ณัฐเมธี สัยเวช
นับแต่วัยเด็ก ในช่วงที่เริ่มได้รับอนุญาตให้นอนดึกเกินสองทุ่ม สื่อบันเทิงหนึ่งที่ผมบริโภคผ่านโทรทัศน์ในปริมาณที่มากพอๆ กับการ์ตูนก็คือละคร เรียกว่าก่อนจะเลิกดูไปนั้น ผมดูละครมาเกือบสามสิบปี ซึ่งก็นับได้ว่าแทบจะทั้งชีวิตทีเดียว และสิ่งที่คู่เคียงกันมายาวนานพอๆ กัน ก็คือคำว่า “ละครน้ำเน่า”
ละครน้ำเน่า คำนี้ได้ยินครั้งแรกก็คงจะเป็นจากปากคุณพ่อของผม ผู้ซึ่งเมื่อข่าวภาคค่ำจบแล้วก็จะเข้าห้องนอน ไม่ร่วมดูละครกับคนอื่นๆ ในบ้าน และเหตุผลที่พ่อให้มาก็คือคำว่าละครน้ำเน่า (พ่อพูดด้วยน้ำเสียงและสีหน้าราวกับพ่อตาใจร้ายกำลังพูดเหยียดชายต่ำต้อยที่มาตามตื๊อลูกสาวตน) และก็ยังมีคำอื่นๆ อีก ซึ่งที่ชัดเจนก็คือคำว่า “ไร้สาระ”
คำว่า “สาระ” ของพ่อผมก็คงเป็นการเทียบกับข่าวภาคค่ำ (สมัยนั้นก็มีแต่ข่าวภาคค่ำน่ะครับ ไม่ได้มีกันทั้งวันแบบตอนนี้ โทรทัศน์นี่ก็ไม่ได้มีรายการทั้งวัน) ซึ่งก็คงหมายถึงคือ “เป็นความจริง+ให้ข่าวสารความรู้” ดังนั้น ในสมัยที่ละครยังไม่ถูกคาดคั้น ไล่บี้ ให้มีศีลธรรมกันจนถึงขั้นมีการนิมนต์พระมาเทศน์ปิดเรื่องดังเช่นละครบางเรื่องในทุกวันนี้ (รวมทั้งมีการขึ้นคำเตือนต่างๆ นานา) คำว่าไร้สาระของพ่อผมก็คงเน้นหนักไปที่ความไม่ใช่เรื่องจริง ไม่สมเหตุสมผล หรือถึงขั้นเพ้อเจ้อ รวมทั้งไม่ได้ให้ประโยชน์อันใดแก่ชีวิต ซึ่งนั่นก็คงเป็นความหมายของคำว่าน้ำเน่า ทั้งในมุมมองของพ่อผม และในมุมมองที่ใครหลายๆ คนมีต่อละครไทย
(พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นมุมมองว่า “สาระ” กับ “บันเทิง” นั้นเป็นสิ่งตรงข้ามกัน ไม่มีทางปะปนกันได้ ความบันเทิงจึงเป็นสิ่งไร้สาระ และสาระก็คือปริมณฑลของ “เรื่องจริง” ส่วนบันเทิงนั้นก็คือดินแดงของ “เรื่องแต่ง”)
แต่ในขณะเดียวกัน คำว่าละครน้ำเน่านั้นก็ดำรงอยู่คู่กันมากับ
– สำนวนว่า “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว” (มาจากวรรคหนึ่งที่กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ทรงแปลบทกวี “รุไบยาต” มา) ซึ่งมักใช้กันในความหมายทำนองว่า อันหลายสิ่งซึ่งพบเจอในละครนั้น ก็ล้วนพบเจอได้ในชีวิตจริงไม่ต่างกัน
– เพลง “โลกนี้คือละคร” ซึ่งขับร้องโดย “สุเทพ วงศ์กำแหง” ที่มีเนื้อหาเป็นการเปรียบเทียบว่า “โลก” หรือ “ชีวิต” นั้นก็เปรียบเหมือนดังละคร
– เพลง “สุขกันเถอะเรา” ซึ่งขับร้องโดยคณะสุนทราภรณ์ ซึ่งมีวรรคหนึ่งที่ร้องว่า “โลกคือละคร อย่าอาวรณ์เลย สุขทุกข์อย่างเคยรับแล้วเป็นเช่นกัน ปล่อยไปตามบุญและกรรมบันดาล อย่ามัวโศกศัลย์ยิ้มสู้มันเป็นไร” และ “โลกคือละคร ทุกตอนต้องแสดง ทุกคนทนไป อย่าอาลัยยิ้มกันสู้ไปจะได้สบาย”
