ThaiPublica > คนในข่าว > รู้จัก “เหริน เจิ้งเฟย” เจ้าของหัวเว่ย ผู้นำเทคโนโลยีของจีน

รู้จัก “เหริน เจิ้งเฟย” เจ้าของหัวเว่ย ผู้นำเทคโนโลยีของจีน

27 มกราคม 2019


เมิ่ง เวินโจว (Meng Wanzhou) ที่มาภาพ :https://www.businessinsider.com/china-attacks-us-over-arrest-of-huawei-cfo-meng-wanzhou-2018-12

ในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมาชื่อของหัวเว่ย บริษัทเทคโนโลยีของจีน เป็นที่รู้จักและกล่าวขานกันทั่วโลกมากขึ้นหลังจาก เมิ่ง หว่านโจว ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน ถูกจับกุมในเดือนธันวาคมที่แคนาดา และควบคุมตัวเพื่อส่งต่อไปให้สหรัฐฯ อเมริกาดำเนินคดี ด้วยข้อกล่าวหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่ใช้กับอิหร่าน หลังจากที่ได้รับการขอความร่วมมือจากสหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่า เมิ่ง หว่านโจว มีพฤติกรรมเข้าข่ายเคลื่อนย้ายเงินจากอิหร่านผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่ใช้กับอิหร่าน และควบคุมตัวเพื่อส่งต่อไปให้สหรัฐฯ อเมริกาดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่ใช้กับอิหร่าน

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ระแวงหัวเว่ย จึงได้จับตามาตั้งแต่ปี 2553 ในฐานะองค์กรที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ต่อมาปี 2555 มีรายงานจากคณะกรรมาธิการข่าวกรอง สภาผู้แทนราษฏร ว่า ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มหัวเว่ยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์

กลุ่มบริษัทหัวเว่ยออกแถลงการณ์ยืนยันว่า เมิ่ง หว่านโจว บริสุทธิ์ ขณะเดียวกันมีการตอบโต้จากจีนในหลายรูปแบบและจากหลายองค์กร โดยทางการจีนได้จับกุมชาวแคนาดา 2 ราย ขณะที่หอการค้าหนานจง ในนครเซี่ยงไฮ้ มีมติต่อต้านสินค้าสหรัฐฯ และสนับสนุนชาวจีนให้ซื้อสินค้าจีน และหนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี ซึ่งเป็นสื่อของรัฐ ได้เขียนบทความแสดงจุดยืนว่า การกระทำต่อเมิ่ง หว่านโจว เป็นการดูถูกคนจีน คุกคามสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

ในทางกลับกัน หลายประเทศห้ามใช้อุปกรณ์หัวเว่ยกับเครือข่ายระบบ 5G เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และยังมีการถอดอุปกรณ์หัวเว่ยออก จากระบบ 3G กับ 4G ด้วย รวมทั้งมีรายงานข่าวว่าเยอรมนีกำลังพิจารณาที่จะประกาศห้ามใช้อุปกรณ์หัวเว่ย เนื่องจากเกรงว่าหัวเว่ยทำหน้าที่สอดแนมเจาะข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน เพราะนอกจากเมิ่ง หว่านโจว ที่ถูกแคนนาดาจับกุมแล้ว ในสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม มีพนักงานของหัวเว่ยถูกจับกุมที่โปแลนด์ในข้อกล่าวหาว่าสอดแนมด้วย

ขณะที่เมิ่ง หว่านโจว อยู่ระหว่างการรอผลการพิจารณาจากทางการแคนาดาว่าจะถูกเนรเทศหรือไม่ หลายประเทศก็ยังคงกล่าวหาหัวเว่ยว่าสอดแนมข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน และมีแนวโน้มที่จะยกเลิกการใช้สินค้าหัวเว่ยมากขึ้น

กรณีการจับกุมเมิ่ง หว่านโจว ไม่เพียงทำให้เกิดการรายงานข่าวเกี่ยวกับ เมิ่ง หว่านโจว มากขึ้น โดยมีการเปิดเผยกันว่าเป็นบุตรสาวคนโตของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เหริน เจิ้งเฟย แต่เลือกที่จะใช้สกุลมารดาหลังจากมารดาหย่าร้างกับเหริน เจิ้งเฟย แต่ยังดึงความสนใจไปยังเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิดาของเมิ่ง หว่านโจว ที่ปิดปากเงียบมาตลอดว่าจะมีท่าทีอย่างไร

เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารหัวเว่ย บิดาของเมิ่ง หว่านโจวที่มาภาพ:http://
www.atimes.com/article/huawei-shrugs-off-row-and-claims-us-firms-support-the-group/

พบผู้สื่อข่าวต่างประเทศครั้งแรกใน 3 ปี

จนกระทั่งวันที่ 18 มกราคม 2562 เหริน เจิ้งเฟย ที่มักจะหลบนักข่าวมาตลอด ได้เปิดแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ที่เปิดให้ผู้สื่อข่าวจากจีนเข้าร่วม ต่อมาในวันที่ 20 มกราคม 2562 เหริน เจิ้งเฟย ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อจากประเทศญี่ปุ่นเป็นการเฉพาะ ซึ่งสะท้อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับหัวเว่ย ที่ได้พยายามขยายตลาดต่างประเทศมาตลอดในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา

เหริน เจิ้งเฟย ยืนยันในการพบปะกับผู้สื่อข่าวทั้งสองครั้งเหมือนกันว่า บริษัทไม่ได้ทำการสอดแนมข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน

เหริน เจิ้งเฟย ตอบคำถามกับผู้สื่อข่าวผ่านล่ามทุกคำถามด้วยอาการสงบ ใจเย็น ทั้งคำถามเกี่ยวกับเมิ่งหว่านโจ คำถามกรณีที่สหรัฐฯ กล่าวว่าบริษัทสอดแนมข้อมูลให้กับจีน รวมไปถึงให้ข้อมูลส่วนตัวการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และประวัติการเข้าร่วมกองทัพ ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศหยิบยกขึ้นมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่รัฐบาลหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย แสดงความกังวลต่อความมั่นคง ซึ่งไม่เกี่ยวกับความสามารถทางเทคโนโลยีของบริษัทเลย และยังดูเหมือนว่าวิตกต่อทุกบริษัทในจีน ว่าอยู่ภายใต้อำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ หากพรรคคอมมิวนิสต์สั่งให้ทำอะไร บริษัทก็ต้องปฏิบัติตาม คุณจะให้ความมั่นใจกับลูกค้าต่างประเทศได้อย่างไรว่า หัวเว่ยจะปกป้องความปลอดภัยของเครือข่ายหรือปกป้องข้อมูลความลับ และภายใต้ระบบกฎหมายของจีน หัวเว่ยจะอธิบายลูกค้าถึงข้อจำกัดที่จะรับประกันประเด็นเหล่านี้อย่างไร

เหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่า “จุดแรกที่ผมต้องการที่จะหยิบยกมาคือในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สินค้าของหัวเว่ยมีการใช้กันใน 170 ประเทศในทุกภูมิภาค ให้บริการผู้ใช้กว่า 3 พันล้านคน เรามีประวัติดีในการรักษาความปลอดภัยมาตลอด หัวเว่ยเป็นองค์กรธุรกิจอิสระ หัวเว่ยยึดมั่นที่จะอยู่เคียงข้างลูกค้าเสมอในเรื่องความปลอดภัยไซเบอร์และข้อมูลลูกค้า หัวเว่ยจะไม่ทำร้ายประเทศใดหรือบุคคลใด นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้แถลงการณ์ไปแล้วว่า ไม่มีกฎหมายใดในจีนที่กำหนดให้บริษัทต้องติดตั้งระบบซ้อน หัวเว่ยและผมเองไม่เคยได้รับการร้องจากรัฐบาลให้ส่งข้อมูลที่เหมาะสม”

ตามกฎหมายข่าวกรองปี 2017 (National Intelligence Law) กำหนดให้ธุรกิจและภาครัฐต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในกิจกรรมด้านรวบรวมข้อมูล ซึ่งเหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่า “หากได้รับการขอให้ส่งข้อมูลในวิธีการที่จะทำให้มีผลกระทบต่อลูกค้า เราก็จะปฏิเสธ แต่ก็ยังไม่มีคำขออย่างนั้นจากรัฐบาลจีน”

สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศเกรงว่าผู้นำของจีนอาจจะกดดันให้หัวเว่ยส่งข้อมูลสำคัญบนระบบเครือข่ายตามกฎหมายข่าวกรอง ที่กำหนดให้ธุรกิจต้องให้ความร่วมมมือในงานด้านความมั่นคงของรัฐและให้ธุรกิจและบุคคลนั้นเก็บเป็นความลับ

เหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่า เขายอมปิดกิจการดีกว่าที่จะต้องฝ่าฝืนกฎการเก็บความลับของลูกค้า

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Ren_Zhengfei#/media/File:Huawei.svg

ยืนยันไม่มีรัฐบาลถือหุ้น

อีกหนึ่งข้อกังวลคือเกรงว่ารัฐบาลจีนถือหุ้นในบริษัท ซึ่งเหริน เจิ้งเฟย ได้ปฏิเสธ โดยกล่าวว่าทุกบาททุกสตางค์ถือหุ้นโดยพนักงานหัวเว่ย และจากรายงานประจำปีล่าสุด ตัวเขาเองถือหุ้น 1.4% ในหุ้นบริษัท ที่เหลือถือหุ้นโดยสหภาพแรงงานหัวเว่ยอินเวสเมนต์แอนด์โฮลดิงในนามพนักงาน อีกทั้งเหริน เจิ้งเฟย ได้เรียกร้องให้ผู้สื่อข่าวตรวจสอบได้จากทะเบียนผู้ถือหุ้น

เหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่า หัวเว่ยมีพนักงานที่เป็นผู้ถือหุ้น 96,768 คน และเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการเลือกตัวแทนพนักงานผู้ถือหุ้นจากจุดเลือกตั้ง 416 แห่งใน 170 ประเทศทุกภูมิภาคผ่านระบบออนไลน์ส่งกลับมาที่สำนักงานใหญ่ในเสิ่นเจิ้น ซึ่งจะได้ตัวแทนพนักงานผู้ถือหุ้นจำนวน 115 คนที่มีอำนาจตัดสินใจของหัวเว่ย พนักงานที่ถือหุ้นมีทั้งที่ยังทำงานอยู่และที่เกษียณไปแล้ว ไม่มีใครที่ถือหุ้นหัวเว่ยและไม่เคยทำงานกับหัวเว่ย ไม่มีสถาบันภายนอกถือหุ้น

“ผมเองเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทนี้ ซึ่งช่วงที่ตั้งบริษัทนั้นผมไม่มีเงินพอ เมื่อถูกปลดประจำการจากกองทัพ ภรรยาผมและผมได้รับเงินชดเชยจากกองทัพรวม 3,000 หยวน ซึ่งขณะนั้นเงินทุนขั้นต่ำจดทะเบียนตั้งบริษัทกำหนดไว้ที่ 20,000 หยวน ในเสิ่นเจิ้น ผมต้องขอยืมเงินจากคนหลายคนจนได้เงินมา 21,000 หยวนเพื่อจดทะเบียนก่อตั้งหัวเว่ย”

เหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่า มีบริษัทมหาชนจำนวนไม่มากนักที่ประสบความสำเร็จ มีการเติบโตและกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ เราเป็นบริษัทเอกชนที่ยังสามารถมุ่งมั่นกับเป้าหมายระยะยาวได้ ตั้งแต่หัวเว่ยยังเป็นบริษัทขนาดเล็กมีพนักงานไม่กี่ร้อยคน เรายึดมั่นในทิศทางของเรา เติบโตขึ้นมีพนักงานระดับหลายพันคน เป็นหมื่น และปัจจุบันมีมากกว่า 100,000 คน เรายังมีเป้าหมายและเราเดินหน้า

งบวิจัยและพัฒนาของเราเพิ่มขึ้นสูงถึง 15-20 พันล้านดอลลาร์ ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะลงทุนกับงานวิจัยและพัฒนาเป็น 100 พันล้านดอลลาร์ สิ่งสำคัญสำหรับหัวเว่ยคือโครงสร้างอุตสาหกรรมในอนาคต ระบบการตัดสินใจของหัวเว่ยต่างจากบริษัทมหาชน เป็นระบบที่ง่ายและเรากำลังทำให้สังคมข้อมูลกลายเป็นจริง

