ThaiPublica > คอลัมน์ > ผู้ต้องขังนักผจญเพลิง ชั่วโมงละ 1 ดอลลาร์ – ลดวันรับโทษ – “โอกาส” หรือ “แรงงานทาสรูปแบบใหม่”

ผู้ต้องขังนักผจญเพลิง ชั่วโมงละ 1 ดอลลาร์ – ลดวันรับโทษ – “โอกาส” หรือ “แรงงานทาสรูปแบบใหม่”

29 พฤศจิกายน 2018


ณัฐเมธี สัยเวช

**บทความนี้ไม่มีการผิดบังใบหน้าผู้ต้องขัง เนื่องจากข้อมูลต้นทางก็ไม่มีการปิดบังใบหน้า จึงอนุมานว่าทางผู้ต้องขังยินยอมให้เปิดเผย และสาธารณชนควรได้เห็นแววตาและรอยยิ้มอย่างมนุษย์ธรรมดาของพวกเขา**

หากคุณเป็นผู้ต้องขัง และได้รับข้อเสนอให้ออกไปสู้กับไฟป่าโดยได้ค่าแรงประมาณชั่วโมงละ 27 บาท บวกกับได้รับการลดจำนวนวันที่ต้องรับโทษ คุณจะรับข้อเสนอนั้นหรือไม่

รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำเช่นนั้นมาหลายปีแล้ว สภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ไฟป่าในแคลิฟอร์เนียยาวนานและรุนแรงขึ้นทุกปี นั่นทำให้งบประมาณของหน่วยดับเพลิงของรัฐอย่าง Cal Fire ร่อยหรอลง ทางแก้ที่รัฐแคลิฟอร์เนียใช้ก็คือ ส่งผู้ต้องขังออกไปทำการยับยั้งการลุกลามของไฟป่าร่วมกับ Cal Fire โดยผู้ต้องขังเหล่านี้จะได้รับค่าแรงชั่วโมงละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (ค่าแรงขั้นต่ำของรัฐแคลิฟอร์เนียอยู่ที่ 11 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง 1 ดอลลาร์สหรัฐจึงคิดเป็นประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อคิดในบริบทของประเทศไทยที่ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท จึงได้ตัวเลขประมาณ 27 บาทดังกล่าวไปข้างต้น) โดยจะได้รับการคิดค่าแรงเฉพาะเวลาที่ออกไปผจญเพลิงเท่านั้น ช่วงเวลาที่เตรียมพร้อมจะไม่ได้รับ และนอกจากค่าแรงจำนวนดังกล่าวแล้ว ผู้ต้องขังยังได้รับการลดจำนวนวันที่ต้องรับโทษด้วย

ว่ากันว่า การหันมาใช้ผู้ต้องขังทำงานร่วมกับนักผจญเพลิงตัวจริงนั้นทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียประหยัดงบประมาณไปได้ถึงปีละ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องที่ win-win ด้วยกันทุกฝ่าย ผู้ต้องขังมีรายได้ ต้องอยู่ในคุกร้อยลงทั้งในแง่ของการออกไปทำงานและจำนวนวันต้องโทษรวม รัฐประหยัดงบประมาณ และประชาชนก็ปลอดภัยจากไฟป่า ทว่า ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การใช้แรงงานผู้ต้องขังในลักษณะนี้นั้นคือ “ทาสรูปแบบใหม่” หรือไม่ เพราะนอกจากค่าแรงดังกล่าวจะต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามปรกติของรัฐแคลิฟอร์เนียแล้ว ค่าแรงโดยเฉลี่ยของนักผจญเพลิงในรัฐแคลิฟอร์เนียก็ยังอยู่ที่ชั่วโมงละ 33.26 ดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย โดยค่าแรงต่ำสุดอยู่ที่ชั่วโมงละ 17.60 ดอลลาร์สหรัฐ และสูงสุดอยู่ที่ชั่วโมงละ 50.28 ดอลลาร์สหรัฐ (อ้างอิงจาก Sokanu เว็บไซต์จัดหางานของประเทศแคนาดา)

