ThaiPublica > คอลัมน์ > Prisonisation: การปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมของเรือนจำอาจมีผลให้กลับคืนสู่สังคมได้ยากขึ้น

Prisonisation: การปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมของเรือนจำอาจมีผลให้กลับคืนสู่สังคมได้ยากขึ้น

30 พฤษภาคม 2019


ณัฐเมธี สัยเวช

ที่มาภาพ : ณัฐเมธี สัยเวช

เคยใช่ไหมครับที่ เราไม่ได้ติดต่อกับเพื่อนที่ครั้งหนึ่งเคยสนิทกันมากเป็นเวลานานแสนนาน พอมาเจอกันอีกครั้ง เรากลับพบว่าเขาหรือเธอคนนั้นไม่ใช่คนที่เราเคยรู้จักอีกต่อไป

การกลายเป็นคนแปลกหน้าเช่นนั้นอาจเกิดขึ้นเพราะเขาหรือเธอคนนั้นเปลี่ยนไป หรือตัวเราเปลี่ยน หรือทั้งสองฝ่ายต่างเปลี่ยนไปก็เป็นได้ แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ การแยกย้ายไปอยู่ในสภาวะแวดล้อมคนละแบบ มีผลให้คนเราเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ เพราะคนเรานั้นย่อมต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมเพื่อเอาตัวรอด

แล้ว…ถ้าไอ้สภาวะแวดล้อมที่ว่านั่นมันคือเรือนจำล่ะ

ในรายงานผลกระทบทางจิตวิทยาจากการจำคุกสำหรับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เคร็ก ฮานีย์ (Craig Haney) นักจิตวิทยาสังคมผู้ร่วมงานกับฟิลิป ซิมบาร์โด (Philip Zimbardo, เจ้าของการทดลองคุกแสตนฟอร์ด หรือ Stanford Prison Experiment ที่ทั้งโด่งดังและอื้อฉาว) ระบุว่า “น้อยคนนักที่จะไม่เปลี่ยนแปลงไปสักนิด หรือไม่ได้รับความเสียหายใดๆ เลย จากประสบการณ์ [ในเรือนจำ]”

และจากการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังนับร้อยคน นักวิจัยจากสถาบันอาชญวิทยาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ก็บอกว่า การต้องโทษจำคุกเป็นเวลานานๆ นั้น “เปลี่ยนแปลงคนเราไปจนถึงแก่น”

ฟังแล้วก็ชวนยักไหล่ใช่ไหมครับ เพราะโดยพื้นฐานแล้วเราก็มักเห็นว่าเรือนจำหรือเรียกกันทั่วไปว่าคุกนั้นก็ควรมีไว้เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ต้องขังที่เข้าไปอยู่ เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย การที่เรือนจำสามารถเปลี่ยนแปลงคนเราได้ก็เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว เพราะนั่นคือการปรับทัศนคติไม่ให้เขาหรือเธอเป็นคนแบบที่เคยเป็นจนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีกต่อไป

แต่ทีนี้ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มันไม่จำเป็นจะต้องทำให้เขาหรือเธอเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนะสิครับ คำว่าเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นคำกลางๆ ที่ต้องการคำอื่นมาขยายว่าตกลงแล้วเปลี่ยนแปลงไปทางใด ซึ่งย่อมหมายความว่าอาจจะเป็นทางที่ดีหรือไม่ดีก็ได้

เหล่านักวิจัยที่กล่าวถึงไปข้างต้นนั้นค้นพบจากวิจัยของพวกตนว่า การเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพที่เกิดขึ้นจากการอยู่ในเรือนจำนั้น มักเป็นไปในทางที่ไม่ดี ซึ่งแน่นอนนะครับว่า ในเมื่อสุดท้ายแล้วผู้ต้องขังต้องกลับออกมาอยู่ในสังคม การเปลี่ยนแปลงที่ไม่ดีนั้นย่อมไม่เป็นผลดีกับสังคมด้วยเช่นกัน

มาริเค ลีมา (Marieke Liema) นักจิตวิทยา และมาร์เทน คุนสท์ (Maarten Kunst) นักอาชญวิทยา ได้สัมภาษณ์อดีตผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตทั้งชายและหญิงในเมืองบอสตัน 25 คน ผู้ซึ่งสุดท้ายแล้วต้องใช้ชีวิตอยุ่ในเรือนจำยาวนานถึง 19 ปี ทั้งสองพบว่า อดีตผู้ต้องขังเหล่านี้ได้พัฒนาลักษณะทางบุคลิกภาพอันเกิดจากการต้องอยู่ภายใต้สถาบันใดๆ เป็นเวลานาน (institutionalised personality traits) ขึ้นมา ซึ่งลักษณะทางบุคลิกภาพดังกล่าวนั้นประกอบไปด้วยความไม่วางใจผู้อื่น การมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ยาก และการไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเป็นอิสระ

