ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” โชว์เครื่องวัดฝุ่น ย้ำฉีดน้ำไม่ใช่เรื่องตลก – สั่งโรงงานหยุดปรับปรุง 600 แห่ง – มติ ครม.ขยายเพดานเงินเดือน 3 แบงก์รัฐ

“บิ๊กตู่” โชว์เครื่องวัดฝุ่น ย้ำฉีดน้ำไม่ใช่เรื่องตลก – สั่งโรงงานหยุดปรับปรุง 600 แห่ง – มติ ครม.ขยายเพดานเงินเดือน 3 แบงก์รัฐ

5 กุมภาพันธ์ 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน

โชว์เครื่องวัดฝุ่น ย้ำฉีดน้ำไม่ใช่เรื่องตลก – สั่งโรงงานหยุดปรับปรุงแล้ว 600 แห่ง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองว่า อยู่ในช่วงของความร่วมมือกันในการแก้ปัญหาทั้ง ระยะสั้น-กลาง-ยาว ซึ่งมีหลายมาตรการด้วยกัน ตนเคยชี้แจงไปแล้ว การช่วยกันฉีดน้ำก็เป็นสิ่งที่เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ในส่วนขอภาคอุตสาหกรรม หากมีความจำเป็นเขาก็จะปิดโรงงานในช่วงเวลาที่เขาสามารถดำเนินการได้

และจากการตรวจโรงงานทั้งหมดกว่าแสนโรง พบว่ามีโรงงานที่มีความเสี่ยงประมาณ 1,700 โรง วันนี้ก็ได้เข้าไปตรวจแล้ว มีการให้หยุดปรับปรุงไปประมาณ 600 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ต้องใช้การต้ม ใช้ความร้อน ซึ่งมีการใช้เชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นแก๊ส ถ่านหินก็มีอยู่ ตรงนี้ก็จะไปควบคุมให้ได้มากที่สุด

“อย่ามองว่าการฉีดน้ำเป็นเรื่องตลก เพราะเป็นการช่วยเหลือของประชาชนด้วยกัน เขาทำอะไรได้เขาก็ทำไป ซึ่งมันก็มีส่วนให้ฝุ่นละอองอย่างอื่นลดลง ไม่ใช่เพื่อเฉพาะ PM2.5 หากคิดแบบนี้ก็จะกลายเป็นเรื่องตลกไปหรือเปล่า ผมไม่ได้คิดแบบนั้น แต่เป็นเรื่องความร่วมมือของทุกคน อย่างน้อยก็เพิ่มความชุ่มชื้น ละอองขนาดใหญ่ก็ตกลงมา ส่วนพี่น้องเกษตรกรก็ช่วยกันไม่เผาวัชพืชในที่โล่ง ทุกคนก็เข้ามาดูแลกันหมดในขณะนี้ ถือเป็นความร่วมมือที่ดียิ่ง”

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียืนยันว่า มาตรการที่กล่าวไปเป็นการดำเนินการแบบไทยๆ แต่ก็ไม่ทิ้งหลักการสากล ก็ต้องมีมาตรการระยะกลางต่อ

“เรื่องของการปิดโรงเรียนผมพูดไปแล้ว ขอพูดอีกครั้ง เรามองว่าสุขภาพของเด็กควรต้องระมัดระวัง เพราะเด็กเล็กๆ มีภูมิต้านทานต่ำ จากการวิเคราะห์และให้ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เขาก็บอกมาแล้วว่า ฝุ่น PM2.5 นั้นมีผลต่อร่างกาย ไม่ใช่ฉับพลัน แต่เป็นผลในระยะยาว คนอ่อนแอก็เป็นมากหน่อย คนแข็งแรงก็ไม่มีปัญหามากนัก คนชรา คนพิการ ก็อีกพวกหนึ่ง จึงต้องมีมาตรการดูแลคนทุกกลุ่ม ซึ่งทุกกระทรวงได้แก้ปัญหาไปแล้วในขณะนี้”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องการแจกหน้ากาก ตนขอความร่วมมือสำหรับผู้ที่มีกำลังในการบริจาค หรือจัดหาเพิ่มเติมให้กับประชาชน ซึ่งตนเห็นจากหลายคน ทั้งภาคเอกชนและนักแสดง ขอให้มองตรงนี้ว่าเป็นความร่วมมือ

ในส่วนการผลิตอุปกรณ์ลดฝุ่นละออง ไม่ได้หมายความว่าจะลดเฉพาะ PM2.5 แต่ต้องลดทุกฝุ่นละออง ซึ่งการแก้ปัญหาในจุดนี้ พบแล้วว่า ฝุ่น PM2.5 นั้นมาจากการจราจรกว่า 50% วันนี้รัฐบาลได้แก้ปัญหาไปแล้วในส่วนหนึ่งคือ รถ 2,000 กว่าคัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สามารถที่ลดลงได้จนรถทุกคันเหลือสัดส่วนการปล่อยมลพิษเพียง 20%

“ตอนนี้รถที่วิ่งไม่ได้ก็มีจำนวนมากพอสมควร ก็ต้องหารถมาทดแทน ฉะนั้นมาตรการอะไรที่ออกมามีปัญหาหมด ส่งผลกระทบต่อส่วนรวม แต่หากให้ความสำคัญกันแบบนี้เดี๋ยวก็แก้ได้ หากทุกคนมาให้ร้ายกันเรื่องนี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้เหมือนเดิม และปัญหานี้ก็ไม่ได้มาเกิดปีนี้ เกิดมาตลอด เมืองใหญ่ทุกประเทศก็เกิด วันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือกับการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลให้ตรวจคุณภาพ แต่แม้รถทุกคันจะไม่เกินมาตรฐานแต่การติดบนถนนนานๆ ก็จะรวมไอเสีย เป็นฝุ่นพิษออกมามากขึ้น นั่นคือข้อเท็จจริง”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการระยะยาวที่รัฐบาลเร่งรัดว่า รัฐบาลมีแผนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้วว่าจะดำเนินการอย่างไร รัฐบาลลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่ที่แพงคือแบตเตอร์รี่ และมีอายุการใช้งาน ก็ต้องไปพัฒนาต่อไป พยายามจะให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้าให้ได้มากยิ่งขึ้น ราคาก็เริ่มลดลงแล้ว ประกอบกับเริ่มมีการผลิตในประเทศแล้ว เปล่านี้เป็นการเตรียมการสู่อนาคต ซึ่งระหว่างนี้อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านก็ต้องเตรียมการในทุกมิติ ซึ่งเริ่มดำเนินการไปตั้งแต่ปี 2561

“จริงๆ แล้วต้องการสร้างการรับรู้ให้ทุกคนมาช่วยกันแก้ปัญหา ช่วยกันทำช่วยกันคิด แค่เพียงรัฐบาลคิด สั่ง และใช้กฎหมาย แก้ปัญหาไม่ได้ตราบใดทุกคนไม่ร่วมมือกัน เมื่อไรก็ตามที่เราทำความพร้อมทุกอย่างได้ เราก็จะปรับมาตรฐานค่าฝุ่นละออง PM2.5 ให้ไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม. วันนี้ยังไปไม่ได้ก็ให้มาตรฐานอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. ไปก่อน ก็น่ายินดีที่วันนี้ทุกพื้นที่ปริมาณฝุ่นก็ลดลง ในห้องนี้ก็ไม่เกิน 30 มคก./ลบ.ม. ข้างนอกก็ไม่เกิน อย่าไปตื่นตระหนก แต่เราก็ให้ความสำคัญ ก็ขอร้องบรรดาคนที่ออกมาพูด เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง ไม่โทษใคร เป็นหน้าที่รัฐบาลพยายามแก้ไป คิดว่าน่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ หากทุกคนเอาจริงเอาจัง นี่คือสิ่งที่รัฐบาลกวดขันลงไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว

อ่านรายละเอียด มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพิ่มเติม

วอนอย่าด่วนสรุปปม “ฮาคีม” – ส่ง กต. หารือ “บาห์เรน-ออสเตรเลีย” แล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระแสคัดค้านการส่งตัวนายฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากประเทศออสเตรเลีย กลับไปดำเนินคดีที่ประเทศบาห์เรนว่า วันนี้เรื่องดังกล่าวอยู่ที่กระบวนการศาลแล้ว เป็นกระบวนการยุติธรรมของไทย ฉะนั้นเราจะทำอย่างไรไม่ให้เสียกระบวนการเหล่านี้ รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงตุลาการได้

โดยขออย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าจะตัดสินออกมาอย่างไร และอย่ามองเป็นประเด็นการเมือง เพราะระหว่างนี้กระทรวงการต่างประเทศมีการประสานกับทั้ง 2 ประเทศ ทั้งบาห์เรนและออสเตรเลีย เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้

“เรื่องของการบอยคอต อย่าเพิ่งมองไปถึงตรงนั้นเลย เราต้องมีการเตรียมการอยู่แล้ว ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เรื่องดังกล่าวเป็นผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทุกประเทศ ฉะนั้นกฎหมายไทยก็ต้องได้รับการปฏิบัติ แล้วกฎหมายต่างประเทศจะทำอย่างไร เมื่อมีปัญหามาจากต้นทางทั้งหมด ขอให้ติดตามแล้วกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมิน ผู้สมัคร ส.ส.เปลี่ยนชื่อ – ไม่คาดหวังเก้าอี้นายกฯ ทุกอย่างอยู่ที่ ปชช.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อชาติ เปลี่ยนชื่อเป็น “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” จำนวน 15 คน ว่า เป็นเรื่องที่แปลก แต่ไม่น่าสนใจ สำหรับตน ซึ่งในเรื่องนี้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดูแลในเรื่องนี้อยู่แล้ว

ต่อคำถามการที่พรรคพลังประชารัฐ เทียบเชิญให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กำลังศึกษานโยบาย โดยยืนยันว่า จะไม่เกินวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้อยู่แล้ว จึงขอเวลา เพราะขณะนี้ตนเองก็ทำงานบริหารประเทศอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้สนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะประชาชนต้องการความช่วยเหลือดูแล

