ThaiPublica > เกาะกระแส > ThaiPublica Forum 2018 : The 100 – Year Life “สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” แนะอยู่อย่างไรให้มีความสุขหากมีชีวิต 100 ปี

ThaiPublica Forum 2018 : The 100 – Year Life “สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” แนะอยู่อย่างไรให้มีความสุขหากมีชีวิต 100 ปี

14 ธันวาคม 2018


สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ร่วมกับสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ได้จัดเวที ThaiPublica Forum 2018 เรื่อง“The 100-Year Life: ชีวิตศตวรรษ” ในโอกาสครบครบรอบ 7 ปีและก้าวสู่ปีที่ 8 ของไทยพับลิก้าและในโอกาสที่หนังสือ “The 100-Year Life” ได้รับการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาไทยในชื่อ “ชีวิตศตวรรษ” โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์ เมื่อวันพุธที่ 12 ธันวาคม 2561

วงเสวนามีนักคิด นักวิชาการ และนักธุรกิจ ผู้ที่สนใจประเด็นการมีชีวิตยืนยาวจากหลากหลายวงการ ได้แก่นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิด นักเขียน บรรณาธิการสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์, ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE), นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Siametrics Consulting, ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย อ๊อกซฟอร์ด และปาฐถกาพิเศษปิดท้าย โดย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ นักธุรกิจเพื่อสังคม ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ผู้สนใจความหมายของการมีชีวิตระยะสุดท้าย

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ “How to Redesign your Life to deal with a 100 – year life exspectancy?” ว่า ช่วงที่แล้วได้ดูสไลด์ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ แล้ว เป็นสไลด์ที่น่าสนใจ ดูแล้วได้ประโยชน์มาก แต่ในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า สไลด์นี้อาจจะไม่มีประโยชน์เลย สิ่งที่ผมพยายามจะบอกคือ ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ที่เราคุยกันในวันนี้ อีก 10 ปีข้างหน้า มันอาจจะล้าสมัย ตอนนี้ผมอายุ 61 ปี หากอยู่ไปจนครบ 100 ปี ผมมีเวลาที่เหลืออีก 39 ปี ถามว่าโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร สุขภาพผมจะเป็นอย่างไร ผมนึกไม่ออกเหมือนกัน

ประเด็นแรกผมอยากแชร์ ก็คือ หากคนเรามีชีวิตยืนยาวถึง 100 ปี จะเป็นอย่างไร คำถามแรก ทำไมต้องอยู่ 100 ปี และคำถามที่ 2 หากมีชีวิตยืนยาวถึง 100 ปี ตามที่ ดร.ศุภวุฒิบรรยาย คือ อยู่อย่างมีสุขภาพดี ต้องทำอย่างไร

  • ThaiPublica Forum 2018 : “ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา” กับ “The 100-Year Life” – เราจะมีชีวิตอยู่ 100 ปีอย่างไร?
  • ThaiPublica Forum 2018 : “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” The 100-Year Life – จะเป็นคนแก่ที่ยังหนุ่มได้อย่างไร
  • ThaiPublica Forum 2018: “ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” The 100 – Year Life กับแกนหลักของ Future of Job
  • เรื่องวิวัฒนาการอายุขัยของคน วงการแพทย์ชี้ให้เห็นว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีอายุขัยเฉลี่ยสูงกว่าประเทศที่กำลังพัฒนา แต่เรื่องนี้มันเป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ คนเราจะอายุยืนยาวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุข น้ำสะอาด วัคซีนดี อาหารการกินถูกหลักโภชนาการ หากทำได้อย่างนี้ทั้งหมด ไม่ว่าอยู่ในประเทศไหน ก็สามารถมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นได้

    คำถาม ผมอยากอยู่ให้ถึง 100 ปีหรือไม่ และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้เป็นความเชื่อในวงการแพทย์ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าอีก 30 ปีข้างหน้า ความเชื่อดังกล่าวนี้จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ว่า ปัจจุบันมีคนไข้จำนวนไม่น้อย ที่เป็นผู้ป่วยนอนติดเตียงมา 10 ปี เพราะหมอมีความเชื่อว่า ตราบใดที่คนไข้ยังมีลมหายใจอยู่ ก็ต้องปล่อยให้เขาอยู่ต่อไปเรื่อยๆ

