ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > การศึกษาไทย 4.0 (ตอน2): เปิดหลักสูตรมหาวิทยาลัยไทย – 9,333 หลักสูตร สอนอะไร? จบจากไหน?

การศึกษาไทย 4.0 (ตอน2): เปิดหลักสูตรมหาวิทยาลัยไทย – 9,333 หลักสูตร สอนอะไร? จบจากไหน?

7 กันยายน 2018


ปัญหาการศึกษาไทยขณะนี้ สิ่งแรกคือเมื่อผลิตนักศึกษาจบออกมาแต่ตกงาน ไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลแต่เป็นปัญหาของกระทรวงศึกษา สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ

หลังจากตอนที่แล้วได้ฉายภาพให้เห็นผลผลิตของระบบการศึกษาไทยในห้วง 12 ปีที่ผ่านมาว่า แม้จะมีความต้องการบุคลากรที่มีศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่ระบบการศึกษากลับผลิตบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์ในสัดส่วนที่มากกว่าเกือบ 2 เท่าทุกๆ ปี อีกคำถามสำคัญคือโครงสร้างหลักสูตรสถาบันอุดมศึกษาของไทยสอดคล้องกับความต้องการของประเทศหรือไม่ มีการเปิดสอนหลักสูตรทางวิทยาศาสตร์เพียงพอหรือไม่ หรือมีการเปิดหลักสูตรทางสังคมศาสตร์มากเกินไป?

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าสำรวจข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พบว่า ในภาคการศึกษาแรกของปี 2560 มีสถาบันอุดมศึกษาอยู่ 154 แห่ง และหากรวมทุกวิทยาเขตจะมีทั้งสิ้น 248 แห่ง มีนิสิตนักศึกษาอยู่ทั้งสิ้น 1.9 ล้านคน แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยรัฐจำกัดรับ 27 แห่ง มีจำนวนนักศึกษา 10.8% ของนักศึกษาทั้งหมด, มหาวิทยาลัยรัฐในกำกับ 53 แห่ง มีนักศึกษา 24.1%, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 25 แห่ง มีนักศึกษา 7.29%, มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง มีนักศึกษา 26.2%, มหาวิทยาลัยเอกชน 44 แห่ง มีนักศึกษา 13%, มหาวิทยาลัยรัฐไม่จำกัดรับ หรือมหาวิทยาลัยเปิด 2 แห่ง มีนักศึกษา 14.9% และสถาบันอื่นๆ เช่น วิทยาลัยชุมชน, วิทยาลัยเอกชน, สถาบันเอกชน, สถานศึกษานอกสังกัด อีก 59 แห่ง มีนักศึกษา 3.8%

ขณะที่หลักสูตรที่เปิดสอนมีทั้งหมด 9,333 หลักสูตร ส่วนใหญ่อยู่ในมหาวิทยาลัยรัฐในกำกับ 33.9% รองลงมาคือมหาวิทยาลัยราชภัฏ 23.8%, มหาวิทยาลัยเอกชน 14.6%, มหาวิทยาลัยรัฐจำกัดรับ 14.3%, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 7.1%, สถาบันการศึกษาอื่นๆ 4.5% และมหาวิทยาลัยเปิด 1.8%

หากแบ่งแยกตามประเภทของหลักสูตรพบว่าหลักสูตรของระบบการศึกษาไทยกระจุกตัวอยู่ในสายสังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และธุรกิจ 26.6%, สายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการประมวลผล 16.3%, สายวิศวกรรมศาสตร์ การผลิต และก่อสร้าง 15.3%, สายมนุษยศาสตร์และศิลปะ 13.6%, สายศึกษาศาสตร์และการฝึกหัดครู 9.9%, สายสุขภาพและสวัสดิการ 8.4%, สายการบริการ 4.9%, สายการเกษตรและสัตวแพทย์ 4.3% และอื่นๆ 0.8%

สังคมฯ กระจุกตัว “ราชภัฏ-เอกชน” – สวนทางวิทย์ กระจุกตัว “มหาลัยรัฐ”

อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติการกระจายตัวของหลักสูตรต่างๆ ในแต่ละประเภทสถาบันการศึกษา พบว่ากลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏ  มหาวิทยาลัยเอกชน มีหลักสูตรกระจุกตัวค่อนข้างมาก โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมีหลักสูตร 35% อยู่ในสายวิศวกรรมศาสตร์ฯ รองลงมาคือสายสังคมศาสตร์ฯ ประมาณ 20% ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏมีหลักสูตรสายสังคมศาสตร์ 26% และสายการศึกษาฯ อีก 20% สำหรับมหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยเอกชน พบว่าเปิดสอนหลักสูตรสายสังคมศาสตร์ฯสูงถึง 40% และ 45% ตามลำดับ ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐ ทั้งแบบจำกัดรับและมหาวิทยาลัยรัฐในกำกับ จะมีหลักสูตรกระจายไปตามสายต่างๆ โดยเปิดหลักสูตรสายสังคมศาสตร์ฯ และสายวิทยาศาสตร์ฯ เท่าๆ กัน โดยแต่ละประเภทมีหลักสูตรประมาณ 20% ของหลักสูตรทั้งหมดในมหาวิทยาลัยรัฐ

ขณะที่หากมองในแง่การกระจายตัวของสถาบันการศึกษาที่ผลิตนักศึกษาแต่ละหลักสูตรออกมา พบว่ามีความกระจุกตัวเช่นเดียวกัน โดยนักศึกษาทางสังคมศาสตร์มักกระจุกตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเอกชน พอๆ กับมหาวิทยาลัยของรัฐ ขณะที่นักศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์กลับกระจุกตัวในมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอย่างชัดเจน ซึ่งอาจจะสะท้อนถึงโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่เหลื่อมล้ำของไทย โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์ เนื่องจากที่ตั้งมหาวิทยาลัยรัฐมักกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่มากกว่า

ในรายละเอียด นักศึกษาสายเกษตรและสัตวแพทย์ 65% จะจบจากมหาวิทยาลัยรัฐ, สายการศึกษาฯ 54% จะจบจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ รองลงมาคือจากมหาวิทยาลัยรัฐประมาณ 24%, สายวิศวกรรมศาสตร์ 53% จะจบจากมหาวิทยาลัยรัฐ รองลงมาคือจากมหาวิทยาลัยราชมงคลประมาณ 20%, สายสุขภาพและสวัสดิการ 58% จะจบจากมหาวิทยาลัยรัฐ, สายวิทยาศาสตร์ฯ 50% จะจบจากมหาวิทยาลัยรัฐ และมีเพียงหลักสูตรสายมนุษยศาสตร์และศิลปะและสายสังคมศาสตร์ฯ ที่กระจายตัวไปในสถาบันการศึกษาหลายประเภท โดยจะกระจายตัวในมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยรัฐในกำกับ มหาวิทยาลัยเอกชน ประมาณแห่งละ 20-30%

ทั้งนี้ หากเจาะลึกโครงสร้างหลักสูตรย้อนหลังตั้งแต่ปี 2555-2560 หลักสูตรในสายสังคมศาสตร์ทยอยปรับเพิ่มขึ้นจาก 48.09% ของหลักสูตรทั้งหมดในปี 2555 เป็น 55.24% ในปี 2559 ก่อนจะลดลงในปี 2560 เป็น 50.36% สวนทางกับหลักสูตรสายวิทย์ศาสตร์ที่ลดลงจาก 51.91% ในปี 2555 เป็น 44.76% ในปี 2559 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 49.64% ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม หากนับเฉพาะจำนวนหลักสูตรจะพบว่าหลักสูตรทั้ง 2 ประเภทลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 จากรวมกันประมาณ 14,000 หลักสูตร เหลือเพียง 8,592 หลักสูตรในปี 2556 และทยอยลดลงจนเหลือต่ำสุด 6,360 หลักสูตรในปี 2557 ซึ่งสามารถสะท้อนถึงภาวะขาดแคลนนักศึกษาหรือคุณภาพของการหลักสูตรที่ทำให้ไม่สามารถเปิดสอนต่อไปได้ ก่อนจะเริ่มปรับขึ้นมาอยู่ที่ 9,333 หลักสูตรในปี 2560 โดยมีหลักสูตรสายวิทยาศาสตร์ปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าและอาจจะสะท้อนแนวทางนโยบายการศึกษาของรัฐบาล