ณัฐเมธี สัยเวช
ในปัจจุบัน มีคำอธิบายเกี่ยวกับการเสพติดอยู่ 3 แนวคิดหลัก ได้แก่ 1. เป็นโรคทางสมอง 2. เป็นทางเลือก 3. เป็นการเยียวยาตัวเองจากความเจ็บปวด โดยแนวคิดแรกหรือการเสพติดเป็นโรคทางสมองนั้นดูจะเป็นแนวคิดที่แพร่หลายมากที่สุด เพราะเมื่อระบุว่าเป็น “โรค” แล้วก็มีข้อดีในหลายด้าน ตั้งแต่หมายความว่าย่อมมีสาเหตุ-มีทางรักษา หรือกระทั่งช่วยลดการตีตราว่าผู้ที่มีอาการเสพติดนั้นเป็นผู้มีความบกพร่องทางศีลธรรม
ทว่า ท่ามกลางการปฏิบัติต่อการเสพติดไปในทิศทางนั้น มาร์ก ลิวอิส (Marc Lewis) นักประสาทวิทยาศาสตร์พัฒนาการ (Developmental Neuroscientist) ยืนยันหนักแน่นในหนังสือ The Biology of Desire: Why Addiction Is Not a Disease (ตีพิมพ์ ค.ศ. 2015, พ.ศ. 2558) ของเขาว่า การบอกว่าการเสพติดเป็นโรคนั้น “คลาดเคลื่อนและบ่อยครั้งยังเป็นอันตรายต่อผู้เสพติดเอง” ลิวอิสเสนอให้มองการเสพติดในมุมมองของพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทเฉกเช่นการพัฒนาตัวขึ้นของนิสัยของคนเราหรือกระทั่งการเสพติดอื่นๆ ที่ไม่ใช่การใช้ยาเสพติด ซึ่งในแง่นี้นั้น ลิวอิสยอมรับว่าสมองของผู้มีอาการเสพติดนั้นมีการเปลี่ยนแปลงจริงดังที่สายความคิดที่มองว่าการเสพติดเป็นโรคได้ใช้การเปลี่ยนแปลงในสมองนี้เป็นฐานที่มั่นในการยืนยันความคิดว่าการเสพติดเป็นโรค ทว่า ลิวอิสบอกว่าการเปลี่ยนแปลงของสมองนั้นเป็นเรื่องปรกติธรรมดา สิ่งใดที่เราทำซ้ำๆ จนเกิดเป็นนิสัยนั้นก็เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงในสมองจากการได้รับสิ่งเร้าใดหนึ่งซ้ำๆ จนการคาดการณ์และเอาสิ่งเร้านั้นเป็นเป้าหมายในการกระทำเด่นชัดกว่าการมุ่งมั่นจะได้รับสิ่งเร้าอื่นๆ เราอยากไปที่นั่นซ้ำๆ เราอยากกินสิ่งนั้นซ้ำๆ เราอยากทำสิ่งนี้ซ้ำๆ กระบวนการคาดการณ์เพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำเพื่อได้รับ “รางวัล” เดิมๆ เกิดขึ้นในหลายพฤติกรรมของคนเรารวมทั้งในการเสพติด เพียงแต่การเสพติดอาจเป็นการก่อตัวของนิสัยที่เป็นภัยต่อตัวเองได้ในทางใดทางหนึ่ง กระนั้น ทั้งหมดนี้ก็ล้วนมีพื้นฐานเป็นธรรมชาติแห่งการทำงานของสมองอย่างไม่ต่างกัน
แม้จะมีข้อดีหลายประการดังกล่าวไปข้างต้น แต่ลิวอิสก็มองเห็นความบกพร่องจากการมองว่าการเสพติดเป็นโรคอยู่หลายประการด้วยเช่นกัน ประการสำคัญคือเมื่อเป็นโรคแล้วก็ทำให้ผู้เสพติดรู้สึกว่ากำหนดตัวเองไม่ได้ อำนาจในการพาตัวเองหลุดพ้นจากสภาพการเสพติดจะตกอยู่ในมือผู้มีอำนาจในการรักษาเป็นหลักมากกว่าตัวผู้เสพติดเอง เหล่านี้ทำให้การจัดการกับการเสพติดด้วยมุมมองว่าการเสพติดเป็นโรคนั้นล้มเหลว เพราะเมื่อพ้นจากการบำบัดไปแล้วผู้ผ่านการบำบัดก็มักกลับไปเสพติดอีก ลิวอิสสนับสนุนการมองว่าการเสพติดเป็นทางเลือก (แม้อาจเป็นทางเลือกที่เป็นภัยต่อตัวเอง) ซึ่งเมื่อเป็นทางเลือกแล้วก็แปลว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมที่เกิดจากการชี้นำของสมองให้มุ่งเป้าสู่สิ่งเร้าที่ทำให้คนเรารู้สึกถึงการได้รับรางวัล เช่นนั้นแล้ว หากจะแก้ไขอาการเสพติดอย่างยั่งยืน แนวทางที่น่าจะเป็นก็คือการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติเพื่อนำทางไปสู่การทำพฤติกรรมอื่นซ้ำๆ เพื่อให้เส้นทางการสื่อสารในสมองที่มียาเสพติดเป็นเป้าหมายลดความสำคัญลงไป เฉกเช่นเดียวกันกับในหนทางที่เส้นทางอันมียาเสพติดเป็นเป้าหมายนั้นขึ้นมามีอำนาจเหนือเป้าหมายอื่น
แนวคิดเช่นนี้ของลิวอิสนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างนักวิชาการที่มองเหตุการณ์ทั้งหมดลงมาจากสวรรค์ชั้นฟ้าที่มีตำราเป็นก้อนเมฆ แต่ได้มาจากการที่ตัวเขาเองก็เคยเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะเสพติด รวมทั้งการพูดคุยกับผู้คนมากมายที่ทั้งอยู่ในภาวะเสพติดและหลุดพ้นมาได้แล้วเช่นกัน ลิวอิสบอกว่า ผู้ที่หลุดออกจากวังวนของการเสพติดมาได้ส่วนใหญ่บอกกับเขาว่า ตนไม่ได้รู้สึกว่าได้รับการรักษา แต่รู้สึกว่าตนเองเป็นอิสระ
ในมุมมองของลิวอิสนั้น การจะหลุดพ้นจากการเสพติดจึงไม่ใช่การฟื้นฟูกลับสู่สภาพเดิม แต่คือการพัฒนาการทำงานของสมองตัวเองต่อไปให้เกิดการหันเหไปสู่ทางเลือกอื่น
หากคิดต่อจากสิ่งที่ลิวอิสเสนอแล้ว เป็นที่น่าคำนึงว่าการจะนำพาผู้คนให้พ้นจากสภาวะการติดยาเสพติดคงจะเป็นเรื่องที่ทำลงโดยมุ่งเน้นไปยังทัศนคติของผู้เสพติดเพียงอย่างเดียวมิได้ หากแต่ต้องมองอย่างองค์รวมไปถึงการทำให้ผู้เสพติดได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ที่มีความหวัง ที่ทำให้เห็นว่าความพยายามจะมีชีวิตที่ดีไปในทางที่ไม่เดือดร้อนตนเองและผู้อื่นนั้นเป็นผลสำเร็จได้จริง