ที่มาภาพ : http://corporate-executives.com/executives/ren-zhengfei/

ยังไม่มีแผนเกษียณส่งต่อกิจการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีเมิ่ง หว่านโจว ที่ยังอยู่ในการควบคุมตัวของทางการแคนาดา คุณรู้สึกอย่างไรที่มีการขอให้เนรเทศและคุณคิดว่าลูกสาวของคุณตกเป็นเป้าเพราะเป็นคนในครอบครัวคุณหรือเป็นเพราะเธอมีตำแหน่งในหัวเว่ย

เหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่า “กรณีเมิ่ง หว่านโจว ยังอยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย ดังนั้นผมก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนกฎหมาย ผมไม่ขอให้ความเห็นอะไร แต่ในฐานะที่เป็นพ่อของเมิ่ง หว่านโจว ผมคิดถึงลูกมาก และขอบคุณทุกคนที่มีส่วนช่วยในกรณีนี้ ขอบคุณผู้ร่วมห้องขังที่ปฏิบัติต่อเมิ่ง หว่านโจว รวมทั้งขอบคุณการให้ความปกป้องจากรัฐบาลจีนในฐานะที่เมิ่ง หว่านโจว เป็นพลเมืองจีน ผมเชื่อว่าระบบกฎหมายในแคนาดาและสหรัฐฯ เป็นระบบเปิด เที่ยงตรง และยุติธรรม และจะมีข้อสรุป เราจะตัดสินใจอีกครั้งหลังจากหลักฐานมีการเปิดเผย”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า คุณเป็นพ่อของเมิ่ง หว่านโจว มีความรู้สึกต่อกรณีนี้อย่างไร ซึ่งเหริน เจิ้งเฟย ตอบว่า “ผมไม่สามารถเข้าถึงอีเมลที่ส่งกันระหว่างกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กับกระทรวงยุติธรรมแคนาดาได้ ในอนาคตเมื่อมีหลักฐาน มีการเปิดเผย ผมก็จะรู้ได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเมิ่ง หว่านโจว เป็นลูกสาวผมหรือเพราะเธอตกเป็นเป้าหมาย ต้องรอให้มีการเปิดเผยหลักฐานก่อน”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ในฐานะที่เป็นพ่อ ความสัมพันธ์กับเมิ่ง หว่านโจว เป็นอย่างไร และมีผลต่อการทำงานที่หัวเว่ยหรือไม่

เหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่า ความสัมพันธ์ในฐานะพ่อกับลูกถือนับว่ามีความใกล้ชิดกัน แต่บางมุมก็ไม่ใกล้ชิด ที่ต้องพูดแบบนี้ก็เพราะว่า ตลอดช่วงวัยเด็กของเมิ่ง หว่านโจว ผมอยู่ในกองทัพตลอด หมายถึงว่าแต่ละปีผมใช้ชีวิตในกองทัพ 11 เดือน มีเวลาให้ครอบครัว 1 เดือน ซึ่งเมิ่ง หว่านโจว ต้องไปโรงเรียน กลับจากโรงเรียนก็ต้องทำการบ้าน ดังนั้น ความสัมพันธ์ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นไม่ดีนัก

“นอกจากนี้ เมื่อผมเริ่มก่อตั้งหัวเว่ย ผมต้องต่อสู้เพื่อให้บริษัทอยู่รอด” เหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่าเขาต้องทำงานวันละ 16 ชั่วโมงในช่วงนั้น และกล่าวต่อว่า “ผมมีลูกชายหนึ่งคน ลูกสาวสองคน และผมไม่คิดว่าผมมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพวกเขา ในฐานะพ่อ ผมรู้สึกเป็นหนี้พวกเขา ผมเคยถามลูกๆ ของผมว่า ถ้าให้เลือกระหว่างพ่อมีเวลาให้มากขึ้นกับการที่พ่อต้องสร้างฐานให้ลูกได้เติบโตรุ่งเรือง จะเลือกอะไร ซึ่งลูกๆ เลือกฐานที่มั่นคงต่อการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของเขา”

สำหรับผลต่อหัวเว่ย เหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่า ระบบการบริหารจัดการของหัวเว่ยมีพื้นฐานจากกระบวนการ และผมไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาสายตรงของเมิ่ง หว่านโจว ดังนั้นความสัมพันธ์ในที่ทำงานก็ไม่มีมาก แน่นอนว่าในอนาคตเมื่อเกษียณแล้วก็จะชดเชยเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เหริน เจิ้งเฟย ยืนยันกับผู้สื่อข่าวอีกครั้งว่า เขายังไม่ได้วางตัวให้ลูกคนไหนสืบทอดอำนาจการบริหารหัวเว่ย โดยกล่าวติดตลกว่า เขาไม่ใช่กษัตริย์ซาอุดีอาระเบีย เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่า เมิ่ง หว่านโจว จะขึ้นทำหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

เหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่า เขาไม่มีแผนที่จะเกษียณ และกล่าวติดตลกอีกครั้งว่า เวลาที่เขาจะเกษียณก็คือเมื่อกูเกิลสามารถผลิตยาที่จะทำให้คนมีชีวิตตลอดไป และเขากำลังหายาที่ว่านี้อยู่

เหริน เจิ้งเฟย ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Ren_Zhengfei#/media/File:Huawei.svg

เบื้องลึกชีวิตในกองทัพ

เหริน เจิ้งเฟย ให้ข้อมูลว่า เขาเข้าร่วมกองทัพในช่วงที่มีการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน ในช่วงนั้นมีแต่ความวุ่นวายเกือบทุกแห่ง รวมทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ประเทศอยู่ในห้วงแห่งความยากลำบาก ประชาชนอดอยากไม่มีเสื้อผ้าใส่ ตนยังจำได้ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ลำบากสุดๆ คนจีนทุกคนได้รับการจัดสรรผ้าคนละเศษ 1 ส่วน 3 เมตร ซึ่งใช้ได้เพียงแต่เป็นผ้าปะชุน ดังนั้นตนไม่เคยสวมเสื้อผ้าที่ไม่มีผ้าปะชุนเมื่อยังเด็ก

รัฐบาลหวังว่าคนจีนจะได้รับผ้าอย่างน้อยหนึ่งผืนทุกปี ดังนั้นจึงจัดสินใจที่จะนำเครื่องมือทันสมัยจากฝรั่งเศสเข้ามา และสร้างโรงงานผลิตเส้นใยไฟเบอร์ เพื่อที่จะให้คนจีนได้มีเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยไฟเบอร์นี้ โรงงานนี้ตั้งที่เหลียวหยาง ริมแม่น้ำไทสี สถานการณ์ขณะนั้นทุกข์ยากมาก ประเทศจีนโกลาหลวุ่นวาย รัฐบาลกลางพยายามที่จะระดมวิศวกรท้องถิ่นมาก่อสร้างโรงงานนี้แต่ไม่มีใครมา ดังนั้นรัฐบาลจึงระดมทีมทหารเข้ามาสร้างแทน

เครื่องมือจากฝรั่งเศสเป็นเครื่องมือที่ก้าวหน้าในขณะนั้น และวิศวกรกองทัพไม่มีความสามารถพอที่จะทำงานนี้ แต่ผมซึ่งเคยผ่านการศึกษาระดับวิทยาลัย จึงมีคนมาขอให้ผมเป็นตัวหลักในโครงการนี้ เมื่อเราไปถึง ที่ก่อสร้างมีขนาด 12 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ไม่มีบ้านเรือนสักหลัง ดังนั้นทุกคนต้องนอนบนพื้นหญ้า หลังจากโรงงานได้รับเงินทุนมาส่วนหนึ่งและสร้างบ้านพักเพื่อป้องกันลมและฝน เพราะอากาศติดลบ 20 องศาเซลเซียส

ถ้าถามผมว่าตอนนั้นผมรู้สึกอย่างไร ผมขอบอกว่า อย่างแรก เราสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลก บริษัทฝรั่งเศสที่ผลิตเครื่องมือมีระบบออโตเมชันระดับสูงที่ไม่มีบริษัทจีนรายใดมี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมได้เรียนรู้ว่าเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของโลกเป็นอย่างไร อย่างที่สอง เราได้ประสบกับภาวะที่ยากลำบาก บ้านพักของเราโทรมมาก เราหนาวเย็นตลอดเวลา เพราะบ้านไม่สามารถกันลมได้ ลองคิดว่าเมื่ออุณหภูมิลดลงมาที่ติบลบ 28 องศาเซลเซียส จะเป็นอย่างไร