เอมี กูดแมน (Amy Goodman) แห่งสำนักข่าวไม่แสวงผลกำไร Democracy Now! ได้ไปสัมภาษณ์ผู้ต้องขังบางรายที่ต้องกลายเป็นนักผจญเพลิงจำเป็นแลกกับค่าแรงชั่วโมงละ 1 ดอลลาร์สหรัฐพร้อมกับวันลดโทษ ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรกับการเป็น “นักผจญเพลิงจำเป็น” เช่นนี้

“ผมได้เรียนรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้มากกว่าที่เคย ทำสิ่งที่ถูกต้องได้
ชีวิตผมทำอะไรดีๆ กว่าการก่ออาชญากรรมได้
ผมสามารถทำงานได้”
ดันเต ยังบลัด (Dante Youngblood)
ผู้ต้องขังนักผจญเพลิง

ดันเต ยังบลัด (Dante Youngblood) ชายหนุ่มอายุ 27 ปีซึ่งติดคุกมา 9 ปีแล้ว เล่าให้กูดแมนฟังว่า แม้มันจะเป็นงานที่เสี่ยง แต่โดยรวมแล้วเขาไม่ได้ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อชีวิตตลอดเวลา ส่วนใหญ่แล้วเขาจะอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ และก็ไม่มีอะไรทำนองว่าเรื่องนี้นักผจญเพลิงของ Cal Fire จะไม่ทำ ให้ผู้ต้องขังนักผจญเพลิงมาทำแทน ยังบลัดบอกว่าทั้งผู้ต้องขังนักผจญเพลิงและนักผจญเพลิงมืออาชีพนั้นทำงานร่วมกัน

เมื่อถามเรื่องค่าแรง ยังบลัดบอกว่าทีแรกเขาเข้าใจว่าได้ชั่วโมงละ 2 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ไม่มีใครใส่ใจเรื่องค่าแรงกันนัก เขาและเพื่อนๆ ผู้ต้องขังสนใจเรื่องการได้ลดวันรับโทษมากกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น ยังบลัดบอกกับกูดแมนว่า การผจญเพลิงทำให้เขาพบว่าตัวเองทำอะไรได้มากกว่าที่เคย สามารถทำสิ่งที่ถูกต้องได้ สามารถทำงานได้ สามารถทำอะไรที่ดีกว่าการก่ออาชญากรรมได้ ก่อนจะติดคุก เขาไม่เคยทำงานมาก่อน ไม่เคยมีบัตรเครดิต ไม่เคยเอาเช็คไปขึ้นเงิน ยังบลัดบอกว่านั่นฟังดูเหมือนตัวเองมาจากหลังเขาเลย

“คนแบบพวกผม ไม่ว่าจะอยู่ในนี้หรืออยู่ข้างนอก ก็ได้ค่าแรงชั่วโมงละ 1 ดอลลาร์อยู่ดี”
มาร์ตี วินสัน (Marty Vinson)
ผู้ต้องขังนักผจญเพลิง

ส่วนมาร์ตี วินสัน (Marty Vinson) ผู้ต้องขังนักผจญเพลิงอีกคนที่ให้สัมภาษณ์กับกูดแมน ตอบคำถามเรื่องที่คนมองงานนี้เป็นงานทาสว่าตนไม่คิดอยากจะเรียกแบบนั้น มันคงเป็นเรื่องแล้วแต่มุมมองของคน แต่สำหรับคนแบบเขาแล้ว ไม่ว่าจะถูกจำคุกหรือมีอิสระอยู่ข้างนอก เขาก็ได้ค่าแรงชั่วโมงละ 1 ดอลลาร์สหรัฐอยู่ดี

