ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 2 แตะ 4.6% คาดทั้งปีโต 4.2-4.7% – การบริโภคเอกชนสูงสุดรอบ 5 ปี

สภาพัฒน์เผยจีดีพีไตรมาส 2 แตะ 4.6% คาดทั้งปีโต 4.2-4.7% – การบริโภคเอกชนสูงสุดรอบ 5 ปี

20 สิงหาคม 2018


ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ (กลาง) เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สองของปี 2561 และแนวโน้มปี 2561 ซึ่งเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2561 ขยายตัว 4.6% เทียบกับการขยายตัว 4.9% ในไตรมาสก่อนหน้า และทำให้ครึ่งปีแรกของปีเศรษฐกิจขยายตัว 4.8% จากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม การขยายตัวในเกณฑ์สูงของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่ยังต่อเนื่องทั้ง 2 ปัจจัย

“การเติบโตของไทยในครึ่งปีแรกเรียกว่าขยายตัวในเกณฑ์ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกประมาณ 4.1% โดยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในระยะต่อไปคิดว่าควรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการส่งออกและให้ความสำคัญกับการใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการติดตามและดำเนินมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งในด้านการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล รวมทั้งการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองและชุมชน และการสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการอำนวยความสะดวกและกระตุ้นโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว การดูแลให้การดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งชักจูงนักลงทุนในสาขาและพื้นที่เป้าหมาย และนักลงทุนในประเทศที่ประสบปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้า

ประเด็นที่ 2 คือการดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะการฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย อีกด้านต้องเร่งการดำเนินการตามมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาระและลดข้อจำกัดการเข้าถึงเงินทุนและการพัฒนาของเอสเอ็มอี

ประเด็นที่ 3 คือ การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณต่างๆ ให้มีเพียงพอต่อการสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง และภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

สุดท้าย การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงาน ให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน” ดร.ทศพรกล่าว

ในรายละเอียด การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.5% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.7% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ การลดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรก การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัว 25.1% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 14.8% ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนียอดขายบริการคมนาคมขนส่ง ขยายตัว 7.7, 12.0 และ 13.5% ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.5 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส

การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.2% ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.1% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว 3.3% เร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัว 3.1% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ 6.6% และ 7.6% ตามลำดับ ส่วนการลงทุนในสิ่งก่อสร้างขยายตัว 2.8% เทียบกับการขยายตัว 3.4% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตแม้ว่าจะชะลอลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับสูงที่ 66%

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 1.4% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายหมวดค่าใช้สอยและหมวดค่าตอบแทน (ค่าจ้าง เงินเดือน) เพิ่มขึ้น 10.4% และ 0.5% ตามลำดับ อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ 22.8% สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 22% ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.9% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 4% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัว 8.9% และการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัว 0.9%

การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 63,014 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง 12.3% สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 7.5% และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น 4.5% กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว (ร้อยละ 14.5) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 4.7) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 31.1) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 22.7) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 28.5) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 13.4) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 12.4) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 23.9) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 16.8) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 7.7) เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น อาเซียน และออสเตรเลีย เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 4.6% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง 1.3% ในไตรมาสก่อนหน้า 

ส่วนการนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 57,210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.8% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคานำเข้าร้อยละ 7.2% และปริมาณการนำเข้า 8.9% โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องของการส่งออก และการขยายตัวเร่งขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3% บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (205,900 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 5.2% ของจีดีพี เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ 206,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,531,500 ล้านบาท คิดเป็น 39.8% ของจีดีพี

ดร.ทศพรกล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 4.2-4.7% ที่ค่ากลาง 4.45% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

    1) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งทำให้การส่งออก และภาคการผลิตสำคัญๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
    2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มเร่งขึ้นตามการเบิกจ่ายและความคืบหน้าของโครงการลงทุนของภาครัฐ
    3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนตามการปรับตัวดีขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ
    และ 4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ

บริโภคเอกชนสูงสุดรอบ 21 ไตรมาส

ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จีดีพีในไตรมาสที่ 2 จะเห็นสัญญาณของการบริโภคที่เติบโตสูงถึง 4.5% ซึ่งสูงสุดในรอบ 21 ไตรมาส หรือ 5 ปีกว่าและสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มากและมีการปรับประมาณการขึ้น สะท้อนการกระจายตัวของเศรษฐกิจที่มากขึ้นโดยปัจจัยสนับสนุนของการบริโภคในช่วงที่ผ่านมา และทำให้รายได้ของภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น ได้แก่

    1) ภาคเกษตรกรที่ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นหลายรายการ และแม้ว่าปัจจุบันหลายจังหวัดจะประสบภัยน้ำท่วม แต่หลายประเทศทั่วโลกก็เผชิญเหตุการณ์คล้ายๆ กัน ดังนั้น ในท้ายที่สุดอาจจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้นได้ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป

    2) การจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น ในภาคเกษตรกรรมที่กลับมาเป็นบวก หลังจากปีที่ผ่านมาในช่วงปลายปีต้องเผชิญภาวะน้ำท่วม ภาคอุตสาหกรรมก็ปรับมาเติบโตในรอบ 11 ไตรมาส หรือเกือบ 3 ปี และ

    3) มาตรการภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ในไตรมาส 2 ของปี 2561 เห็นยอดการใช้จ่ายกว่า 10,000 ล้านบาท รวมไปถึงมาตรการรถคันแรกที่เงื่อนไขของมาตรการสิ้นสุดลงในปีนี้และการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ ของผู้ประกอบการ ทำให้ครัวเรือนมีการเปลี่ยนรถใหม่มากขึ้น ซึ่งนอกจากเป็นผลจากมาตรการแล้ว ส่วนหนึ่งได้สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถึงรายได้ที่แน่นอนมากขึ้นในอนาคต

“ส่วนภาคส่งออกที่ปรับประมาณการเพิ่มจะเห็นว่าเศรษฐกิจคู่ค้าเติบโตชัดเจนมากขึ้น รวมไปถึงการส่งออกในครึ่งปีแรกที่ดีกว่าคาด ก็คิดว่าในครึ่งปีหลังก็จะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะที่ความกังวลเรื่องสงครามการค้าคิดว่ายังไม่มีผลกระทบมากนัก และอาจจะเป็นโอกาสมากกว่าด้วยซ้ำ สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่หน้า 33 ของรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 2 ส่วนการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมามีเทศกาลบอลโลกซึ่งดึงนักท่องเที่ยวบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มยุโรปออกไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงดังกล่าวก็โชคดีที่ว่าไม่ได้เป็นช่วง high season ของไทยด้วย ซึ่งคิดว่าช่วงครึ่งหลังการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาปกติ โดยประมาณการทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยว 38.8 ล้านคนลดลงเล็กน้อย เพียง 2 แสนคนจากของเดิม”

ดร.วิชญายุทธกล่าวถึงการปรับปรุงจีดีพีไตรมาสแรกจาก 4.8% เป็น 4.9% เพราะในช่วงที่ผ่านมาการปรับปรุงข้อมูลที่ได้รับเข้ามาใหม่ให้ถูกต้องมากขึ้น โดยปรากฏว่าการใช้จ่ายด้านนำเข้าบริการลดลงเล็กน้อย ขณะที่การผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมได้ปรับตัวขึ้นจากที่เคยรวบรวมข้อมูลไว้ และการปรับประมาณการครั้งนี้แม้ว่าจีดีพีจะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ไส้ในมีการเปลี่ยนแปลงโดยชดเชยกันอยู่ เช่น อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้สินค้าคงคลังลดลง หรือการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นแต่ส่งออกบริการลดลงเล็กน้อย หรือการปรับลดการเบิกจ่ายจากที่เคยคิดว่าจะเบิกได้ 92% เหลือเพียง 91.8% และงบลงทุนจากที่คาดว่าจะเบิกได้ 67% เหลือ 66% แต่รายละเอียดของแบบจำลองไม่ได้อยู่ในการแถลงข่าวที่เปิดเผยเท่านั้น

EIC ปรับจีดีพี 2561 เป็น 4.5% ชี้การบริโภคเอกชนมาจากครัวเรือนรายได้สูง

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 2 ปี 2018 ขยายตัว 4.6% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน หรือเติบโต 1.0% หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล ทำให้ GDP ของไทยครึ่งปีแรกขยายตัวได้ที่ 4.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน

EIC วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ขยายตัวจากทุกหมวดการใช้จ่าย (broad-based) ทั้งการบริโภคและการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงอุปสงค์จากต่างประเทศมีการขยายตัวพร้อมกันคล้ายกับลักษณะการเติบโตในไตรมาสแรก โดยในไตรมาสที่ 2 หลายหมวดการใช้จ่ายมีการเติบโตแบบเร่งขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกสินค้า

การบริโภคภาคเอกชนเร่งตัวขึ้นสูงจากยอดขายรถยนต์ แต่การบริโภคสินค้าไม่คงทนชะลอตัว การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ 4.5% จากระยะเดียวกันของปีก่อน และเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 3.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และถือเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2013 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการบริโภคในหมวดยานพาหนะที่เติบโตถึง 15.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามยอดขายรถยนต์นั่งที่เติบโตสูง ด้านการบริโภคสินค้ากึ่งคงทนขยายตัวที่ 3.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจาก 2.4% ในไตรมาสก่อนหน้าเช่นกัน อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าไม่คงทนเติบโตที่ 1.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.1% นำโดยการชะลอตัวของการบริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่ขยายตัวที่ 2.0% ชะลอลงจาก 2.7% ในไตรมาสก่อนหน้า