    “การมีชีวิตยืนยาวถึง 100 ปีจึงเป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ อย่างไรคุณก็ต้องอยู่ คำถามคือ แล้วจะอยู่แบบไหน อยู่อย่างมีสุขภาพดี หรืออยู่อย่างทนทุกข์ ทรมาน เป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นโรคเรื้อรัง เป็นโรคมะเร็ง รักษาจากจุดนี้ลุกลามไปเป็นมะเร็งจุดโน้น ดังนั้น เป้าหมายของคนที่ต้องการอยู่อย่างมีสุขภาพดี ออกกำลังกาย รับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่วันหนึ่งเมื่อถึงเวลาที่เราต้องจากไป ก็ต้องไป แต่ปัญหา คือ ทุกๆ คน ไม่ได้อยู่แบบนี้ได้ทุกคน คนอื่นๆ ในสังคม อาจจะไม่สามารถเลือกได้” นพ.สุรพงษ์กล่าว

    เมื่อคนเราตัดสินใจเลือกว่าจะอยู่อย่างมีสุขภาพดี ก็ต้องคิดต่อไปว่าเมื่อถึงวันที่ต้องจากไป จะเลือกจากไปแบบไหน จากไปแบบที่ทิ้งภาระหนี้สินไว้เป็นจำนวนมาก หรือทิ้งปัญหาต่างๆ ค้างคาเอาไว้ เคลียร์ไม่จบ หรือจากไปอย่างมีความสุข

    “ผมได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากชีวิต ภายหลัง ได้รู้ว่าชีวิตคนเรามันมีขึ้นมีลง ชีวิตมันมีอะไรไม่แน่นอน ทั้งหมดที่เรายึดเอาไว้ ครองเอาไว้ สุดท้าย ตอนที่เราตาย มันไม่มีค่าอะไรเลย นายพลที่เคยมีอำนาจมากมายช่วงปี 2549 ถึงวันนี้หายไปไหน ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครรู้ นายพลที่เป็นผู้บริหารประเทศทุกวันนี้ อีก 10 ปีข้างหน้าท่านจะอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีใครรู้ ประเด็นที่ผมอยากจะแชร์คือ สุดท้ายแล้วที่เราดิ้นรนมาทั้งหมด เพื่ออะไร ”

    อย่างในหนังสือเล่มนี้ (The 100-Year Life) มีกรณีศึกษาอยู่ 3 คน คือแจ็ค, จิมมี่ และเจน แจ็คอายุ 60 ปี จิมมี่ 40 ปี เจน 20 ปี ทุกช่วงอายุของแต่ละคนมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่อการวางแผนชีวิต 3 ขั้นของคนเรา เช่น ชีวิตตอนเรียน ชีวิตตอนทำงาน และชีวิตหลังเกษียณ ทุกอย่างเป็นสเตปอย่างนี้ เจนอายุแค่ 20 ปี ความท้าทายของเจนคือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด เพราะฉะนั้น การดำรงชีวิตของเจนจะไม่เหมือนของแจ็คที่มีอายุ 60 ปี

    แต่เจนก็ต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของตนเอง เปลี่ยนวิธีการคบค้าสมาคมกับเพื่อน และเจนจะอยู่กับคนกลุ่มเดิมๆ ไม่ได้ เพราะว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยีทำให้เจนได้มีโอกาสคบหาสมาคมกับคนได้มากขึ้น และมีโอกาสที่ดีมากขึ้น เพราะฉะนั้นการที่เราพูดกันอยู่เสมอว่า วันนี้ know who สัมพันธ์กับ know how สุดท้ายแล้ว พอโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน know who มีความสัมพันธ์กันเป็นกลุ่มก้อน หรือที่เรียกว่า community ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเราสามารถพัฒนาทักษะในการปรับตัวได้ดีขึ้น และรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