“เรื่องรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ผมยังไม่เห็น เพราะเรื่องภายในของพรรคไม่เกี่ยวกับผม ผมยังไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองเลย เพราะเขามีกำหนดการส่งรายชื่อของเขาอยู่แล้ว ขอประชาชนช่วยดูแลว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ที่ผ่านมามีการพูดถึงการปฏิรูปการเมือง การปรองดองสมานฉันท์ ฉะนั้นต้องดูคนที่เข้ามาทำงานการเมือง มีใครบ้าง แล้วปรองดองสมานฉันท์หรือไม่ หากต่อยตีกันไปตลอดเวลาก็ไปไม่ได้ วันหน้าแม้ได้รัฐบาลมาจะได้ความเชื่อมันหรือ ถ้าเรากันเองยังไม่เชื่อมั่นกันตรงนี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามว่าการพิจารณาตอบรับเป็นนายกฯ ในบัญชีพรรค พปชร.ได้มีการพิจารณาผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ซึ่งมีกระแสข่าวว่านายกฯ ไม่พอใจใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนยังไม่เห็น ซึ่งไม่เกี่ยวกับตน เป็นเรื่องของพรรค ส่วนเรื่องของตนคือจะไปร่วมให้เขาเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในบัญชีหรือไม่ สมมติถ้าตนตอบรับให้พรรคเสนอชื่อ แล้วเป็นนายกฯ ขึ้นมา อะไรที่ต้องทำก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจน ถึงตอนนั้นก็มีคนมาร่วมรัฐบาลก็คือรัฐบาลอนาคต ถ้าตนได้อยู่ตรงนั้นก็จะให้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด อะไรที่ไม่ดีก็ขอร้องว่าอย่าทำกันอีกเลย ต้องสอนคนแบบนี้

เมื่อถามว่า เผื่อใจไว้สำหรับการไม่ได้เป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ผมเผื่อทุกเรื่อง ผมพร้อมทุกอย่างจะทำอะไรก็ได้ ผมก็ติดอยู่อย่างเดียว คือภาระดูแลประเทศชาติมาสามสี่ปีมีอะไรดีขึ้นตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ก็มีอะไรที่ไม่ได้ทำตั้งเยอะตั้งแยะเหมือนกัน อะไรที่ประชาชนคาดหวังก็อยากทำให้ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับประชาชนจะเลือกตั้งใคร”

เมื่อถามว่านอกจากเรื่องนโยบายพรรค สถานการณ์บ้านเมืองถือเป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาด้วยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์บ้านเมืองก็ไม่มีข่าวสารอะไรที่มันทำให้สับสนอลหม่าน ทุกคนก็ร่วมมือกันดี เว้นแต่ถ้ามีใครทำให้วุ่นวายประชาชนก็ไปว่ากันเอาเอง มันต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว จะไปทำอะไรได้ และสถานการณ์วันนี้ถือว่าปกติ อย่าพูดให้มันไม่ปกติ

ไม่ได้ห้าม ฟุตบอลประเพณีฯ “ล้อการเมือง” – ชี้สนุกแต่ต้องมีขอบเขต

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการจัดฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่มีการสั่งห้ามขบวนล้อการเมือง หรือชี้นำการเลือกตั้ง โดยยืนยันว่าไม่ได้ห้าม และตนได้มีการสอบถามฝ่ายความมั่นคงแล้ว ได้รับการชี้แจงว่าเป็นการขอความร่วมมือ และขออย่าทำอะไรเกินเลยมากเกินไป

“ความสนุกสนาน ผมคิดว่าเป็นเรื่องต้องมีขอบเขต จะอ้างประชาธิปไตยก็ได้ แต่อย่างไรสมควร แค่ไหนก็ควรรู้ไว้บ้าง ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องเอามาเล่นได้ทั้งหมด ก็ขอความร่วมมือไป หากไม่ร่วมมือก็เรื่องของท่าน you get what you pay ผมไม่ใช้มาตรการบังคับอยู่แล้ว วันนี้ก็ได้มีการผ่อนผันไปมากแล้ว ฉะนั้นอย่าอ้าง คสช.และมาตรา 44” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า วันนี้มีการประชุมหลายเรื่อง สิ่งสำคัญคือ ตนได้กำชับไปให้ทุกคนดูแลความสงบเรียบร้อย ข้าราชการจะเกียร์ว่างไม่ได้ทั้งสิ้น ประชาชนยังมีความยากลำบากตรงไหนก็ต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ต้องดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด ซึ่งทุกคนก็คงคาดหวังในสิ่งเดียวกันคือความอยู่ดีกินดี และประเทศเจริญก้าวหน้า ซึ่งคำตอบของความหวังมีเพียงหนึ่งเดียวคือทุกคนต้องมาช่วยกัน ร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการขอความร่วมมือ

