ThaiPublica > คอลัมน์ > ความร่ำรวยไม่ใช่ความผิด มันสำคัญอยู่ที่ว่า ทรัพย์นั้นได้มาอย่างไร?

ความร่ำรวยไม่ใช่ความผิด มันสำคัญอยู่ที่ว่า ทรัพย์นั้นได้มาอย่างไร?

8 ตุลาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

หลังจากที่คณะคนดี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้งสองร้อยกว่าคน ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลั่นกรองเลือกเฟ้นมา ได้เปิดเผยทรัพย์สินของแต่ละท่านให้ประชาชนได้รับทราบกัน ก็เกิดอาการตะลึงงันกันไม่น้อย ด้วยว่ามีหลายสิบท่านที่มีทรัพย์มากมายเข้าขั้นเศรษฐีกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะหลายท่านประกอบอาชีพรับราชการ บ้างก็เป็นทหารตำรวจอาชีพกันมาตลอด เลยเกิดคำถามค้างคาใจชาวประชา ว่า “ทรัพย์นั้นท่านได้แต่ใดมา”

ความจริงแล้ว ในระบอบ “ทุนนิยมเสรี” ที่เราเป็นอยู่ ความร่ำรวยไม่ใช่ความผิดแต่อย่างใด แถมยังเป็นระบบที่ส่งเสริมให้คนอยากมีอยากรวยด้วยซ้ำไป ด้วยว่าปรัชญาหลักของทุนนิยมนั้นระบุว่า มนุษย์ต้องมีแรงจูงใจ ถึงจะสามารถนำเอาศักยภาพที่มีออกมาสร้างผลผลิตได้ดีที่สุด ดังนั้น จึงอนุญาตให้คนมีสิทธิ์ที่จะเก็บสะสมผลิตภาพที่ตนสร้างไว้ได้ในรูปของทรัพย์สินต่างๆ (property rights) แถมยังอนุญาตให้ส่งผ่านทรัพย์สินที่มีอยู่ให้กับลูกหลานได้อีกด้วย ซึ่งตรงกันข้ามกับระบอบ “สังคมนิยมคอมมิวนิสต์” ที่เน้นความเป็นธรรม ความเท่าเทียม ไม่เชื่อว่ากลไกตลาดมีประสิทธิภาพและยุติธรรม จึงถือว่ามนุษย์ไม่ควรสะสมโภคทรัพย์ ทุกอย่างเป็นของส่วนรวม เป็นของรัฐ รัฐเป็นคนกำหนดทุกอย่าง

สี่สิบปีในยุค “สงครามเย็น” (1950-1990) โลกได้พิสูจน์แล้วว่า “ทุนนิยม” นั้น ถึงจะยังบิดเบี้ยว บกพร่อง เอารัดเอาเปรียบกันไม่น้อย แต่โดยรวมแล้ว สามารถสร้างผลิตผลเฉลี่ยต่อคนได้สูงกว่าระบบ “คอมมิวนิสต์” ถึง 5-8 เท่า เพราะระบบหลังนั้น ถึงปรัชญาหลักการจะดูดีอย่างไร แต่พอมนุษย์ไม่มีแรงจูงใจ แถมไม่ต้องแข่งขันกับใคร ย่อมซึมกระทือ ทำงานเท่าที่ถูกบังคับ ไม่มีทั้งความขยัน ไม่มีทั้งนวัตกรรมใดๆ พอลุเข้าต้นทศวรรษ 1980s ท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ก็เล็งเห็นถึงสัจจธรรมข้อนี้ จึงเริ่มเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของจีนให้เป็น “ระบบตลาด” (market economy) ยอมให้อาตี๋ อาหมวย อาเฮีย อาเจ๊ ทั้งหลายมีการสะสมทรัพย์สินได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เศรษฐกิจจีนก็เลยพุ่งทะยาน กลายเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลกได้ภายใน 25 ปี (ปี 1979 จีนมีจีดีพีต่อหัวไม่ถึงหนึ่งในสามของไทย แต่เมื่อสองปีที่แล้ว อีก็แซงเราไปได้ฉลุย แถมที่น่าเจ็บใจกว่า ในปีนั้น อันดับ Corruption Perception Index อีก็แซงดีกว่าเราไปอีกด้วย ทั้งๆ ที่ไอ้บรรดาค่าต๋ง แป๊ะเจี๊ยะ จิ้มก้อง หยำฉ่า วิชาพวกนี้เราล้วนร่ำเรียนมาจากจีนทั้งสิ้น) พอจีนทำแล้วดูดี ลุกลางทศวรรษ 80s มิคาอิล กอร์บาชอฟ ก็เลยเดินตาม แล้ว Union Soviet Socialist of Russia (USSR) ก็เลยล่มสลายกลายเป็นอดีตไปแทบทุกๆ ประเทศในค่าย “หลังม่านเหล็ก” ต่างก็ทยอยเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเป็น “ทุนนิยม” กันถ้วนหน้า

