สานต่อเสียที

มาวันนี้ วันที่ความแตกแยกเริ่มบานปลาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกาศตนว่า “รักชาติสุดชีวิต” ในกลุ่ม กปปส. เริ่มมีความเห็นต่างกันเอง โดยเฉพาะเรื่อง “การปฏิรูปพลังงาน” ซึ่งเกินเลยไปจนมีการเรียกร้องใหญ่โตให้ทวงคืน หรือ ริบคืน “ปตท.” ให้กลับไปเป็นของรัฐ (อยู่ใต้อุ้งมือนักการเมือง 100%) เหมือนเดิม

ผมเห็นเป็นโอกาสเหมาะ ที่จะต่อเรื่อง “การแปรรูปฯ ” ที่เขียนคั่งค้างไว้ให้จบ รวมไปถึงจะวิจารณ์ประเด็นร้อนเรื่องพลังงานด้วยเลย จึงขออนุญาตเอา 3 ตอนที่เขียนไว้มาโพสต์อีกที พร้อมทั้งเขียนตอนต่อเพิ่มเติม เพื่อปูพื้นสำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่านนะครับ

เล่าเรื่องค้างคาใจชาวประชา…ยาวหน่อยนะครับ เพราะจะเล่าให้หมดเปลือกจริงๆ
(ใครอ่านจบ ขอกราบงามๆ หนึ่งทีครับ)
เขียนวันที่ 14 มี.ค. 2557

การจัดจำหน่ายหุ้นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หลังจากที่แปรสภาพมาจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำนวน 920,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 35 บาท รวมมูลค่า 32,200,000,000 บาท ในเดือนพฤศจิกายน 2544 ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นข้อกังขาคาใจของสังคมตลอดมากว่า 12 ปี

ความจริงผม ทีมภัทรฯ ทีมผู้ร่วมจัดจำหน่ายอื่นๆ และทาง ปตท. ได้พยายามชี้แจงเรื่องนี้มาหลายครั้ง หลายวาระ หลายเวที ในการชี้แจงทุกครั้งก็มั่นใจว่าได้ตอบคำถามทุกประเด็นไปแล้วอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่พอเวลาผ่านไป ก็มีผู้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอีก (หลายท่านที่หยิบยกก็เป็นผู้ที่ได้ฟังคำชี้แจงไปแล้ว และก็ดูเหมือนเข้าใจไปแล้ว อยู่ๆ ก็เหมือนกับมีแรงบันดาลใจให้ลืมเสียกะทันหัน ยกเรื่องเก่ามาด่าใหม่เสียงั้น)

วันนี้นับเป็นครั้งแรกที่ผมจะเขียนชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยตนเอง (ความจริงทีมทนายเคยเขียนชี้แจงศาลปกครองไปแล้ว และศาลก็ไม่เคยได้ติดใจประเด็นนี้) และหวังว่า จะได้ชี้แจงโดยละเอียดเป็นครั้งสุดท้าย ไม่ต้องลุกขึ้นมาชี้แจงอีกต่อไป

ประเด็นในกระบวนการจัดจำหน่ายหุ้น ปตท. ที่ถูกโจมตีมากมาตลอด มีอยู่ 3 ประเด็น ดังนี้ครับ

1. ราคาที่ขาย หุ้นละ 35 บาท เป็นราคาที่ถูกเกินไป เป็นการเอาทรัพย์สินของชาติไปขายถูกๆ ให้กับพรรคพวก (ทั้งไทยและเทศ) ถ้าเทียบกับราคาปัจจุบัน 300 บาท เหมือนกับเอาเงินรัฐไปแจกตั้งเกือบสองแสนล้าน ประมาณว่าควรขายราคาสัก 250 บาท จะทำให้ได้เงินตั้ง 230,000 ล้าน เหลือสร้างรถไฟความเร็วสูงได้เกือบหนึ่งสาย

2. ในการจองซื้อ ในส่วนที่ขายให้ประชาชนทั่วไปนั้น ขายหมดใน 1 นาที 17 วินาที มีประชาชนไปเข้าแถวแล้วจองไม่ได้เยอะมาก ทั้งๆ ที่มีความต้องการได้แบ่ง “สมบัติชาติ” ก้อนนี้ เมื่อรวมกับประเด็นตามข้อ 1 แล้ว ทำให้น่าเชื่อว่า มีการล็อกเอาไว้ให้พรรคพวก เอาไปให้นักการเมือง ให้ผู้มีอำนาจทั้งหลาย

3. ในรายชื่อผู้ได้รับการจัดสรร มีรายชื่อของผู้ที่เป็นนักการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นญาติ เป็นพรรคพวกกับผู้มีอำนาจอยู่หลายคน ยิ่งยืนยันข้อกล่าวหาสองข้อเบื้องต้นได้

แถมมีการสร้างมโน จินตนาการไปใหญ่โต ว่าการนำ ปตท. เข้าตลาดนั้น ก็เพื่อที่จะให้ตระกูลนักการเมืองเข้ายึดครองเอาเป็นของตนเสีย

เหตุผลความจำเป็น ประโยชน์ ข้อดีข้อด้อย ในการที่ ปตท. เข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมได้เล่าไปหมดแล้ว วันนี้จะเล่าเรื่องขายหุ้นอย่างเดียวนะครับ

ขั้นแรก…ต้องขอย้อนเวลากลับไปดูบริบทสิ่งแวดล้อม ในช่วงเวลานั้น ในปี 2544 ซึ่งเป็นห้วงที่ประเทศไทยยังไม่ฟื้นจากวิกฤติดี โดยเฉพาะตลาดทุน ตลาดหุ้น

– ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ตกต่ำอย่างมาก เริ่มต้นปีที่ 304 จุด (เคยสูงสุด 1,700 จุดเมื่อปี 2536 พอปี 2539 อยู่ที่ 832 จุด สิ้นปี 2540 หลังวิกฤติ ก็ต่ำกว่า 400 จุดมาตลอด) ปี 2544 ก่อนขายหุ้น ปตท. มีระดับการซื้อขายเฉลี่ยแค่วันละประมาณ 5,000 ล้านบาท มูลค่าตามราคาตลาด (market cap) 1.5 ล้านล้านบาท (สำหรับคนที่อาจไม่คุ้นตลาดหุ้น วันนี้ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 1,365 จุด ซื้อขายวันละ 30,000 ล้าน มูลค่าตามราคาตลาด 12 ล้านล้านบาท)

– การขายหุ้นในตลาดแรกซบเซาอย่างมาก หลังจากที่ธนาคารสามแห่งใหญ่ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ ขายหุ้นเพิ่มทุนหนีตายหลังวิกฤติได้รวม 110,000 ล้านบาท ในปี 2541 แล้ว หุ้นล้วนตก ผู้จอง (ส่วนใหญ่เป็นต่างประเทศ) ต่างขาดทุนถ้วนหน้า หลังจากนั้น หุ้นเพิ่มทุนรวมทั้งไอพีโอ (IPO: Initial Public Offering, การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก) แทบจะขายไม่ได้เลย ครั้งสุดท้ายที่มีไอพีโอขนาดใหญ่ก็เป็นหุ้น บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี (RATCH) ที่ขายในเดือนตุลาคม 2543 ก็มีขนาดเพียง 2,275 ล้าน

– ผู้จองซื้อหุ้นในช่วงเวลานั้นต่างขาดทุนจากการจองซื้อหุ้นกันตลอดมา โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ (หุ้นการบินไทย ขาย 60 บาท ราคาไม่เคยถึงหรือใกล้เคียงเลย)

– คนทั่วไปไม่ซื้อหุ้นจอง กลต. เคยบังคับให้แบ่งส่วนไอพีโอ 30 เปอร์เซ็นต์ มาเปิดจองทั่วไป โดยให้ small lot first หรือ random allotment (จับสลากจัดสรร) ปรากฏว่า เปิดศูนย์สิริกิติ์ทั้งวัน มีคนมาจองไม่กี่สิบคน เรียกว่าตลาดตายสนิท สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ต้องยกเลิกกฎดังกล่าวไป

ถามว่า ในเมื่อภาวะแย่อย่างนั้น ทำไมต้องขายหุ้น ปตท. ในช่วงเวลานั้น

คำตอบคือ ตัว ปตท. ต้องการเงินทุน เพื่อไปแก้ไขปรับสถานะการเงินบริษัทในเครือทั้งหลาย ประกอบกับมีโอกาสที่จะได้ลงทุนในอุตสาหกรรมการกลั่นและปิโตรเคมีที่บอบช้ำหนักหลังวิกฤติ ทำให้ราคาถูก กับทั้งรัฐบาลไม่สามารถเจียดงบประมาณมาให้ได้ (ตอนนั้นยังไม่ได้ถีบคุณพ่อไอเอ็มเอฟกลับไปเลย) และรัฐบาลยังหวังว่าการขาย ปตท. การมีไอพีโอขนาดใหญ่ จะปลุกความสนใจในตลาดไทยให้กลับมาได้ อีกอย่าง ในเวลานั้น ไม่มีใครรู้ว่าตลาดจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ไม่มีใครคาดการได้ (ไอ้ประเภทเวลาผ่านไปแล้วมาบอกว่า…รู้งี้ ควรทำนั่นนี่โน่นน่ะขอทีเถอะครับ)

ช่วงเดือนสิงหาคม 2544 เริ่มมีการออกข่าว ปตท. จะเข้าตลาดฯ ผู้ร่วมจัดการจำหน่ายหุ้น ซึ่งได้แก่ 3 บริษัทไทย คือ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ภัทร บล.ไทยพาณิชย์ และ บล.ทิสโก้ และ อีกธนาคารเพื่อการลงทุนระดับโลกอีก 3 แห่ง คือ CSFB, Lehman Brothers และ Merrill Lynch เริ่มออกวิจัยโหมโรงโปรโมตตลาดไทยใหม่ จนดัชนีปรับตัวกว่าสิบเปอร์เซ็นต์ จาก 300 จุดช่วงต้นเดือนสิงหาคม มาสูงกว่า 340 จุดในช่วงต้นเดือนกันยายน

ทุกอย่างดูดี จนวันที่ 11 กันยายน 2544 (9/11) ก็เกิดเหตุการณ์สะท้านโลก ตลาดหุ้นตกต่ำทั่วโลก ดัชนีเราลงไป 280 จุด ประเมินเหตุการณ์อยู่เกือบเดือน พอ 8 ตุลาคม ก็ตัดสินใจดำเนินการทดสอบตลาด เพื่อประเมินความต้องการเบื้องต้น (ก็อีกแหละ ไม่มีใครบอกได้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร)

ถึงตอนนี้ อยากอธิบายว่า การขายหุ้นขนาดใหญ่ ทุกครั้งต้องมีการวางแผนการกันอย่างละเอียดทุกขั้นตอน แผนมีความยืดหยุ่นตามภาวะการเปลี่ยนแปลงของตลาด กับทั้งต้องมีความมั่นใจสูงทุกขั้นตอน เพราะหากล้มเหลว ความเสียหายที่จะเกิดกับผู้ออกหลักทรัพย์และผู้จัดจำหน่ายจะมีมาก ทั้งที่เป็นตัวเงิน และที่ไม่ใช่เงิน ทุกอย่างเป็นการดำเนินการอย่างมืออาชีพ ไม่ได้ทำง่ายๆ ชุ่ยๆ อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ

การทดสอบตลาด เราทำทั้ง 4 ทาง เพราะตั้งใจจะแบ่งการขายเป็น 4 ส่วน (tranche) คือ นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ (เป้าหมายใหญ่สุด) สถาบันไทย ลูกค้าบุคคลที่ซื้อขายหุ้นอยู่แล้ว กับประชาชนทั่วไปที่มีเงินออมซึ่งปกติไม่ได้เล่นหุ้น การทดสอบพวกสถาบันนั้นเรียกว่าการทำการตลาดก่อนขายจริง (Pre-deal marketing) โดยนักวิเคราะห์วิจัยของทั้งหกแห่งจะออกไปพบนักลงทุนสถาบันทั่วโลก เพื่อรวบรวมความสนใจ ตลอดไปจนถึงการหาช่วงราคา ส่วนลูกค้าตลาดหุ้นก็เป็นหน้าที่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriter) ไทยทั้ง 3 แห่ง และสำหรับลูกค้าเงินออม เราขอให้ธนาคารสองแห่ง (กรุงไทยกับไทยพาณิชย์) ทำการสำรวจจากลูกค้าเงินฝากกว่า 5,000 ราย ผลสำรวจตลาดปรากฏว่า สถาบันมีอุปสงค์ค่อนข้างดี ลูกค้า โบรกเกอร์ พอใช้ได้ แต่ส่วนลูกค้าธนาคาร มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ตอบว่าสนใจจองซื้อ ซึ่งเป็นไปตามภาวะตามที่ได้เล่ามาแล้ว

ทีนี้ก็เลยมาถึงขั้นตอนสำคัญ คือ การตัดสินใจว่า จะดำเนินการต่อหรือไม่ จะกำหนดช่วงราคาขายเท่าใด และจะแบ่งสัดส่วนใน tranche ต่างๆ อย่างไร

ก่อนจะเล่าต่อไป…ผมต้องขอเบรกมาอธิบายถึงหลักการ และเป้าประสงค์ในการจัดจำหน่ายหุ้น โดยเฉพาะไอพีโอ เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก

ในการขายหุ้นนั้นจะมีเป้าหมาย 4 อย่าง ดังนี้

หนึ่ง ต้องขายให้หมด การทำไอพีโอแล้วมีหุ้นเหลือ ขายไม่ออก นับเป็นหายนะอย่างแท้จริง จนอาจต้องยกเลิกการขาย เพราะแสดงว่านักลงทุนไม่ยอมรับคุณภาพกิจการ ถ้าดันขายไป ราคาหลังจากนั้นก็คงย่อยยับ

สอง ต้องให้ได้ราคาที่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงควรได้ราคาที่สมควร ประมาณว่าสักสิบเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าราคาที่เข้าไปซื้อขายแล้วยืนอยู่ได้ ถ้าขายหุ้นแล้วเข้าตลาดแล้วขึ้นไปเป็นเท่าตัว แปลว่าขายต่ำไป เอาเงินไปทิ้ง ไล่แจกอย่างไม่มีเหตุผล ถ้าขายไปแล้วตกมาก ก็แปลว่ากระบวนการผิด (นอกจากภาวะตลาดเปลี่ยนมาก) ถึงแม้บริษัทอาจได้เงินเยอะกว่าที่ควร แต่ก็มีผลร้ายมากกว่า เช่น กรณีที่เฟซบุ๊กทำไอพีโอแล้วหุ้นตกมาก บริษัทเสียใจและเสียหน้ามาก

สาม ต้องให้มีเสถียรภาพของราคาหลังจากเข้าซื้อขาย การตั้งราคาที่ดี หมายถึงว่า หุ้นเข้าตลาดแล้วจะมีจุดสมดุลราคาประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ เหนือราคาจอง และมีเสถียรภาพ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานหรือสภาพตลาด ถ้าใครโปรดว่าหุ้นเข้าแล้วต้องขึ้นหลายสิบเปอร์เซนต์ หรือเป็นหลายเท่าตัว ขอบอกเลยว่านั่นไม่ใช่มาตรฐานที่ดี

สี่ มีการกระจายที่เหมาะสม คือ ในกลุ่มนักลงทุนทั้งสี่ tranche ที่ว่า ต้องให้เกิดการกระจายที่ดีตั้งแต่ต้น นักลงทุนสถาบันที่ลงทุนยาว (ทุกกองไม่ได้มีพฤติกรรมเหมือนกัน) ควรได้รับการจัดสรรเป็นแกนหลัก และควรได้รับน้อยกว่าที่ต้องการสักหน่อย จะได้ซื้อเพิ่ม (แต่ถ้าได้น้อยไป ไม่คุ้มที่จะตามดู เขาก็ขายทิ้ง) พวกที่น่ากลัวสุด คือ “บุคคลธรรมดานักเล่นหุ้น” (โดยเฉพาะ “ขาใหญ่” ทั้งหลาย) ที่ส่วนใหญ่จะจองไปเพื่อขายวันแรก ประชาชนทั่วไปอาจถือยาวกว่า แต่ส่วนใหญ่จะมีความรู้น้อย ไม่สามารถมาช่วยในกระบวนการกำหนดราคาได้ การกระจายนี่มีความสำคัญมาก เพราะหมายถึงเสถียรภาพระยะยาว และจะช่วยให้สามารถระดมทุนครั้งใหม่ได้สะดวกรวดเร็ว

ขอเรียนไว้ตรงนี้เลยว่า การขายหุ้นนั้นเป็นการค้าขาย ผู้ซื้อมีความเสี่ยง มีโอกาสได้รับผลขาดทุน (และก็มีการขาดทุนกันเสมอ) เราไม่เคยอยากขายถูกๆ เอาเงินรัฐไปแจก ดังนั้น คำว่า “ให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกัน” ไม่ใช่เป้าหมายหลักใดๆ เพราะถึงจะขายให้กว้างด้วยวิธีใดก็ตาม ไม่มีทางได้ผู้ซื้อเกินห้าแสนคน (หุ้นการบินไทยที่ขายในปี 2536 มีผู้จองสองแสนเศษ มากที่สุดในประวัติศาสตร์ แล้วก็ขาดทุนกันทั่วหน้า) การขายให้ได้ราคาดี และราคาในระยะยาวเป็นประโยชน์กับคนไทยทั้ง 65 ล้านคนมากกว่าเยอะ อีกอย่าง ถ้าอยากให้คนไทยมีส่วนร่วมมากก็ควรขายให้นักลงทุนสถาบันไทย เพราะมีสมาชิกหลายสิบล้าน ซึ่งเราก็ให้ความสำคัญสูงสุด เสียแต่ในเวลานั้นยังมีขนาดเล็ก มีอุปสงค์จำกัด

