ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช.พบสื่อ แจงเหตุผลตีตกคดีนาฬิกาหรู – เร่งปรับโครงสร้างองค์กร เคลียร์คดีค้าง 13,000 เรื่องจบใน 2 ปี

ป.ป.ช.พบสื่อ แจงเหตุผลตีตกคดีนาฬิกาหรู – เร่งปรับโครงสร้างองค์กร เคลียร์คดีค้าง 13,000 เรื่องจบใน 2 ปี

17 มกราคม 2019


เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดกิจกรรมคณะกรรมการป.ป.ช. พบสื่อมวลชนระดับบรรณาธิการ โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และตอบข้อซักถามสื่อมวลชนในประเด็นต่างๆ ที่ห้องประชุมผู้บริหารชั้น 3 อาคาร 1 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2560 และมีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่มีผลเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องเร่งออกกฎหมายระดับอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อีกหลายฉบับ นอกจากนี้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติปรับโครงสร้างสำนักงาน ป.ป.ช.ใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานในอนาคต เรียกว่าเป็นการกระจายอำนาจลงไปสู่ระดับพื้นที่ ทำให้ปัญหาร้องเรียนกล่าวหาในต่างจังหวัดได้รับการดำเนินการเร็วขึ้น และที่สำคัญกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการทำงานของ ป.ป.ช.ต้องเร่งกระบวนการพิจารณาคดีต่างๆให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับตั้งแต่กระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นคือในชั้น ป.ป.ช. จนถึงขั้นกลั่นกรองตรวจสอบคือในชั้นอัยการ จากนั้นเมื่ออัยการรับสำนวนไปแล้ว ต้องพิจารณาใน 180 วัน หากเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ต้องแจ้งกลับมาที่ป.ป.ช.ภายใน 90 วัน ทั้งนี้หากไม่ทำตามกำหนดเวลา ต้องมีผู้รับผิดชอบ แสดงว่าบกพร่องต่อหน้าที่ นั่นหมายรวมถึงตัวกรรมการด้วย

ปรับโครงสร้างใหม่ เคลียร์คดีค้าง 13,000 เรื่อง เสร็จใน 2 ปี

“กฎหมายใหม่ค่อนข้างกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ จากเดิมมีอิสระค่อนข้างมาก แต่ในกฎหมายใหม่มีกรอบเวลากำกับไว้ทั้งหมด ดังนั้นต้องดำเนินการให้รองรับกับกฎหมาย นี่เป็นปัญหาที่ท้าทาย ป.ป.ช. เพราะยังมีคดีที่คั่งค้างอยู่ประมาณ 13,000 เรื่องเศษ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมาดูว่าเป็นเรื่องร้ายแรงหรือไม่ หากไม่ร้ายแรงให้ส่งหน่วยงานอื่นทำแทนได้ ดังนั้นต้องเร่งระดมปรับกลยุทธ์ในการทำงาน” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว

ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังมีประเด็นติดขัดอยู่ประเด็นหนึ่งคือ กรณีการขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ เช่น กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทย ที่มีในมือ ป.ป.ช. ประมาณ 20 เรื่อง ตรงนี้ต้องผ่านทางอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อขอข้อมูล แต่ขึ้นอยู่กับประเทศที่ร้องขอด้วยว่าจะมีอนุสัญญาระหว่างประเทศกับไทย หรือเป็นการต่างตอบแทนผลประโยชน์ด้วยกันหรือไม่ เนื่องจากไทยมีโทษประหารชีวิต อาจทำให้ล่าช้า

แจงเหตุผลตีตกคดีนาฬิกาหรู

สำหรับความคืบหน้าคดีทางการเมืองตามกฎหมายใหม่นั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า คดีทางการเมือง และที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่องค์กรอิสระ ที่ประชุมมอบหมายให้ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน โดยการไต่สวนถ้าเป็นคดีใหญ่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 รายจะเป็นองค์คณะไต่สวน ถ้าเรื่องไม่ใหญ่มากแต่สำคัญ ต้องใช้กรรมการ ป.ป.ช. อย่างน้อย 2 ราย เป็นคณะอนุกรรมการไต่สวน ยืนยันว่าคดีที่ค้างอยู่เดินตามทางครรลองของมัน แต่รายละเอียดบางคดีมีมาก ต้องทำให้ครบถ้วน อาจต้องใช้เวลา แต่ยืนยันว่าทุกเรื่องต้องเสร็จภายในปี 2564

ส่วนกรณีการถือครองนาฬิกาหรู ของพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจำนวน 22 เรือน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติ 5 ต่อ 3 ให้เรื่องนี้ตกไปเนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอนั้น นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า หัวใจสำคัญของคดีนี้อยู่ที่ใบรับรองสินค้า (Certificate) จากประเทศผู้ผลิตนาฬิกา ซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะบ่งชี้ว่าใครเป็นเจ้าของนาฬิกาหรู 22 เรือน แต่ที่เป็นปัญหา คือ ประเด็นข้อกฎหมาย กรณีนักการเมืองมีเจตนาไม่แจ้งรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. ตามกฎหมาย ป.ป.ช.ของไทย ถือเป็นความผิดทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 10,000 บาท และเว้นวรรคทางการเมืองอีก 5 ปี ส่วนประเทศในแถบยุโรปไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่ผิดในเรื่องของจริยธรรมเท่านั้น และการที่จะมาใช้อนุสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางคดีอาญา มีหลักในการพิจารณาคือต้องเป็นคดีอาญาเหมือนกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่กรณีนี้ถือเป็นคดีอาญาเฉพาะฝ่ายไทย แต่ต่างประเทศถือว่าผิดจริยธรรม เมื่อป.ป.ช.ทำหนังสือขอหลักฐานใบรับรองสินค้าไป จึงถูกปฏิเสธ

“เมื่อป.ป.ช.ไม่สามารถหาหลักฐานชิ้นนี้ได้ จะเขียนบรรยายฟ้องอย่างไร มันไม่ใช่แค่ถือครองนาฬิกาเท่านั้น ต้องมีหลักฐานที่จะบ่งชี้ว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินด้วย ส่งฟ้องไป ก็พิสูจน์ไม่ได้ ผมจึงมีความเห็นให้เรื่องนี้ตกไปเพราะพิสูจน์ไม่ได้” นายสุรศักดิ์ กล่าว

ด้านนายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวในฐานะประธานที่ประชุมวันลงมติคดีนาฬิกาหรู เนื่องจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ถอนตัว ยอมรับว่าผมเป็นหนึ่งในเสียงข้างมากที่ลงความเห็นให้คดีนี้ตกไป เนื่องจากพยานบุคคลทั้งหมดให้การยืนยันว่านาฬิกาเป็นของผู้เสียชีวิต (นายปัฐวาท ศรีสุขวงศ์) เมื่อตรวจสอบฐานะ หรือความเป็นอยู่ พบว่า ผู้เสียชีวิตชอบสะสมนาฬิกามีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อชอบให้เพื่อนฝูงยืมนาฬิกาไปใช้ จากการตรวจสอบบ้านของผู้ตาย ก็ได้รับความมือจากทายาทเป็นอย่างดี พบว่ามีนาฬิกาหรูว่ามีถึง 137 เรือน ในจำนวนนี้มีนาฬิกาทั้ง 22 เรือนรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกัน ทางป.ป.ช.ก็ขอความร่วมมือไปยังต่างประเทศ ให้จัดส่งใบรับรองสินค้า แต่ได้รับการปฏิเสธ กลับมาว่าไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะไม่ใช่คดีอาญาที่เกี่ยวกับการทุจริต เมื่อไม่มีหลักฐานจากต่างประเทศในแง่ของกฎหมายก็ไม่สามารถไปต่อได้ กรรมการเสียงข้างมาก จึงมีความเห็นว่า ควรจะหยุดเพียงเท่านี้

“กรณีนี้แตกต่างจากกรณีการครอบครองรถโฟล์คตู้ของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจนเป็นที่ยุติแล้วว่า เงินและรถคันดังกล่าวเป็นของนายสุพจน์ นอกจากนี้ศาลฎีกา พิพากษาในคดีแพ่งด้วยว่า นายสุพจน์ร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากได้รับรถมาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายสุพจน์ครอบครองต่อเนื่องระหว่างปี 2552-2554 จนกระทั่งถึงวันที่เกิดเหตุการณ์ปล้นบ้าน และเงินที่จัดซื้อจัดหา ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักธุรกิจที่ให้เงินไป พบว่า นายสุพจน์ เป็นผู้เลือกรุ่น เลือกสี และที่สำคัญครอบครองเป็นเวลาถึง 2 ปี 4 เดือน และเลขรถ ตรงกับเลขทะเบียนบ้านของนายสุพจน์ รวมถึงการบำรุงรักษาที่ใช้ประโยชน์มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงนำมาเปรียบเทียบกับกรณีนาฬิกาหรูมาได้” นายปรีชา กล่าว

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. หนึ่งในกรรมการเสียงข้างน้อย กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องเชื่อมั่นในการทำงานของป.ป.ช. กรรมการทุกคนมีความเห็นเป็นอิสระ ในความเห็นของตน ในฐานะนักบัญชี เคยทำคดีร่ำรวยผิดปกติ และยึดทรัพย์มาหลายราย และ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. อีกรายที่เป็นเสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นนักบัญชีเช่นเดียวกัน จึงมีความเห็นตรงกันว่า ควรจะไล่ไปให้สุดก่อน ได้แค่ไหนก็จบแค่นั้น ในมุมมองของนักบัญชีคิดว่ามันไล่ต่อได้ โดยผ่านกระบวนการ M Lab ตามกฎหมายป.ป.ช. มาตรา 138 และ 139 โดยให้อัยการสอบถามไปยังหน่วยงานต่างประเทศ หากหน่วยงานต่างประเทศ ตอบว่าไม่ให้ ก็จบ แต่วันนี้มันยังไปไม่ถึงจุดนั้น ในมุมมองของนักบัญชี อยากจะให้ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลครบถ้วน เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยว่าจะตีตกหรือไต่สวน

เตรียมเชื่อมโยงข้อมูลคดีอสส. – ศาล

ส่วนการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรา 36 ใน กฎหมาย ป.ป.ช. กำหนดให้ปกปิดชื่อผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง รวมถึงผู้ถูกกล่าวหานั้น ในชั้นไหนถึงจะเปิดเผยชื่อ และพฤติการณ์เบื้องต้น หากเป็นในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริง หรือ ชั้นไต่สวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องวินิจฉัยว่าจะเปิดเผยชื่อได้หรือไม่ ตรงนี้คำวินิจฉัยกินความแค่ไหนหรือว่าต้องรอตอนถูกชี้มูลความผิดอย่างเดียว

นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ในช่วงพิจารณาร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการหารือเรื่องนี้พอสมควร โดยหลักการในมาตรา 36 คือการแยกชื่อผู้ร้อง กับผู้ถูกร้องไว้ชัดเจน ดังนั้นถ้าเป็นข้อมูลสาธารณะไม่สามารถเปิดเผยชื่อผู้ร้องได้ทุกกรณี ส่วนผู้ถูกร้องนั้น หากยังอยู่ในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริงไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่หากในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงที่กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหา อาจเปิดเผยต่อสาธารณะได้หากเป็นประโยชน์ในการไต่สวน เช่น กรณีการเรียกรับเงิน เป็นต้น หรือได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากรวบรวมพยานหลักฐานแล้วสามารถเปิดเผยชื่อ สกุล หรือ ตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหาได้ เพียงพอให้เข้าใจว่าเป็นข้อกล่าวหาเรื่องอะไร นอกจากนั้นยังเป็นการพิจารณาลักษณะความผิด แต่ไม่ได้เปิดเผยพยาน หรือ รายละเอียดมาก เว้นแต่ในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด จะมีการระบุพฤติการณ์ความผิดของผู้ถูกกล่าวหา แต่ต้องคุ้มครองผู้ร้อง และพยาน เพื่อไม่ให้กระทบต่อรูปคดี เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุด จำเป็นต้องเสนออัยการเพื่อฟ้องศาล หากเปิดเผยไปทั้งหมดจะกระทบต่อรูปคดีได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างร่างระเบียบดังกล่าว และนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ส่วนกรณีนำคำพิพากษาชั้นต้นในคดีที่ใช้สำนวนจาก ป.ป.ช. มาเผยแพร่ต่อสาธารณะนั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ยังไม่ถือว่าเป็นที่สิ้นสุด ดังนั้นต้องพิจารณาว่าจะเผยแพร่อย่างไร มองบางมุมหากเอาคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปเผยแพร่ ไม่รู้ว่าเป็นบวก หรือ ลบกับผู้ถูกกล่าวหา หรือ จำเลย

นายนิวัติไชย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีดำริให้สำนักสารสนเทศ ป.ป.ช. ประสานกับสำนักงาน อสส. และสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อเชื่อมโยงระบบให้ติดตามคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันมีการกระจัดกระจายของข้อมูล การจัดเก็บข้อมูลขององค์กรไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงพยายามพัฒนาปรับปรุงระบบอยู่

พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นอยู่ระหว่างการร่างระเบียบการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาใหม่ เดิมการแจ้งข้อกล่าวหาคือ ให้ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบ ต่อมา เมื่อไต่สวนไปเรื่อย ๆ มีการชี้มูลความผิด ส่งสำนวนให้อัยการ เมื่อถึงเวลาจะนำตัวไปฟ้องศาล ป.ป.ช.ต้องเป็นผู้นำตัวผู้ถูกกล่าวหาไป แต่บางคดีระยะเวลาล่วงไปหลายปี อาจทำให้เจอตัวผู้ถูกกล่าวหายาก คราวนี้จะเปลี่ยนไปใช้ระบบใหม่คือ เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกถ่ายรูป และพิมพ์ลายนิ้วมือด้วย คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ ยืนยันว่าอะไรทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพจะเร่งดำเนินการ