ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 1/61 โตกระจายตัวต่อเนื่อง 4.8% สูงสุดรอบ 5 ปี – “เครื่องยนต์เศรษฐกิจ” หมุนทุกตัวในรอบ 6 ปีครึ่ง

สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 1/61 โตกระจายตัวต่อเนื่อง 4.8% สูงสุดรอบ 5 ปี – “เครื่องยนต์เศรษฐกิจ” หมุนทุกตัวในรอบ 6 ปีครึ่ง

21 พฤษภาคม 2018


เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงข่าวตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2561 ว่า เศรษฐกิจเติบโตได้ 4.8% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโตได้ 4% และเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 20 ไตรมาส หรือ 5 ปี นอกจากนี้ หากดู “เครื่องยนต์” เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุนเอกชน การลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก การนำเข้า ไตรมาสนี้เป็นไตรมาสแรกในรอบ 6 ปีครึ่ง หรือตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ที่เครื่องยนต์ทุกเครื่องกลับมาขยายตัวพร้อมกันอีกครั้ง

“การกระจายตัวของเศรษฐกิจเรียกได้ว่าเป็นไปตามลำดับ ในไตรมาสนี้ก็ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ภาคอุตสาหกรรมยังขยายตัวทุกหมวดสินค้า เช่นเดียวกับภาคเกษตรที่แม้ว่าไตรมาสที่แล้วจะติดลบจากน้ำท่วมแต่ก็กลับมาเติบโตค่อนข้างมาก และเทียบกับช่วงปี 2557 ตอนนั้นก็เห็นภาคท่องเที่ยวกับการการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน พอมาสิ้นปี 2559 การส่งออกเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา ภาคเกษตรก็ฟื้นตัวจากปัญหาภัยแล้งก่อนหน้านั้น ก็คงสะท้อนได้ว่าการฟื้นตัวมันกระจายมากขึ้น” ดร.วิชญายุทธ กล่าว

เอกชนเริ่มลงทุน – กำลังการผลิตทะลุ 70%

ทั้งนี้ ในรายละเอียดการลงทุนของเอกชนฟื้นตัวกลับมาค่อนข้างชัดเจนหลังจากที่หลายฝ่ายรอมาหลายไตรมาส โดยเติบโตได้ 3.1% ในไตรมาสนี้ เป็นการเติบโตของหมวดเครื่องจักร 3.1% และการก่อสร้าง 3.4% ขณะที่การขอส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น 228.5% จากไตรมาสก่อนหน้าหรือคิดเป็นมูลค่า 203,600 ล้านบาท โดยเป็นคำขอจากเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี 165,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของคำขอทั้งหมดในไตรมาสนี้ (เพิ่มขึ้นจาก 12,300 ล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า) ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นจาก 50.7 เป็น 52.4 สูงสุดในรอบ 24 ไตรมาส หรือ 6 ปี

ทิศทางการลงทุนของเอกชนยังสอดคล้องกับภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดยในปัจจุบันภาคเอกชนใช้กำลังการผลิตกลับขึ้นมาที่ 72.4% สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยบางอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตมากกว่า 75% ได้แก่ การผลิตน้ำตาล 134.1%, การผลิตพลาสติกและยาง 98.5%, การผลิตยานยนต์ 93.4%, การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 88.1%, การแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ 86.3%, การผลิตจักรยานยนต์ 80.2%, การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง 80.1% และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร 76.2% และคาดว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการลงทุนภาคเอกชนในอนาคต ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม เติบโตได้ 3.7% โดยมีการผลิตเพื่อการส่งออก (ส่งออกมากกว่า 60%) หดตัวเล็กน้อยที่ -0.6% ขณะที่กลุ่มการผลิตภายในประเทศ (ส่งออกน้อยกว่า 30%) และกึ่งส่งออกกึ่งภายในประเทศ (ส่งออกระหว่าง 30-60%) ยังคงทยอยฟื้นตัวที่ 4% และ 7.2% ตามลำดับ

ภาคเกษตรผลผลิตกลับมาดี – แม้ราคาตกบางสินค้า

สำหรับการผลิตภาคเกษตรกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 6.5% ตามสภาพอากาศ รวมทั้งปริมาณน้ำชลประทานและปริมาณน้ำฝนที่เอื้ออำนวยต่อการเพิ่มขึ้นของผลผลิต ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัว -1.3% ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากภาวะน้ำท่วม โดยผลผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลง -12.3% ตามการลดลงของราคายางพารา ราคาปาล์มน้ำมัน และการลดลงจากฐานที่สูงของราคาอ้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยรวมปรับตัวลดลง 4.8%

“แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรโดยรวมจะหดตัวลง แต่เป็นผลมาจากราคายาง ปาล์มน้ำมัน และอ้อยที่ลดลงเป็นหลัก โดยในกลุ่มสินค้าที่สำคัญยังคงปรับขึ้นทั้งผลผลิตและราคา และทำให้รายได้เกษตรกรยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ เช่น ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ปัจจุบันอยู่ที่ราคา 15,000 บาทต่อตัน สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 13,028 บาทต่อตัว ราคามันสำปะหลังที่ 2.16 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 1.9 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคายางและปาล์มน้ำมันถือว่ามีความสอดคล้องกับราคาน้ำมันค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงขาขึ้น ในระยะต่อไปก็คิดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามมาได้” ดร.วิชญายุทธ กล่าว

