ThaiPublica > คอลัมน์ > IDPC เสนอแนวนโยบายสำหรับประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงอย่างมีมนุษยธรรม

IDPC เสนอแนวนโยบายสำหรับประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงอย่างมีมนุษยธรรม

31 ตุลาคม 2018


ณัฐเมธี สัยเวช

25 ตุลาคม 2018 เว็บไซต์ International Drug Policy Consortium (IDPC) ได้เผยแพร่บทความ Women, incarceration and drug policies in South East Asia: Promoting humane and effective responses – A policy guide for Thailand ซึ่งเขียนโดย แมรี แคเทอรีน เอ. อัลวาเรซ ผู้ประสานงานส่วนภูมิภาค โครงการของ IPC ที่ชื่อว่า “ผู้หญิง การจำคุก และนโยบายยาเสพติด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การส่งเสริมมนุษยธรรมและการตอบรับที่มีประสิทธิผล” ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง IDPC, มูลนิธิโอโซน, LBH Masyarakat ในอินโดนีเซีย และ NoBox Transitions ในฟิลิปปินส์

รายงานได้เริ่มต้นด้วยการนำเสนอจำนวนผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกในเดือนกันยายน ค.ศ. 2017 ซึ่งไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงมากเป็นอันดับที่ 5 ด้วยจำนวนผู้ต้องขังหญิง 41,119 คน

รายงานของ IDPC ระบุว่า ข้อกังวลบางประการที่มีต่อผู้ต้องขังหญิงนั้นประกอบไปด้วย ปัญหาสุขภาพจิตในผู้ต้องขังหญิงที่มีประวัติการถูกล่วงละเมิดในด้านต่างๆ และมีบาดแผลทางจิตใจ, การไม่สามารถขัดขืนการล่วงละเมิดทางเพศทั้งจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และจากผู้ต้องขังด้วยกันเอง, ความจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลในด้านสุขภาพการเจริญพันธุ์, การเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ ต้องดูแลแต่กลับต้องแยกจากกัน และปัญหาเรื่องการพบหน้าค่าตากับครอบครัวน้อยเกินไปอันเป็นผลจากสถานที่ตั้งของเรือนจำ นอกจากนี้ ผู้หญิงที่เคยมีประวัติต้องโทษจำคุกมาก่อน เมื่อพ้นโทษมาแล้ว การหางานทำ หาบ้านอยู่ หรือหาการสนับสนุนทางด้านการเงิน ก็กลายเป็นเรื่องที่ยากกว่าด้วย

ในปี ค.ศ. 2018 มูลนิธิโอโซนร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาสถานการณ์ของผู้หญิงที่ต้องโทษจำคุกเนื่องจากคดียาเสพติด โดยเก็บข้อมูลเชิงปริมาณจากผู้ต้องขังในทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธัญบุรีจำนวน 315 ราย และเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์จากอดีตผู้ต้องขังหญิง 6 รายในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ 5 ราย

หากพิจารณาในแง่สัดส่วนจำนวนผู้ต้องขังหญิงเทียบกับจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด ประเทศไทยนั้นเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา และ 82 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังหญิงของไทยนั้นต้องโทษในคดียาเสพติด

ในด้านประสบการณ์ที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมนั้น ผู้ให้ข้อมูล 70 เปอร์เซ็นต์ต้องโทษในคดีมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่น่าสนใจคือ 17 เปอร์เซ็นต์ในจำนวนนี้นั้นยืนยันว่าตนเองถูกบังคับให้ยอมรับผิดในอาชญากรรมที่ตนเองไม่ได้กระทำ และมี 8 คนที่มีความผิดในฐานมีไว้เพื่อเสพ โดยต้องโทษจำคุก 1-2 ปี และคดีของพวกเธอมักจบลงที่ศาลชั้นต้นโดยไม่มีการสู้คดีต่อ เพราะทนายบอกว่า “สู้ต่อไปก็ไม่มีประโยชน์” และมีรายหนึ่งที่ทนายแนะนำให้รับสารภาพเพื่อจะได้รับโทษเบาลง

ในด้านการใช้ยาเสพติด 86.3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้ข้อมูลเปิดเผยว่าตนใช้ยาเสพติดก่อนจะต้องโทษคุมขัง โดยประเภทของยาที่ใช้นั้นคือ ยาบ้า (82.8 เปอร์เซ็นต์) ยาไอซ์ (76.3 เปอร์เซ็นต์) กัญชา (32.6 เปอร์เซ็นต์) และเฮโรอีน (7.5 เปอร์เซ็นต์)

มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้ข้อมูลนั้นมีลูกอย่างน้อย 1 คน และมีลูกมากที่สุดถึง 6 คน (โดยเฉลี่ยของกลุ่มคือมีลูก 2 คน) และส่วนที่เหลือนั้น แม้ไม่ได้เป็นแม่ แต่ก็เป็นลูกสาว เป็นพี่สาวหรือน้องสาว หรือเป็นหลาน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการเลี้ยงดูผู้ปกครองหรือญาติ