ประเทศจีนเจอปัญหาเศรษฐกิจใหญ่มากช่วงนั้น อาหารและน้ำมันพืชมีปริมาณจำกัด สำหรับคนทั่วไปที่อาศัยในทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ได้รับการปันส่วนน้ำมันเพียง 150 กรัมต่อเดือน นอกจากนี้ยังไม่มีผักสดเลย ดังนั้นเราต้องทำผักดอง เช่น กะหล่ำปลีดอง หัวผักกาดดอง เราต้องอยู่ในห้องคอนกรีตขนาดใหญ่ช่วงหน้าหนาว และประทังชีวิตกับผักดอง อาหารแห้ง เป็นเวลา 6 เดือน อาหารหลักคือข้าวฟ่าง ซึ่งไม่อร่อยเลย

โดยสรุปเราเรียนรู้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดของโลก แต่เรามีชีวิตชนิดที่แทบจะย้อนไปสู่ยุคดั้งเดิม แต่ผมก็มีความสุขนะในช่วงนั้น เพราะหากว่าคุณอ่านหนังสือต่างประเทศมากเกินไปก็จะถูกวิจารณ์ ที่โรงงานมีคนอ่านหนังสือออกไม่มาก แต่เราต้องอ่านเพื่อที่จะทำความเข้าใจว่าเครื่องมือทำงานอย่างไร ในช่วงนั้นผมเป็นช่างเทคนิคของบริษัทของกองทัพ และต่อมาได้เป็นรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยก่อสร้างขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่มีคนทำงานราว 20 คน ซึ่งตำแหน่งนี้เทียบได้กับรองผู้บังคับการของกองทหาร

ความฝันของผมในตอนนั้น คือ อยากเป็นนายพันก่อนที่จีนจะปลดกองกำลัง แต่โชคไม่ดีเพราะไม่มีการปลดกองกำลัง ดังนั้นผมจึงเป็นอดีตนายทหารที่ไม่มียศ

ที่มาภาพ: https://
www.bloomberg.com/news/articles/2019-01-15/huawei-s-founder-breaks-years-of-silence-amid-u-s-attacks

เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จากผลงาน

สำหรับการเข้ามาเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิสนิสต์ เหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่า เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังก่อสร้างโรงงาน ขาดเครื่องมือที่จะใช้ทดสอบ มีช่างเทคนิครายหนึ่งของสถาบันวิจัยออโตเมชันเชิ่นหยาง บอกว่าเคยเห็นเครื่องมือนี้เมื่อเดินทางไปต่างประเทศและให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือตัวนี้ ซึ่งเหริน เจิ้งเฟย ได้สร้างเครื่องมือตัวนี้ขึ้นจากพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ แต่ไม่มั่นใจเต็ม 100% ว่าจะใช้ได้หรือไม่ จึงได้ไปปรึกษากับอาจารย์มหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรายหนึ่ง ชื่อว่า หลี่ ชือจิ่ว เพื่อให้ตรวจสอบการคำนวณว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือถูกต้อง จนในที่สุดเขาก็สามารถสร้างเครื่องมือขึ้นได้

ประจวบกับเป็นช่วงเวลาที่ แก๊งออฟโฟร์ล่มสลาย และประเทศกำลังหาตัวอย่างที่จะแสดงถึงคุณค่าทางเทคโนโลยี เครื่องมือที่เขาสร้างขึ้นจึงถูกนำไปขยายและส่งเสริมในหลายองค์กรข่าว ทำให้เขาได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกการประชุมวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และหากว่ายังจำได้ มีช่วงเวลาหนึ่งที่คนต้องเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ถึงจะเป็นโน่นเป็นนี่ได้ ผมเป็นสมาชิกการประชุมวิทยาศาตร์แห่งชาติ แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค หัวหน้าผมก็คิดว่าแปลก ดังนั้นผมจึงได้เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์

เหตุผลที่ผมไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคในตอนแรกไม่ใช่เพราะทำงานไม่ดี แต่เป็นเพราะปูมหลังทางครอบครัว พ่อของผมถูกตราหน้าว่าเป็น คนที่มีแนวคิดนิยมระบบทุนนิยม ส่งผลให้ต้องไปเลี้ยงวัวอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งคุณก็รู้ว่าสำหรับคนที่มีการศึกษา หรือมีปัญญา ในยุคนั้น ภูมิหลังของพวกเขาซับซ้อนกว่าเกษตรกรหรือผู้ใช้แรงงาน พ่อของผมต้องใช้เวลากว่า 10 ปีกว่าจะเคลียร์ชื่อตัวเองออกมาได้ และโดยที่ผมเป็นสมาชิกในครอบครัวจึงไม่มีทางที่จะเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ได้

