ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ธปท.ชี้โควิดระบาดรอบใหม่ “ตลาดแรงงานเปราะบาง” ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ

ธปท.ชี้โควิดระบาดรอบใหม่ “ตลาดแรงงานเปราะบาง” ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ

31 ธันวาคม 2020


เศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายนฟื้นตัวบางจุด ภาคบริโภค-ลงทุนกลับมาขยายตัว ภาคผลิตอุตสาหกรรมเป็นบวกรอบ 19 เดือน ด้านส่งออกหดตัวน้อยลง การนำเข้าดีขึ้น ส่งผลให้กลับมาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขณะที่ค่าเงินบาทแข็งผลจากดอลลาร์อ่อน จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง โควิดระบาดรอบ 2 ในไทย-เทศและตลาดแรงงานเปราะบาง

วันที่ 30 ธันวาคม 2563 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2563 ว่า ทยอยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง และหลายเครื่องชี้เศรษฐกิจที่ขยายตัวได้นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากผลของมาตรการภาครัฐและวันหยุดยาวพิเศษ ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์

“เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว 1% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับดีขึ้นในทุกหมวด จะเป็นสินค้าที่สอดคล้องกับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อที่มีทิศทางทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐและวันหยุดยาวพิเศษ ประกอบกับมีผลของฐานต่ำในปีก่อนทั้งในหมวดสินค้าคงทนและไม่คงทนด้วย” นางสาวชญาวดีกล่าว

แม้เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวของกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังเปราะบางสะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ยังสูง รวมทั้งยังมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้และพื้นที่

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา การว่างงานยังอยู่ในระดับสูง 7.8 แสนคน ไม่ได้ลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่กลุ่มคนนอกกำลังแรงงาน ได้เข้ามาสู่ภาคกำลังแรงงานที่หางาน ซึ่งมีบางส่วนที่หางานได้บ้าง ส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานประกันสังคมมีจำนวน 4.7 แสนคน ขณะที่ผู้เสมือนว่างงาน (ชั่วโมงทำงานต่ำกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน) ลดลงเหลือ 2.2 ล้านคน จาก 2.5 ล้านคนในเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการลดลงของแรงงานภาคเกษตร แต่แรงงานนอกภาคเกษตรยังมีจำนวนผู้เสมือนคนว่างงานในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงโควิดที่ผ่านมา สะท้อนถึงตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง

สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเล็กน้อย 0.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวในรอบ 19 เดือน มาจากการผลิตยานยนต์เป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการและฐานที่ต่ำในปีก่อน ทำให้ยอดขายรถยนต์กลับมาขยายตัวในรอบ 19 เดือนเช่นกัน

“แต่มีอีกหลายหมวดสินค้าที่ยังหตตัว เช่น หมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่กลับมาหดตัว จากที่ขยายตัวจากการเร่งส่งออกในเดือนก่อนหน้า และหมวดจิวเวลรี่ นอกจากนี้ยังมีหมวดเครื่องดื่มที่หดตัวมาก เป็นผลจากการผลิตเร่งตัวก่อนหน้า และการลดการสังสรรค์ในเดือนพฤศจิกายน ภาพรวมจึงยังสะท้อนการฟื้นตัวไม่ทั่วถึงทุกหมวด ส่วนอัตรากำลังการผลิตอยู่ที่ 64.8% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า” นางสาวชญาวดีกล่าว

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัว 1.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับดีขึ้นมากจากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่เปิดตัวช้ากว่าปีก่อน ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าทุนติดลบเพียง 0.7% สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวน้อยลงเพราะยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศที่กลับมาขยายตัว 1.5% และยอดจดทะเบียนยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น 1.8%

“การลงทุนสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพฤศจิกายนยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 และยังไม่เท่ากับช่วงก่อนโควิด มองไประยะข้างหน้า 3 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจมีโอกาสกลับมาสูงกว่าระดับ 50 ที่เป็นระดับบวก ซึ่งยังต้องติดตามดูระยะต่อไป” นางสาวชญาวดีกล่าว

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานต่ำในปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ประกาศใช้ล่าช้า โดยรายจ่ายประจำกลับมาขยายตัวจากการเบิกจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร และการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวสูงขึ้นตามการลงทุนของรัฐบาลกลางด้านคมนาคมและชลประทาน ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป -0.41% ซึ่งติดลบน้อยลง ตามอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 0.18% ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน

สำหรับเศรษฐกิจภาคต่างประเทศ นางชญาวดีกล่าวว่า การส่งออกสินค้าหดตัวน้อยลงสอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ที่ 1.89 หมื่นล้านดอลลาร์ หดตัว 3.1% จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัว 2.3% ซึ่งหดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้า สอดคล้องกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตร และสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน

มูลค่าการนำเข้าสินค้ามูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงในเดือนนี้ มูลค่าการนำเข้าหดตัวมากขึ้นเป็น 6.5%