เห็นไหมครับ การจัดจำหน่ายหุ้นไอพีโอมันเป็นงานที่ละเอียดซับซ้อนมากๆ เป็นเรื่องเทคนิคเฉพาะทางมากๆ และต้องการความเป็นมืออาชีพมากๆ ต้องใช้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และเครือข่ายทั่วโลก โดยเฉพาะการขาย ปตท. ที่เป็นดีลขนาดใหญ่ ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก (เท่ากับกำลังก่อร่างประเทศไทยขึ้นมาใหม่ท่ามกลางสงครามการก่อการร้าย) แต่เมื่อตัดสินใจทำแล้ว ก็ต้องทำให้ดี มีความเสี่ยงน้อยที่สุด

พอทราบผลการประเมินความต้องการเบื้องต้น ประเมินเหตุการณ์และปัจจัยรอบด้านแล้ว ในวันที่ 8 ตุลาคม 2544 ทาง ปตท. และรัฐบาล ก็ตัดสินใจเดินหน้า ซึ่งในวันนั้น มีสองเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจ

เรื่องแรก คือ ช่วงราคาที่จะเสนอขาย ซึ่งได้มีการใช้ทุกวิธีที่จะวิเคราะห์เพื่อให้ได้ราคาดีที่สุดที่ผู้ซื้อจะยอมรับได้ ทั้งการใช้ Discounted Cash-flow Model และ Capital Asset Pricing Model อื่นๆ รวมทั้งการเปรียบเทียบกับราคาหุ้นอื่น ทั้งในตลาดไทย กับอุตสาหกรรมเดียวกันในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อื่นๆ เช่น Sinopec, CNOOC, Petro China, Petronas ว่ามีข้อดีด้อยต่างกันอย่างไร ราคาเปรียบเทียบควรเป็นเท่าไร ซึ่งความจริง Pre-deal Marketing ก็คือกระบวนการที่นักวิเคราะห์เขาออกไปให้ข้อมูลนักลงทุนสถาบันไปเชิญชวนให้สนใจศึกษา สนใจลงทุน พร้อมกับดูเสียงตอบรับมาเลยว่า ราคาเท่าไหร่ถึงจะยอมลงทุน เพราะสุดท้ายก็พวกนี้แหละครับ ที่จะเป็นผู้กำหนดมูลค่าทุกอย่าง

พูดฟังดูเหมือนง่ายๆ แต่กระบวนการซับซ้อนมาก ถ้าใครมีโอกาสลองหาพวกการวิจัยก่อนขายจริงของโบรกเกอร์คุณภาพสูง (เช่น บล.ภัทร ฮ่าๆๆ) มาดูสิครับ ว่าละเอียดลึกซึ้งขนาดไหน (ถ้าใครอ่านจบจะนับถือ เพราะยาวกว่าบทความผมหลายสิบเท่า) แต่นักลงทุนสถาบันเขาศึกษาจริง เพราะแต่ละแห่งเตรียมลงทุนเป็นพันๆ ล้าน

ช่วงราคาที่ตกลงกำหนดก็คือ 29-35 บาทต่อหุ้น ซึ่งไม่ว่าในมาตรฐานใดๆ ในเวลานั้น ก็ไม่ใช่ราคาที่ถูกเลย อย่าลืมนะครับว่า ปี 2543 ปตท. มีกำไรแค่หมื่นล้านบาทเศษๆ ยังมีปัญหาบริษัทในเครืออีกเยอะ วันนั้นน้ำมันดิบราคาบาร์เรลละ 22.7 เหรียญ (ปัจจุบัน 105) ราคา Naphtha สิงคโปร์ 24 เหรียญ (ปัจจุบัน 99 เหรียญ) hydrocracking refinery margin บาร์เรลละ 0.90 เหรียญ (ปัจจุบัน 4-5 เหรียญ) และอย่าลืมว่าดัชนีของไทยตอนนั้นต่ำกว่า 300 จุด (ปัจจุบัน 1,365)

ถ้าถามว่า ทำไมไม่รอให้ทุกอย่างดีขึ้นค่อยขายหุ้น คำตอบก็คือ ไม่ได้เป็นเทพพยากรณ์ ไม่มีใครรู้หรอกครับว่าวันหน้าจะเป็นอย่างไร ถ้าใครรู้ว่าราคาน้ำมันจะขึ้น 5 เท่าใน 5 ปี รู้ว่าหุ้นจะขึ้น 8 เท่าใน 10 ปี ก็รวยตาย บิลล์ เกตส์ ก็เถอะ โดนแย่งแชมป์ไปแน่ๆ อีกอย่าง ถ้า ปตท. ไม่เข้าตลาด ไม่มีเงินไปแก้ปัญหาบริษัทลูก ไม่มีเงินไปชอปปิ้งของถูก (อีกห้าปีหลังจากนั้น refinery margin ขึ้นมาเป็นเกือบสิบเหรียญ ปตท. คงไม่ได้เป็นเจ้าของโรงกลั่นซักโรง) ไม่ได้เป็นจ้าวในวงการปิโตรเคมี และที่สำคัญ ไม่มีหุ้น ปตท. และในเครือ ตลาดหุ้นไทยไม่รู้จะฟื้นเมื่อไหร่ เข้าทำนองไก่กับไข่อะไรจะเกิดก่อนกัน

ปตท.