เมื่อเข้าเป็นสมาชิกพรรคในปี 1978 จีนสนับสนุนให้ผู้นำมีคุณสมบัติสี่ประการ คือ อยู่ในวัยหนุ่มสาว เป็นมืออาชีพ มีการศึกษา และมุ่งปฏิวัติ ผมบังเอิญมีคุณสมบัติครบ จึงได้รับการแนะนำให้กับสมาชิกคนหนึ่งในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 12 และในที่สุดผมได้รับการคัดเลือก ตอนนั้นผมยังเด็กมากยังไม่เข้าใจถ่องแท้เกี่ยวกับการปฏิรูปใหญ่ในประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าเสียดาย ผมเป็นเพียงช่างเทคนนิคในตอนนั้น

“ทุกวันนี้ ผมยังรักประเทศของผม ผมสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน แต่ผมจะไม่ทำอะไรที่เป็นการทำร้ายประเทศอื่น”

สร้างอาณาจักรหัวเว่ย

เว็บไซต์หัวเว่ยให้ข้อมูลว่า เหริน เจิ้งเฟย เกิดวันที่ 25 ตุลาคม 1944 ของครอบครัวที่อยู่ในชนบท พ่อและแม่เป็นครู ในวัยเด็ก เหริน เจิ้งเฟย ไปโรงเรียนในเมืองที่ห่างไกลบนภูเขาในกุ้ยโจว ปี 1963 ได้มาศึกษาต่อที่ Chongqing Institute of Civil Engineering and Architecture หลังจากเรียนจบได้ทำงานเป็นวิศวกรในธุรกิจก่อสร้างจนถึงปี 1974 ซึ่งเป็นปีที่เข้าร่วมในบริษัท Engineering Corps ของกองทัพ แต่ถือว่าเป็นทหาร ต่อมาได้รับการรับเลือกให้รับผิดชอบดูแลการก่อสร้างโรงงานผลิตเส้นใย และเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1982

ปี 1983 ได้ออกจากกองทัพเมื่อรัฐบาลจีนยุบบริษัท และได้มาทำงานกับบริษัทโลจิสติกส์ที่เสิ่นเจิ้น ต่อมาปี 1987 ได้ก่อตั้งหัวเว่ย และทำหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารในปี 1988 มาถึงปัจจุบัน

หัวเว่ยเติบโตจากบริษัทเล็กจนกลายเป็นอาณาจักร มีแคมปัสที่สร้างใหม่ในต้งกวน ซึ่งเหริน เจิ้งเฟย ควบคุมการก่อสร้างด้วยตัวเอง

แคมปัสแห่งใหม่มีขนาดใหญ่มาก ออกแบบให้มีสถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่หรู สวยงาม มีทั้งปราสาทข้างทะเลสาบแบบเดียวกับปราสาทไฮเดลเบิร์กที่เยอรมนี ที่จะใช้เป็นศูนย์วิจัยของหัวเว่ย มีหอคอยที่เอาแบบจากอิตาลี

ด้วยความที่มีขนาดใหญ่มาก การเดินทางในแคมปัสต้องใช้รถไฟและในการแถลงข่าวก็ได้ใช้รถไฟนี้รับส่งผู้สื่อข่าว ซึ่งต้องคอยรถไฟนานถึง 22 นาที

ภายในแคมปัสประกอบด้วยเมืองที่จำลองถอดแบบจากยุโรป 12 เมือง เช่น ปารีส เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2015 บริษัทไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขค่าก่อสร้าง และกำลังขยายเพิ่มเติมเพื่อรองรับพนักงานให้ได้ 25,000 คนจาก 17,000 คนในปัจจุบัน

นิตยสารฟอร์บส จัดให้ เหริน เจิ้งเฟย เป็นเศรษฐีจีนอันดับ 83 ในการจัดอันดับประจำปี 2018 และอันดับที่ 1,215 ของเศรษฐีโลกด้วยความมั่งคั่ง 3.4 พันล้านดอลลาร์

เรียบเรียงจากnikkei,fortune,scmp,huaweibloomberg

ภาพแคมปัสจากbloomberg