“เดือนพฤศจิกายน มูลค่าการนำเข้าหดตัว 3.3% เป็นการหดตัวที่น้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะการนำเข้าหมวดสินค้าทุนที่หดตัวน้อยลงมากตามการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ และการนำเข้าหมวดเชื้อเพลิงที่หดตัวน้อยลงจากผลของฐานต่ำในปีก่อนที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน”นางชญาวดีกล่าว

นักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังบังคับใช้ แม้ในเดือนนี้มีนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourists Visa: STV) เดินทางเข้าไทย แต่มีจำนวนไม่มาก

“ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนพฤศจิกายน กลับมาขาดดุล 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากดุลการค้าที่เกินดุลลดลงตามการนำเข้าทองคำเป็นสำคัญ ส่วนดุลบริการขาดดุลอยู่แล้วก็ขาดดุลเพิ่มมากขึ้นเป็น 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากที่บริษัทต่างชาติส่งกำไรกลับประเทศ” นางสาวชญาวดีกล่าว

สำหรับดุลชำระเงิน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีนี้ ขาดดุล 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเงินไหลออกเนื่องจากคนไทยลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF)เพิ่มขึ้น การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศที่มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจโฮลดิ้งในเวียดนาม สหรัฐฯ และการขนเงินกลับของนักลงทุนต่างชาติซึ่งได้ขายการลงทุนทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ออกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นไตรมาส 3

ด้านเงินลงทุนต่างชาติในไตรมาส 4 พบว่า นักลงทุนต่างชาติได้กลับเข้ามาซื้อมากในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเงินที่ไหลเข้าได้ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ประกอบกับมีปัจจัยเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐและพัฒนาการของวัคซีนต้านโควิด รวมถึงการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศหลักๆ ทำให้นักลงทุนต่างชาติลดถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยสกุลดอลลาร์สหรัฐ และหันมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่รวมถึงประเทศไทย จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้านในเดือนพฤศจิกายนและต่อเนื่องในเดือนธันวาคม

“เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิดรุนแรงอีกครั้งในหลายประเทศรวมถึงไทย ค่าเงินบาทไม่ได้ปรับตัวแข็งค่าสูงมากและส่งผลให้การแข็งค่าของเงินบาทลงมาอยู่ระดับกลางเมื่อเทียบกับภูมิภาคเดียวกัน”นางสาวชญาวดีกล่าว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อพัฒนาการเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า นางสาวชญาวดี กล่าวว่า ได้แก่

เรื่องแรก การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในไทย ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อค่อนข้างสูง (นับรวมคนต่างด้าว) และจากข้อมูลการใช้มือถือดูเส้นทางเดินทางจากกูเกิล พบว่า คนเดินทางลดลง แต่ยังไม่ได้ลงลึกเท่าช่วงเกิดโควิดรอบแรกเมื่อต้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องระวังเรื่องการเดินทางหากลดลงต่อเนื่อง เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและบริการ จึงยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง

เรื่องที่สอง การใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดในต่างประเทศ ซึ่งในเดือนธันวาคมนี้ หลายประเทศกลับมาควบคุมเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธปท. จึงต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากหากการระบาดผลรุนแรงมากขึ้นและมีการปิดเมือง จะกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าและภาคส่งออกไทยตามไปด้วย

เรื่องที่สาม ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวตลาดแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันตลาดแรงงานยังเปราะบางในบางจุด แม้จะมีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างในภาคเกษตรกับนอกภาคเกษตรก็ตาม แต่อัตราการว่างงานค่อนข้างสูง จึงต้องติดตามว่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราวหรือไม่ ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สำหรับการระบาดรอบ 2 ของไวรัสโคโรนาจะกระทบต่อประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) หรือไม่ นางสาวชญาวดี กล่าวว่า ขณะนี้เหตุการณ์ยังไม่จบ และต้องรอดูมาตรการของภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดด้วย ที่ผ่านมา ธปท.มีการประเมินทั้งความเสี่ยงด้านสูงและด้านต่ำไว้ แต่ขณะนี้อยู่ในช่วงติดตามสถานการณ์ จึงยังไม่ได้มีการพิจารณาปรับประมาณการ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน คาดการณ์ GDP ปี 2563 ไว้ที่ -6.6% และปี 2564 ขยายตัว 3.6%

“การเกิดโควิดรอบนี้ เรามองว่าเศรษฐกิจไทยมีความทนทานได้ระดับหนึ่ง เศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับภาคท่องเที่ยวในสัดส่วน 11% ของ GDP ในปีนี้ นักท่องเที่ยวลดลงมาก็ติดลบเพียง 6.6% ก็ถือว่ามีความทนทานในการปรับตัว และด้านตลาดแรงงานไทยที่มีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูงก็รองรับได้ส่วนหนึ่ง ขณะที่การระบาดของโควิด ภาครัฐก็ทำงานอย่างหนักที่ดูแลไม่ให้กระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจ จึงคิดว่าน่าจะทนทานและไม่กระทบรุนแรงเท่าโควิดระบาดรอบแรก”นางสาวขญาวดีกล่าว