    สรรพสิ่งล้วนไม่แน่นอน ก่อนจากไปเตรียมตัวอย่างไรให้มีความสุข

    “แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องกลับมาถามตัวเองว่า เราอยากจะตายอย่างมีความสุข หรือตายโดยที่ไม่มีหนี้สิน หรือตายโดยที่รู้สึกว่าชีวิตนี้เราได้ใช้คุ้มแล้ว และก็ต้องกลับมาถามอีกว่า เราเกิดมาในโลกนี้ทำไม หากอยู่จนกระทั่งครบ 100 ปีแล้วมีความสุขหรือไม่ คำถามนี้วนเวียนอยู่ในใจผมตลอดเวลา และพยายามทบทวนกับสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ และก็มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน”

    ประเด็นที่คุยกันในวันนี้ อีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไปหรือไม่ ไม่มีใครรู้ ยกตัวอย่าง เรื่องอาชีพที่วิทยากรท่านก่อนได้พูดถึง เรื่องอาชีพที่จะอยู่ต่อไปได้ในอนาคต บางอาชีพอาจจะอยู่ต่อไปได้อีก 10 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นแล้วอาจจะไม่มีเหลืออยู่เลยก็ได้ อย่างเช่นนิเทศศาสตร์ ดังนั้น ในอนาคตมันจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ผมนึกไม่ออก วันนี้ผมอายุ 61 ปี อยู่ต่อไปอีก 39 ปีข้างหน้า แต่คนที่มีอายุ 20-30 ปี อย่างเช่น ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คุณฟูอาดี้ พิศสุวรรณ น่าเห็นใจมาก หากมีชีวิตยืนยาวถึง 100 ปี เวลาส่วนที่เหลืออีก 60 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น จินตนาการของผมไปไม่ถึง ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน ไม่มีอะไรไม่เปลี่ยน

    ดังนั้นต้องทำใจไว้เลยว่า ที่คิดว่าวันนี้เป็นอย่างนี้แน่ๆ เลือกตั้งต้องเป็นอย่างนี้แน่ๆ พรรคนี้ต้องชนะแน่ๆ มันไม่มีอะไรแน่นอน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่จะนำไปสู่การออกแบบว่าทำอย่างไรถึงจะหลุดออกจากปัญหาเก่า

    คำถามต่อมา ทำอย่างไรถึงจะมีสุขภาพดีมีอายุถึง 100 ปี ตรงนี้ก็จะมีความทุกข์จากอาหารการกิน ความทุกข์จากการไม่ออกกำลังกายหรือวิ่ง ความจริงทักษะในการดูแลสุขภาพมีหลากหลายมาก ผมเคยพบกับหมอแมะที่ไต้หวัน เพียงแค่แมะก็สามารถบอกโรคทุกๆ โรคที่อยู่ในร่างกายของคนเราได้ทั้งหมด บางคนเป็นโรคนอนไม่หลับ แมะเสร็จ ก็ฝังเข็ม และจัดสมุนไพรให้ไปรับประทานภายใน 3 เดือนอาการดีขึ้น จะเห็นได้ว่าความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพมีหลากหลายมาก วิธีการออกกำลังกายไม่ได้มีแค่การวิ่งเพียงอย่างเดียว การรำไท่เก๊ก เล่นโยคะ ก็ทำให้สุขภาพดีขึ้นได้ ตอนนี้ฝรั่งหันมาศึกษาเรื่องการทำสมาธิ ถ้าได้อ่านหนังสือ Buddha’s Brain หรือ “สมองแห่งพุทธะ” คนเขียนคือฝรั่ง ส่วนคนไทยเรียนพุทธะจากศิษยานุศิษย์ หรือเครือข่ายของท่าน พวกเราเรียนรู้จากการปฏิบัติ แต่ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาในแง่ของทฤษฎี และนำไปสู่การวิเคราะห์ สรุปวิธีการดูแลรักษาสุขภาพที่ดีมีหลายทางเลือก