“พุทธิพงษ์” แถลงอำลาตำแหน่ง พร้อมลุยการเมือง – นายกฯ ยัน ไม่มีใครกดดัน

โดยในวันนี้ช่วงเช้าก่อนการประชุม ครม. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงลาออกจากตำแหน่ง โดยได้ยื่นหนังสือลาออกไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา เพื่อสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ทั้งนี้ ตนได้ไปเรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้วว่าจะขอยุติบทบาทและลาออกรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและจะมีผลภายในวันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2562) ซึ่งการลาออกครั้งนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกฎหมาย เพราะแม้ตนจะมีบทบาทในพรรคการเมือง แต่กฎหมายไม่ได้บังคับ

“ส่วนตัวรู้สึกว่าเมื่อตัดสินใจเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. การทำงานทั้งสองด้านพร้อมกันอาจไม่เหมาะสมและเกิดความสับสน การลาออกไปทำงานการเมืองน่าจะเหมาะสมกว่า และสามารถทำงานการเมืองได้เต็มเวลา ส่วนผู้ที่จะรับหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ แทนนั้น นายกฯ คงมอบหมายวันนี้” นายพุทธิพงษ์กล่าว

นายพุทธิพงษ์กล่าวต่อไปว่า ทางพรรคยังไม่ได้คำตอบจากนายกรัฐมนตรีที่พรรคได้เชิญให้มาอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ สำหรับความคืบหน้าการสรรหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐนั้น กรรมการบริหารพรรคและกรรมการสรรหาผู้สมัครคงปรับตามความเหมาะสมและสรุปกันอีกครั้ง ก่อนจะไปยื่นกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งทุกอย่างจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 นี้แน่นอน

ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า เป็นเรื่องของนายพุทธิพงษ์ที่จะไปทำงานการเมือง และจะไม่มีการตั้งบุคคลอื่นมาแทน เนื่องจากมีคณะทำงานอยู่แล้ว พร้อมกับยืนยันว่า การลาออกของนายพุทธิพงษ์ไม่มีการกดดันให้ออกจากตำแหน่งแต่อย่างใด

มติ ครม.มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

แก้พ.ร.บ.อาหาร เพิ่มโทษ “โฆษณาเกินจริง – อาหารผสมยา” จำคุก 3-5 ปี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ครม.เห็นชอบอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมี สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ดังนี้

1. วันบังคับใช้ ให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

2. บทนิยาม เพิ่มนิยามเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาอนุญาต ได้แก่ คำว่า “กระบวนการพิจารณาอนุญาต” “ผู้เชี่ยวชาญ” “องค์กรผู้เชี่ยวชาญ” “หน่วยงานของรัฐ” “องค์กรเอกชน” เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ

3. เพิ่มหมวด 1/1 กระบวนการพิจารณาอนุญาต

    – กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีอำนาจขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร
    – กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการอาหารมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ อัตราค่าขึ้นบัญชีสูงสุดและค่าขึ้นบัญชีที่จะจัดเก็บจากผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งอัตราค่าใช้จ่ายสูงสุดและค่าใช้จ่ายที่จะจัดเก็บจากผู้ยื่นคำขอในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร
    – กำหนดให้ค่าขึ้นบัญชีและค่าใช้จ่ายที่จัดเก็บตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นเงินของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และให้ใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด

4. การผลิตเพื่อการส่งออก

– กำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิตเพื่อการส่งออก สามารถปฏิบัติตามมารฐานของประเทศปลายทางได้ โดยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของไทย และรวมไปถึงกรณีที่นำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตสินค้าเพือการส่งออกเท่านั้นด้วย แต่ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับอาหารนั้นให้ผู้อนุญาตทราบ รวมทั้งจัดเก็บเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับข้อกำหนดหรือมาตรฐานของประเทศผู้ซื้อหรือผู้สั่งซื้อ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

5. กำหนดลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ และแก้ไขบทกำหนดโทษเกี่ยวกับอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายให้มีอัตราโทษที่เหมาะสมกับปัจจุบัน

    – กำหนดลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์เพิ่มเติม โดยกำหนดให้อาหารที่มียาหรือสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย เป็นอาหารไม่บริสุทธิ์
    – แก้ไขบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการผลิต นำเข้าหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ อาหารปลอม และอาหารผิดมาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

6. การควบคุมและกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร

    – ให้ผู้อนุญาต (เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือผู้ซึ่งเลขาธิการฯ มอบหมาย) มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ทำการโฆษณา ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารดำเนินการแล้วแต่กรณี กรณีผู้อนุญาตเห็นว่าการโฆษณาอาหารเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม เช่น ข้อความที่เป็นความเท็จหรือเกินความจริง ข้อความที่แสดงสรรพคุณอันทำให้เข้าใจว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรืออาการของโรค
    – การขออนุญาต การออกใบอนุญาต และอายุใบอนุญาตโฆษณาอาหาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
    – ผู้ได้รับอนุญาตให้โฆษณาอาหาร ต้องโฆษณาตามรายละเอียดและเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
    – ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ทำการโฆษณา ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารดำเนินการแก้ไขการดำเนินการกับโฆษณาอาหารที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในการโฆษณา ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของประชาชน สั่งงดการผลิต การนำเข้า หรือการจำหน่ายอาหาร ที่คณะกรรมการเห็นว่าไม่มีคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณตามที่โฆษณา

7. การดำเนินการกับของกลางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งทำลายหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดกับของกลางที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายตามที่เห็นสมควร โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการอาหารกำหนด

8. อำนาจเปรียบเทียบปรับ ให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีอำนาจเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดกรณีที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน

9. บทเฉพาะกาล

    – ใบอนุญาตโฆษณาอาหารที่ออกตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และยังมีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้คงใช้ได้ต่อไป จนกว่าใบอนุญาตโฆษณานั้นจะสิ้นอายุ
    – คำขออนุญาต คำขอประเมินเอกสารวิชาการ หรือคำขอใด ที่ได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเป็นคำขอตามพระราชบัญญัตินี้ ยกเว้นในกรณีที่คำขอใดมีข้อแตกต่างไปจากคำขอตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามด้วย
    – ให้ดำเนินการออกกฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรี

“ร่าง พ.ร.บ.ที่แก้ไขนี้ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจมากขึ้นว่าผลิตภัณฑ์ที่ใช้มีความปลอดภัยและได้รับการโฆษณาอย่างถูกต้องไม่หลอกลวงเพราะมีการเพิ่มโทษจากเดิม จำคุก 3 ปีปรับ 30,000 บาท เป็นจำคุก 3 ปี ปรับ 300,000 บาท หรือในกรณีอาหารไม่บริสุทธิ์หรือมียาปลอมปน แต่เดิมการพิสูจน์ต้องให้ สำนักงานอาหารและยา หรือ อย.เป็นผู้ดำเนินการซึ่งใช้เวลานานมาก ซึ่งบางครั้งกว่าจะฟ้องศาลได้จนมีบทลงโทษใช้เวลาเป็นปี ขณะที่กฎหมายใหม่ เมื่อพิสูจน์แล้วมีความผิด เช่น พบกาแฟผสมยาลดความอ้วน จะมีโทษทันทีโดยไม่ต้องแจ้งเตือน และมีการเพิ่มโทษจากกฎหมายเดิมที่จำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาทเป็นของใหม่จำคุก 5 ปีปรับ 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” นายณัฐพรกล่าว

ต่ออายุธนาคารที่ดินอีก 3 ปี

นายณัฐพร กล่าวว่า ครม.มีมติคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ.เสนอ โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา ดังนี้

    1. แก้ไขการกำหนดอายุขั้นสูงของประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากเดิม มีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ เป็น ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์

    2. แก้ไขระยะเวลาการยุบเลิก บจธ. จากเดิม เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 8 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ (ใช้บังคับวันที่ 8 มิถุนายน 2559 ครบกำหนด 8 ปีวันที่ 7 มิถุนายน 2562) เป็น “พ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2562”

    3. กำหนดให้ประธานกรรมการ กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ บจธ.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะครบวาระที่ได้รับแต่งตั้ง

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบตามที่บจธ.เสนอให้นำเงินงบประมาณตามมติคณะรัฐมนตรีที่คงเหลือ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 จำนวน 400,427,037 บาท เพื่อดำเนินโครงการตามภารกิจของ บจธ. ซึ่งคณะกรรมการ บจธ.ได้ให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

    1. โครงการต้นแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร 233,253,535 บาท

    2. โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน 44,785,501 บาท

    3.โครงการแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน 86,032,687 บาท

    4. โครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล 36,355,314 บาท

ไฟเขียว ขยายเพดานอัตราเงินเดือน 3 แบงก์รัฐ 1%

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้

    1. เห็นชอบการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนพนักงานธนาคารออมสิน ตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2561 และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ตามมติ ครรส. ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

    2. เห็นชอบการปรับเพิ่มเงินเดือนของพนักงานธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และ ธอส. โดยให้ปรับเพิ่มเงินเดือนพนักงานที่ยังไม่ถึงอัตราขั้นต่ำของกระบอกเงินเดือนให้ได้รับในอัตราขั้นต่ำในลำดับแรก และปรับเพิ่มเงินเดือนเพื่อชดเชยพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการที่พนักงานได้รับการปรับเงินเดือนเข้าสู่ระดับขั้นต่ำ โดยให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจพิจารณาแนวทางการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับเงินเดือนเข้าสู่ระดับขั้นต่ำได้ตามแนวทางที่เหมาะสม โดยรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 1 ของฐานเงินเดือนพนักงาน ทั้งนี้ ให้ปรับเพิ่มได้เพียงครั้งเดียวตามมติ ครรส.

    3. การขอปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนและการขอปรับเพิ่มเงินเดือนในแต่ละครั้งจะต้องเว้นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีขึ้นไป โดยมิให้นำเหตุแห่งการปรับเงินเดือนของข้าราชการมาเป็นประเด็นในการพิจารณา

ด้านนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การปรับเพิ่มเงินเดือนครั้งนี้สำหรับพนักงานที่ยังไม่ถึงอัตราขั้นต่ำเดือนละ 9,000 บาท ก็ให้ได้รับในอัตราขั้นต่ำ ส่วนพนักงานรายใดที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นเงินเดือนเข้าสู่ระดับขั้นต่ำครั้งนี้ โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานที่ทำงานมาเก่าแก่ ก็ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนเพื่อชดเชยผลกระทบได้ครั้งเดียว แต่ต้องไม่เกิน 1% ของฐานเงินเดือน ขณะเดียวกันในการขอปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือน รวมถึงการขอปรับเพิ่มเงินเดือนในแต่ละครั้งจะต้องเว้นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีขึ้นไป

สำหรับอัตราเงินเดือนใหม่ของพนักงานสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 3 แห่งนั้น แบ่งเป็น พนักงานออมสิน และ ธ.ก.ส. จะมีอัตราเงินเดือนตั้งแต่ 9,000-250,000 บาทต่อเดือน ส่วนพนักงาน ธอส.มีอัตราเงินเดือนตั้งแต่ 9,000-220,000 บาทต่อเดือน ซึ่งทั้ง 3 ธนาคารมีประมาณการค่าใช้จ่ายบุคลากร คือ ธนาคารออมสินจะมีจำนวนพนักงานทั้งหมด 16,297 คน ประมาณการค่าใช้จ่าย 5 ปี หลังจากปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนปีละ 84 ล้านบาท, ธ.ก.ส.มีจำนวนพนักงานทั้งหมด 20,005 คน ประมาณการค่าใช้จ่าย 5 ปี หลังจากปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนปีละ 184 ล้านบาท และ ธอส.มีจำนวนพนักงานทั้งหมด 3,964 คน ประมาณการค่าใช้จ่าย 5 ปี หลังจากปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนปีละ 41 ล้านบาท

“การปรับขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการหาเสียง แต่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่จะต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาหลายธนาคารก็ไม่ได้มีการปรับโครงสร้างเงินเดือนพนักงานขึ้น บางแห่งก็ไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 52 บางแห่งก็ปี 54 หรือบางแห่งก็ปี 58 ดังนั้นการปรับครั้งนี้จึงถึงเวลาที่จะปรับโครงการใหม่ และไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นจนสูงเกินไป และเรื่องนี้ก็ได้ผ่านความเห็นของ ครรส.มาแล้วด้วย”

ตั้งคณะทำงานร่วมไทย – อียู เดินหน้าแก้ประมงผิดกฎหมาย

พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบข้อกำหนดคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU และแต่งตั้งคณะทำงานฝ่ายไทยของคณะทำงานร่วมฯ โดยจะจัดประชุมเจรจาหารือทุกปี ในเวทีระหว่างประเทศขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) และองค์กรบริหารจัดการประมงในระดับภูมิภาค (RFMOs) เป็นต้น

เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อริเริ่มระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคเพื่อต่อต้านกับการทำประมง IUU และจัดระเบียบ/ร่วมมือในข้อริเริ่มร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ด้านการทำประมง IUU และสถานการณ์ที่น่ากังวลในประเทศที่สาม รวมทั้งประสานงานในโครงการพัฒนาต่างๆ โดยกำหนดขอบเขตงานหลักของคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรป รวมทั้งจัดงานความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาคและระดับโลก

ทั้งนี้ การจัดตั้งคณะทำงานฝ่ายไทยของคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพื่อดำเนินการในเชิงเทคนิคและการปฏิบัติ โดยสหภาพยุโรปได้เสนอแนะให้เป็นคณะทำงานในระดับกรม โดยมีอธิบดีเป็นประธาน และเนื่องจากประเด็นการต่อต้านการทำประมง IUU เกี่ยวข้องกับภารกิจของกรมประมงเป็นหลัก จึงเห็นควรให้อธิบดีกรมประมงเป็นประธานคณะทำงาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นคณะทำงาน ได้แก่ กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมศุลกากร กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมยุโรป กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยมีผู้อำนวยการกองประมงต่างประเทศ กรมประมงเป็นคณะทำงานและเลขานุการ

คณะกรรมการฝ่ายไทยจะมีอำนาจหน้าที่ กำหนดนโยบายในการเจรจาหารือความร่วมมือกับคณะทำงานของคณะกรรมาธิการยุโรป ในการต่อต้านการทำประมง IUU และประเด็นที่คณะทำงานทั้งสองฝ่ายตกลงหารือร่วมกัน กำกับดูแล ให้ความเห็นชอบ ประสานงาน และดำเนินการใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปฯ โดยสามารถแต่งตั้งคณะทำงานย่อย ที่ปรึกษา หรือผู้ช่วยเลขานุการ เพื่อช่วยปฏิบัติงานได้ และปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมาย

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

ปรับปรุง กม.แรงงานสัมพันธ์ เปิดทาง “ต่างด้าว” นั่งสมาชิกสหภาพฯ

พล.ท. วีรชน กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

  • ยกเลิกพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
  • กำหนดบทนิยามคำว่า “นายจ้าง” “ลูกจ้าง” “สภาพการจ้าง” “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” “ปิดงาน” “นัดหยุดงาน” “สมาคมนายจ้าง” “สหภาพแรงงาน” “สหพันธ์นายจ้าง” “สหพันธ์แรงงาน” เป็นต้น
  • หมวด 1 ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง กำหนดให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง โดยให้ทำเป็นหนังสือกำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างประกอบด้วยเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน ค่าจ้าง การเกษียณอายุหรือครบสัญญาจ้าง เป็นต้น ให้นายจ้างนำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมาจดทะเบียนต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ตกลงกัน
  • หมวด 2 วิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน กำหนดให้เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่พ้นกำหนดเวลาหรือนับแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้ กรณีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายอาจตกลงกันให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไป หรือนำข้อพิพาทนั้นไปเจรจาตกลงกันเอง หรือตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หรือปิดงานหรือนัดหยุดงานโดยไม่ขัดต่อกฎหมายก็ได้ นอกจากนี้ได้กำหนดให้กิจการบางประเภทเมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ต้องส่งข้อพิพาทแรงงานให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาด อาทิ กิจการไฟฟ้า กิจการประปา กิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รวมทั้งกิจการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเห็นว่าข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้นั้นอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน
  • หมวด 3 การปิดงานและการนัดหยุดงาน กำหนดให้นายจ้างอาจปิดงาน หรือลูกจ้างอาจนัดหยุดงานได้ แต่จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้
  • หมวด 4 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ กำหนดองค์ประกอบ วิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงาน การชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน เสนอความเห็นเกี่ยวกับการเรียกร้อง การเจรจา การระงับข้อพิพาทแรงงาน การนัดหยุดงานและการปิดงานตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
  • หมวด 5 คณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์เพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ในการส่งเสริม ป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ต่อรัฐมนตรี และเสนอความเห็นในการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ ต่อรัฐมนตรี
  • หมวด 6 คณะกรรมการลูกจ้าง กำหนดให้มีคณะกรรมการลูกจ้างเพื่อทำหน้าที่ประชุมหารือกับนายจ้างเพื่อจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้าง กำหนดข้อบังคับในการทำงานพิจารณาคำร้องทุกข์ของลูกจ้าง ตลอดจนหาทางปรองดองและระงับข้อขัดแย้งในสถานประกอบกิจการ
  • หมวด 7 สมาคมนายจ้าง หมวด 8 สหภาพแรงงาน และหมวด 9 สหพันธ์นายจ้างและสหพันธ์แรงงาน กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการในการจัดตั้ง การเข้าเป็นสมาชิก และการดำเนินกิจการของสมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหพันธ์นายจ้าง สหพันธ์แรงงาน สภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้าง โดยสมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงาน สหพันธ์นายจ้าง สหพันธ์แรงงานมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อแสวงหาและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างให้แก่สมาชิกและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งปรับปรุงให้สามารถจัดตั้งได้ง่ายขึ้นและเอื้อต่อแรงงานต่างชาติมากขึ้น
  • หมวด 10 การกระทำอันไม่เป็นธรรม กรณีที่ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ห้ามนายจ้างกระทำต่อลูกจ้าง เช่น การเลิกจ้างหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่ลูกจ้างกำลังร่วมกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน กำลังจะเข้าเป็นสมาชิกหรือเป็นกรรมการของสหภาพแรงงาน เป็นต้น
  • หมวด 11 บทกำหนดโทษ กำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ที่กระทำฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ที่ปรึกษานายจ้าง ที่ปรึกษาลูกจ้าง ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน สมาคมนายจ้างสหภาพแรงงาน หรือผู้ชำระบัญชีก็ตาม และให้อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้สำหรับความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว

อนุมัติงบฯ 221 ล้าน วางเคเบิ้ลใต้น้ำจ่ายไฟฟ้าให้หมู่เกาะปันหยี

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม.มีมติคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภุมิภาค (กฟภ.) ยกเลิกการดำเนินโครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เกาะต่างๆ (เกาะปันหยี จังหวัดพังงา) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2540 เนื่องจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งว่า การปักเสาพาดสายเพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ป่าชายเลนอาจส่งผลกระทบทางลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนในบริเวณนั้นและยังเป็นการทำให้ทัศนียภาพที่สวยงามตามธรรมชาติของป่าชายเลนสูญเสียไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบต่อคุณค่าความเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนในอนาคต อีกทั้งอาจจะเป็นประเด็นปัญหาในการเสนอแหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติได้ ดังนั้น จึงขอให้ กฟภ.พิจารณาทบทวนการศึกษารูปแบบโครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เกาะต่างๆ (เกาะปันหยี จังหวัดพังงา)

