แอลฟาเบต อิงก์ (Alphabet Inc.) บริษัทแม่ของกูเกิลเปิดเผยวันนี้ว่า ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับหัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ของจีนออกไป 90 วัน หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ประกาศผ่อนปรนเงื่อนไขทางการค้าให้หัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับสองของโลก
เมื่อวานนี้มีรายงานข่าวสำนักข่าวรอยเตอรส์ว่า ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 แอลฟาเบต อิงก์ (Alphabet Inc.) บริษัทแม่ของกูเกิลได้สั่งห้ามทำธุรกิจกับหัวเว่ยในด้านที่ต้องมีการถ่ายโอนฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการด้านเทคนิค ยกเว้นบริการบนระบบ open source licensing เนื่องจากหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ถูกขึ้นบัญชี Entity List หลังจากการลงนามในคำสั่งฉุกเฉินของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ห้ามบริษัทสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ผลิตโดยบริษัทต่างๆ ที่ก่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายที่หัวเว่ย เทคโนโลยี ของจีนในสัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามในวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามบริษัทสหรัฐฯในการดำเนินธุรกิจกับหัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน เพื่อให้บริษัทโทรศัพท์มือถือ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ทำงานกับหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ เพื่อให้ผู้ใช้ยังคงสามารถใช้งานโทรศัพท์หัวเว่ยได้และคุ้มครองผู้ใช้จากความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เครือข่ายออนไลน์การประกาศยกเลิกชั่วคราวนี้จะทำให้กูเกิลสามารถอัปเดพซอฟต์แวร์ให้กับผู้ใช้โทรศัพท์หัวเว่ยที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ไปจนถึงวันที่ 19 สิงหาคม
“การอัปเดตโทรศัพท์และรักษาความปลอดภัยเป็นการทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ และการอนุญาตชั่วคราวทำให้เราสามารถส่งซอฟต์แวร์อัปเดตและ security patches ให้กับมือถือรุ่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเวลา 90 วัน” โฆษกกูเกิลให้ข้อมูลกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีผ่านอีเมลล์ในวันนี้
ยกเลิกคำสั่งห้ามชั่วคราว 90 วัน
กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯระบุว่า จะมีการประเมินว่าจะยังขยายเวลาการยกเลิกคำสั่งขั่วคราวออกไปอีกหรือไม่หลังจากครบระยะผ่อนปรน 90 วัน
ในสัปดาห์ก่อนกระทรวงพาณิชย์ได้ใส่ชื่อหัวเว่ย เทคโนโลยีส์และอีก 68 บริษัทไว้ในบัญชีดำด้านการส่งออก ทำให้บริษัทจีนไม่สามารถซื้อสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯได้
บริษัทที่มีรายชื่อใน Entity List ถูกจัดว่ามีกิจกรรมที่อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯหรือเป็นภัยต่อนโยบายผลประโยชน์ประเทศ
สำหรับรายละเอียดของประกาศกระทรวงพาณิชย์นั้นระบุว่า อนุญาตให้มีการเปิดเผยความเปราะบางของระบบความปลอดภัยและให้หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ร่วมในการพัฒนามาตรฐานเครือข่าย 5G ที่จะใช้ในอนาคต
ด้านโฆษกหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อการผ่อนผันของกระทรวงพาณิชย์
หัวเว่ย เทคโนโลยีส์เป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับสองของโลก เมื่อวัดจากส่วนแบ่งตลาดในไตรมาสแรก ก่อนหน้านี้บริษัทประกาศเป้าหมายที่จะเป็นเบอร์หนึ่งสมาร์ทโฟนภายในปี 2020
ในปี 2018 เงินที่หัวเว่ย เทคโนโลยีส์จ่ายออกไปทั้งหมด 70 พันล้านดอลลาร์นั้น จำนวน 11 พันล้านดอลลาร์ไหลเข้าบริษัทสหรัฐฯ ทั้งควอลคอม อินเทลและไมครอนเทคโนโลยี นอกจากนี้ในไตรมาสแรกปี 2562 หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ส่งสินค้าออกไปตลาดโลกในสัดส่วนราว 49%
เหริน เจิ้งเฟย เจ้าของหัวเว่ยบอกคาดไว้อยู่แล้ว
ด้านเซ้าท์ ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง หัวเว่ย เทคโนโลยี่ส์ ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า ความขัดแย้งกับสหรัฐฯ เป็นสิ่งคาดไว้อยู่แล้ว และเลี่ยงไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร เนื่องจากเป้าหมายของบริษัทฯที่จะก้าวสู่ผู้นำของโลก กระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และนำไปสู่การตอบโต้
“เราเสียสละ(ผลประโยชน์ของ) บุคคล และครอบครัวเพื่อเป้าหมาย การขึ้นสู่ผู้นำของโลก และเพื่อเป้าหมายนี้ ความขัดแย้งกับสหรัฐฯก็จะเกิดขึ้น ช้าหรือเร็วเท่านั้น” เหริน เจิ้งเฟยกล่าวในการให้สัมภาษณ์สื่อรัฐเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562
ในสัปดาห์ที่แล้วสหรัฐฯได้ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย และบริษัทในเครือทำให้ไม่สามารถซื้อบริการและชิ้นส่วนจากบริษัทสหรัฐฯได้ หากไม่ได้รับอนุญาต อีกทั้งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฉุกเฉินของ ห้ามบริษัทสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ผลิตโดยบริษัทต่างๆ ที่ก่อความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ
การกระทำดังกล่าวทำให้ในประเทศจีนเกิดความรู้สึกว่า สหรัฐฯพยายามที่จะสกัดการเติบโตของความสามารถทางเทคโนโลยีของจีน
เมื่อวันจันทร์จึงมีบริษัทสหรัฐฯจำนวนหนึ่ง รวมทั้งผู้ผลิตชิป ได้แก่ อินเทล ควอลคอม บรอดคอม ซิลลินซ์แจ้งพนักงานให้ระงับการส่งสินค้าให้หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ขณะที่กูเกิลระงับการเข้าถึงบริการบางอย่างในระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
เหริน เจิ้งเฟยกล่าวว่า คำสั่งห้ามของสหรัฐฯไม่มีผลต่อแผนธุรกิจ 5G ของหัวเว่ย รวมทั้งคู่แข่งไม่สามารถตามทันในช่วงเวลาอย่างน้อย 2-3 ปี และกล่าวอีกว่า นักการเมืองสหรัฐฯประเมินบริษัทต่ำเกินไป
สำหรับการผ่อนปรนจากรัฐบาลสหรัฐเพื่อให้หัวเว่ยใช้เครือข่ายเดิมและให้ผู้ใช้โทรศัพท์หัวเว่ยสามารถอัปเดตได้นั้น ในบทสัมภาษณ์ที่เผยแพร่ผ่านบัญชีโซเชียลมีเดีย ของไชน่า เซ็นทรัล เทเลวิชั่น สถานีโทรทัศน์ของรัฐ เหริน เจิ้งเฟยกล่าวว่า แทบจะไม่มีความหมายสำหรับหัวเว่ย เพราะบริษัทเตรียมความพร้อมรับมือกับข้อจำกัดมานานแล้ว
เทเรซา เหอ ถิงโป ผู้บริหารของไฮซิลิคอนเขียนลงในบันทึกช่วยจำหลังจากที่สหรัฐฯมีคำสั่งห้ามในสัปดาห์ก่อนว่า บริษัท ไฮซิลิคอน (HiSilicon) บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่หัวเว่ย ถือหุ้นเต็ม 100% ซึ่งผลิตชิปสำหรับสมาร์ทโฟนและเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท ได้เตรียมการมาเป็นปี เพื่อรับมือกับกรณีที่สหรัฐฯตัดการเข้าถึงชิปและเทคโนโลยีที่ล้ำยุค
เหริน เจิ้งเฟยกล่าวว่า ไฮซิลิคอนได้ทุ่มเททรัพยากรที่สำคัญเพื่อสร้างระบบสำรองข้อมูล( backup) เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มบริษัทยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และจากการที่สหรัฐฯขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยและบริษัทในเครือ แผนสำรองข้อมูลก็ต้องนำมาใช้และยังคงสร้างความมั่นใจต่อระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุดของผลิตภัณฑ์บริษัทและยังคงผลิตสินค้าต่อเนื่อง
ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ริชาร์ด อวี้ เฉิงตง ผู้บริหารฝ่ายสมาร์ทโฟนยืนยันว่า บริษัทได้พัฒนาระบบปฏิบัติการ (operating systems-OS)ของตัวเอง เพื่อใช้สำหรับสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ของบริษัท รองรับในกรณีที่ว่าบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐไม่สามารถให้บริการได้
เหริน เจิ้งเฟยกล่าวว่า หัวเว่ยจะไม่ยกเลิกการใช้ชิปสหรัฐฯแต่มีแผนสำรอง โดยบริษัทสามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่มีคุณภพาเท่าเทียมกับมาตรฐานอเมริกา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเลิกซื้อ
เหริน เจิ้งเฟย กล่าวว่าหัวเว่ยรู้สึกขอบคุณ บริษัทอเมริกันทุกรายได้สนับสนุนหัวเว่ยอย่างมาก ที่ปรึกษาของบริษัทฯหลายรายก็มาจากบริษัทอเมริกัน เช่น ไอเบีเอ็ม
เมื่อถามว่าวิกฤตินี้สำหรับหัวเว่ยจะนานแค่ไหน เหริน เจิ้งเฟยกล่าวว่า คำถามนี้ควรถามประธานาธิบดีทรัมป์ดีกว่า
“คำตำหนิควรจะถูกส่งตรงไปที่นักการเมืองสหรัฐฯ ไม่ใช่บริษัทฯ” เหริน เจิ้งเฟยกล่าว