ThaiPublica > คอลัมน์ > ออกไปในคุก (อีกครั้ง): จากการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด ถึงแนวคิดเพื่อผู้พ้นโทษไม่กระทำผิดซ้ำ (ตอนที่ 1)

ออกไปในคุก (อีกครั้ง): จากการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด ถึงแนวคิดเพื่อผู้พ้นโทษไม่กระทำผิดซ้ำ (ตอนที่ 1)

28 กุมภาพันธ์ 2017


ณัฐเมธี สัยเวช

udon-prison-2017-1

เมื่อวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมเรือนจำกลางอุดรธานี ตามคำเชิญชวนของ โครงการกำลังใจ สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม อีกครั้งหนึ่ง (อ่านบันทึกจากการไปเยี่ยมครั้งก่อนได้ที่นี่และที่นี่ครับ)

โดยในครั้งนี้ เนื้อหาหลักเป็นการนำเสนอเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษฉบับ ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยมีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำเพื่อจำหน่ายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และมีการแก้ไขอัตราโทษความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าหรือส่งออก

สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือ การทำให้สามารถพิจารณาโทษได้ตรงกับเจตนาการกระทำผิดมากขึ้น ซึ่งนี่คือสาระสำคัญหนึ่งของการลงโทษตามกฎหมาย ที่โทษที่ผู้กระทำผิดได้รับนั้นต้องสมควรแก่เจตนา ไม่ใช่ล้นพ้นไปจนกลายเป็นว่ากระบวนการยุติธรรมได้สร้างความอยุติธรรมขึ้นเสียเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ยังมีประโยชน์ถึงผู้ที่ถูกตัดสินโทษเด็ดขาดไปแล้ว คือทำให้สามารถทำเรื่องขอร้องให้มีการพิจารณาโทษใหม่ เพราะปัญหาของกฎหมายเดิมก็คือมีความไม่ยืดหยุ่นสูง และมีการกำหนดเกณฑ์ที่จะถูกตัดสินว่ามีความผิดในแบบที่ไม่สามารถสะท้อนถึงเจตนาการกระทำผิดที่แท้จริง

ดังที่ชอบยกตัวอย่างน่ะครับว่า มีผู้ต้องขังคดียาเสพติดมากมายที่จริงๆ แล้วพกพาเพื่อเสพเอง แต่ปริมาณครอบครองนั้นดันไปเข้าเกณฑ์ของการครอบครองเพื่อจำหน่าย แทนที่จะได้รับโทษในฐานที่เสพ ก็กลายเป็นได้รับโทษในฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งมีโทษรุนแรงกว่า หรืออย่างกรณียอดฮิตและน่าจะรุ่นแรงที่สุดก็คือพกข้ามมาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเสพเอง แต่ด้วยข้อกฎหมายที่ไม่ยืดหยุ่น ก็กลายเป็นได้รับโทษฐานนำเข้ามาภายในราชอาณาจักร โทษหนักถึงจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งล้นพ้นจากโทษอันควรได้รับจากเจตนาแห่งการกระทำผิดที่แท้จริงไปมาก และการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาการลงโทษอันไม่ตรงกับเจตนาการกระทำผิดและลงโทษอย่างล้นพ้นสัดส่วนนั่นเอง ปัจจุบันมีผู้ต้องขังบางรายได้รับประโยชน์จากการแก้ไขนี้ไปแล้วด้วย

(สามารถอ่านสรุปการเปลี่ยนแปลงในข้อกฎหมายดังกล่าวได้ที่นี่ครับ)

นอกจากนี้ ในวันที่สองของการประชุมคล้ายกับครั้งที่แล้ว คือเป็นการพาคณะสื่อมวลชนและผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปเยี่ยมชมภายในเรือนจำและพูดคุยกับผู้ต้องขังคดียาเสพติด หากยึดเอาการเยี่ยมชมเมื่อครั้งที่แล้วเป็นหลัก ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ ทางฝั่งที่เป็นที่ควบคุมตัวผู้ต้องขังหญิงนั้นมีการสร้างเรือนนอนเพิ่มขึ้นมาอีกอาคารหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีมากๆ นะครับ เพราะนั่นหมายความว่าการนอนของผู้ต้องขังจะเป็นไปในลักษณะที่ดีขึ้น ไม่อยู่ในสภาพอย่างภาพด้านล่างนี้ที่แออัดจนเวลานอนต้องเท้าเกยกัน รวมทั้งที่นอนเสริมที่ต้องปีนบันไดขึ้นไปนอนอย่างในภาพนั้นก็ถูกถอดออกไปแล้วด้วย

