ThaiPublica > เกาะกระแส > “สภาพัฒน์” เผยจีดีพี Q3/61 โต 3.3% ชะลอลงต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส – กังวลภาคต่างประเทศ “การค้า-ท่องเที่ยว” อ่อนแอ

“สภาพัฒน์” เผยจีดีพี Q3/61 โต 3.3% ชะลอลงต่ำสุดในรอบ 7 ไตรมาส – กังวลภาคต่างประเทศ “การค้า-ท่องเที่ยว” อ่อนแอ

19 พฤศจิกายน 2018


ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

วันที่ 19 พฤศจิการยน 2561 ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2561 ว่า ขยายตัว 3.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากการขยายตัว 4.6% ในไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุจากการชะลอตัวของอุปสงค์ภาคต่างประเทศในเดือนสุดท้ายของไตรมาส ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทั้งการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่ประมาณการเศรษฐกิจในปี 2561 ได้ปรับลดลงจากช่วง 4.2-4.7% หรือค่ากลางที่ 4.45% เป็น 4.2% และประมาณการณ์เศรษฐกิจในปี 2561 จะเติบโตได้ 3.5-4.5% หรือค่ากลางที่ 4%

“ประมาณการณ์ครั้งนี้ค่ากลางลดลง แต่ก็ยังอยู่ในช่วงที่เคยประมาณไว้ สาเหตุหลักมาจากภาคส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจและการค้าของโลก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลตามฤดูกาลและฐานของช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะในเดือนกันยายนที่ผลกระทบออกมาชะลอตัวลงชัดเจนจนดึงตัวเลขของทั้งไตรมาสลงมา แม้ว่าอีก 2 เดือนก่อนหน้าก็ยังขยายตัวได้ดีอยู่  อย่างไรก็ตาม หากดูที่ตัวเลขมูลค่าการส่งออกจะพบว่ายังเติบโตอยู่แม้ว่าอัตราการเติบโตจะชะลอตัวลง โดยในไตรมาสนี้ส่งออกเป็นมูลค่า 63,387 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีก่อนที่ 61,802 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วที่ 63,014 ล้านดอลลาร์สหรัฐ” ดร.ทศพรกล่าว

นอกจากนี้ ในภาคเศรษฐกิจภายในประเทศยังเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของเอกชนที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการบริโภคของเอกชนที่ยังสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ ส่วนการท่องเที่ยวแม้จะชะลอตัวลงไปแต่คิดว่ามาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ออกมาช่วงที่ผ่านมาจะทำให้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี แต่ก็ต้องติดตามความเสี่ยงการชะลอของเศรษฐกิจโลกและนโยบายการเงินของประเทศหลักๆ อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในรายละเอียด การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 5.0 และเร่งขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 ไตรมาส โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 27 เร่งขึ้นจากร้อยละ 25.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนีปริมาณการค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทน ขยายตัวร้อยละ 8.3 ร้อยละ 13.4 และร้อยละ 8.3 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 69.6 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ไตรมาส

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อเนื่องจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายหมวดค่าใช้สอย และหมวดค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และร้อยละ 14.5 ตามลำดับ อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 20.5 เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 21.7

การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 สูงสุดในรอบ 15 ไตรมาส เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 และการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 0.7

การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 63,387 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 12.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการปรับตัวของผู้ประกอบการในต่างประเทศต่อมาตรการกีดกันทางการค้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0

กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว (ร้อยละ 7.6) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 2.3) น้ำตาล (ร้อยละ 2.3) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 32.5) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 16.3) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 12.2) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 7.8) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 1.5) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 11.7) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 7.4) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 4.1) เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ -3.9) อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (ร้อยละ -0.4) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ -12.2) ยางพารา (ร้อยละ -17.0) และกุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ (ร้อยละ -20.4) เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น อาเซียน (9) และตะวันออกกลาง (15) ขยายตัว ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และออสเตรเลีย ปรับตัวลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3

ส่วนการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 59,963 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 17.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 16.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศ เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าร้อยละ 6.2 และปริมาณการนำเข้าร้อยละ 10.2

สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 6.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 9.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 8.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 474,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 13.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการปรับตัวลดลงของรายรับจากนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซีย รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของรายรับจากนักท่องเที่ยวยุโรป เป็นสำคัญ ในขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูง ประกอบด้วย รายรับจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น และเวียดนาม เป็นสำคัญ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.38 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.71 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

