ThaiPublica > คอลัมน์ > Learn-Unlearn-Relearn ผู้ต้องขัง: เด็กน้อยในอ้อมอกมารดาที่ชื่อว่าเรือนจำ (ตอนที่ 2) – บ้านกึ่งวิถี ศูนย์ชุมชนเข้มแข็งบ้านท้ายโขด

Learn-Unlearn-Relearn ผู้ต้องขัง: เด็กน้อยในอ้อมอกมารดาที่ชื่อว่าเรือนจำ (ตอนที่ 2) – บ้านกึ่งวิถี ศูนย์ชุมชนเข้มแข็งบ้านท้ายโขด

28 กุมภาพันธ์ 2019


ณัฐเมธี สัยเวช

**หมายเหตุ: การสัมภาษณ์ในบทความได้รับการเรียบเรียงถ้อยคำขึ้นใหม่ โดยยังคงใจความที่ตรงกับของเดิมเอาไว้**

ศูนย์ชุมชนเข้มแข็งบ้านท้ายโขด จังหวัดระยอง ได้รับการประกาศจากกรมคุมประพฤติให้เป็นบ้านกึ่งวิถี หรือ halfway house เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

บทบาทสำคัญของบ้านกึ่งวิถีก็คือ การให้ผู้ที่เพิ่งพ้นโทษออกจากเรือนจำ หรือผู้ที่เข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพจากการติดยาเสพติด แต่ไม่มีความพร้อมในการกลับไปอยู่กับครอบครัวหรือชุมชนด้วยสาเหตุต่างๆ ได้เข้ามาพักอาศัยเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะกลับไปอยู่ในสังคมอีกครั้ง

โดยปรกติแล้ว สถานที่ที่เป็นบ้านกึ่งวิถีมักจะเป็นวัด เนื่องด้วยมีวัตถุประสงค์ที่ใช้คำสอนทางศาสนาเข้ามากล่อมเกลาผู้ที่อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อมกลับสู่ครอบครัวหรือชุมชน แต่บ้านกึ่งวิถีศูนย์ชุมชนเข้มแข็งบ้านท้ายโขดจะต่างออกไป เนื่องจากใช้พื้นที่ชุมชนในการจัดตั้งขึ้น ส่วนเหตุผลที่ได้รับการยอมรับให้เป็นบ้านกึ่งวิถีนั้นก็เพราะมีความพร้อมทั้งในด้านการเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง มีพื้นที่เพียงพอ มีความสัมพันธ์กับวัดหนองกระบอกที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน และมีการฝึกอาชีพแบบครบวงจร

การคัดเลือกเข้าสู่บ้านกึ่งวิถีนั้น (ต่อไปจะเรียกว่าบ้านฯ ในบางที่ของบทความ) ทางกรมคุมประพฤติจะเสนอชื่อบุคคลที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นมาให้ทางคณะกรรมการของบ้านฯ แล้วคณะกรรมการก็จะมีการพูดคุยสอบถามกับบุคลเหล่านั้นเพิ่มเติมถึงความพร้อมและความสมัครใจที่จะเข้ามาอยู่ในบ้านฯ โดยจะรับเฉพาะผู้ที่สมัครใจเท่านั้น ไม่มีการบังคับให้ต้องเข้ามาอยู่ในบ้านฯ แต่อย่างใด

ในส่วนของงบประมาณจากกรมคุมประพฤติ บ้านกึ่งวิถี ศูนย์ชุมชนเข้มแข็งบ้านท้ายโขด ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นค่าอาหารวันละ 100 บาทต่อผู้ใช้บริการ 1 ราย ค่าใช้จ่ายด้านของใช้ส่วนตัว (เช่น ยาสีฟัน สบู่) เดือนละ 100 บาทต่อผู้ใช้บริการ 1 ราย และค่าใช้ในส่วนของเสื้อผ้าเดือนละ 500 บาทต่อผู้ใช้บริการ 1 ราย (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะซื้อเสื้อผ้ากันใหม่ทุกเดือน แต่จะซื้อเมื่อจำเป็น)

ปี พ.ศ. 2560 บ้านกึ่งวิถี ศูนย์ชุมชนเข้มแข็งบ้านท้ายโขด มีผู้เข้าใช้บริการหกคน เป็นผู้ใหญ่สามคน และเยาวชนสามคน โดยในส่วนของเยาวชนนั้นไม่ได้เข้ามาอยู่ในบ้านฯ ด้วยความสมัครใจ แต่มาตามคำสั่งของศาลเยาวชน เนื่องจากศาลเห็นว่าครอบครัวไม่ยอมรับให้กลับไปอยู่ด้วย โดยระหว่างที่อยู่ที่บ้านฯ นั้น ศาลก็จะติดต่อทางครอบครัวให้มาพบเพื่อเกิดการปรับตัวให้อยู่ร่วมกันได้อีกครั้ง แต่ก็มีเยาวชนคนหนึ่งในกลุ่มนี้ ที่อย่างไรก็ไม่สามารถแม้แต่จะติดต่อกับครอบครัวได้ เนื่องจากเป็นเยาวชนไร้บ้านมาตลอด