อดีตผู้ต้องขังรายหนึ่งที่ลีมาและคุนสท์ทำการสัมภาษณ์ซึ่งตอนนี้อายุ 52 ปีแล้วบอกว่า [แม้ออกจากเรือนจำมาแล้วแต่] ตนเองนั้นก็ยังมีปัญหาเรื่องความไม่ไว้วางใจคนอื่นอยู่ ยังไม่สามารถเชื่อใจใครได้เลย ซึ่งนี่เป็นผลจากการที่ไม่สามารถไว้วางใจใครได้เมื่อตอนอยู่ในเรือนจำ

ในการสัมภาษณ์ของซูซี ฮัลลีย์ (Susie Hulley) และคณะ จากสถาบันอาชญวิทยา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้ต้องขังคนหนึ่งได้บรรยายถึงกระบวนการของการมึนชาทางอารมณ์ว่า “มันทำให้คุณแข็งกระด้างขึ้น มันทำให้คุณเว้นระยะห่างจากคนอื่นมากขึ้น” ในขณะที่ผู้ต้องขังอีกคนอธิบายถึงการที่ผู้ต้องขังต้องปิดบังและกดข่มอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองว่า “ถ้าเดิมทีคุณเป็นคนแข็งกระด้าง คุณก็จะกลายเป็นคนที่แข็งกระด้างมากยิ่งขึ้น มันทำให้คุณเย็นชาขึ้นด้วยซ้ำ ทำให้คุณตัดตัวเองจากคนอื่นมากขึ้น” และผู้ต้องขังอีกคนก็บอกว่า “มันคือ… เหมือนแบบ ไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับผู้คน” อีกต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลที่การจำคุกมีต่อความสามารถในการควบคุมตัวเอง ที่ระบุว่า ความสามารถในการควบคุมตัวเองของผู้ต้องขังนั้นลดลงหลังจากถูกจำคุกไปได้สามเดือน ซึ่งการศึกษานี้บอกว่า ภายใต้การจำคุกในสภาพแวดล้อมที่ลำบากยากเข็ญเป็นเวลา 3 เดือน หลังจากพ้นโทษออกมาแล้ว ผู้ต้องขังอาจจะมีความสามารถในการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่น้อยกว่าตอนก่อนต้องโทษจำคุกเสียอีก นอกจากนี้ อดีตผู้ต้องขังในกรณีดังกล่าวยังอาจมีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างหุนหันพลันแล่นได้ด้วย ซึ่งอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การถูกจำคุกในสภาพแวดล้อมที่ลำบากยากเข็ญนั้นอาจนำไปสู่การเพิ่มความเสี่ยงของการกระทำผิดซ้ำได้

จากที่เล่ามานั้นอาจบอกได้ว่า หากเราแบ่งโลกเป็นสองใบ โดยใบหนึ่งคือโลกนอกเรือนจำ และอีกใบคือโลกในเรือนจำ โลกนอกเรือนจำมีกระบวนการการขัดเกลาทางสังคม (socialization) ฉันใด โลกภายในเรือนจำก็มีการขัดเกลาทางเรือนจำ (prisonisation) ฉันนั้น เพราะสังคมของโลกภายในเรือนจำนั้นก็ควบคุมด้วยกฎระเบียบต่างๆ ในเรือนจำ ทั้งกฎระเบียบเชิงลายลักษณ์อักษรที่ต้องปฏิบัติตาม (regulations) และกฎระเบียบทางความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรมประเพณี (norms) ซึ่งกระบวนการการขัดเกลาทางสังคมกล่อมเกลาคนเราให้ต้องปรับตัวเข้ากับสังคมฉันใด กระบวนการขัดเกลาทางเรือนจำก็กล่อมเกลาผู้ต้องขังให้ต้องปรับตัวเข้ากับเรือนจำฉันนั้น

ปัญหาก็คือ อย่างไรเสีย ผู้ต้องขังทุกคนในเรือนจำนั้นไม่ได้ต้องอยู่ในเรือนจำไปจนชีวิตจะหาไม่เสียทุกคนไป ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ต้องกลับออกมาสู่สังคมภายนอกไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้น โลกสองใบนี้ย่อมไม่มีวันแยกขาดจากกันไปตลอดกาล ในวันหนึ่ง มนุษย์ที่เป็นผลผลิตจากทั้งการขัดเกลาของสังคมและการขัดเกลาของเรือนจำย่อมต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันที่โลกข้างนอกเรือนจำนี่

และนี่ละครับ ถ้าการขัดเกลาของโลกสองใบนี้แตกต่างกันมาก พอผลผลิตของโลกสองใบต้องมาอยู่ร่วมสังคมกัน มันต้องเกิดปัญหาเป็นแน่


เรียบเรียงจาก

How prison change people?
Reduced Self-Control after 3 Months of Imprisonment; A Pilot Study