ถ้าบอกว่า ตั้งใจขายสมบัติชาติให้กับพวกพ้องในราคาถูก ขอให้พิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลเหล่านี้ดูนะครับ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยตอนที่ขายอยู่ที่ 280 จุด ปัจจุบัน 1,365 จุด สูงขึ้นเท่ากับ 14.1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ถ้าซื้อ ปตท. 35 บาท ปัจจุบัน 300 บาท ได้ผลตอบแทน 19.1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ถ้าซื้อ SCG เดือน ธ.ค. 44 ราคา 48.8 บาท วันนี้ 430 บาท เท่ากับได้ 19.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ถ้าลงทุน BJC ในช่วงเดียวกัน ก็จะได้สูงถึง 22.9 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเลยทีเดียว นอกจากนั้นถ้าเทียบกับ comp set ต่างประเทศ ที่นักลงทุนใช้เปรียบกับ ปตท. คือ SINOPEC, CNOOC, Petro China และ PETRONAS ก็จะพบว่ากราฟผลตอบแทนแทบจะเท่ากันไปทางเดียวกันตลอด correlation เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์

วิธีการกำหนดราคา ปตท. ตอนไอพีโอนั้น เป็นวิธีการที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามมาตรฐานตลาดทุนโลก ราคาขายสุดท้ายถูกกำหนดจากกระบวนการ Book building ซึ่งหลักการก็คือ เป็นการประมูลอย่างไม่เป็นทางการจากตลาดในวงกว้าง (เดี๋ยวจะอธิบายอีกที)

เรื่องที่สอง ที่ตัดสินใจในวันที่ 8 ตุลาคม 44 คือ การแบ่งจำนวนตาม tranche ต่างๆ และกำหนดวิธีการจองของบุคคลไทย จากผลสำรวจ ทำให้กำหนดจำนวนเบื้องต้นของ tranche ต่างๆ ดังนี้

tranche ที่ 1: สถาบันไทย กำหนดว่าจะขาย 10 เปอร์เซ็นต์ 92 ล้านหุ้น เนื่องจากขนาดนักลงทุนสถาบันไทยอันได้แก่ กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม ประกันชีวิต โดยรวมในเวลานั้นยังมีขนาดเล็ก (กองทุนพวกนี้แหละครับ มีสมาชิกรวมกันหลายสิบล้านคน) ที่จัดให้เท่านี้ เป็นสองเท่าของ weight ซึ่งถือว่าสูงเต็มที่แล้ว หากให้มากกว่านี้ก็คาดได้ว่าเขาจะขายทิ้ง ขอเน้นว่า ส่วนนี้เป็นส่วนที่ได้รับความสำคัญที่สุด เพราะเป็นประชาชนวงกว้างแท้จริง

tranche ที่ 2: นักลงทุนบุคคล แบ่งเป็น 2 พวก คือ

2.1 พวกที่เป็นนักลงทุนในตลาดอยู่แล้ว (นักเล่นหุ้น) ซึ่งเวลานั้นมีประมาณ 200,000 บัญชี ส่วนนี้จัดไว้ 170 ล้านหุ้น โดย 50 ล้านหุ้นเป็นส่วนที่ทาง ปตท. จะเป็นผู้จัดสรรให้กับผู้มีอุปการะคุณ ซึ่งได้แก่ คู่ค้า พวกเอเยนต์ ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งก็เป็นไปตามกฎที่ กลต. กำหนดไว้ทุกประการ และก็เปิดเผยไว้ทุกอย่าง ส่วน 120 ล้านหุ้นเป็นส่วนที่บริษัทหลักทรัพย์กว่าสิบแห่ง ทั้งที่เป็น lead และ co-underwriters จะได้รับไปจัดสรรให้ลูกค้าของตนได้ ซึ่งเป็นไปตามวิธีการจัดจำหน่ายทั่วไป

2.2 นักลงทุนบุคคลที่ให้จองผ่านสาขาธนาคาร 5 ธนาคาร รวมประมาณ 4,000 สาขา ส่วนนี้เริ่มต้นกันไว้ 200 ล้านหุ้น และตกลงให้ใช้วิธีมาก่อนได้ก่อน คือ ใครมาลงชื่อจ่ายเงินก่อนได้รับจัดสรรก่อน (ตอนแรกกำหนดให้จองได้คนละไม่เกินคนละ 300,000 หุ้น) พอหมดก็จะหยุดรับจอง แต่อาจจัดสรรให้เพิ่มอีก 130 ล้านหุ้นได้ ในกรณีที่มีการจองล้นเกิน และพิจารณาแล้วว่าการจองมีคุณภาพ (หมายถึงลงทุนยาว ไม่ได้เอาไปขายวันแรกทั้งหมด เลยจะรับจองไปจนถึง 350 ล้านหุ้น

ส่วนนี้คือส่วนที่มีปัญหาภายหลัง ถามว่าทำไมไม่ใช้วิธีอื่น เช่น จองน้อยได้ก่อน หรือรับจองให้หมดแล้วนำมาสุ่มเลือก ตอบเลยว่า ก็เพราะกลัวจะขายไม่หมดน่ะครับ จากผลการสำรวจตลาดตามที่กล่าวแล้ว อย่าลืมว่าเรากำลังต้องขายของกว่าสามหมื่นล้านบาท และต้องขายให้หมดในสองอาทิตย์ ขายเหลือก็ไม่ได้ ผมขายหุ้นมาทั้งชีวิตกว่าห้าแสนล้านบาท เป็นร้อยครั้ง เชื่อไหมครับ ไม่เคยขายได้พอดีๆ มีแต่ไม่พอขาย หรือไม่ก็ไม่หมด เหลือเยอะ ยังไงๆ เราก็ต้องพยายามออกแบบให้เป็นอย่างแรกอยู่แล้ว การขายสองวิธีที่ว่า ดูเหมือนยุติธรรมกับคนซื้อมากกว่า แต่ไม่จูงใจให้คนจองซื้อ โดยเฉพาะรายใหญ่ เพราะต้องเอาเงินมาทิ้งไว้ แล้วไม่รู้ว่าจะได้หุ้นหรือเปล่า แถมเวลาได้ มักกลายเป็นว่าคนไม่ค่อยจอง หุ้นเหลือถึงจะได้ ได้แล้วขาดทุนเกือบทุกที ก่อนหน้านี้ กลต. เคยบังคับว่าต้องมีการจองวิธีนี้บางส่วนทุกครั้ง แต่กลายเป็นว่าหุ้นเหลือเยอะ ผู้จัดจำหน่ายรับเละ เลยเลิกไป