นี่คือที่มาของปรัชญาของ ริชาร์ด พอสเนอร์ ปราชญ์ชาวอเมริกันที่ว่า “จะชอบหรือไม่ก็แล้วแต่ โลกปัจจุบันได้บทพิสูจน์แล้วว่า พลังความเห็นแก่ตัวนั้น มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สูงกว่าพลังความเห็นแก่ส่วนรวม เห็นแก่สังคมมากนัก …ประเด็นมันอยู่ที่ว่า เราจะออกแบบระบบ จะจัดวางกฎกติกาอย่างไร ให้พลังความเห็นแก่ตัวของแต่ละคน ไม่สามารถเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ไม่ให้สร้างความเสียหายให้กับส่วนรวม และถ้าจะให้ดีกว่านั้น ระบบต้องส่งเสริมให้ความเห็นแก่ตัวของปัจเจกนั้น เมื่อมารวมร่วมกันแล้วสามารถเกิดพลังทวี สร้างประสิทธิภาพ ประสิทธิผลส่วนเพิ่ม นำไปแบ่งปันกัน” (เขาพูดประมาณนี้แหละครับ ถ้ามีคลาดเคลื่อนเสริมเติมไปบ้างก็เป็นริชาร์ด เตาเนอร์ แหละครับ) เพราะฉะนั้น ค่านิยมของท่านผู้นำข้อ 12 ที่ว่า “ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง” นั้นย่อมขัดโดยตรงกับปรัชญานี้ และเสมือนเป็นคำหลอกๆ เขียนไว้เท่ๆ หาความหมายอะไรไม่ได้ (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าอีกสิบเอ็ดข้อมีความหมายนะครับ)

เพราะฉะนั้น ความรวยย่อมไม่ใช่ความผิด ประเด็นมันอยู่ที่ว่า ทรัพย์นั้นได้มาอย่างไร ได้มาโดยถูกต้องตามกฎกติกาที่วางไว้หรือเปล่า นี่ก็คงเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง ป.ป.ช. ทั้งเจ้าตัวแต่ละท่าน ต้องติดตามมาเปิดเผยชี้แจงต่อสังคมต่อไป

ทรัพย์ตามกติกานั้น สามารถได้มาอย่างไรบ้าง ถ้าจะว่าไป หนทางในการได้มาซึ่งโภคทรัพย์อย่างถูกต้องนั้นมันมีอยู่ไม่กี่ทาง ไม่กี่วิธี ผมจะลองไล่เรียงดูนะครับ

– เกิดจากรายได้ในการประกอบอาชีพหลัก อันได้แก่ เงินเดือนค่าจ้าง ค่าตอบแทนจากการทำงาน ซึ่งเคยมีผู้คำนวณว่าถ้าเป็นข้าราชการ รับราชการตั้งแต่อายุ 22 ปี แล้วเจริญก้าวหน้าด้วยดีจนเกษียณอายุที่ตำแหน่งสูงสุดคือปลัดกระทรวง ถ้า 38 ปี เอาเงินเดือนทุกบาทเข้าฝากธนาคารโดยไม่ใช้จ่ายเลย เมื่อเกษียณอายุจะมีเงินรวม 34 ล้านบาท

– เงินได้จากการประกอบอาชีพเสริม เช่น ค้าขายเล็กน้อยประกอบกันไป ใช้เวลาว่างทำมาหากินอื่นๆ แต่ค่อนข้างแน่นอนว่า ถ้าจะรับราชการให้ก้าวหน้า ย่อมต้องทุ่มเทกับงานในหน้าที่ (หรือไม่ก็ต้องคอยติดตามประจบเอาใจเจ้านาย) ย่อมยากที่จะมีเวลาไปประกอบอาชีพเสริมอื่นๆ ที่จะให้รายได้เป็นกอบเป็นกำ

– ผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนในกิจการของตนเอง ลงทุนในทรัพย์สินทางการเงิน ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่ลงทุนในสังหาต่างๆ เช่น พระเครื่อง ของเก่า เพชรนิลจินดา งานศิลปะ ฯลฯ

– เงินได้ต่างๆ ของคู่สมรสที่ช่วยกันทำมาหากินอย่างสุจริต เช่น ค้าขาย รับจ้าง (ทั้งนี้ไม่รวมเงินรับหลังบ้านเพื่อใช้อำนาจหน้าที่สามีเอื้อประโยชน์โดยมิชอบ)

– ทรัพย์ที่ได้มาจากการให้โดยเสน่หา เช่น ทรัพย์มรดกจากบุพการี พ่อแม่แบ่งให้ ลูกกตัญญูตอบแทนบุญคุณ ซึ่งผู้ให้ก็ย่อมต้องได้มาอย่างสุจริตด้วย (ตรงนี้ผมเริ่มเห็นประโยชน์ของภาษีมรดกที่จะออก เพราะถึงเก็บได้น้อย แต่ต่อไปใครจะอ้างว่ารวยมาจากทางนี้ก็ต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีไว้ด้วย)

