ThaiPublica > เกาะกระแส > กลุ่มพนักงานกทพ.ยื่นหนังสือเร่งรมต.คมนาคม ยุติการเจรจาข้อพิพาทคดีทางด่วน

กลุ่มพนักงานกทพ.ยื่นหนังสือเร่งรมต.คมนาคม ยุติการเจรจาข้อพิพาทคดีทางด่วน

14 มกราคม 2020


นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนรับหนังสือจากตัวแทนพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

กลุ่มพนักงานกทพ.ยื่นหนังสือเร่งรมต.คมนาคม ยุติการเจรจาข้อพิพาทคดีทางด่วน โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม รับหนังสือจากตัวแทนพนักงาน

  • คมนาคมยุติข้อพิพาทค่าโง่ทางด่วน ชดเชยสัมปทาน 3 สัญญาสิ้นสุดพร้อมกัน 31 ต.ค.2578 รวม 15 ปี 8 เดือน
  • นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนรับหนังสือจากตัวแทนพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ที่ได้ยื่นหนังสือถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่อง การยุติข้อพิพาทสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนบางปะอิน – ปากเกร็ด ซึ่งพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ติดตามความก้าวหน้าของการเจรจามาโดยตลอด แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้กลุ่มพนักงาน กทพ. เกิดความกังวลต่อความมั่นคงและสวัสดิภาพการทำงานอย่างมาก จึงได้ทำหนังสือเพื่อชี้แจงจุดยืน ดังนี้

    1. ข้อพิพาทดังกล่าวเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดของฝ่ายบริหาร กทพ. ทำให้เกิดปัญหาพิพาทกับเอกชนมาโดยตลอด และไม่ได้แก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ ทำให้ยืดเยื้อมากว่า 30 ปี หากไม่รีบดำเนินการแก้ไขจะเกิดความเสียหายต่อหน่วยงาน เป็นภาระทางการเงินของประเทศและประชาชน และเกิดผลกระทบต่อความมั่นคง สวัสดิการ รายได้ของพนักงาน กทพ.

    2. การเจรจาที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีให้ข้อมูลแก่สังคมในทางที่ผิดว่าควรจะสู้คดีในทุกคดี โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ในกรณีที่แพ้คดี

    3. กลุ่มพนักงาน กทพ. มีจุดยืนต้องการให้แก้ไขปัญหาข้อพิพาทให้หมดสิ้นไปจากหน่วยงาน บนพื้นฐานที่เป็นธรรม ไม่ทำให้ กทพ. และรัฐเสียหาย เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคง สวัสดิการ และรายได้ของพนักงาน กทพ. และขอสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ที่จะเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยขอให้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ โปร่งใส และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของส่วนรวมเป็นหลัก

    4. ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและมีมติให้เพิ่มเงินเดือนให้พนักงาน กทพ. ทุกคน คนละ 1 ขั้น เหมือนธนาคารออมสิน ที่ทำโครงการธนาคารประชาชนจนประสบความสำเร็จ เนื่องจาก กทพ. ได้ระดมทุนในกองทุน Thailand Future fund และการขยายสัมปทานจนประสบความสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาล

    ด้านนายชาญชัย โพธิ์ทองคำ ในฐานะตัวแทนกลุ่มพนักงานกทพ.ที่เดินทางมายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้นให้ได้ข้อยุติ โดยที่เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ไม่กระทบต่อรายได้ที่จะต้องนำส่งรัฐและพนักงาน

    “ความเสียหายทั้งหมดควรจบในคนรุ่นนี้เพราะเราต้องอยู่ต่อ ส่วนคนที่ทำให้เกิดความเสียหายและต้องรับผิดชอบ เป็นหน้าที่ของผู้บริหารต้องดำเนินการสืบเสาะหาคนผิดมาลงโทษ หากไม่เร่งให้ได้ข้อยุติ กทพ.ก็จะเดินหน้าต่อไปลำบาก ห่วงหน้าพะวงหลัง ที่ผ่านมาทางสหภาพแรงงานกทพ.ได้ระบุชัดว่าจะคัดค้านการเจรจาและข้อตกลงจนถึงที่สุด แต่กลุ่มพนักงานที่ยื่นหนังสือซึ่งลงชื่อร่วมกันประมาณกว่า 400 คนเพียงแค่เห็นต่าง แต่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่บ่อนทำลาย เรายืนยันว่าไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับสหภาพ ที่เราเห็นต่างเพราะต้องมองทั้งด้านบวกและลบ เช่น หากเอาสัมปทานมาทำเองจะดีอย่างไร หรือการต่อสู้ด้านคดี ในเมื่อมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานอยู่แล้ว การจะคิดว่าไม่แพ้อย่างเดียวคงไม่ได้ ถ้าแพ้แล้วจะทำอย่างไร ใครจะเป็นคนจ่าย ก็ต้องเป็นกทพ. ซึ่งจะกระทบรายได้ขององค์กร เมื่อรายได้หด ก็กระทบพนักงาน เราจึงอยากเรียกร้องให้รับข้อห่วงใยที่พวกเราเสนอเร่งแก้ไขให้ได้ข้อยุติ”นายชาญชัยกล่าว

    ยุติข้อพิพาทชดเชยสัมปทาน 3 สัญญา

    เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและและแผนการขนส่งและจราจร นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. แถลงข่าวการยุติข้อพิพาททางด่วน ณ ห้องราชดำเนิน อาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม

    นายชัยวัฒน์เปิดเผยว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหาย พร้อมดอกเบี้ยให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BEM) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL)กรณีกรมทางหลวงก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยาย ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ – รังสิต ขึ้นมาแข่งขันกับโครงการทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ดของ BEM และไม่อนุมัติให้ขึ้นค่าผ่านทางตามที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานฯ ทำให้ผู้รับสัมปทานได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรง จากนั้นทางกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างกทพ.กับ BEM และ NECL ตามที่ครม.มีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 โดยคณะทำงานฯได้มีการเจรจากับบริษัท BEM อย่างเป็นทางการทั้งหมด 8 ครั้ง ผลการเจรจาล่าสุดได้ข้อสรุปว่า กทพ.จะต่อขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน D) และสัญญาสัมปทานทางด่วนสายบางปะอิน – ปากเกร็ด รวม 3 สัญญา เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน แลกกับการถอนฟ้องคดีพิพาททั้งหมด 17 คดี คิดเป็นมูลค่าคดีประมาณ 137,517 แสนล้านบาท โดยผลการเจรจาครั้งสุดท้ายนี้ยุติกันที่ 58,873 ล้านบาท โดยไม่มีโครงการลงทุนปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 หรือ “Double Deck” ตามข้อเสนอของ BEM เนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังไม่ผ่านการศึกษาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งคาดว่าจะศึกษาเสร็จภายใน 2 ปี

    นอกจากนี้ทางบริษัท ฯ ได้ยอมรับข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ขอความร่วมมืองดเว้นการเก็บค่าผ่านทางด่วนทุกเส้นทางในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ตามที่ครม.กำหนด ประมาณ 19 วันต่อปี ตลอดระยะเวลาสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน โดยบริษัทฯสามารถปรับขึ้นค่าผ่านทางได้ 10 บาท ในปีที่ 10 (ตามสัญญาฯ กำหนดให้ขึ้นค่าผ่านทางได้ปีละ 1 บาท ปรับขึ้นได้ทุกๆ 10 ปี) สำหรับสรุปผลการเจรจาครั้งล่าสุดนี้ ตนได้รายงานต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว และจะนำเสนอให้ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบในวันที่ 24 ธันวาคม 2562