tranche ที่ 3: นักลงทุนสถาบันต่างประเทศ นี่เป็นส่วนที่ควรจะใหญ่ที่สุด เพราะเป็นนักลงทุนคุณภาพ ใช้ปัจจัยพื้นฐาน มีเงินมหาศาล หลายร้อยล้านล้านบาท ลงทุนระยะยาว ถามว่า ขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ ทำไมมุ่งขายต่างชาติ ทำไมไม่ขายแต่คนไทยทั้งหมดอย่างการบินไทย ขอตอบว่า ก็สงสารคนไทยน่ะครับ ทำอย่างนั้นต้องขาดทุนยับกันแน่ นอกจากจะกดราคาต่ำเตี้ยกว่าครึ่ง (ซึ่งถึงทำอย่างนั้น ตอนแรกก็ยังจะขาดทุนอยู่ดี)

จะชอบหรือไม่ก็แล้วแต่ ตลาดหุ้นไทยเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลกมาตั้งนานแล้วครับ ในหุ้นใหญ่ 50 ตัวที่มูลค่าสูงและมีการซื้อขายสม่ำเสมอ (SET50) สถาบันต่างประเทศถือเกิน 65 เปอร์เซ็นต์ของ free float แทบทุกหุ้น อย่างตอนที่ธนาคารขนาดใหญ่สามแห่ง (กสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์) เพิ่มทุนกว่าแสนล้าน หนีตายหลังวิกฤติ ขายต่างประเทศกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เราใช้เงินต่างชาติมาลงทุนมาช้านานแล้ว เลยทำให้ตลาดหุ้นพัฒนาได้มาตรฐานสากล

ส่วนที่จะขายต่างประเทศนี่แหละครับ จะเป็นส่วนที่ใช้กำหนดราคา ที่เรียกว่าเป็นวิธี book building ซึ่งก็คือ การรวบรวมอุปสงค์ในระดับราคาต่างๆ กัน เป็นการประมูลอย่างไม่เป็นทางการนั่นเอง ซึ่งการรวบรวมอุปสงค์นี้จะทำควบคู่กันไปกับการทำโรดโชว์ และเก็บอุปสงค์ของสถาบันไทย ส่วนบุคคลธรรมดาจะเป็น price taker คือ จ่ายเงินมาที่ราคาสูงสุดก่อน (หุ้นละ 35 บาท) ถ้า final price ต่ำกว่านั้นจะคืนเงินให้บางส่วน

ส่วนต่างประเทศนี้กำหนดไว้ประมาณครึ่งหนึ่ง 450 ล้านหุ้น แต่ถ้าจำเป็น ก็สามารถเพิ่มได้ไปถึง 600 ล้านหุ้น ในกรณีที่อุปสงค์ในประเทศมีไม่พอ โดยเฉพาะจาก tranches 2.2 ที่กลัวว่าจะไม่มีคนจองซื้อ แต่ขณะเดียวกัน ก็สามารถลดลงไปได้ ถ้าอุปสงค์ในประเทศแข็งแรง ส่วนที่ย้ายไปมาได้ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ นี้ เรียกว่า clawback portion

เห็นความซับซ้อนในวิธีการที่เตรียมจะขายไอพีโอ 32,200 ล้านบาท ที่ต้องทำให้เสร็จในสัปดาห์เดียวแล้วยังครับ

เตรียมการเสร็จสรรพ วันที่ 29 ตุลาคม-16 พฤศจิกายน เป็นช่วงที่ออกโรดโชว์ ทีมในประเทศนำโดยคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เดินสายทั่วประเทศ เสนอการขายต่อลูกค้าเงินฝากธนาคาร ส่วนทีมใหญ่ที่ประกอบด้วย ผู้ว่าฯ วิเศษ จูภิบาล, ซีเอฟโอ พิชัย ชุณหวชิร และ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาฯ กรรมการนโยบายพลังงาน เดินทางทั่วโลก เริ่มที่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ลอนดอน เอดินบะระ แฟรงก์เฟิร์ต ปารีส บอสตัน ซานฟรานซิสโก ลอสแอนเจลิส แล้วมาจบกำหนดราคาที่นิวยอร์กในวันที่ 16 พฤศจิกายน

ใครที่เคยไปโรดโชว์จะรู้ว่างานหนักขนาดไหน ตั้งแต่เตรียมตัวอย่างหนัก จ้างมืออาชีพมาฝึกเฉพาะ เดินทางเรียกว่าบินถึงก็เริ่มประชุม วันละหกเจ็ดประชุม เสร็จแล้วขึ้นเครื่อง ไปเมืองใหม่ ถึงดึกตื่นเช้าเริ่มประชุม นำเสนอเป็นร้อยๆ ครั้ง เดินทางทั้งสองอาทิตย์ แทบไม่ได้นอนที่ไหนเกินหนึ่งคืน

ย้อนกลับมาที่เมืองไทย ภาวะตลาดดีขึ้น ฝรั่งเริ่มซื้อ ดัชนีเพิ่มเกือบ 20 จุด ถ้าใครจำได้ มีการโหมโฆษณาขายหุ้นกันทุกด้าน ทั้งโทรทัศน์และสื่ออื่นๆ จำโฆษณาหนุ่มชาวนาเอาใบหุ้น ปตท. ไปขอหมั้นสาวได้ไหมครับ ยิงถี่ยิบแทบทุกชั่วโมงทุกช่อง