“จริงๆ เรื่องท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงไม่ใช่แค่จีน แต่มียุโรปและรัสเซียด้วยที่ชะลอลง ซึ่งส่วนหนึ่งอย่างที่เรียนไปในการแถลงข่าวไตรมาสก่อนๆ หน้าคือเรื่องของฟุตบอลโลกที่อาจจะมาดึงงบประมาณท่องเที่ยวของกลุ่มคนชาติต่างๆไปในปีนี้ แต่ในระยะต่อไปประกอบกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ออกมาคิดว่าจะสามารถทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ โดยประมาณการรายรับจากนักท่องเที่ยวคาดว่าจะมีที่ 2.05 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะลดลงจากที่เคยคาดไว้ที่ 2.15 ล้านล้านบาท  แต่ยังเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ 1.93 ล้านล้านบาท และปีหน้าก็คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นไปเป็น 2.24 ล้านล้านบาท” ดร.ทศพรกล่าว

คาดไทยรับมือการค้าโลกชะลอได้ – ชี้การลงทุนขึ้นกับความต่อเนื่องของนโยบาย

ด้าน ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวเสริมถึงประเด็นภาคต่างประเทศว่า ในระยะต่อไปคาดว่าการค้าโลกน่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ โดยตัวเลขล่าสุดของเดือนตุลาคมพบว่าจีนและเกาหลีใต้กลับมานำเข้ามากขึ้นอีกครั้ง แต่อาจจะต้องระวังในช่วงต้นปี 2561 ที่อาจจะมีมาตรการการค้าระลอกต่อไปออกมาอีก แต่ในระยะข้างหน้าคาดว่าจะมีโอกาสสำหรับการขยายตลาดของไทยไปทดแทนการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนได้ ซึ่งจะแบ่งเป็น

    1) ด้านแหล่งการค้า จะเห็นภาพบริษัทในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มเปลี่ยนแปลงแหล่งนำเข้าจากประเทศอื่นๆ แทน เช่น หันมาสั่งเสื้อผ้าจากเวียดนาม แต่สำหรับไทยอาจจะเห็นผลช้าอยู่บ้างเพราะไทยผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงเรื่องคำสั่งซื้อขายมากกว่า

    2) ด้านแหล่งการผลิต คิดว่าไทยมีโอกาส เนื่องจากปัจจุบันบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มักจะมีฐานการผลิตในหลายประเทศ เมื่อเกิดสงครามการค้าหลายบริษัทอาจจะลดการผลิตในประเทศจีนที่มีปัญหากับสหรัฐอเมริกาและหันมาเพิ่มการลงทุนและผลิตในไทยมากขึ้นได้ ซึ่งข้อมูลจากหอการค้าจีนทีสำรวจความคิดเห็นของ 219 บริษัทในจีนว่าจะย้ายฐานการผลิตหรือไม่ พบว่า 35% คาดว่าจะย้ายมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 15% ไปที่อื่น และ 50% ไม่ย้ายฐานการผลิต