นอกจากผู้ต้องขังนักผจญเพลิงแล้ว กูดแมนยังได้สัมภาษณ์อามีกา โมตา (Amika Mota) ผู้อำนวยการฝ่ายการเข้าสู่เรือนจำซ้ำของศูนย์อิสรภาพสตรีเยาว์วัย (Young Women’s Freedom Center) ในซานฟรานซิสโก โมตาเป็นอดีตผู้ต้องขังหญิงที่เคยอยู่ในจุดเดียวกับยังบลัดและวินสันมาก่อน คือเป็นผู้ต้องขังนักผจญเพลิง ทว่า ที่ต่างกันนั้นไม่ใช่แค่เธอเป็นผู้ต้องขังหญิง แต่รายได้ก็ต่างกันด้วย ในตอนนั้น โมตาได้ค่าแรงเพียงชั่วโมงละ 53 เซ็นต์ เดือนหนึ่งได้เงินทั้งหมดประมาณ 64 ดอลลาร์สหรัฐ โมตาคิดว่านั่นเป็นจำนวนที่เยอะแล้ว ไม่ใช่เพราะเธอไม่รู้เดือนรู้ตะวันว่ารายได้ในโลกภายนอกเป็นอย่างไร แต่เพราะผู้ต้องขังหญิงรายอื่นๆ ที่ทำงานผจญเพลิงร่วมกับเธอนั้นได้ค่าแรงเพียงชั่วโมงละ 38 เซ็นต์

เมื่อตอนที่ยังเป็นผู้ต้องขังหญิง โมตาติดคุกอยู่ 5 ปีถึงได้เริ่มเป็นผู้ต้องขังนักผจญเพลิง เธอบอกกับกูดแมนว่านั่นเป็นโอกาสที่เธอเฝ้ารอคอยเลยทีเดียว

โมตาบอกว่า เธอไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าการเป็นผู้ต้องขังนักผจญเพลิงนั้นเป็นความสมัครใจ เพราะในเรือนจำไม่ได้มีทางเลือกอื่นที่ทำให้ได้รับการลดวันต้องโทษที่ดีกว่านี้ ผู้ต้องขังจึงมีแต่ต้องอาสาทำงานนี้เพื่อได้กลับออกไปอยู่กับครอบครัวให้เร็วที่สุด

“ส่วนที่พังที่สุดของเรื่องนี้ก็คือ ทั้งที่นี่คือโอกาสที่คนจะสามารถออกจากเรือนจำ
ไปทำงานที่มั่นคงและมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ
…แต่กลับกลายเป็นว่าพอพ้นโทษแล้วไม่สามารถทำงานเหล่านั้นได้”
อามีกา โมตา (Amika Mota)
อดีตผู้ต้องขังนักผจญเพลิง

ยิ่งไปกว่านั้น โมตาบอกว่าตอนนั้นเธอไม่มีสิทธิได้รับการลดวันรับโทษด้วย แรงจูงใจของเธอจึงเป็นเรื่องเงินมากกว่า แม้จะอยู่ในเรือนจำแต่เธอก็ต้องใช้เงินในการซื้อของใช้จำเป็นต่างๆ ที่เรือนจำไม่ได้จัดหาไว้ให้ เช่น ผ้าอนามัยแบบสอด โมตาบอกว่านี่คือค่าใช้จ่ายพื้นฐานซึ่งการอาสาทำงานนี้จะช่วยให้เธอสามารถจ่ายได้ แต่ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้มีแค่นั้นอีก ผู้ต้องขังมีครอบครัวนอกเรือนจำที่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ในการโทรศัพท์มาหาหรือเดินทางมาเยี่ยม ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกๆ ของผู้ต้องขัง และยิ่งไปกว่านั้น ค่าปรับมหาศาลและค่าธรรมเนียมศาลที่เกิดจากการดำเนินคดี โมตาเห็นว่าขณะนี้ไม่มีกลไกใดๆ ที่จะช่วยจัดการเรื่องเหล่านี้ให้เข้าที่เข้าทางเลย