ส่งออกฟื้นตัวติดต่อกันเกือบ 2 ปี

ด้านต่างประเทศ ภาคส่งออกไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 7 หรือเกือบ 2 ปี โดยมีมูลค่า 61,788 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 9.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญและเกือบทุกหมวดสินค้า มีเพียงสินค้ากลุ่มยาง, น้ำตาล, กุ้งและปูแปรรูปเท่านั้นที่หดตัว ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 5% และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น 4.7%

ส่วนการนำเข้าสินค้า ขยายตัวเช่นเดียวกันโดยมีมูลค่า 55,153 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.3% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้า 6.6% และปริมาณการนำเข้า 9.2% โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้าสอดคล้องกับการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและอุปสงค์ในประเทศ

ด้านการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน ขยายตัว 3.6% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.4% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้น 4.9% จากร้อยละ 2.1%, การใช้จ่ายซื้อสินค้าไม่คงทนและสินค้ากึ่งคงทนขยายตัว 2% และ 2.4% ตามลําดับ เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.8% และ 0.6%, ส่วนการอุปโภคสินค้าคงทนขยายตัว 9.4% ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 22% นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจาก 65.2 เป็น 66.7 ในไตรมาสนี้และเป็นความเชื่อมั่นสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส หรือ 3 ปี

ส่วนการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสที่ 4% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 11.5% ขณะที่การลงทุนของรัฐบาลปรับตัวลดลง 0.3% ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 1.9% ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว 0.2% ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี (ไม่รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) ที่ 21% ใกล้เคียงกับ 21.1% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สุดท้าย ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวในเกณฑ์สูง 12.8% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.61 ล้านคน ขยายตัวในเกณฑ์สูง 15.4% สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยว และรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 840.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ประกอบด้วย 1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 573,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายรับจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย อินเดีย เยอรมนี และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ และ 2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 267,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.2% อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 76.79% เพิ่มขึ้นจาก 73.3% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

คาดจีดีพีแตะ 4.5% – สูงสุด 4.7%

ดร.วิชญายุทธ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 4.2-4.7% (ค่ากลางการประมาณการ 4.5%) เพิ่มขึ้นจากประมาณครั้งที่แล้วเมือวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ 3.6-4.6% (ค่ากลาง 4.1%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

1) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกและการผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดี และสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง

2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในสาขาอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ความคืบหน้าของโครงการลงทุนของภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ

4) การปรับตัวดีขึ้นและการกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้ประชาชนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคการเกษตรจากผลผลิตที่กลับมาฟื้นตัวจากสภาพอากาศที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 8.9% การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 3.7% และการลงทุนรวมขยายตัว 4.7% แบ่งเป็นการลงทุนของเอกชน 3.9% และของภาครัฐ 8.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.7-1.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.4% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยง 3 ประการ ได้แก่ 1) ผลของฐานสูงภายหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัวมาจากต่อเนื่องหลายไตรมาส โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 และทำให้การประมาณการณ์เศรษฐกิจไม่สูงขึ้นมากนัก 2) ราคาสินค้าในตลาดโลก เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและการดำเนินนโยบายการเงินกลับไปสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจซื้อของภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มที่อ่อนไหวต่อราคาน้ำมันและดอกเบี้ย และ 3) ความเสี่ยงจากความผันผวนในการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุน และอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งจากการดำเนินมาตรการการค้าของสหรัฐฯ และจีน การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ การจัดตั้งรัฐบาลในอิตาลี การปรับเปลี่ยนมุมมองการลงทุนในช่วงเปลี่ยนผ่านของนักลงทุน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ

“ผลของสงครามการค้าถ้าจำกัดอยู่แค่ที่ประกาศก็จะคิดเป็นเพียง 2.5% ของจีดีพีทั้งของสหรัฐฯ และจีน ดังนั้นก็ อาจจะไม่กระทบมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งโครงสร้างอาจจะเปลี่ยนมาเป็นนำเข้าจากไทยก็ได้ ส่วนราคาน้ำมันที่อาจจะเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องปกติที่เวลาราคาอะไรก็ตามปรับเปลี่ยนก็ต้องมีคนทั้งได้ทั้งเสีย แต่อีกด้านหนึ่งจะช่วยภาคเกษตรของไทย เช่น กลุ่มยางพารา กลุ่มปาล์มน้ำมัน ให้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะชดเชยเรื่องต้นทุนของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็จะเห็นว่าเวลาราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปสูงมากจะไม่ได้กระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมมากในระดับเดียวกัน” ดร.วิชญายุทธ กล่าว

ด้านดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 4.8 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 2.0 จากไตรมาสก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการบริโภคที่เร่งตัวและอุปสงค์จากต่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐกลับมาฟื้นตัว เมื่อเทียบกับประมาณการล่าสุดของ ธปท. ในเดือนมีนาคม 2561 ต้องถือว่าตัวเลขที่ออกมาดีกว่าที่คาดไว้พอสมควร จากการใช้จ่ายในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนที่มากกว่าคาดเป็นสำคัญ โดยเฉพาะตัวเลขการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนการกระจายตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชนในประเทศที่ดีกว่าที่ ธปท. ประเมินไว้

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปประเมินว่าการใช้จ่ายในประเทศและอุปสงค์จากต่างประเทศที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยจะมีการประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจและเผยแพร่อีกครั้งในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมิถุนายน 2561 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการค้าระหว่างประเทศ ราคาน้ำมันดิบ และการกระจายตัวของกำลังซื้อในประเทศ

รายละเอียดเพิ่มเติม