“ถามว่าจะปรับตัวได้เร็วแค่ไหน ก็ต้องดูว่ามันจะยุติอย่างไรด้วย แต่คิดว่าปรับตัวได้เร็วทั้ง 2 กรณี อย่างคำสั่งซื้อขายทั่วไป เช่น ถ้าหากผู้นำเข้าในสหรัฐอเมริกาเจอภาษีจากการนำเข้าเสื้อผ้าจากจีนก็อาจจะหันไปสั่งซื้อที่ประเทศอื่น อย่างตอนนี้จะเห็นที่เวียดนามที่ได้รับอานิสงส์ค่อนข้างเร็ว ขณะที่การปรับตัวของแหล่งผลิตก็คิดเร็วเพราะมีฐานการผลิตอยู่แล้วในหลายประเทศ จะมีทิศทางการลงทุนใหม่ๆ ที่อาจจะใช้เวลาปรับตัวบ้าง แต่ภาพรวมคิดว่าการชะลอตัวตอนนี้เป็นเพียงระยะสั้นคืออาจจะมีความตื่นตระหนกในช่วงแรก แต่พอปรับตัวได้ก็จะฟื้นตัวกลับมาได้ จริงๆ กรณีสงครามการค้าครั้งนี้จะคล้ายๆ กับช่วง Plaza Accord ในช่วงที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยหลังจากมีความตึงเครียดด้านการค้ากับสหรัฐอเมริกา มันก็ช่วยการขยายตัวของช่วงหลายทศวรรษที่แล้ว แต่ภาพอาจจะเปลี่ยนไปบ้างคืออาจจะไม่ได้ช่วยได้มากเหมือนเดิม เพราะตอนนั้นเมื่อญี่ปุ่นจะย้ายฐานการผลิตมาในภูมิภาคเราไม่ได้มีคู่แข่งมากนัก จะมีแค่ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ที่เหลือยังอยู่ในภาวะสงครามกันอยู่ แต่ตอนนี้เขามีตัวเลือกมากขึ้น และอีกอย่างคือโจทย์การพัฒนาประเทศก็เปลี่ยนแปลงไป ในช่วงนั้นโจทย์ของเราคือมีแรงงานแต่ขาดแคลนทุน เราต้องหาทุนมาลงทุน และทำให้การจ้างงานมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะเติบโต คล้ายๆ กับเวียดนามตอนนี้ แต่ของไทยตอนนี้จะต้องเลือกมากขึ้น เลือกเทคโนโลยีที่สูงขึ้นและทำให้ไทยพัฒนาต่อไปได้ สุดท้ายที่แตกต่างคือช่วงนั้นเราเจอก๊าซธรรมชาติและสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นมาได้” ดร.วิชญายุทธกล่าว

เมื่อถามถึงการเลือกตั้งว่าจะส่งผลต่อการลงทุนของต่างชาติและเศรษฐกิจอย่างไร ดร.วิชญายุทธกล่าวว่ายังมองยาก แต่ต้องดูภาพรวมว่านักลงทุนมองอย่างไร จากประสบการณ์จะเห็นว่ามี 2 ระยะ ระยะแรกคือช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ นักลงทุนจะถามมากว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ แสดงว่าการเลือกตั้งในช่วงแรกถือว่าเป็นปัจจัยบวกของเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แต่ในระยะหลังพอใกล้จะเลือกตั้งแล้วคำถามก็เปลี่ยนไปว่านโยบายต่างๆ จะต่อเนื่องหรือไม่

ดังนั้น หากนโยบายมีความต่อเนื่องได้ก็จะทำให้เศรษฐกิจโดยเฉพาะการลงทุนเติบโตอย่างต่อเนื่องไปได้ โดยการลงทุนของเอกชนมีปัจจัยสำคัญคือเรื่องกำลังการผลิตที่สอดคล้องกับการลงทุนในเครื่องจักร ซึ่งคิดเป็น 80% ของการลงทุนรวม และอีก 20% มาจากการก่อสร้างซึ่งผูกอยู่กับโครงการภาครัฐต่างๆ ซึ่งช่วงที่ผ่านจะเห็นว่ากำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในไตรมาสนี้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง แต่ไม่ได้ลดลง ยังเติบโตอยู่ การส่งออกก็ยังเติบโตได้อยู่ คาดว่าในอนาคตจะปรับตัวได้ส่วนนี้ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้

ภาวะการท่องเที่ยวในไตรมาส 3 ของปี 2561 ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร.ทศพรกล่าวสรุปถึงประเด็นการบริหารราชการในระยะต่อไปว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2561 และในปี 2562 ควรให้ความสำคัญกับ

    1) การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในไตรมาสแรกของปี 2562 ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและนักท่องเที่ยวรายได้สูง และการกระจายรายได้ลงสู่เมืองรองและชุมชน

    2) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยให้ความสำคัญกับ (i) การใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า (ii) การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า (iii) การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก รวมทั้งข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า และเงื่อนไขที่สำคัญๆ และ (iv) การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า

    3) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (ii) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น (iii) ชักจูงนักลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น (iv) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และ (v) การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับความต่อเนื่องของโครงการ และมาตรการสำคัญในช่วงหลังเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง

    4) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าจะเห็นกลับมาเติบโต รวมถึงรายได้กลับมาเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงของราคาสินค้าเกษตรบ้าง โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งมาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาระการชำระหนี้ และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

    5) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่องโดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณต่างๆ และการขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง และภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

    6) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการขยายตัวจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ

อ่านรายละเอียดทั้งหมด