ด้วยเหตุนี้ กฟภ.จึงได้ทบทวนโครงการใหม่เป็นการสร้างสายเคเบิ้ลใต้น้ำตลอดแนวและ ครม.อนุมัติให้ กฟภ.ดำเนินโครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เกาะต่างๆ (เกาะปันหยี จังหวัดพังงา) ดังกล่าวด้วยวงเงินลงทุน 221 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 165 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ.จำนวน 56 ล้านบาท โดยให้ กฟภ.กู้เงินในประเทศ ภายในกรอบวงเงิน 165 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนของโครงการดังกล่าว โดย กฟภ.จะทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรับมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 (เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ) เพื่อดำเนินโครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เกาะต่างๆ (เกาะปันหยี จังหวัดพังงา) ของ กฟภ. และผ่อนผันการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2530

วันที่ 22 สิงหาคม 2543 และวันที่ 17 ตุลาคม 2543 เกี่ยวกับการห้ามมิให้อนุญาตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนในทุกกรณี เพื่อดำเนินโครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าให้เกาะต่างๆ (เกาะปันหยี จังหวัดพังงา) ของ กฟภ.

เห็นชอบ “ปลากัด” สัตว์น้ำประจำชาติ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สำหรับสาระสำคัญของการเสนอให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ

  1. ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ เป็นที่ทราบกันดีว่า คนไทยรู้จัก คุ้นเคย และมีความผูกพันกับปลากัดมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งมีหลักฐานยืนยัน และเมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2556 กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ปลากัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
  2. ด้านความเป็นเจ้าของ และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “ปลากัดไทย” ที่เสนอให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ชื่อวิทยาศาสตร์ Betta splendens ชื่อสามัญ “Siamese Fighting Fish” หรือ “Siamese Betta” มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย เป็นสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น จนเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางในระดับสากล ชื่อ Siamese จึงเป็นเครื่องสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ปลากัดไทยนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้ อีกทั้งไทยเป็นแหล่งอ้างอิงมาตรฐานหลักของปลากัดอีกด้วย
  3. ด้านประโยชน์ใช้สอย ปลากัดไทยได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยในหลายประการ โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง และการสร้างนวัตกรรมด้านการเพาะพันธุ์ ซึ่งนำไปสู่การค้าเชิงพาณิชย์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

สำหรับข้อมูลส่งออกปลากัดไทยกว่า 95 ประเทศ ปริมาณการส่งออกระหว่างปี 2556-2560 ประมาณ 20.85 ล้านตัว/ปี มูลค่าไม่ต่ำกว่า 115.45 ล้านบาท/ปี หรือ 5.42 บาท/ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปัจจุบันมีการเลี้ยงปลากัดไทยทั่วโลก โดยด้านพันธุศาสตร์นั้น ชื่อของปลากัดจีน ปลากัดมาเลย์ และปลากัดอินโด แม้จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป แต่มีที่มาจากสายพันธุ์เดียวกับปลากัดป่าของไทยทั้งสิ้น

โดยจังหวัดนครปฐมเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันความนิยมของปลากัดไทยประเภทกัดเก่งนั้นลดลงมาก แต่มาเน้นด้านการพัฒนาสายพันธุ์เน้นที่ความสวยงาม ทำให้มีการเพาะเลี้ยงทั่วประเทศ มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมง จำนวน 1,500 ราย เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงปลากัดไทยมีการกระจายทั่วพื้นที่ของประเทศไทยจำนวน 500 ราย และมีผู้ที่เลี้ยงรายย่อย ผู้ชื่นชอบการเลี้ยงปลากัดไทยมากกว่า 100,000 ราย ซึ่งปลากัดไทยสามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับชุมชนได้ รวมทั้งมีการเพาะเลี้ยงปลากัดเพื่อเอาไว้กัดแข่งขันเป็นกีฬา หรือนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน รวมถึงมอบเป็นของขวัญในวันพิเศษ และยังสามารถนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของไทย ตลอดจนนำไปใช้ประกอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสะท้อนความเป็นไทยได้

นายกฤษฎาระบุว่า กระทรวงเกษตรฯ ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลุ่มคนเลี้ยงปลากัดที่ร่วมผลักดันข้อเสนอดังกล่าวนี้ รวมทั้งนักวิชาการสาขาต่างๆ ที่ร่วมสนับสนุนข้อมูลจนผ่านการพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งในวันนี้ ครม.ก็ได้มีมติเห็นชอบให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการขับเคลื่อนกันอย่างเต็มที่เนื่องจากปลากัดเป็นสัตว์ที่มีเอกลักษณ์ มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย มีความผูกพันทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และมีผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ มีการพัฒนาพันธุ์เพื่อการค้า

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยืนยันจะผลักดันเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปลากัดไทยให้เดินหน้าต่อไปในหลากหลายมิติยิ่งขึ้น เช่น การค้าออนไลน์ การร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่สนับสนุนธุรกิจสัตว์น้ำสวยงามด้วยระบบการขนส่งปลากัดภายในประเทศ ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดความรวดเร็วและมีความปลอดภัยไปจนถึงมือลูกค้า ตลอดจนร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์เพื่อพัฒนาแผนธุรกิจปลากัดไทย

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 เพิ่มเติม