udon-prison-2017-2

และพื้นที่สำหรับการตากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ได้รับการย้ายไปอยู่ทางด้านหลังของเรือนนอนใหม่ ไม่แออัดอยู่กับพื้นที่อาบน้ำดังภาพเดิมด้านล่างนี้

udon-prison-2017-3

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมเกี่ยวกับเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำ คุณผู้อ่านสามารถติดตามได้จากบทความเดิมที่ผมเขียนไว้ในตอนที่ไปเยี่ยมครั้งก่อนนะครับ ส่วนในครั้งนี้ ผมจะขอนำเสนอเรื่องอื่น รวมทั้งเรื่องที่คิดว่าควรมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ผู้ต้องขังพ้นจากเรือนจำไปแล้วกลับกระทำผิดซ้ำจนต้องโทษจำคุกอีก

อิสรภาพ(?)ในการเข้าถึงข่าวสารภายนอกจากภายในเรือนจำ

udon-prison-2017-4

ขึ้นชื่อว่าเรือนจำหรือคุกแล้วก็ย่อมไม่มีอิสรภาพ แต่ที่น่าคิดก็คือ เราควรต้องตั้งเป้าประสงค์ของการจำกัดอิสรภาพนั้นไว้ว่าอย่างไร เพราะนั่นจะนำไปสู่แนวทางปฏิบัติว่าเราจะจำกัดอิสรภาพกับเรื่องไหนบ้าง และขอบเขตในแต่ละเรื่องนั้นกว้างขวางเพียงใด

ภายในเรือนจำ การรับรู้ข่าวสารจากโลกภายนอกเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกจำกัดขอบเขตอย่างเข้มข้นครับ การเข้าถึงสื่อต่างๆ นั้นเป็นไปได้เฉพาะที่เรือนจำวินิจฉัยแล้วว่าให้เข้าถึงได้ 

ภายในเรือนนอนจะมีโทรทัศน์ ผู้ต้องขังจะได้ดูโทรทัศน์ก็ในเวลาที่เข้าเรือนนอนแล้ว และแม้ว่าไฟฟ้าจะสว่างไสวตลอดคืน แต่โทรทัศน์จะตื่นถึงสามทุ่มเท่านั้น

นื้อหาที่จะถ่ายทอดทางโทรทัศน์นั้นไม่ได้ส่งสัญญาณจากภายนอกโดยตรงดังที่เราคุ้นชินกันนะครับ โทรทัศน์ในเรือนนอนนั้นจะฉายแต่เนื้อหาที่ทางเรือนจำคัดกรองแล้วว่าสามารถให้ผู้ต้องขังรับชมได้ หรือพิจารณาแล้วว่าผู้ต้องขัง “ควร” ได้รับชม ผู้ต้องขังจะได้ดูในสิ่งที่เรือนจำเลือกให้ ไม่มีพื้นที่ทางวิจารณญาณและความปรารถนาของผู้ต้องขังปรากฏในที่นี้นัก (ที่ใช้คำว่า “ไม่มี…นัก” เพราะไม่แน่ใจว่าผู้ต้องขังเรียกร้องได้แค่ไหน)

จากข้อมูลที่รับทราบ เนื้อหาที่ฉายนั้นก็มีละคร ข่าว และรายการธรรมะ ซึ่งรายกันเหล่านี้จะเหมือนกันทั้งในแดนชายและแดนหญิง ส่วนหนังสือพิมพ์นั้น ถ้าจะมีก็เป็นหนังสือพิมพ์เก่า ไม่ใช่ฉบับอัปเดตวันต่อวัน

udon-prison-2017-5

นอกจากโทรทัศน์แล้ว ห้องสมุดก็เป็นอีกหนทางหนึ่งในการที่ผู้ต้องขังจะสามารถเข้าถึงเรื่องราวข่าวสารจากโลกภายนอก โดยทางเรือนจำจะมีห้องสมุดเปิดบริการ 11.45 น. ถึง 12.45 น. โดยผู้ต้องขังสามารถยืมหนังสือได้ 3 วันต่อ 1 เล่ม

ห้องสมุดที่ผมได้เข้าไปดูเป็นในส่วนของแดนชายครับ เท่าที่คะเนด้วยสายตา หนังสือในห้องสมุดนี้นั้นก็น่าจะถึง 2,000 เล่มอยู่ ในขณะที่แดนชายนั้นมีผู้ต้องขังประมาณ 3,000 กว่าคน แปลว่าอัตราเฉลี่ยก็คงประมาณ 1-2 คนต่อ 1 เล่ม (หรืออาจจะถึง 1 คนต่อ 1 เล่ม) ทว่า หลายชื่อเรื่องนั้นก็มีมากกว่า 1 เล่ม แปลว่าสัดส่วนจริงๆ ก็คงลดไปอีกพอสมควร ส่วนในแดนหญิงนั้น เท่าที่เห็นจากภายนอก จะมีห้องสมุดขนาดเล็กกว่ามาก มากจนอยากเรียกว่าเป็นคอกสมุด ซึ่งหนังสือก็คงจะน้อยกว่ากันเกินครึ่งไปด้วย แต่อัตราส่วนก็อาจจะดูดีหน่อย เนื่องจากมีผู้ต้องขังหญิงประมาณ 500 คน