    ออมเงินหลังเกษียณแค่ไหนถึงพอ

    ส่วนเรื่องการออมเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณแค่ไหนถึงจะเพียงพอต่อการดำรงชีพ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า Lynda Gratton ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้ตั้งสมมติฐานการเตรียมเงินออมไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ อย่างน้อยในแต่ละเดือนต้องมีเงินประมาณ 50% ของเงินเดือน (เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ) ผมขอถามว่าทำไมต้อง 50% ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้เงินถึง 30-50% เลย สำหรับผมมีเงินแค่ 10% ก็ดำรงชีวิตอยู่ได้ถึง 10 เดือน โดยที่ผมสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ดังนั้น การตั้งสมมติฐานแบบนี้ ทำให้เราต้องดิ้นรนทำทุกอย่างในช่วงชีวิตของการทำงาน เพื่อให้มีเงินอย่างน้อย 30% ของเงินเดือน เดือนสุดท้าย และเตรียมไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตต่อไปให้ได้อีก 10-20 ปี หรือจนครบ 100 ปี คำถามคือ ตัวเลขสมมติฐานที่ตั้งไว้ 30-50% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย มันใช่หรือไม่

    ก็ต้องกลับมาดูพื้นฐานในการดำรงชีพของคนเรา ก็คือปัจจัย 4 มีอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ยกตัวอย่าง เรื่องอาหารการกิน ไปกินครั้งแรกอร่อยที่สุด แต่พอกลับไปกินครั้งที่ 2 ไม่อร่อยเหมือนครั้งแรก หรือการไปเที่ยวที่เมืองเที่ยวฮัลชตัท (Hallstatt) ครั้งแรก รู้สึกว่าสวยมาก แต่พอไปเที่ยวครั้งที่ 2 ความรู้สึกไม่เหมือนไปเที่ยวครั้งแรก

    ดังนั้น กรณีผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ตั้งสมมติฐานว่าหลังเกษียณต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายอย่างน้อย 30-50% ประเด็นนี้ ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับตัวเราต่างหาก

    “ทำไมเราต้องเป็นหนูติดจั่นอยู่ตลอดเวลา 80-90 ปี เพื่อที่จะอยู่ให้ได้ในช่วง 10 ปีสุดท้ายของ 100 ปี โดยที่จะต้องมีเงินเหลือมากพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ เราตั้งคำถามผิดหรือไม่ เราเกิดมาทำไม เราสะสมเงินทำไม เราอยู่ 100 ปีทำไม สุดท้าย มันเป็นคำตอบที่บอกว่า เราอยู่เพื่อทำให้เรามีความสุขในวันที่เราตาย อยู่เพื่อทำให้ชีวิตนี้ได้เรียนรู้ พัฒนา สามารถช่วยทำให้บ้านเมืองดีขึ้น คำถาม คือ แล้วเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ล่ะ จะช่วยทำให้เขาสามารถมีชีวิตแบบเราได้แค่ไหน”

    การที่ทุกคนจะประสบความสำเร็จได้ตามที่ต้องการ สิ่งที่สำคัญ คือ พื้นฐานทั้งหมดต้องได้รับการตอบสนอง เช่น ถ้าอยากเรียน ต้องได้เรียน มีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งโอกาสในการเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลที่ดี ต้องทำให้คนเกิดความมั่นใจ ถึงแม้จะมีเงินไม่ถึง 30% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ก็สามารถรักษาพยาบาลได้แน่นอน อย่างน้อยก่อนตายจะไม่ได้ตายอย่างทรมาน เป็นต้น

    “ในความคิดเห็นส่วนตัว คำถามเรื่องการมีชีวิตอยู่ถึง 100 ปี คิดว่าต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเราอยากจะตายแบบไหน และต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่าเราเกิดมาทำไม หากมองในแง่ของพุทธศาสนา ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ผมพูดไปก่อนหน้านี้ เรื่องการทนอยู่กับปัจจุบันให้ได้ นั่นก็คือเรื่องทุกข์และอนัตตา ช่วงที่เรายังมีชีวิตอยู่ ต้องไม่ยึดติดกับเรื่องตัวตนและความรู้สึกอยากเป็นเจ้าของ พยายามปล่อยวาง นี่คือหลักการพื้นฐานที่เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข หากมีอายุยืนถึง 100 ปี”