ผู้ให้ข้อมูลบอกว่า ข้อกังวลหลักในการต้องโทษจำคุกนั้นไม่ใช่เรื่องการต้องแยกจากครอบครัว เรื่องนี้เป็นจริงโดยเฉพาะผู้ให้ข้อมูลที่มีลูก 16 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้ข้อมูลบอกว่าไม่มีใครรู้ว่าตนนั้นต้องโทษจำคุกจึงไม่มีใครมาเยี่ยม และบางคนก็บอกกับครอบครัวว่าไม่ต้องมาเยี่ยมเนื่องด้วยเหตุผลเรื่องระยะทางระหว่างบ้านกับเรือนจำ

การสัมภาษณ์เพื่อเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพนั้นให้ข้อมูลว่า การฝึกฝนอาชีพในระหว่างต้องโทษคุมขังให้ความหวังในการเริ่มชีวิตใหม่หลังพ้นโทษแก่พวกเธอ ขณะเดียวกัน พวกเธอบางคนก็แสดงความไม่มั่นใจว่าเมื่อพ้นโทษแล้วจะไม่กลับไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอีก โดยเฉพาะหากต้องประสบปัญหาอีก

เจ้าหน้าที่เรือนจำที่ให้สัมภาษณ์เพื่อให้ข้อมูลระบุว่า ความกังวลหลักของผู้ต้องขังหญิงนั้นเกิดจากการไม่ได้พบหน้าครอบครัว และยังบอกถึงความกังวลในเรื่องการกระทำผิดซ้ำหรือการต้องกลับมาอยู่ในเรือนจำอีกด้วย

ในส่วนของข้อกังวลและคำแนะนำเชิงนโยบายที่ได้จากการศึกษาร่วมระหว่างมูลนิธิโอโซนและมหาวิทยาลัยมหิดลนั้น รายงานได้นำเสนอไว้ดังนี้

1. การเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย

รายงานระบุว่า มีเพียงบางส่วนของผู้ต้องโทษจำคุกในการเก็บข้อมูลที่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมายในการสู้คดี ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่นั้นให้การรับสารภาพในชั้นของการจับกุมและการสืบสวนโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทนายความ

รายงานยังเปิดเผยอีกด้วยว่า มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถแต่งตั้งทนายให้ตัวเอง มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดและ 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำความผิดนั้นให้การรับสารภาพระหว่างกระบวนการจับกุมและสอบสวน ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่ของผู้ให้ข้อมูลที่บอกว่าตนเองไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาจนกระทั่งตัดสินโทษนั้นเปิดเผยว่าตนได้ให้การรับสารภาพในขั้นตอนของการจับกุมและการสอบสวน

มีผู้ให้ข้อมูลจำนวนน้อยมากที่รู้ถึงการมีอยู่ของกองทุนยุติธรรม มีเพียงสองคนที่เปิดเผยว่าขอความช่วยเหลือจากกองทุนดังกล่าว มากว่า 90 เปอร์เซ็นต์นั้นได้รับการตัดสินโทษในระดับศาลชั้นต้นโดยมิได้มีการดำเนินการต่อจนถึงชั้นของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา

โดยนัยจากตัวรายงานแล้ว ประเทศไทยควรสนับสนุนการเข้าถึงซึ่งกองทุนยุติธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้มากกว่านี้

2. การเข้าถึงบริการทางสุขภาพและการดูแลสำหรับผู้องขังหญิงที่มีการใช้ยาเสพติด

รายงานเสนอว่า ตามข้อกำหนดกรุงเทพหรือ Bangkok Rules นั้น จะต้องมีการจัดหาบริการทางสุขภาพหรือสุขภาวะส่วนบุคคลและบริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมตามเพศสภาพแก่ผู้ต้องขัง รวมทั้งต้องให้ความคุ้มครองความปลอดภัยด้านต่างๆ แก่ผู้ต้องขังหญิง

3. ทางเลือกอื่นๆ เพื่อทดแทนการคุมขัง

บันทึกข้อมูลเรื่องมาตรการที่มิใช่การคุมขัง ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crimes – UNODC) ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของกระบวนการทางเลือกที่เหมาะสมและสามารถกระทำได้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาหญิงต้องได้รับก่อนเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล และการกำหนดวงเงินประกันตัวนั้นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและสถานะทางเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องพิจารณาถึงทางเลือกอื่นนอกจากการใช้เงินประกันด้วย

นอกจากนี้ บันทึกข้อมูลดังกล่าวยังเน้นถึงการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในขั้นตอนของการพิจารณาคดีและตัดสินโทษอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีของผู้ถูกกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพียงเล็กน้อย ควรใช้การตัดสินโทษที่เป็นทางเลือกอื่นอันมิใช่การคุมขังในทันทีที่เป็นไปได้ โดยต้องเป็นไปในทางที่จะไม่ไปแยกตัวผู้ถูกกล่าวหาหญิงออกจากครอบครัวหรือชุมชนของตนเอง ศาลต้องให้ความสำคัญกับลักษณะเฉพาะบุคคลของผู้ถูกกล่าวหาหญิง รวมทั้งปัจจัยบรรเทาโทษต่างๆ เช่น การไม่เคยไม่มีประวัติการกระทำผิดมาก่อน และความไม่รุนแรงของพฤติกรรมอันอาจเป็นอาชญากรรมเมื่อพิจารณาในแง่ของปูมหลังและความรับผิดชอบดูแลที่ตนเองมี