โมตาอาจไม่ต้องออกไปสู้กับไฟป่าอย่างยังบลัดและวินสัน แต่เธอก็ทำงานเป็นนักผจญเพลิงหญิงสำหรับเหตุการณ์ไฟไหม้ในเรือนจำที่เธออยู่และชุมชนในรัศมี 30 ไมล์รอบเรือนจำ การจะทำเช่นนั้นได้โมตาต้องผ่านการฝึกฝนเช่นเดียวกับนักผจญเพลิงทั่วไป นั่นหมายความว่าเธอย่อมมีทักษะที่สามารถใช้ทำงานเป็นนักผจญเพลิงติดตัวออกมาจากเรือนจำด้วย ทว่าเรื่องจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการจะประกอบอาชีพนักผจญเพลิงนั้นต้องมีใบรับรองบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (emergency medical services – EMS) ซึ่งผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกนั้นไม่สามารถไปสอบเอาใบรับรองนี้ได้ นั่นทำให้แม้มีทักษะ แต่เธอก็ไม่สามารถนำทักษะนั้นไปประกอบอาชีพได้

โมตาบอกว่า ส่วนที่พังที่สุดของเรื่องนี้ก็คือ ทั้งที่นี่คือโอกาสที่คนจะสามารถออกจากเรือนจำไปทำงานที่มั่นคงและมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพแทนที่จะทำได้แต่งานค่าแรงขั้นต่ำ เป็นโอกาสที่จะทำให้สามารถดูแลครอบครัวได้ แต่กลับกลายเป็นว่าพอพ้นโทษแล้วไม่สามารถทำงานเหล่านั้นได้ งานที่พวกเขาและเธออาจจะรัก หรือกระทั่งทำได้ดี

ฟังเช่นนี้แล้วก็ให้สงสัยว่า ถ้อยคำที่เปี่ยมความหวังของยังบลัด ที่การเป็นผู้ต้องขังผจญเพลิงทำให้เขาพบว่าตนเองสามารถเป็นคนที่ดีกว่าเดิมได้นั้น จะคงอยู่ไปได้นานแค่ไหนเมื่อพ้นโทษออกมาเผชิญกับความเป็นจริงภายนอก และชีวิตของวินสันหลังพ้นโทษจะดีขึ้นกว่าเดิม หรือผลักไสให้เขาต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง

อันที่จริง ประเทศไทยเองก็มีปัญหาเช่นนี้ การมองว่าการเอาผู้กระทำผิดไปขังไว้ในเรือนจำให้ได้พบความลำบากเพื่อจะได้หลาบจำและไม่กระทำผิดซ้ำ แต่ไม่ได้มุ่งเน้นการฟื้นฟูศักยภาพให้ผู้ต้องขังสามารถกลับคืนสู่สังคมแล้วสามารถใช้ชีวิตอย่างคนปรกติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงในสังคมในหลายด้านที่มากกว่าเพียงการฝึกจิตใจให้ทนทานต่อความต้องการ (หรือความจำเป็นจะต้อง) กระทำผิด ก็ได้ทำให้เกิดปัญหาการขูดรีดแรงงานภายในเรือนจำ ดังที่เคยเล่าไปหลายครั้งหรือหลายๆ ท่านก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่ามีการจ้างงานผู้ต้องขังในเรือนจำแต่ได้ค่าแรงที่ต่ำมากๆ นอกจากนี้ เมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว หากผู้ต้องขังไม่มีทุนรอนเลยการจะไปประกอบธุรกิจใดๆ ก็ล้วนเป็นเรื่องยาก และที่สำคัญ ระเบียบของที่ทำงานต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนราชการเอง ก็ยังคงไม่อนุญาตให้รับผู้เคยต้องโทษอาญาเข้าทำงานได้ เหล่านี้ล้วนเป็นความล้มเหลวของระบบโดยรวม ซึ่งคอยกัดกินรากฐานของสังคมให้เว้าแหว่งจนยากจะเติบโตไปสู่ความยั่งยืนได้

———————

ที่มา:
A New Form of Slavery? Meet Incarcerated Firefighters Battling California’s Wildfires for $1 an Hour
Amika Mota Fought Fires as a Prisoner for 53 Cents/Hour. Now Free, She Can’t Work as a Firefighter