กำลังซื้อจากต่างประเทศยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในไตรมาส 2 มูลค่าการส่งออกสินค้าที่แท้จริงในรูปสกุลเงินบาทในไตรมาส 2 ขยายตัวที่ 7.4% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.7% โดยยังเป็นการขยายตัวที่ต่อเนื่องในหลายสินค้าและตลาดส่งออกส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นถึงภาวะการค้าโลกที่ยังเติบโตและผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ต่อสินค้าส่งออกของไทยที่ยังมีจำกัด สำหรับมูลค่าการส่งออกภาคบริการที่แท้จริงในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้ที่ 3.1% ชะลอลงพอสมควรจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ถึง 9.5% ตามการชะลอลงของการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยว

การลงทุนทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้น การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.2% เร่งขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 3.1% นำโดยการลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวที่ 3.3% เร่งขึ้นจาก 3.1% แต่การลงทุนด้านการก่อสร้างเติบโต 2.8% ชะลอลงจาก 3.4% ในไตรมาสก่อน ขณะที่ด้านการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ 4.9% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.0% นำโดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นสำคัญ

อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยจะยังขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งหลังของปี 2018 ไปจนถึงปีหน้า แต่อาจชะลอความร้อนแรงลง อีไอซีประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2018 จะขยายตัวที่ 4.5% จากปีนี้ โดยปรับขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 4.3% โดยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยที่ราว 4.2% ซึ่งยังถือเป็นอัตราการเติบโตที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ราว 2.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การเติบโตในครึ่งปีหลังจะชะลอลงบ้างจากปัจจัยฐานสูงและการชะลอตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ

ในด้านการส่งออกสินค้า อีไอซีมองว่าในภาพรวมจะยังขยายตัวได้ดีกว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมาแต่อาจเริ่มชะลอตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกตามการค้าโลกที่เริ่มเติบโตช้าลงจากช่วงก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของโลก (Global Manufacturing Purchasing Managers’ Index) ที่ยังบ่งชี้การขยายตัวแต่มีทิศทางชะลอลงตั้งแต่ช่วงต้นปี ทั้งนี้ ทิศทางการส่งออกในปีหน้าก็มีแนวโน้มจะขยายตัวในอัตราชะลอลงเช่นกัน

โดยจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2019 ของคู่ค้าสำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน จะชะลอลงกว่าในปีนี้ นอกจากนี้ จากการประเมินขององค์การการค้าโลก หรือ WTO มูลค่าการค้าโลกในปี 2019 ก็จะขยายตัวช้ากว่าในปี 2018 เช่นกัน นอกจากนี้ ยังต้องจับตาผลกระทบของสงครามการค้าจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่บังคับใช้ไปแล้ว รวมถึงความเสี่ยงที่จะมีมาตรการอื่นๆ ออกมาอีกเพิ่มเติมในระยะต่อไป

ในด้านการท่องเที่ยวจากต่างชาติ อีไอซีมองว่าจะยังมีการเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน แต่ในช่วงครึ่งปีหลังอาจชะลอลงจากการลดลงในระยะสั้นของนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนจากกรณีอุบัติเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต และปัจจัยฐานสูงในช่วงไตรมาสที่ 4 นอกจากนี้ การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้ายังอาจเริ่มเผชิญกับข้อจำกัดของกำลังการรองรับของสนามบินหลัก

รายได้ภาคครัวเรือนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแต่การเร่งการใช้จ่ายยังต้องใช้เวลา สัญญาณในด้านรายได้ของภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีแรก จากจำนวนผู้มีงานทำและค่าจ้างเฉลี่ยรายเดือนของลูกจ้างปรับเพิ่มสูงขึ้นที่ 0.3% และ 2.1% ตามลำดับ รวมไปถึงรายได้เกษตรกรที่เริ่มเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ราว 1.7% (คำนวณจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าในไตรมาสที่ 2 การบริโภคสินค้าไม่คงทนซึ่งสะท้อนสัดส่วนการบริโภคที่ค่อนข้างสูงของกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยถึงปานกลางยังคงเติบโตในระดับต่ำและชะลอตัวลง บ่งชี้ว่าการที่ครัวเรือนจะเพิ่มการใช้จ่ายน่าจะยังมีข้อจำกัด เพราะรายได้เพิ่งเริ่มฟื้นตัวและไม่ได้เป็นการฟื้นตัวในอัตราที่สูงมากนัก ขณะเดียวกันครัวเรือนในกลุ่มนี้ก็ยังคงมีภาระหนี้ต่อรายได้ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนยังคงต้องพึ่งพาการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก