ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ว่าธปท. แจงบาทแข็งจาก “เกินดุลบัญชีเดินสะพัด – การเมืองสหรัฐ” แนะธุรกิจใช้เงินสกุลท้องถิ่นลดต้นทุน

ผู้ว่าธปท. แจงบาทแข็งจาก “เกินดุลบัญชีเดินสะพัด – การเมืองสหรัฐ” แนะธุรกิจใช้เงินสกุลท้องถิ่นลดต้นทุน

14 กุมภาพันธ์ 2019


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทไทยที่แข็งขึ้นอย่างรวดเร็วจากช่วงต้นปี 2562 ที่ 32.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 31.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐปัจจุบันซึ่งกลายเป็นความกังวลมากขึ้น แต่เวลาที่กล่าวถึงค่าเงินบาทสิ่งที่อยู่ในใจของคนจะเป็นค่าเงินบาทไทยเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และมักจะมองด้านเดียวคือด้านเงินบาทไทย แต่อีกด้านหนึ่งต้องมองย้อนกลับไปในสหรัฐอเมริกาด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นกับค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐ

แจงบาทแข็งจากปัจจัยภายนอก-เกินดุลเดินสะพัด

ในประเด็นนี้ หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ประเด็นแรก มีการเปลี่ยนแปลงในการเมืองสหรัฐอเมริกาที่มีผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่การเลือกตั้งกลางสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทำให้พรรคเดโมแครตเข้ามาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จากเดิมพรรครีพับลีกันของประธานาธิบดีมีเสียงข้างมากอยู่ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทำให้การดำเนินนโยบายหลายอย่างอาจจะชะงักลงไปจนไปถึงการปิดตัวของรัฐบาล หรือ Government Shutdown ภายหลังไม่สามารถตกลงกฎหมายงบประมาณได้ ซึ่งเป็นการปิดรัฐบาลที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ประเด็นที่ 2 ยังเห็นความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ บางประเทศเกิดการขายหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงกันมาในช่วงปลายปี จนมีผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนค่อนข้างมาก ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มเปลี่ยนมุมมองการดำเนินนโยบายการเงินจากที่คาดการณ์ว่าจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อเนื่องก็กลับมาชะลอลงอีกครั้ง และประเด็นสุดท้าย ที่ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจนคือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

“ความผันผวนที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆเหล่านี้ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ความไม่แน่นอนต่างๆกับทั้งกับภาวะเศรษฐกิจโลก การเมืองในสหรัฐอเมริกา ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสำคัญๆของอเมริกาทำให้ความมั่นใจต่อเงินดอลลาร์ลดลงไป ผลที่กลับข้างกันคือค่าเงินหลายสกุลก็แข็งค่าขึ้นจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง โดยเฉพาะกับค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ต่างๆ ถ้าดูการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี เราอยู่ระดับกลางเมื่อเทียบกับค่าเงินของกลุ่มประเทศเหล่านี้ มีเงินหลายสกุลที่แข็งค่าเร็วกว่าเงินบาทไทย เช่น เงินรูเบิ้ลของรัสเซีย เงินเรอัลของบราซิล เงินแรนด์ของแอฟริกาใต้ ในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน เงินรูเปียของอินโดนิเซีย ก็เคลื่อนไหวในระดับที่ใกล้เคียงกัน” ดร.วิรไท กล่าว

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทปรับเร็วขึ้นในช่วงที่ผ่านมาคือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเกิดจากการขายสินค้าและบริการออกไปได้มากกว่าการนำเข้าสินค้า โดยในปี 2561 คาดว่าจะเกินดุล 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้าแต่ถือว่ายังอยู่ในระดับสูงอยู่ โดยมาจากเกินดุลการค้า 23,000 ล้านดอลลาร์ และเกินดุลบัญชีบริการ 14,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2561 แม้ว่าจะการส่งออกจะเริ่มติดลบเล็กน้อย แต่บัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยเกินดุลไปประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหนึ่งเกิดจากที่โครงสร้างการส่งออกของไทยเกิดจากการนำเข้า ดังนั้นการส่งออกที่ชะลอตัวลงก็ทำให้การนำเข้าชะลอตัวลงด้วย ประกอบกับราคาน้ำมันยังต่ำอยู่ ซึ่งไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน ทำให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ ขณะที่ในด้านของบริการหรือการท่องเที่ยวก็กลับมาฟื้นตัวสู่ภาวะปกติในปลายไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 จากนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาหลังจากลดลงไป ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่และมีเงินตราต่างประเทศเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

ถามกลับ “เงินบาท” ผันผวนต่ำกว่าหลายประเทศ แต่ธุรกิจทนทานไม่ได้?

ดร.วิรไท กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะเร็วรวดเพียงใดขึ้นอยู่ฐานะเศรษฐกิจและฐานะด้านต่างประเทศของประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ หนี้ต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีเสถียรภาพด้านต่างประเทศดี บัญชีเดินสะพัดเกินดุลค่อนข้างสูง หนี้ต่างประเทศค่อนข้างน้อย มีนักลงทุนต่างประเทศสนใจลงทุนโดยตรงในประเทศไทย ปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ

ส่วนความเข้าใจหรือการตั้งข้อสังเกตว่าการแข็งค่าของค่าเงินบาทเกิดจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงินช่วงสิ้นปี 2561 หากดูข้อมูลการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผ่านมาจะพบว่ายังมีเงินไหลออกสุทธิ แตกต่างจากปีก่อนที่ช่วงต้นปีจะมีเงินไหลเข้ามาจากต่างประเทศค่อนข้างมาก โดยในตลาดพันธบัตรพบว่าตั้งแต่สิ้นปีจนถึงปัจจุบันมีเงินไหลออก 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นที่คนมักจะนำมาพักเงินก็ไหลออกไป 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดหุ้นมีไหลเข้ามาบ้างหลังจากมีความชัดเจนทางการเมืองประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นสุทธิแล้วจะมีเงินไหลออก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.75% ยังต่ำกว่าธนาคารกลางหลายประเทศ เช่นเฟดที่อยู่ 2.25% หรือเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนิเซียที่ 6% หรือฟิลิปปินส์ที่ 6% และเวียดนาม 6.25% มาเลเซีย ที่ 3.25%

“มีคำถามว่าธปท.ควรกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ระดับใดระดับหนึ่งหรือไม่ แต่ค่าเงินเป็นเหรียญ 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นปัจจัยในประเทศ แต่ส่วนที่สำคัญกว่าคือ เรื่องในต่างประเทศ ซึ่งมีบทบาทและอิทธิพลกับค่าเงิน และไม่มีใครไปกำหนดได้ว่าค่าเงินควรจะอยู่ที่ระดับที่เท่าไหร่ โจทย์ที่สำคัญมากกว่าคือทำอย่างไรที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่กับเรา และมีแนวโน้มที่จะผันผวนสูงขึ้น โดยเฉพาะจากเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสงครามการค้า เรื่องของ Brexit ที่ดูไกลตัว แต่จะกระทบกับตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกและกระทบกลับมาที่ไทยด้วย ถ้าดูความผันผวนค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ของไทยอยู่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาคและของประเทศตลาดเกิดใหม่ ก็ต้องมาช่วยตั้งคำถามและคิดว่าทำไมประเทศอื่นเขาสามารถรองรับความผันผวนหรือทนทานกับความผันผวนของค่าเงินได้ดีกว่าธุรกิจในไทยหรือเศรษฐกิจไทยโดยรวม เป็นโจทย์ที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน” ดร.วิรไท

แนะธุรกิจปิดความเสี่ยงสม่ำเสมอ – เลิกแข่งขันด้านราคา

ดร.วิรไท กล่าวว่า ในประเด็นการปรับตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจของไทย หากดูจากด้านเศรษฐกิจมหภาค ต้องยอมรับว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดระดับสูงของไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เราลงทุนต่ำในช่วงที่ผ่านมา การนำเข้าสินค้าทุนที่จำเป็นค่อนข้างต่ำ โครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญหรือโครงการที่จะยกระดับศักยภาพการผลิตของไทยในระยะยาวเพิ่งจะเริ่มต้นเดินเคลื่อนช่วงหลังนี้เท่านั้น แต่ย้อนไปไกลกว่านั้น ระดับการลงทุนของระบบเศรษฐกิจไทยเทียบกับระดับการลงทุนที่เคยมีในอดีต ทั้งรัฐและเอกชน ยังอยู่ค่อนข้างต่ำ จนทำให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดค่อนข้างสูง และเป็นโอกาสดีที่จะนำเข้าสินค้าทุนในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ส่วนการแก้ไขปัญหาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะยาวจะต้องอาศัยความร่วมมือกับอีกหลายหน่วยงาน