ซึ่งเหล่านี้ล้วนพอจะทำให้เห็นว่า มีแนวความคิดที่มองว่าละครนั้นก็ไม่ใช่สิ่งสมมติอันตัดขาดจากชีวิตจริงไปเสียทั้งหมด
อันที่จริง เท่าที่ผมดูละครมาก็รู้สึกว่า โลกอย่างที่เห็นในละครไทยนั้นไม่ได้ตัดขาดอะไรจากโลกในชีวิตจริง ทั้งยังอาจพูดได้ว่าเป็นการนำเอาเรื่องต่างๆ ที่เราพบเห็นในชีวิตจริงมาเล่าแบบละคร คือนำทุกอย่างมาขยายให้ “ใหญ่” แบบที่เราคงไม่ค่อยได้เห็นในชีวิตจริง โดยเฉพาะอารมณ์ต่างๆ รักสุดๆ ดีใจสุดๆ โศกเศร้าสุดๆ เคียดแค้นสุดๆ เป็นการพาคนดูก้าวข้ามขอบเขตบางอย่างที่กักขังตัวเองไว้ยามอยู่ในโลกนอกละคร
นอกจากนี้ ละครไทยยังช่วยให้เราสามารถแยกแยะผู้คนออกจากกันได้อย่างง่ายดาย กล่าวคือ เมื่อดูละคร เราสามารถชี้ได้ทันทีว่าใครเป็นพระเอก นางเอก ผู้ร้าย ตัวอิจฉา โดยดูได้จากการแต่งกาย การแต่งหน้า บุคลิกภาพ คำพูดคำจา ฉากที่ปรากฏตัว (เอาจริงๆ คือเรารู้ได้ตั้งแต่ลำดับการปรากฏตัวในเพลงเปิดเรื่อง หรือยิ่งกว่านั้น ช่วงนั้นดาราคนไหนกำลังดัง เราก็จะรู้ได้ทันที โดยเฉพาะบทพระเอกและนางเอก) และตัวละครไทยก็ไม่ค่อยมีความซับซ้อนในบุคลิกภาพ เป็นตัวละครแบบที่เรียกว่า “มิติเดียว” หรือ “แบนราบ” แบ่งขาวแบ่งดำชัดเจน ดีสุดร้ายสุดกันตั้งแต่ตัวประกอบยันตัวเอก ซึ่งความชัดเจนว่า “ใครเป็นใคร” แบบในละครนี้ช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับคนดู เพราะช่วยลดความมั่นคงจากการไม่อาจรู้ว่าใครจะมาไม้ไหน ต่างจากโลกจริงที่อะไรๆ พวกนี้มักกลับตาลปัตรให้ผิดคาดผิดหวังอยู่เรื่อย
ยิ่งไปกว่านั้น ละครไทยยังช่วย “เติมฝันในวันทดท้อ” ด้วยการที่มักเอาแนวคิดอย่าง “กฎแห่งกรรม” มาเป็นโครงหลักให้เรื่องราวต่างๆ ดำเนินไป กล่าวคือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กรรมตามทันในที่สุด ดังจะเห็นว่า อย่างไรเสีย คนดีในเรื่องนั้นก็จะอยู่อย่างผาสุกกับความดีในตอนจบแบบมีความสุข ในขณะที่คนร้ายและตัวอิจฉานั้น ถ้าไม่กลับตัวกลับใจ ก็จะต้องพบกับการลงทัณฑ์อย่างตาต่อตาฟันต่อฟันและสาสมในที่สุด (ซึ่งละครไทยนั้น ไม่ว่าจะมีภาพการดำเนินเรื่องแบบไหน ให้ดูหวือหวาหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมอันดีงามเพียงใด แต่สุดท้าย โครงเรื่องก็ยังวางอยู่บนหลักกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ดังเคยเขียนไว้ที่นี่)
หรือแนวคิดว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ขอให้เป็นคนดี มั่นใจในการทำดีและมุมานะพยายาม ก็จะประสบความสำเร็จในที่สุด จะต้องมีคนมามองเห็นและโอบอุ้มค้ำชูสู่ความสำเร็จในที่สุด