4. แก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติและการตีตรา

รายงานระบุว่า หลักการที่ว่าทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมายนั้นอาจนำมาซึ่งการพิจารณาและตัดสินลงโทษที่ไม่ได้คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศได้ เนื่องจากมิได้คำนึงถึงความต้องการต่างๆ ที่มีเฉพาะในผู้หญิง นอกจากนี้ การเลือกปฏิบัติและการตีตราต่อผู้หญิงที่ต้องโทษจำคุกในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดยังแผ่ขยายไปถึงครอบครัวและชุมชนของพวกเธอด้วย ผู้หญิงหลายคนนั้นเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกปฏิเสธหรือถูกขับไล่ออกจากชุมชนหรือครอบครัวหลังจากที่พ้นโทษแล้ว ซึ่งนั่นยิ่งทำให้การกลับไปอยู่ร่วมกับสังคมหลังจากพ้นโทษกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น

กระนั้น สถาบันต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมก็สามารถช่วยบรรเทาการเลือกปฏิบัติและการตีตราอันจะเกิดแก่ผู้หญิงที่ต้องโทษจำคุกในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดได้ โดยก่อนที่ผู้หญิงจะถูกนำตัวเข้าสู่การพิจารณาคดีหรือถูกนำตัวไปคุมขัง ผู้พิพากษา พนักงานอัยการ และทนายความ สามารถเข้าแทรกแซงด้วยการให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย การเบี่ยงเบนผู้ต้องหาหญิงออกจากการฟ้องร้อง ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการคุมขังก่อนพิจารณาคดี และช่วยทำให้แน่ใจว่ามีการพิจารณาถึงความต้องการเฉพาะตามเพศสภาพในการพิจารณาคดีและตัดสินโทษ

5. จัดการกับการใช้ยาเสพติดโดยใช้กระบวนการที่มุ่งเน้นในเรื่องสุขภาพ

รายงานเสนอว่า ในการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติดและผู้หญิงที่ต้องโทษจำคุกด้วยคดียาเสพติดนั้น จะต้องนำแนวทางข้อตกลงที่ได้จากการประชุม UNGASS (United Nations General Assembly Special Session) ในปี ค.ศ. 2016 มาพิจารณาร่วมในหลายมิติ กล่าวคือ

จัดการกับการใช้ยาเสพติดโดยใช้กระบวนการที่มุ่งเน้นในเรื่องสุขภาพ: ให้พิจารณาการพึ่งพายาเสพติดในฐานะความผิดปรกติทางสุขภาพที่มีปัจจัยซับซ้อน เป็นเรื้อรัง และสามารถกลับไปเป็นซ้ำๆ ได้ แต่ก็บำบัดรักษาได้ด้วยวิธีต่างๆ ที่อยู่บนฐานความเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องเสริมความแข็งแกร่งให้กับความสามารถในการติดตามผลการรักษาและการฟื้นฟู การฟื้นสภาพ และการกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของผู้ที่ใช้สารเสพติด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน และการเข้าถึงบริการช่วยเหลือในด้านอื่นๆ

การเข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจ: สนับสนุนการเข้ารับการบำบัดโดยสมัครใจ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย และผู้เข้ารับการบำบัดนั้นต้องยินยอมหลังจากได้รับข้อมูลครบถ้วน ต้องพัฒนาการโครงการสำหรับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งรวมถึงการฟื้นฟูสภาพในระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้ตกไปเป็นคนชายขอบของสังคม ต้องสนับสนุนให้เกิดทัศนคติที่ไม่ตีตราผู้กระทำผิด สนับสนุนผู้ใช้ยาเสพติดให้เข้ารับการบำบัดด้วยตนเอง และมีมาตรการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการบำบัด

นอกจากนี้ ควรสนับสนุนให้มีสถานบำบัดฟื้นฟูและรักษาด้วยการใช้ยาซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจดำเนินการ เพื่อจะได้รับประกันคุณภาพของบริการได้ และป้องกันไม่ให้เกิดการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณ การลงโทษหรือการรักษาที่ไร้มนุษยธรรมหรือลดทอนความเป็นมนุษย์

การเข้าถึงการบำบัดรักษาในเรือนจำหรือในระหว่างการคุมขัง: ต้องส่งเสริมการเข้าถึงการบำบัดรักษาแก่ผู้ใช้ยาเสพติดที่ต้องโทษจำคุก และส่งเสริมให้มีการดูแลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการประเมินตนเองของสถานที่คุมขัง

การตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา: สนับสนุนและบังคับใช้ซึ่งการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีต่ออาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เชื่อมั่นได้ว่าเป็นไปตามกฎหมาย และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมทั้งให้มีมาตรการในการปฏิบัติที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ รวมไปถึงไม่ให้เกิดการกระทำที่สร้างความทรมาน และการลงโทษหรือการปฏิบัติอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และลดทอนความเป็นมนุษย์

อ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่นี่