ขณะที่ในภาคธุรกิจมีหลายโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิด ข้อแรกคือการที่ธุรกิจไทยอ่อนไหวต่ออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นราคารูปแบบหนึ่งคือราคาของสกุลเงิน แสดงว่าไทยยังแข่งด้วยราคาค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ยั่งยืน แต่ธุรกิจไทยควรให้ความสำคัญกับการแข่งขันคุณภาพ ประสิทธิภาพ การสร้างมูลค่าให้กับสินค้า ตั้งแต่ตราสินค้าจนถึงคุณภาพสินค้า ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวของไทยประสบความสำเร็จมาก โรงแรมหลายแห่งสามารถกำหนดราคาเป็นเงินบาทได้และหลายแห่งปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะสร้างความแตกต่างและยกระดับบริการได้ ไม่ได้มาแข่งขันในเรื่องราคาอย่างเดียว

ข้อที่ 2 คือการบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนของธุรกิจไทย เพราะความผันผวนของค่าเงินจะคงอยู่กับเราต่อไปอีกระยะ ซึ่งพื้นฐานสิ่งแรกคือการเลือกใช้สกุลเงินให้สอดคล้องกับคู่ค้าของธุรกิจ วันนี้เราส่งออกไปสหรัฐอเมริกาประมาณ 10% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ไทยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักในการทำสัญญากันประมาณ 70-80% ถึงแม้ว่าจะส่งออกไปประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น หรือมาเลเซีย ซึ่งค่าเงินของประเทศใหญ่ๆอย่างสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะผันผวนสูงจากการเมืองภายในประเทศหรือปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลก และโดยเปรียบเทียบแล้วค่าเงินในภูมิภาคเดียวกันมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมากกว่า ธปท.ได้ส่งเสริมให้ธุรกิจไทยใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกิจแทน ซึ่งช่วยลดต้นทุนกับคู่ค้าทั้ง 2 ฝ่ายด้วยเนื่องจากไม่ต้องแลกเปลี่ยนกันหลายต่อ เช่น การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนตรง (Direct Quotation) ของเงินบาทไทยกับเงินเยนญี่ปุ่น หรือเงินบาทไทยกับเงินหยวนจีนทั้งประเทศจีนแล้ว จากเดิมที่ให้เฉพาะในมณฑลยูนนานเท่านั้น

ข้อสุดท้ายคือการทำ Forward และ Fx Option ซึ่งธปท.พยายามทำให้ตลาด Forward โปร่งใสมากขึ้นเพราะปัจจุบันธุรกิจยังท้วงติงว่ายังไม่ทราบว่าธนาคารพาณิชย์คิดราคาอย่างไร ตรงส่วนนี้ธปท.พยายามเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ และให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น ส่วนการใช้ Option ธปท.สนับสนุนโครงการในระยะที่ 2 หลังจากปีที่แล้วคณะรัฐมนตรีเห็นชอบอุดหนุนเงินซื้อสัญญา Option 30,000 บาทต่อราย ในปีนี้คาดว่าจะขยายไป 50,000 บาทต่อราย โดยสามารถคิดต่อธนาคารพาณิชย์ได้โดยตรง

“เราเห็นจากข้อมูลว่าผู้นำเข้าจะมีวินัยในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนต่อเนื่อง แต่ผู้ส่งออกจะทำเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งบางครั้งมีเหตุจากปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ ก็ยิ่งไปกดดันค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นเร็วขึ้น แต่ถ้าเราทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆมันจะสม่ำเสมอและปิดความเสี่ยงได้ แต่ทั้งนี้ธปท.ติดตามความผิดปกติอยู่ตลอดเวลาและพร้อมจะเข้าไปดูแลหากมีความเคลื่อนไหวผิดปกติ แต่ต้องเข้าใจอีกด้านว่าในภาวะสงครามการค้าแบบนี้ ไทยต้องระมัดระวังในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เพราะอาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้ และส่งผลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆตามมาได้” ดร.วิรไท กล่าว