ก่อนกำหนดจองซื้อ tranche 2.2 ในวันที่ 12 พฤศจิกายน เราเริ่มรู้แล้วว่า จะเป็นดีลที่ร้อนแรงสุดๆ คนจะแย่งกันซื้อ โดยเฉพาะนักเล่นหุ้น จะกระโดดไปแย่งใน tranche ธนาคาร ผมขอเรียกประชุม ขอลดจำนวนสูงสุดที่แต่ละคนจองได้ ลงจากคนละสามแสนหุ้นลงเหลือแสนเดียว เถียงกันอยู่นาน พวกธนาคารไม่อยากลด บอกลูกค้าเตรียมเงินไว้แล้ว กลต. ก็ไม่อยากให้เปลี่ยนร่างหนังสืีอชี้ชวน (แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีจองเลย กลต. บอกต้องนับหนึ่งใหม่ อีก 30 วันค่อยขาย) ในที่สุดคุณประเสริฐเห็นด้วยกับผม กลต. ก็ยอม เลยลดมาเหลือหนึ่งแสน ถามว่าถ้ารู้ว่าจะเป็นปัญหาอย่างนี้ จะทำยังไง ผมว่าน่าจะลดลงไปเหลือห้าหมื่นหรือหมื่นเดียว แต่ก็อีกแหละ คนอื่นคงไม่ยอม ต้องเถียงกันอีกทั้งคืน

พอเปิดจองก็เป็นดังคาด สาขากว่าหมื่นของธนาคารทั้งห้า แต่ละแห่งมีอีกหลายช่องบริการ แถมลูกค้ามารอคิวแต่หกโมงเช้า ส่วนใหญ่จองเต็มแสนหุ้น พอเปิดจองได้ 1 นาที 17 วินาที ก็ครบ 200 ล้านหุ้น เราเปิดจองอีกพัก พอครบ 350 ล้านหุ้นก็หยุด ไม่อยากให้ลูกค้าต้องเอาเงินมาทิ้งไว้ฟรีๆ

ตรงนี้ต้องขอเล่าข้อผิดพลาดในการรับจอง ธนาคารไทยพาณิชย์ที่เป็นผู้ประสานงานของกลุ่มธนาคารดันเกิดมีชั้นเชิงพิเศษ ของคนอื่นต้องกรอกการจองทีละใบ แต่ธนาคารไทยพาณิชย์มีกรอกล่วงหน้าไว้สิบใบทุกๆ ช่องบริการ เป็นการเอาเปรียบ และไม่เป็นไปตามหนังสือชี้ชวน (เรื่องนี้ผมไม่แน่ใจว่าเป็นกลยุทธ์หรือเข้าใจผิด) กลต. ตรวจสอบ แล้วลงโทษปรับ กับพักในอนุุญาตธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ให้เป็นตัวแทนรับจองหุ้น 6 เดือน ถามว่าผิดไหม…ก็ผิดแหละครับ แต่ไม่ใช่ใหญ่โตขนาดที่จะให้รายการเป็นโมฆะอะไร

ตอนที่จองเสร็จ ที่ห้องประชุมธนาคารไทยพาณิชย์ ระหว่างที่ทุกคนดื่มฉลอง ผมขมวดคิ้วนิ่วหน้า ให้สัมภาษณ์ว่าลักษณะการจองอย่างนี้ น่าจะทำให้มีปัญหาตลาดหลังการขาย (aftermarket) เพราะมันหมายถึงว่านักเล่นหุ้นแห่มาจองใน tranche นี้ ส่วนใหญ่จะเทขายในวันแรกๆ เพื่อนฝูงยังว่า ไอ้เตามันกังวลเกินเหตุ เสียบรรยากาศความสำเร็จ

อีกเรื่องที่เป็นปัญหาค้างคาใจ คือ การที่มีนักการเมืองจองซื้อได้คนละมากๆ ซึ่งอยู่ใน tranche 2.1 คือส่วนของบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย ขออธิบายง่ายๆ อย่างนี้นะครับ ในเมืองไทย คนมีเงินมีกระจุกมือเดียว ไม่ใช่อำมาตย์เก่า นักธุรกิจ ก็มักเป็นนักการเมือง (บ้างก็มีแล้วมาเล่นการเมือง บ้างก็เล่นแล้วมี แต่นั่นไม่ใช่หน้าที่เรา เรามีหน้าที่ขายหุ้น) รายชื่อจึงซ้ำไปมาไม่กี่ตระกูล แต่ก็ไม่มีรายใดที่ถูกห้ามซื้อตามกฎหมาย อย่างที่ บล.ภัทร ก็มีสองชื่อที่มีปัญหา คือ คุณทวีฉัตร จุฬางกูร (ที่เป็นหลานน้าของ รมต.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) กับคุณประยุทธ มหากิจศิริ อดีตรองนายกฯ ไทยรักไทย ซึ่งทั้งสองท่านเป็นลูกค้านักลงทุนที่บริษัทมาช้านาน มีเงินลงทุนขนาดใหญ่ ทุกครั้งที่มีหุ้นจองทั้งสองท่านก็จองซื้อเป็นสิบเป็นร้อยล้านทุกครั้ง มา กลต. หรือศาลปกครองถามมาเราก็ชี้แจงพร้อมส่งหลักฐาน ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แต่คนจะด่าก็ด่าไม่เลิก ความจริงเราเอาไปเสนอขอร้องให้ท่านจองเยอะๆ ตั้งแต่ไก่โห่เพื่อลดความเสี่ยงของผู้จัดจำหน่ายด้วยซ้ำ กับทั้งสองท่านเป็น “นักลงทุนคุณภาพ” ที่ถือยาว ไม่รีบร้อนขายทิ้งวันแรก

ถึงตอนนี้ ความจริง ผมตอบประเด็นปัญหาไปครบแล้วทั้งสามประเด็น แต่ไหนๆ ก็ยาวเป็นมหากาพย์ และยังมีเรื่องสนุกที่น่าสนใจ ก็จะขอต่อให้จบเลยนะครับ