ปัจจุบัน ผู้ใช้บริการทั้งหกคนได้ออกจากบ้านฯ ไปแล้ว โดยมีทั้งส่วนที่ประสบความสำเร็จอยู่บ้างในการเตรียมความพร้อมกลับสู่ครอบครัวและชุมชน และในส่วนที่ล้มเหลว จนจบลงด้วยการกลับสู่การคุมขังตามกฎหมายอีกครั้ง

ส่วนที่ล้มเหลวที่ว่า ก็คือเยาวชนทั้งสามคน นั่นก็คือ น., ว. และ ก. โดย น. นั้นมาจากครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน เหลือเพียงยายที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ส่วน น. นั้นเป็นเยาวชนไร้บ้าน ใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายแม้กระทั่งเมื่อเข้ามาอยู่ที่บ้านฯ แล้ว ในขณะที่ ก. มาจากครอบครัวที่พี่น้องทั้งหมดล้วนขายยาบ้า เข้าออกคุกและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (สถานพินิจฯ) กันเป็นว่าเล่น พ่อเป็นคนพิการ ส่วนมารดานั้นก็ติดสุรา ซึ่งทั้ง น., ว. และ ก. ต่างก็ดำเนินชีวิตมาตามวิถีที่เป็นผลลัพธ์จากชีวิตดั้งเดิมจนมาจบลงที่คำสั่งของศาลเยาวชนให้มาอยู่ที่บ้านกึ่งวิถี ชุมชนเข้มแข็งบ้านท้ายโขด

แม้ตลอดระยะเวลาสามเดือนที่อยู่ที่บ้านฯ ทั้งสามคนจะไม่เคยก่อความเดือดร้อนใดๆ ให้กับชุมชน จะมีทำผิดบ้างก็เพียงผิดกฎของบ้าน เช่น แอบสูบบุหรี่ แต่ที่สุดแล้ว เยาวชนทั้งสามก็ไม่มีวี่แววที่พร้อมจะกลับไปอยู่ในสังคมได้ ทางบ้านฯ จึงต้องเสนอให้ส่งคืนกลับสถานพินิจฯ

“มาอยู่กับเราเราก็เลี้ยงเหมือนลูกเราแหละ แต่เค้าก็ผ่านกระบวนการที่ถูกกระทำมาจนอายุสิบสาม จิตใจเขาก็เป็นอีกแบบ ไม่เหมือนที่เราเลี้ยงเองมาแต่ออก” สายชล บรรจงกิจ หนึ่งในกรรมการของบ้านฯ พูดถึงเยาวชนทั้งสามคน ด้วยน้ำเสียงที่ไม่แววของการตำหนิกล่าวโทษ หากแต่เข้าใจในข้อจำกัด ที่ทำให้เวลาสั้นๆ ไม่อาจเปลี่ยนแปลงโลกที่คนคนหนึ่งสั่งสมมานานตลอดชีวิตของการเป็นผู้ถูกกระทำได้

สายชล บรรจงกิจ หนึ่งในคณะกรรมการบ้านกึ่งวิถี ศูนย์ชุมชนเข้มแข็งบ้านท้ายโขด

“อยู่ที่นี่เราก็ฝึกให้เค้าทำทุกอย่างอย่างที่คนเราควรทำ ทำนาเราก็พาไปด้วย เพาะเห็ดก็พาไป ถ้ามีคนมาเที่ยวแล้วใครอยากเป็นมัคคุเทศก์เราก็ให้ทำ” สายชลกล่าวเพิ่มเติม “แต่มันก็ไม่ใช่ทางเค้า เค้าชอบงานเชื่อมงานออกซ์มากกว่า (งานเชื่อมโลหะ) เราก็บอกว่าก็ต้องอดทนให้ที่นี่รับรองก่อน ถึงจะส่งไปบ้านกรรมการที่ทำงานพวกนั้นได้”

แต่วันนั้นก็ไม่มาถึง เพราะในคืนของวันที่ทางบ้านฯ ไปแจ้งเพื่อขอส่งตัวกลับนั้น เยาวชนทั้งสามก็ขโมยเงิน (ซึ่งได้ไปเพียงร้อยกว่าบาท) และมอเตอร์ไซค์ของบ้านหนีไป แต่ก็ถูกจับตัวไว้ได้ และต้องกลับไปอยู่ในสถานพินิจฯ ในที่สุด

“เหมือนเค้าจะรู้ว่าเราไม่เอาเค้าแล้ว” สายชลกล่าวถึงเยาวชนทั้งสามด้วยรอยยิ้ม ดวงตาที่ใต้แว่นฉายแววสะเทือนใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

เรื่องราวของ น., ว, และ ก. อาจทำให้เรายากจะออกจากวังวงการรับรู้เดิมๆ ที่ว่าผู้กระทำผิดนั้นไม่มีทางกลับตัวได้ แต่หากนำมาผสมกับเรื่องราวของ ย. อดีตผู้ต้องขัง ที่เคยต้องโทษตั้งแต่ช่วงที่กำลังจะบรรลุนิติภาวะ และต้องอยู่ในเรือนจำมาจนอายุ 29 ปี ก็อาจพอทำให้เห็นว่า โลกแห่งการให้โอกาสผู้กระทำผิดนั้นไม่ได้สิ้นหวังเสียจนเราไม่อาจจะเรียนรู้ที่จะสร้างความเข้าใจใหม่ๆ ได้

เทียบกับเยาวชนทั้งสามแล้ว แม้จะเคยอยู่ในสภาพที่ถูกคุมขังเหมือนกัน แต่ชีวิตของ ย. ก็ยังแย่น้อยกว่า เพราะอย่างน้อย ในตอนที่เป็นผู้ต้องขัง ย. ยังมีพี่สาวที่คอยส่งเงินให้เป็นค่าใช้จ่ายขณะอยู่ภายในเรือนจำทุกเดือน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว ย. ก็สามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวได้ทันที รวมทั้งยังได้ประกอบอาชีพร่วมกับที่บ้านคือช่วยพี่สาวทำอาหารขาย และได้ทำอาชีพที่ตัวเองถนัดอย่างการเป็นนักร้องยามราตรี ซึ่งนั่นทำให้ ย. มีเงินเก็บถึงเดือนละครึ่งหมื่น!

ย. หนึ่งในอดีตผู้ต้องขัง ที่เมื่อพ้นโทษแล้วสามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวและประกอบอาชีพที่ตนเองรักได้ทันที

เรื่องราวของ น., ว., ก. และ ย. พอจะทำให้เห็นภาพคร่าวๆ ว่า ปัจจัยที่จะทำให้คนเรากลับตัวกลับใจได้ ไม่ได้อยู่ที่ความตั้งใจของคนคนนั้นเพียงอย่างเดียว แต่สภาพแวดล้อมนั้นก็มีส่วน และเป็นส่วนที่สำคัญมากด้วย

กรณีของ น., ว. และ ก. ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การจะเปลี่ยนคนที่โลกทัศน์กลายเป็นอีกแบบเนื่องจากอยู่ในโลกอีกใบมาทั้งชีวิตไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ภายในระยะเวลาอันสั้น และโดยเฉพาะเมื่อเป็นเยาวชนที่วุฒิภาวะยังไม่มากพอ กระบวนการในการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ก็คงต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการปรับเปลี่ยนระเบียบวิธีคิดเพื่อพัฒนาพฤติกรรม และแน่นอนว่า เมื่อนำเอากรณีของ ย. มาพิจารณาด้วย ก็จะเห็นว่าการยังมีที่ทางในสังคม (ซึ่งกรณีของ ย. นั้นอาจถือว่าโชคดีมากที่เขายังมีที่ยืนแม้ในหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมอย่างครอบครัว) เป็นสิ่งจำเป็นเพียงใด ในการที่จะทำให้คนคนหนึ่งไม่หวนกลับสู่วิถีอันสังคมไม่พึงปรารถนาเช่นนั้นอีก

และยิ่งไปกว่านั้น หากจำเรื่องที่สายชลบอกว่าเยาวชนเหล่านั้นชอบการเชื่อมโลหะมากกว่าการฝึกอาชีพต่างๆ ที่บ้านฯ แนะนำ และกรณีของ ย. ที่เมื่อพ้นโทษมาแล้วได้ทำงานที่ตนเองรักและทำได้ดี เราก็จะเห็นได้ว่าการได้ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำและทำได้ดีนั้น และถ้าทำแล้วทำให้หาเลี้ยงตัวเองได้ ก็จะช่วยส่งเสริมคนเราให้ไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำได้ (อาจเถียงได้ว่ากรณีของ น., ว. และ ก. นั้น ทั้งสามไม่มีความอดทนมากพอ แต่หากเข้าใจพวกเขาแบบที่สายชลเข้าใจ ก็จะนึกออกได้ไม่ยากว่าคงต้องหาวิธีการในการจูงใจที่เข้มแข็งกว่านี้) ดังนั้น หากกระบวนการฝึกอาชีพต่างๆ ได้รับการสนับสนุนให้มีความหลากหลายเพียงพอจะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ โอกาสในการพาพวกเขากลับมาจากโลกอีกใบก็คงจะมากกว่านี้

การประหารชีวิตผู้กระทำผิดทุกคนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การจำคุกตลอดชีวิตไม่ได้มีไว้สำหรับการกระทำผิดทุกแบบ และคนที่กระทำผิดจนถึงขั้นต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นเพียงส่วนน้อยของผู้ต้องขังมากมายที่ยังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งนั่นหมายความว่า ไม่ช้าก็เร็ว วันหนึ่งผู้กระทำผิดจำนวนมากก็ต้องกลับมาอยู่ในสังคมเฉกเช่นคนปรกติ และดังนั้น การพยายามทำให้พวกเขาพร้อมสำหรับการดำรงชีวิตอย่างคนปรกติตั้งแต่ตอนที่ยังไม่พ้นโทษจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง