ThaiPublica > เกาะกระแส > ”อาทิตย์ อุไรรัตน์” ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง “นายกฯ – ประธาน สนช.” ค้านแก้ พ.ร.บ. สำนักงานสลากฯ แนะ 6 ข้อแก้หวยแพง-โปร่งใส

”อาทิตย์ อุไรรัตน์” ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง “นายกฯ – ประธาน สนช.” ค้านแก้ พ.ร.บ. สำนักงานสลากฯ แนะ 6 ข้อแก้หวยแพง-โปร่งใส

27 มกราคม 2019


ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำหนังสือขึ้น 2 ฉบับ แสดงความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. พร้อมเสนอแนะแนวทางการปฏิรูประบบจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่งถึงศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้

1. ปัญหาเรื่องการจำหน่ายสลากกินแบ่งฯ มีการขายสลากกินแบ่งฯเกินราคาที่กำหนด แม้สำนักงานสลากกินแบ่งฯ จะได้เพิ่มจำนวนสลากจากงวดละ 37 ล้านฉบับ เป็น 90 ล้านฉบับ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะได้ออกคำสั่งที่ 11/2558 ให้ลดรายได้ของการจำหน่ายสลากกินแบ่งฯ ที่เคยแบ่งให้เป็นรายได้ของแผ่นดิน 28% เหลือเพียง 20% แล้วนำรายได้แผ่นดินส่วนที่ลดลงไปให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯ เพื่อไปจัดสรรเพิ่มค่าการตลาดให้แก่ผู้ค้าสลากกินแบ่งฯ จำนวน 5% และเข้ากองทุนพัฒนาสังคม 3%

แต่มาตรการดังกล่าวก็ไม่บรรลุผล ยังมีการขายสลากกินแบ่งฯ ในราคาแพงอยู่เช่นเดิม รัฐบาลกลับสูญเสียรายได้ของแผ่นดินปีละประมาณ 10,000 ล้านบาทไปเปล่าๆ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้ซื้อที่มีมายาคติเชื่อว่าเลข 6 หลักที่เรียงกันหรือเหมือนกันมีโอกาสถูกรางวัลน้อย แต่เลขเด็ดที่มีผู้ทรงอิทธิพลใบ้หวยหรือผู้มีอำนาจมีความสัมพันธ์กับเลขนั้น เช่น เลขทะเบียนรถยนต์นายกรัฐมนตรี จะมีโอกาสถูกรางวัลมากกว่า

  • แก้กฎหมายหวย ให้อำนาจบอร์ดฯ ออกสลากรูปแบบใหม่ – แจกรางวัล “แจ๊กพอต” – ยุบเลิกกองทุนสลากฯ พับเงินเข้าคลัง
  • 4 ปี คสช. พิมพ์หวยเพิ่ม 53 ล้านใบ อ้างแก้ปมขายสลากฯ เกินราคา – ปั๊มรายได้เข้าคลัง กระฉูด! กว่า 4 หมื่นล้าน
  • แก้ พ.ร.บ.สลากกินแบ่งฯ: เกาผิดที่คัน
  • “หวย” ใครรวย? – โอกาสถูกลอตเตอรี่รางวัลที่1 มีแค่ 0.0001% ประมาณ 2 เท่าของโอกาสถูกฟ้าผ่าในประเทศไทย
  • คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 11/2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ใช้เพื่อลดรายได้แผ่นดินนำมาเพิ่มให้แก่การจัดจำหน่ายดังกล่าว มีข้อความในข้อ 13. ว่า เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติสิ้นสุดลง ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว…..ให้คำสั่งนี้เป็นอันยกเลิก

    การพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ให้ลดรายได้ของแผ่นดิน แต่นำไปเพิ่มให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและกำไรแก่ผู้จัดจำหน่าย ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอีก 5% เป็นการถาวร จึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเหมาะสม เพราะ

      1.1 การเพิ่มค่าการตลาดและกำไรให้ผู้จำหน่าย โดยที่รัฐสูญเสียรายได้ของแผ่นดินปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท ไม่มีผลที่หยุดการขายสลากกินแบ่งฯ เกินราคา

      1.2 ข้ออ้างว่าไม่ได้ปรับเปอร์เซ็นต์ค่าการตลาดมานานหลายปีแล้ว รับฟังไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงราคาสลากกินแบ่งฯ ได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 10 บาท มาเป็น 80 บาท แม้จำนวนเปอร์เซ็นต์จะคงเดิม แต่เมื่อราคาสลากกินแบ่งฯ แพงขึ้น 8 เท่าตัว ค่าการตลาดในแต่ละใบก็ได้รับมากขึ้นถึง 8 เท่าตัวด้วยอยู่แล้ว

      1.3 การเพิ่มจำนวนสลากกินแบ่งฯในแต่ละงวดจาก 37 ล้านฉบับ เป็น 90 ล้านฉบับ ทำให้ค่าการจัดจำหน่ายที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับสูงขึ้นอย่างมาก เป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารและรัฐบาลในอนาคตสามารถผันแปรไปใช้ตามความต้องการของตน เพราะฝ่ายนิติบัญญัติได้ไปเพิ่มรายรับไว้ให้เป็นการถาวรแล้ว

    2. สลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นกิจการพนันที่รัฐบาลและสังคมไทยในอดีต เห็นว่าเป็นกิจการที่เมื่อเกิดแล้วเลิกได้ยาก และยังคงมีประโยชน์อยู่บ้างที่สร้างความหวังให้กับคนมีรายได้น้อย จึงได้จำกัดจำนวนสลากและรูปแบบของการออกสลากกินแบ่งฯ ไม่ให้ยั่วยวนและยั่วยุจูงใจให้ประชาชนบริโภคมากขึ้น

    แต่ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯที่พิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนี้ เป็นร่างที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการ “กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี” อย่างไรก็ได้ เสมือนให้เช็คเปล่าแก่ฝ่ายบริหารจะไปกรอกจำนวนเงินและวันที่เอาเอง ดังที่ปรากฏในมาตรา 7 (7/1)

    ข้ออ้างที่ว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการบริหารสำนักงานสลากกินแบ่งฯจะต้องถูกคณะรัฐมนตรีอนุมัติอีกชั้นหนึ่ง ก็น่าเป็นการถ่วงดุลแล้ว ในความเป็นจริงรัฐบาลจะให้สำนักงานสลากกินแบ่งฯเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ จึงเท่ากับว่า พ.ร.บ.ที่แก้ไขครั้งนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติจะยกอำนาจและขอบเขตการดำเนินงานให้ฝ่ายบริหารทั้งหมด

    ยิ่งกว่านั้น ปัจจุบันสำนักงานสลากกินแบ่งฯ เป็นผู้ดำเนินการผลิตและกำหนดแผนการจำหน่ายจ่ายแจกด้วยตนเอง ขาดหน่วยงาน หรือ องค์กรกำกับตรวจสอบและประเมินผลงาน เท่ากับว่าผู้ประกอบการที่มีอำนาจผูกขาดดำเนินการเอง กำกับตรวจสอบเอง

    3. พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ที่พิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังได้ระบุที่จะให้ฝ่ายนิติบัญญัติยกอำนาจการจัดสรรรายรับให้เป็นดุลพินิจของสำนักงานสลากกินแบ่งฯ ดังปรากฏในมาตรา 7 (7/2) ที่ให้อำนาจ “การกำหนดอัตราเงินที่จัดสรรเป็นรายได้แผ่นดินตามมาตรา 22 (2) และค่าใช้จ่ายในการบริหารงานตามมาตรา 22 (3)” เป็นของสำนักงานสลากกินแบ่งฯ และฝ่ายบริหารอีกด้วย

    หากอนาคตประเทศไทยได้ผู้บริหารประเทศที่ฉวยโอกาสนำเงินส่วนแบ่งรายได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ในการสร้างความนิยม ดังเช่นที่เคยเกิดแล้วในอดีต ก็จะเป็นปัญหาแก่ประเทศชาติและสังคม

    4. พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯได้ยกเลิกกองทุนพัฒนาสังคม ซึ่งก่อตั้งตามคำสั่งของ คสช.ที่ 11/2558 โดยนำเงินรายได้จำนวน 3% ของรายรับ มาสร้างมาตรการเพื่อยับยั้งและป้องกันเด็ก เยาวชน และคนทั่วไปไม่ให้ติดการพนัน ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว กิจการที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้จะถูกนำรายได้ที่ผู้บริโภคจ่ายส่วนหนึ่งมาเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาเยียวยาสังคม

    5. สำหรับมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ได้เพิ่มข้อความ “ห้าม” และ “ลงโทษ” ผู้จำหน่ายสลากกินแบ่งฯ ในสถานศึกษาและบริเวณที่ใช้สำหรับสถานศึกษา อีกทั้งห้ามจำหน่ายแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์นั้นเป็นทิศทางที่ควรได้รับการยอมรับแต่การจะกำหนดโทษสูงแล้วไม่มีมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายอาจไม่บรรลุผลื การเลือกใช้การป้องกันด้วยเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันเยาวชนซื้อสลากกินแบ่งฯ ดูจะมีประสิทธิภาพดีกว่า ดังที่จะกล่าวในข้อถัดไป

    6. ด้วยเทคโนโลยีระบบดิจิตอลได้พัฒนาก้าวไกลอย่างมาก รัฐบาลและสำนักงานสลากกินแบ่งฯ น่าจะสามารถสร้างระบบแอพพลิเคชั่นที่เอื้ออำนวยให้ผู้ซื้อสลากกินแบ่งฯ สามารถซื้อสลากได้โดยตรงจากสำนักงานสลากกินแบ่งฯ ซึ่งแอพพลิเคชั่นสามารถประหยัดค่าบริหารจัดการ การพิมพ์ การขนส่ง การจัดจำหน่ายที่มีต้นทุนสูงถึง 12% และจะเพิ่มเป็น 17% ของรายได้จากสลากกินแบ่งฯ ตามร่างที่ขอแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ การใช้แอพพลิเคชั่นจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพียงน้อยนิด แอพพลิเคชั่นสามารถให้ผู้ซื้อเลือกเลขสลากกินแบ่งฯเหมือนกับการเลือกใบสลากกินแบ่งฯ ที่เป็นกระดาษ เมื่อเลือกและซื้อแล้วสลากกินแบ่งฯ ใบนั้นจะหมดไป ผู้อื่นซื้อซ้ำไม่ได้ มีการระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักของผู้ซื้อ ทำให้สามารถจ่ายรางวัลไม่ผิดคน และสามารถป้องกันเด็ก เยาวชน ซื้อสลากกินแบ่งฯได้

  • กองสลากฯ ออกหวยชุด 2 ใบ สลับเลข 4 ตัวหน้า ขาย 1 มี.ค.นี้ ดัดหลัง “ยี่ปั๊ว” ตั้งโต๊ะรับซื้อ รวมชุดขายเกินราคา
  • สำรวจ “สลากฯ แบงก์รัฐ” ระดมเงินออมแบบไม่กินทุน แถมลุ้นรางวัลใหญ่ ใครครองตลาด! – ตัวอย่างแพลตฟอร์มแก้ขายหวยเกินราคา
  • นอกจากนี้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ยังสามารถรวบรวมข้อมูลของผู้ซื้อเพื่อเข้าใจลักษณะ เพศ อายุ สถานที่ของผู้ซื้อสลากได้จากการระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชน ในระยะเริ่มแรกผู้ซื้อบางแห่ง บางราย ที่ยังไม่พร้อมสำหรับการใช้แอพพลิเคชั่น อาจมีคนขายสลากกินแบ่งฯที่ใช้แอพพลิเคชั่นในการเดินเร่ขายร่วมด้วยก็ได้ การใช้ระบบซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้บริโภค กับ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยแอพพลิเคชั่นตามที่กล่าวมานั้น ไม่ใช่ระบบหวยออนไลน์ เหมือนในอดีตที่มีบริษัทคนกลางมีเครื่องออนไลน์ไว้จำหน่าย

    การนำระบบแอพพลิเคชั่นมาใช้เป็นช่องทางการจัดจำหน่าย จึงไม่จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งฯ ก็สามารถดำเนินการได้ เพียงแต่เปลี่ยนสลากกินแบ่งฯ ที่เป็นกระดาษ เป็นรูปภาพในแอพพลิเคชั่น ซื้อ-ขาย สะดวก ควบคุมได้ และยังประหยัดค่าใช้จ่ายการจัดจำหน่าย สามารถนำเงินมาใช้เป็นกองทุนเพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพผู้พิการ และคนขายสลากรายเล็ก หรือ จะจัดสรรเป็นรายได้ของแผ่นดิน หรือ เป็นรางวัลเพิ่มให้แก่ผู้ถูกรางวัลก็ได้

    รายละเอียดของระบบที่ให้ผู้บริโภคซื้อตรงจากสำนักงานสลากกินแบ่งฯ ปรากฏในเอกสารข้อเสนอการปฏิรูประบบจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมหาวิทยาลัยรังสิต และองค์กรพัฒนาเอกชน 4 องค์กร ตามที่ได้แนบมาพร้อมหนังสือฉบับนี้