ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > ผลประชุม AMEM ครั้งที่ 37 ขยายการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี ตั้งเป้าเพิ่มการใช้-พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน

ผลประชุม AMEM ครั้งที่ 37 ขยายการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี ตั้งเป้าเพิ่มการใช้-พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน

9 กันยายน 2019


พิธีเปิดการประชุม AMEM ครั้งที่ 37

ผลประชุม AMEM ครั้งที่ 37 ขยายการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี ตั้งเป้าเพิ่มการใช้ – พัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน

หลังจากที่การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (37th ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: 37th AMEM) ระหว่างวันที่ 2-6 กันยายน 2562 ที่ผ่านมาได้เสร็จสิ้นไปแล้ว โดยเวทีนี้เป็นเวทีหารือถึงความร่วมมือประจำทุกปีของกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งรัฐมนตรีพลังงานของประเทศคู่เจรจา และผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ทบวงพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) โดยในปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ จึงประมวลบทสรุปจากการหารือในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

แถลงความร่วมมือเชื่อมโยงไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย

ความสำเร็จในการผลักดันความร่วมมือด้านการซื้อขายไฟฟ้า

การขยายความร่วมมือในการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย และมาเลเซีย (Lao PDR-Thailand-Malaysia Power Integration Project: LTM-PIP) ซึ่งทั้ง 3 ประเทศร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ที่จะเพิ่มเพดานปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าจากเดิม 100 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ ในระยะที่ 2 เพื่อเพิ่มเพดานปริมาณการซื้อขายไฟฟ้า LTM-PIP

ส่งเสริมการขยายการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี

ที่ประชุมยอมรับการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี โดยจากการศึกษาดังกล่าวพบว่า การซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีจะช่วยเพิ่มสมดุลของระบบสายส่งไฟฟ้า และจะส่งเสริมรายได้แก่ประเทศทางผ่าน อีกทั้งการศึกษาวิจัยนี้ยังช่วยส่งเสริมการขยายการซื้อขายไฟฟ้า แบบพหุภาคีไปยังประเทศอื่นๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการก่อตั้งเป็นศูนย์กำกับดูแลการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีต่อไป

MOU ระหว่าง ASEAN Center of Energy กับ สวทช.

พัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในภาคไฟฟ้า

ที่ประชุมได้รับทราบถึงความสามารถในการแลกเปลี่ยนซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค รวมทั้งการผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมให้สามารถซื้อขายพลังงานทดแทนในสายส่งไฟฟ้าอาเซียนได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีการลงนามใน MOU ระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียน (ASEAN Center of Energy) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งการลงนาม MOU นี้ช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น ช่วยพัฒนาศักยภาพของบุคลากร และส่งเสริมให้เกิดการก่อตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาเครือข่ายเชื้อเพลิงชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน

บรรยากาศการประชุม AMEM ครั้งที่ 37

ความร่วมมือระหว่าง IEA และ IRENA

การประชุมร่วมกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA และ ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ หรือ IRENA ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่ประชุมได้รับทราบถึงความต้องการการใช้พลังงานที่มีเพิ่มมากขึ้น และความท้าทายในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก อีกทั้งที่ประชุมได้หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผลักดันการซื้อขายพลังงานในภูมิภาค การแปลงพลังงานทดแทนเข้าสู่ระบบไฟฟ้า และบทบาทของพลังงานทดแทน ทั้งนี้ รัฐมนตรีพลังงานอาเซียนได้แสดงความขอบคุณต่อ IEA และ IRENA ที่ได้สนับสนุนอาเซียนในการจัดการกับปัญหาทางด้านพลังงานและเทคโนโลยี รวมทั้งการสนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือด้านพลังงาน

ลดความเข้มการใช้พลังงานในอาเซียน

รัฐมนตรีพลังงานอาเซียนได้รับทราบความก้าวหน้าของการลดค่าความเข้มของการใช้พลังงาน 24.4% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2548 ซึ่งมีกิจกรรมภายใต้แผนการลดการใช้พลังงานของภูมิภาค ตัวอย่างเช่น การจัดทำมาตรฐานขั้นต่ำอาเซียนของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หลอดไฟและเครื่องปรับอากาศ

การประชุม AMEM+3 (จีน-เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น)

การประชุม AMEM+3

ปีนี้เป็นครั้งที่ 16 ซึ่งเป็นการประชุมของรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานร่วมกับประเทศ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยยืนยันว่าอาเซียนกำลังเดินหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายความมั่นคงด้านพลังงานที่ดียิ่งขึ้น มีความน่าเชื่อถือทางด้านเศรษฐกิจ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมในด้านพลังงาน อีกทั้งยังได้แสดงเจตจำนงในการสนับสนุนความร่วมมือ ASEAN กับประเทศคู่เจรจาบวก 3 และได้เตรียมพร้อมสำหรับการต่อยอดแผนปฏิบัติการความร่วมมือพลังงานอาเซียน (APAEC) ระยะที่ 2 สำหรับปี 2021-2025 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2020

การประชุมสุดยอดรัฐมนตรีเอเชียตะวันออกด้านพลังงาน

การประชุมสุดยอดรัฐมนตรีเอเชียตะวันออกด้านพลังงาน (East Asia Summit Energy Ministers Meeting:EAS EMM)ที่ประชุมยอมรับในความคืบหน้าของความร่วมมือทางด้านพลังงาน เช่น การทำงานเกี่ยวกับพลังงานที่ยั่งยืนและการอนุรักษ์พลังงาน เกี่ยวกับพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อการคมนาคมและวัตถุประสงค์อื่นๆ ความคาดหวังที่จะร่วมมือในด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนา และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคาร์บอนรีไซเคิล อีกทั้งยังเน้นย้ำให้มีการระดมทุนเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานที่หลากหลาย และเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคด้านพลังงานที่มั่นคงและยั่งยืน

ถือเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ประเทศไทยมีส่วนสำคัญในการผลักดันถึงประเด็นสำคัญๆ ด้านพลังงานของภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขยายการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคี หรือแม้แต่แนวทางการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน ซึ่งเหล่านี้จะเป็นแนวทางสำหรับการวางนโยบายและกรอบความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่อไป โดยข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวก็ได้ตอกย้ำถึงเป้าหมายของความต้องการเป็นเทรดเดอร์ทางด้านไฟฟ้าซึ่งเป็นโยบายของกระทรวงพลังงาน หรือการที่จะเป็นฮับพลังงานของอาเซียน ซึ่งอาจต้องติดตามผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากนี้ว่าจะบรรลุเป้าหมายตามกรอบที่วางไว้มากเพียงใด โดยการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานในปีหน้า (ครั้งที่ 38) จะเกิดขึ้น ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด
บรรยากาศการประชุม AMEM ครั้งที่ 37
แถลงสรุปผล AMEM ครั้งที่ 37
โดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และรัฐมนตรีด้านพลังงานจากทั้ง 10 ประเทศ