ในห้องสมุดของแดนชายนั้น หนังสือก็มีหลายประเภทอยู่ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีหนังสือความรู้ทั่วไป นิยาย หนังสือธรรมะ หนังสือท่องเที่ยว หนังสือเรียนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หนังสือฮาวทูชี้ทางรวย หนังสือเกี่ยวกับในหลวง ร.9 และมีการ์ตูนด้วย

ที่น่าสนใจคือ ประวัติการยืมคืนท้ายเล่ม ส่วนใหญ่แล้วเป็นเพียงหน้ากระดาษว่างๆ เล่มใดที่มีการยืมคืน ก็มักไม่เกิน 3 รายการ

ดังนั้น เมื่อลองสุ่มดูคร่าวๆ โดยใช้ 3 รายการยืมคืนเป็นเส้นมาตรฐาน ก็จะพบว่าหนังสือบางเล่มมีจำนวนการยืมคืนอยู่สูงมากตามภาพด้านล่างนี้ โดยหนังสือท่องเที่ยว หรือแนะนำต่างประเทศ จะมีปริมาณการยืมคืนที่สูงมาก เล่มที่เป็นภาษาอังกฤษจะมีปริมาณยืมคืนน้อยกว่า เดาว่าเพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ต้องขังคงไม่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ อาศัยดูภาพเอา และนอกจากนี้ ที่ไม่ได้ถ่ายภาพมา ก็พบว่านิยายจีนก็มีปริมาณยืมคืนสูงมากอยู่นะครับ แต่ที่เยอะกว่าใครเลยจริงๆ ก็กลับเป็นการ์ตูนตาหวานเรื่อง “สาวน้อยบัลเลลีน่า” ที่สภาพหนังสือก็ยับเยินสอดคล้องกับจำนวนยืมคืน

udon-prison-2017-6

แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่ายืมแล้วจะอ่านจบหรือไม่ อ่านรู้เรื่องหรือไม่ แต่ปริมาณการยืมคืนนี้น่าจะใช้บ่งชี้ได้พอสมควรว่าผู้ต้องขังสนใจอะไร และความสนใจนี้ก็เชื่อมโยงกับสิ่งที่ขาดหายไปในเรือนจำนั่นเอง

การเข้าถึงข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ ในคุกนั้นเป็นไปอย่างจำกัดมากครับ ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเหตุผลด้านความสงบเรียบร้อย เป็นการระมัดระวังไม่ให้ผู้ต้องขังเข้าถึงเนื้อหาอันอาจจะนำมาซึ่งความไม่สงบในเรือนจำตามวิจารณญาณของผู้มีอำนาจควบคุม

ทว่า นั่นก็คงเป็นมุมมองในแง่ประโยชน์ของเรือนจำ แต่ถ้าถามถึงประโยชน์ของผู้ต้องขัง ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และมีความจำเป็นอย่างมากต่อการสะสมทุนชีวิตเพื่อก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะในแง่ของการเป็นความรู้ทั่วไป หรือกระทั่งเพื่อเป็นโอกาสในการเข้าถึงช่องทางต่างๆ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ก็น่าคิดว่า การเข้าถึงข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ จากภายในเรือนจำนั้น คงเป็นสิ่งหนึ่งที่อาจจะต้องมีการทบทวนขอบเขตกัน ทั้งในแง่ของเนื้อหาและช่องทางการเข้าถึง เพราะอย่างไรเสีย วันหนึ่งผู้ต้องขังส่วนใหญ่ก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตข้างนอกอยู่ดี การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอย่อมเป็นทุนชีวิตที่สำคัญอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะทำให้การต้องโทษจำคุกไม่กลายเป็นช่วงเวลาอันสาบสูญของชีวิต จนไร้รากจะหยัดยืนเพื่อเดินทางต่อไป

ตอนหน้า จะพาคุณผู้อ่านไปพบกับเรื่องของผู้ต้องขังในฐานะแรงงาน อันจะนำไปสู่แนวคิดที่ผมจะเสนอเพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่เมื่อผู้ต้องขังออกจากคุกไปแล้วกลับไม่มีหนทางจนต้องกระทำผิดซ้ำ และเป็นเหตุให้ถูกส่งตัวกลับมายังเรือนจำอีกครั้งครับ