เหตุการณ์สำคัญที่สุดในดีลนี้ เกิดขึ้นในการประชุมกำหนดราคากลางดึก ตีสองของวันที่ 17 พฤศจิกายน เพื่อกำหนดราคาและตกลงแบ่ง tranche ต่างๆ ประชุมกันที่ห้องประชุม บริษัทหลักทรัพย์ภัทรฯ และมีสายร่วมประชุมมาจากนิวยอร์กหลังจบโรดโชว์และปิดจอง ที่กรุงเทพฯ มีท่านปลัดมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน ปตท. และคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กับที่ปรึกษาไทย ส่วนที่นิวยอร์กมีผู้ว่าฯ วิเศษ คุณพิชัย ดร.ปิยสวัสดิ์ และเหล่าผู้จัดจำหน่ายต่างประเทศ

เรื่องราคาไม่ต้องถกกันนาน จากความสำเร็จในการโรดโชว์ ทุก tranche มีคนจองเกินมาก ส่วน ตปท. มีอุปสงค์ถึง 2,000 ล้านหุ้น ดังนั้น เราจึงกำหนดที่ราคาสูงสุดของขอบเขตราคาคือ 35 บาทต่อหุ้น แต่เรื่องควรให้ tranche ไหนเท่าใดต้องถกกันนาน ทีมที่ไปโรดโชว์กับที่ปรึกษาต่างประเทศ และผมต้องการให้ฝรั่งอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง เพราะเป็นห่วงราคาหลังเข้าตลาด แต่ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและที่ปรึกษาไทยอีกสองแห่ง ต้องการให้ทางไทยเต็มที่

ในที่สุดทางกระทรวงอุตสาหกรรมก็ขอสรุป ให้ต่างชาติแค่ 330 ล้านหุ้น (36 เปอร์เซ็นต์) และให้ tranche ธนาคาร 330 ล้านหุ้นเท่ากัน ซึ่งพวกเราก็เข้าใจได้ว่าเป็นแรงกดดันทางการเมือง

พอวันที่ 6 ธันวาคม ก็เป็นดังคาด หุ้นอยู่เหนือราคาจองได้แค่สองวันก็ตกต่ำกว่าจอง และต่ำกว่าอีกหลายเดือนเพราะมีการเทขายของผู้จองฝั่งในประเทศ กอปรกับราคาน้ำมันตกต่ำหลังเหตุก่อการร้าย อย่างไรก็ดีพอ ปตท. ได้เงิน ไปปรับปรุงบริษัทลูก กับหาซื้อกิจการอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น เข้าซื้อไทยออยล์เกือบทั้งหมด พอภาวะกระเตื้อง กิจการดีวันดีคืน ประกอบกับเราพาผู้บริหารไปโรดโชว์ทั่วโลกอีกรอบ พอถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2545 หุ้น ปตท. ก็มีราคาขึ้นเหนือจอง และไม่เคยตกต่ำกว่า 35 บาทอีกเลย รวมเวลา 6 เดือนพอดีที่ราคาต่ำกว่าจอง โดยในช่วงนั้น มีเพียง 4 สัปดาห์ที่ราคาเหนือจอง รวมหุ้นที่ซื้อขายต่ำกว่าราคาจองเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท ใครอยากซื้อเท่าไหร่ก็ซื้อได้ เชื่อไหมครับ วันที่ราคาขึ้นเหนือจอง เราตรวจรายชื่อผู้ถือหุ้น กลายเป็นนักลงทุนต่างประเทศถืออยู่ประมาณ 650 ล้านหุ้น เกือบ 2 เท่าของที่ได้รับจัดสรร เห็นกำลังและความสำคัญของนักลุงทุนต่างชาติไหมครับ

มาในปัจจุบัน ปตท. กิจการดีมั่นคงขึ้นมาก ก้าวหน้าไปพร้อมกับธุรกิจในเครือ ประกอบกับราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นมากตามที่เกริ่นไว้ตอนต้น กำไรมากขึ้นเป็นปีละเกือบแสนล้านบาท ราคาหุ้นเป็น 300 บาท ในปัจจุบัน สถาบันต่างประเทศถืออยู่ 63 เปอร์เซ็นต์ ของ free float สถาบันไทยอีก 22 เปอร์เซ็นต์ (สถาบันไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก) บุคคลไทยถือแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

นี่แหละครับ เรื่องราวการจองหุ้น ปตท. ที่ถึงจะผ่านมาสิบสองปีเศษ ผมยังจำรายละเอียดได้ชัดเจนอย่างกับเกิดเมื่อวาน เพราะนี่เป็นไอพีโอที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย ทำให้พลิกฟื้นกลับมาเป็นแถวหน้าของตลาดเกิดใหม่ได้ และอีกอย่าง ถ้าคุณเคยทำอะไรที่คุณจริงจังอย่างถึงที่สุด พิจารณารายละเอียดทุกขั้นตอนอย่างตั้งใจที่สุด คุณก็ย่อมจะจำมันได้ไม่ลืม

นี่เป็นโพสต์เฟซบุ๊กที่ยาวที่สุดที่ผมเคยเขียน เพราะผมบอกแล้วว่าจะเล่าอย่างหมดเปลือก ถ้าใครทนอ่านมาถึงตอนจบ ขอคารวะอย่างจริงใจ หวังว่าจะได้ประโยชน์นะครับ อย่างน้อยคุณก็จะได้รู้ว่า การขายหุ้นอย่าง “มืออาชีพ” นั้นเขาทำกันอย่างไร นี่เป็นดีลที่ร่วมกันทำ โดยทีมงานอีซีเอ็ม (ECM: Equity Capital Market) ระดับโลกของธนาคารเพื่อการลงทุนทั้งนอกและในประเทศ

ต่อไปถ้าใครจะมาด่าเรื่องขายหุ้น ปตท. อีก ผมก็จะไล่ให้มาอ่านบทความโคตรยาวนี่เสียให้เข็ด ถ้าไม่ยอมอ่านให้จบแล้วยังจะด่า ผมจะเรียกว่า “ไอ้พวกอันธพาล” นะครับ

ขอโทษที่เขียนเล่าช้ากว่าที่สัญญา เพราะหาเวลาว่างค่อยๆ เขียนตั้ง 5 วัน ราตรีสวัสดิ์เสียทีเดียว