– สุดท้าย ก็คงเป็นเรื่องการได้ทรัพย์โดยวิธีพิสดารอื่นๆ เช่น ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งชุดใหญ่ห้างวดติด หรือไปดูงานราชการที่มาเก๊า แล้วแวะเข้าบ่อน บังเอิญแทงรูเล็ตตัวเต็งถูกสามสิบตาติด ฯลฯ

ปกติ การจะได้ทรัพย์มานั้น จะโดยวิธีใดก็มักจะมีหลักฐานที่สืบสวนได้ไม่ยาก แถมเงินได้ส่วนมาก จะต้องนำไปแจ้งไปเสียภาษีให้ถูกต้องมาเสียก่อน แต่ปัญหาคือ หลักฐานข้อมูลต่างๆ ในประเทศเรามันมักจะยังไม่สมบูรณ์ หรือตกหล่นสูญหายเสียไม่น้อย การติดตามตรวจสอบจึงยังทำได้ยากอยู่ แต่ถ้าเป็นข้าราชการ ป.ป.ช. ก็มีอำนาจที่จะสั่งให้ชี้แจงแสดงหลักฐานได้อยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นอาจโดนข้อหา “ร่ำรวยผิดปกติ” แล้วโดนยึดทรัพย์ได้ เหมือนท่านอดีตปลัดกระทรวงท่านที่โชคร้ายโดนโจรปล้น แล้วใส่ร้ายท่านว่ามีเงินสดในตู้เสื้อผ้าเป็นร้อยเป็นพันล้าน ขณะที่ตัวท่านยืนยันเสียงแข็งว่ามีอยู่นิดเดียว (คดีที่ประหลาดที่สุดในโลก โจรขี้คุยชะมัด) สุดท้ายก็เอาผิดอื่นใดไม่ได้ แต่โดนยึดทรัพย์ เพราะดันมีมากเกินกว่าที่แสดงที่มาได้

เรื่องการเปิดเผยทรัพย์สินของสมาชิก สนช. คราวนี้ นับว่าเป็นเรื่องกะทันหันพอควร เพราะคนดีเหล่านี้ได้รับคัดเลือกแต่งตั้งโดยท่านหัวหน้า คสช. โดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้าเหมือนท่านนักการเมืองทั้งหลาย ที่มักรู้ตัวก่อนนานๆ สามารถจัดแจงทรัพย์สินไว้ล่วงหน้า บ้างก็โอนไว้ให้ทายาท บ้างก็ซุกซ่อนไว้ตามที่ต่างๆ (รถเบนท์ลีย์สามคันที่ใช้ ยังเป็นของเพื่อนต่างชาติให้ยืมถาวรเลยครับ) เพราะฉะนั้นหลายท่านก็คงต้องเปิดเผยตามความจริง ไม่มีเวลายักย้ายซ่อนเร้น (ผมหมายถึงเฉพาะท่านที่อาจไม่อยากเปิดเท่านั้นนะครับ)

ผมคิดว่า ป.ป.ช. ควรอย่างยิ่งที่จะให้ทุกท่านที่เป็น หรือเคยเป็นข้าราชการ ทำรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของทรัพย์สิน จะเอาเฉพาะท่านที่มีทรัพย์เกินสัก 30 ล้านบาทก็ได้ แล้วก็เปิดเผยให้สาธารณชนทราบทุกรายไปเลย จะได้ลบข้อกังขาครหาจากทุกฝ่ายลง

ผมเชื่อว่าทุกท่านชี้แจงได้ และจะมีผลประโยชน์พลอยได้ เป็นตัวอย่างกับข้าราชการอื่นๆ ว่าการหารายได้เพิ่มเติมโดยถูกกฎหมายนั้นก็สามารถทำได้หลายทาง ไม่ต้องไปโกงกิน หรือตบทรัพย์ใคร จะได้เป็นตัวอย่างที่ดี แก้ปัญหาขาดแคลนข้าราชการที่มีคุณภาพและคุณธรรมไปได้ด้วยเลย ไหนๆ ก็เป็น “คนดี” กันทุกคนอยู่แล้ว ควรจะยกย่องให้เป็นเยี่ยงอย่างไปทุกด้านเลย

นี่แหละครับ ความร่ำรวยไม่ใช่ความผิด แถมไม่ใช่เรื่องน่าอาย ถ้าทรัพย์สินนั้นได้มาโดยถูกต้องตามกติกา

ก็ต้องรอให้ ป.ป.ช. ใช้อำนาจดำเนินการต่อแหละครับ

ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟชบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 7 ตุลาคม 2557