เหล่านี้ช่วยต่อเติมและชดเชยความจริงที่แหว่งวิ่นในโลกนอกละคร โลกที่เรามักต้องพบเหตุการณ์อันทำให้เรารู้สึกว่า กรรมไม่เคยตามคนเลวทัน กระบวนการยุติธรรมนั้นเชื่องช้าไม่ทันใจอย่างศษลเตี้ย ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ดิ้นรนไขว่คว้าแค่ไหนก็ไม่มีทางสำเร็จ ความพยามอยู่ที่ไหนก็มีแต่ความพยายามอยู่เรื่อยไปโดยไม่มีวันไปถึงความสำเร็จ
ไหนจะความคิดอย่าง “รักเท่านั้นที่ครองโลก” ขอแค่รักกันเดี๋ยวก็ได้อยู่คู่กัน ไม่ต้องอาศัยความเข้าอกเข้าใจเข้ากันได้อะไรทั้งสิ้น จะต่างชนชั้นวิถีชีวิตต่างกันแค่ไหน ถ้ารักกันแล้วยังไงก็อยู่กันได้ หรืออย่างเลวร้ายที่สุด ทำให้แม้แต่การข่มขืนก็เป็นเรื่องที่ทำได้ในนามของความรัก
จะเห็นได้ว่า ละครไทยนั้นทำหน้าที่อย่างหลากหลาย ทั้งช่วยปลดปล่อยเราจากขีดจำกัดหลายๆ อย่างที่ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่ในชีวิตจริง ช่วยให้ความรู้สึกปลอดภัยจากความไม่ชัดเจนในชีวิตและความไม่เชื่อมั่นต่างๆ ที่เกิดจากความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของโลก และยังช่วยปลอบใจให้ชีวิตยังมีความหวัง ให้เชื่อว่าอุดมคติ “ดีๆ” ที่เรายึดถืออยู่นั้นมันเป็นไปได้ ซึ่งทั้งหมดนี้นั้น ล้วนเชื่อมโยงอยู่กับความเป็นจริงในระดับที่ว่า บางกรณี ก็เป็นการเอาโลกจริงมาเล่าแบบใหญ่โตและพาไปจนสุดทางเสียด้วยซ้ำ
แต่ทั้งนี้ ก็ด้วยความไปสุดทางดังกล่าว และสุดทางอย่างแบนๆ ดังที่ก็กล่าวไปแล้วเช่นกัน ละครจึงเหมาะที่จะเป็นความบันเทิงอันแม้มีสาระแต่ก็ไม่ควรไปเรียกร้องเอาสาระจากมันจนเกินไป กล่าวคือ คำว่า “น้ำเน่า” นั้นไม่ควรเป็นคุณค่าของละคร แต่ควรเป็นคำกลางๆ ที่ใช้ระบุถึงประเภทหนึ่งของละครที่มีไว้ทำหน้าที่ต่างๆ ดังที่เล่ามา ซึ่งด้วยวิธีเล่าเรื่องแบบละครนั้น ละครน้ำเน่า (ในความหมายของละครประเภทหนึ่ง) ย่อมทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดีกว่าสิ่งอื่น และการไปเรียกร้องเอาสาระดีงามสมจริงใดๆ จากละครน้ำเน่า จึงดูจะเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว ไม่ต่างอะไรกับการเรียกร้องให้พัดลมเย็นเหมือนแอร์
ดังนั้น สิ่งที่น่าเรียกร้องจริงๆ ก็คือ การทำให้ละครมีหลากหลายประเภทมากขึ้น โดยที่ละครน้ำเน่า (ย้ำว่าในความหมายของละครประเภทหนึ่ง) ก็ยังคงมีที่ทางในตลาดไว้รองรับคนที่ต้องการเสพ ถ้าทำได้แบบนั้น ตลาดละครน่าจะกว้างขวางและมีีสีสันมากขึ้นแน่ๆ ครับ