ThaiPublica > เกาะกระแส > ความนิยมที่พุ่งขึ้นของ “การท่องเที่ยวฮาลาล” ตลาดนักเดินทางที่กำลังเติบโตรวดเร็วที่สุด

ความนิยมที่พุ่งขึ้นของ “การท่องเที่ยวฮาลาล” ตลาดนักเดินทางที่กำลังเติบโตรวดเร็วที่สุด

25 มกราคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เมื่อเร็วๆ นี้ The New York Times มีบทรายงาน เรื่อง ความนิยมที่พุ่งขึ้นของการท่องเที่ยวฮาลาล (The Rise of Halal Tourism) โดยกล่าวว่า สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวที่เติบโตรวดเร็วสุดของการท่องเที่ยวโลก อาหารของโรงแรมจะต้องไม่มีเนื้อต้องห้าม รถเข็นบริการเครื่องดื่มบนเที่ยวบินโดยสารจะต้องไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รีสอร์ทที่พักชายทะเลจะต้องมีสระว่ายน้ำที่แบ่งแยกผู้หญิงกับผู้ชาย และโปรแกรมทัวร์ต้องมีเวลาหยุดพักให้ลูกทัวร์ได้ละหมาด

รายงานการศึกษาของ Mastercard & Crescentrating ชื่อ Global Muslim Travel Index 2018 (GMTI 2018)ก็ระบุว่า นับจากปี 2016 เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวมุสลิมเติบโตเกือบ 30% ประชากรมุสลิมในโลกส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว มีการศึกษาดี และเดินทางสะดวก จึงเป็นตลาดที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในธุรกิจการท่องเที่ยวของโลก

ภาพรวมตลาดท่องเที่ยวมุสลิม

รายงาน GMTI 2018 กล่าวว่า ตลาดท่องเที่ยวมุสลิมยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายเงินสูงสุด ดังนั้น แหล่งปลายทางท่องเที่ยวและธุรกิจท่องเที่ยวจะต้องพัฒนากลยุทธ์เชิงรุก ที่จะดึงตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มายังปลายทางการท่องเที่ยวของตัวเอง

ในปี 2017 คาดการณ์ว่า มีนักท่องเที่ยวมุสลิมกว่า 131 ล้านคนเดินทางไปทั่วโลก เพิ่มจากจำนวน 121 ล้านคนในปี 2016 และมีการพยากรณ์ว่า จะเพิ่มเป็น 156 ล้านคนในปี 2020 คิดเป็นสัดส่วน 10% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในโลก ปี 2020 นักท่องเที่ยวมุสลิมจะสร้างรายได้แก่เศรษฐกิจโลก 180 พันล้านดอลลาร์ และเพิ่มเป็น 300 พันล้านดอลลาร์ในปี 2026

ปลายทาง 10 อันดับยอดนิยมของนักท่องเที่ยวมุสลิม ในประเทศกลุ่มความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation – IOC) ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี มาเลเซีย ยูเออี บาห์เรน โมร็อกโก คาซักสถาน เลบานอน ตูนิเซีย และจอร์แดน ส่วนปลายทาง 10 อันดับยอดนิยมของประเทศที่อยู่นอกกลุ่ม IOC ได้แก่ รัสเซีย สเปน ฝรั่งเศส ไทย สิงคโปร์ อิตาลี จอร์เจีย กรีซ อังกฤษ และอินเดีย

ปัจจัยหนุนการเติบโต

รายงาน GMTI 2018 กล่าวว่า มีปัจจัยหลายประการที่ผลักดันการเติบโตของนักท่องเที่ยวมุสลิม

  • ประการแรก คือ จำนวนประชากรที่เป็นมุสลิมเพิ่มขึ้น ประชากรโลกประมาณ 1 ใน 4 คน เป็นคนมุสลิม
  • ประการที่ 2 คือ คนชั้นกลางเพิ่มขึ้น รวมทั้งรายได้เหลือใช้ คนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้นในประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ คนมุสลิมที่ทำงานสายอาชีพต่างๆ ในยุโรปและสหรัฐฯ ก็เพิ่มมากขึ้น
  • ประการที่ 3 คือ การเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยว ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้นักท่องเที่ยวมุสลิมมีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละแห่ง ดังนั้น แหล่งท่องเที่ยวที่มีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมจะมีความได้เปรียบ
  • ประการที่ 4 คือ การบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวมุสลิมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น รายงาน GMTI 2018 ระบุว่า สิ่งจำเป็นที่ต้องมีสำหรับนักท่อเงเที่ยวมุสลิม คือ บริการอาหารฮาลาล และสถานที่ละหมาด ลำดับรองลงไปคือ ห้องน้ำที่มีน้ำสะอาดบริสุทธิ์
  • สภาพเป็นจริงที่ยังมีปัญหา

    แต่บทความของ The New York Times กล่าวว่า นักท่องเที่ยวมุสลิมบางส่วน ที่ท่องเที่ยวในต่างประเทศด้วยตัวเองหรือกับครอบครัว ก็ยังประสบปัญหาในแต่ละวันในเรื่องหาร้านอาหารฮาลาลที่ได้รับการรับรอง นางโซมายา ฮัมดิ (Soumaya Hamdi) เคยประสบปัญหาดังกล่าวเมื่อครั้งเดินมาท่องเที่ยวเอเชียกับครอบครัว เธอจึงทำเว็บไซต์ชื่อ Halal Travel Guide ขึ้นมา เพื่อให้คำแนะนำร้านอาหารฮาลาลในประเทศต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวมุสลิม

    โซมายา ฮัมดิ กล่าวกับ The New York Times ว่า “สำหรับนักเดินทางมุสลิม ที่สำคัญอันดับหนึ่ง คือ อาหารฮาลาลที่มีคุณภาพ ซึ่งไม่ได้หมายถึงอาหารประเภทที่ปรุงด้วยผงกะหรี่ หรือพวกข้าวหมก แต่หมายถึงอาหารท้องถิ่นแท้ๆ ที่เป็นแบบฮาลาล สำคัญรองลงไปจากนี้ก็คือสถานที่ละหมาด”

    การเติบโตของตลาดการท่องเที่ยวมุสลิม ทำให้ความต้องการอาหารฮาลาลเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศต่างๆ อย่างเช่นมีเว็บไซต์เฉพาะชื่อ Have Halal Will Travelในสิงคโปร์ สร้างขึ้นมาในปี 2015 เพื่อให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวมุสลิมในการมองหาอาหารฮาลาลในประเทศต่างๆ ปัจจุบันมีคนเข้ามาดูเว็บไซต์นี้เดือนหนึ่ง 9 ล้านคน นายมิคาเอล โก๊ะห์ (Mikhael Goh) ผู้ก่อตั้ง กล่าวว่า ที่สร้างเว็บไซต์ Have Halal Will Travel ขึ้นมา เพราะเว็บไซต์การท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีอยู่ให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวมุสลิมน้อยมาก หรือไม่ก็เป็นข้อมูลกระจัดกระจาย

    แต่ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อื่นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม ก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า วัตถุประสงค์ไม่ใช่เพียงแค่ให้ข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวมุสลิมในเรื่องร้านอาหารฮาลาล สถานที่ละหมาด และกิจกรรมที่ไม่มีแอลกอฮอล์เท่านั้น แต่ต้องการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมุสลิมเดินทางไปเที่ยวประเทศที่คนมุสลิมไม่ใช่คนส่วนใหญ่

    โซมายา ฮัมดิ เจ้าของเว็บไซต์ Halal Travel Guide ก็กล่าวว่า “เราพยายามส่งเสริมให้คนมุสลิมมีประสบการณ์การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่อยู่นอกแหล่งท่องเที่ยวดั้งเดิม ที่เป็นมิตรกับคนมุสลิม เช่น ดูไบ หรือโมร็อกโก นักท่องเที่ยวมุสลิม จะมองการท่องเที่ยวที่ให้มูลค่าเพิ่ม เช่น ชายหาดส่วนตัวของผู้หญิงที่ไม่มีผู้ชายมารบกวน และการท่องเที่ยวที่ให้ประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป”

    ความสำเร็จของมาเลเซีย

    ประเทศในอาเซียนอย่างเช่นมาเลเซียและสิงคโปร์จะให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวมุสลิม แต่การตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะเน้นไปที่ประเทศในตะวันออกกลาง เนื่องจากคนมีกำลังซื้อสูง แม้ปริมาณนักท่องเที่ยวจะไม่มาก การเดินทางมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ใช้เวลาเดินทาง 6-7 ชั่วโมง เทียบกับจากยุโรปและอเมริกา ที่เป็นเที่ยวบินข้ามทวีป

    นับจากต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา มาเลเซียกลายเป็นประเทศปลายทางชั้นนำของการท่องเที่ยวมุสลิมที่มาจากตะวันออกกลาง ศูนย์การค้าในกัวลาลัมเปอร์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่นิยมการชอปปิง ที่พักชายทะเลของลังกาวีและปีนังก็ได้รับความนิยม นักท่องเที่ยวจากอาหรับใช้จ่ายต่อคนสูง เดินทางมาแบบครอบครัว และพักนานว่านักท่องเที่ยวอื่นๆ

    ที่มาภาพ : retailnews.asia

    นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มาเลเซียพยายามดึงนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง โดยนำเสนอว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับมุสลิม และมาเร่งรณรงค์ส่งเสริมหลังปี 2001 เมื่อ Tourism Malaysia ใช้คำโฆษณาที่ว่า “รู้สึกเหมือนอยู่กับบ้าน” การโฆษณายังเน้นวัฒนธรรมอิสลามของมาเลเซีย และอาหารอาหรับ การท่องเที่ยวของมาเลเซียพยายามให้ธุรกิจต่างๆ สนองความต้องการของนักท่องเที่ยวอาหรับ เช่น ร้านค้าและภัตตาคารขยายเวลาเปิดนานขึ้น โรงแรมมีพนักงานพูดภาษาอารบิก และมีรายการโทรทัศน์จากตะวันออกกลาง

    ในปัจจุบัน นักท่องเที่ยวมีข้อมูลมากขึ้นเรื่องแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และพิจารณาปัจจัยหลายอย่างก่อนที่จะตัดสินใจใช้เงินที่เหลือจ่ายเพื่อการท่องเที่ยว อาหารเคยเป็นเพียงแค่ประการณ์ของการท่องเที่ยวอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่สำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม อาหารฮาลาลเป็นปัจจัยสำคัญสุดในการเลือกปลายทางการท่องเที่ยว และยังเป็นปัจจัยที่ทำให้แหล่งท่องเที่ยวมีความยั่งยืน และได้เปรียบในการแข่งขัน ดังเช่นความสำเร็จของมาเลเซีย

    เอกสารประกอบ
    The Rise of Halal Tourism, The New York Times, January 18, 2019.
    Global Muslim Travel Index 2018, Mastercard & Crescentrating.
    Tourism in the Muslim World, Noel Scott and Jafar Jafari, Emerald Group Publishing Limited, 2010.