ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “ศาลฎีกาพิพากษากลับ จำคุก ‘มือปืนป๊อปคอร์น’ 37 ปี 4 เดือน” และ “โบอิ้งแถลง เซ็นเซอร์ส่งข้อมูลผิดพลาด ทำไลอ้อนแอร์ตกทะเล”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “ศาลฎีกาพิพากษากลับ จำคุก ‘มือปืนป๊อปคอร์น’ 37 ปี 4 เดือน” และ “โบอิ้งแถลง เซ็นเซอร์ส่งข้อมูลผิดพลาด ทำไลอ้อนแอร์ตกทะเล”

10 พฤศจิกายน 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 3-9 พ.ย. 2561

  • ศาลฎีกาพิพากษากลับ จำคุก “มือปืนป๊อปคอร์น” 37 ปี 4 เดือน
  • ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ คำสั่งห้ามชุมนุม “ชอบด้วยกฎหมาย”
  • ปีหน้าเตรียมหนาวหน้าร้อน กกพ. ขึ้นค่า Ft 4.30 สต. งวด ม.ค.-เม.ย. 62
  • สรรพสามิตจ่อรีดภาษี “ไขมัน-ความเค็ม” ส่งเสริมสุขภาพ ปชช.
  • โบอิ้งแถลง เซ็นเซอร์ส่งข้อมูลผิดพลาด ทำไลอ้อนแอร์ตกทะเล
  • ศาลฎีกาพิพากษากลับ จำคุก “มือปืนป๊อปคอร์น” 37 ปี 4 เดือน

    มือปืนป๊อปคอร์น
    ที่มาภาพ:http://www.posttoday.com/media/content/2014/02/13/238BF53FE2F14A9A8A01F4586CBDBFB2.jpg

    เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2561 ที่ห้องพิจารณา 805 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา ในคดีความผิดต่อชีวิต หมายเลขดำ อ.1626/57 ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ฟ้อง นายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ หรือมือปืนป๊อบคอร์น อายุ 28 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นฯ จากกรณีเมื่อวันที่ 1 ก.พ.57 จำเลยกับพวกได้ใช้ปืนยาวไม่ทราบชนิดและขนาดยิงเข้าไปภายในศูนย์การค้าไอทีสแควร์ ย่านหลักสี่  ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมนุมกลุ่ม กปปส. เพื่อสกัดกั้นกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ที่จะเข้ามาปะทะกัน จนทำให้ นายอะแกว แซ่ลิ่ว  อายุ 72 ปี ถึงแก่ความตาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 4 ราย โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 37 ปี 4 เดือน ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างฎีกา อัยการได้ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลย

    ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น จำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง จึงพิพากษากลับให้ลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 37 ปี 4 เดือน

    ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ คำสั่งห้ามชุมนุม “ชอบด้วยกฎหมาย”

    ที่มาภาพ: sasan rashtipour บนเว็บไซต์ Unsplash (http://bit.ly/2PKfMRG)

    วันที่ 7 พ.ย. 2561 เฟซบุ๊ก iLaw รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหนังสือถึงเครือข่ายประชาชนที่จัดกิจกรรมเดินมิตรภาพ หรือ “We Walk” ภายหลังทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน
    .
    ในหนังสือร้องเรียน มีข้อเรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบว่า คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่กำหนดว่า ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถือเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่
    .
    โดยคำร้องของ “เครือข่าย We Walk” ระบุว่า คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 26 และมาตรา 44 ซึ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจำกัดหรือแทรกแซงการเสรีภาพโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 
    .
    อีกทั้ง ถ้อยคำตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ยังเป็นถ้อยคำที่กว้างและคลุมเครือ เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจได้อย่างกว้างขวางเพื่อพิจารณาว่า การกระทำใดเป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง โดยปราศจากกลไกการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างภาระต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลเกินจำเป็น หรือขัดต่อหลักความได้สัดส่วน
    .
    ทั้งนี้ ผู้ตรวจแผ่นดินเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 279 ได้บัญญัติรับรองให้บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าจะเป็นประกาศ คำสั่ง การกระทำตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใด ถือว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
    .
    นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังระบุด้วยว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้าคสช. และคำสั่งดังกล่าวได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญว่าชอบด้วยกฎหมาย 
    .
    และผู้ตรวจเห็นว่า คำสั่งหัวหน้าคสช. ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนโดยทั่วไป โดยเป็นการสร้างภาระเฉพาะกลุ่มที่ประสงค์จะทำการชุมนุมเท่านั้น จึงไม่มีเหตุทีผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอแนะเพื่อให้มีการปรับปรุงคำสั่งดังกล่าว ตามอำนาจมาตรา 22 (1) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560
    .
    ดูรายละเอียดคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินได้ที่นี่

    ปีหน้าเตรียมหนาวหน้าร้อน กกพ. ขึ้นค่า Ft 4.30 สต. งวด ม.ค.-เม.ย. 62

    ที่มาภาพ: rawpixel บนเว็บไซต์ Unsplash (http://bit.ly/2PP4cEI)

    เว็บไซต์ WORKPOINT NEWS รายงานว่า วันที่ 8 พ.ย. น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที สำหรับเรียกเก็บงวดเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2562 จำนวน -11.60 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อเทียบค่าเอฟทีที่เรียกเก็บในปัจจุบัน -15.90 สตางค์ต่อหน่วย เป็นปรับขึ้นจากงวดก่อน 4.30 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์และเป็นผลมาจากปัจจัยราคาเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าถีบตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

    แม้ว่า ปัจจัยต้นทุนของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ายังคงมีความผันผวนในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า ตามที่ กกพ. ได้ส่งสัญญาณล่วงหน้ามาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ในการประกาศค่าเอฟทีรอบนี้ (ม.ค.-เม.ย. 62) ยังคงต้องบริหารจัดการต้นทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน สร้างความราบรื่นในการปรับตัวให้กับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเป็นหลัก

    อย่างไรก็ตามผลจากการประกาศปรับค่าเอฟทีรอบนี้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายอยู่ที่ 3.6396 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จากปัจจุบัน 3.5966 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้ มติกกพ.ดังกล่าวจะเผยแพร่รายละเอียดเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อไป ที่ www.erc.or.th ต่อไป

    สรรพสามิตจ่อรีดภาษี “ไขมัน-ความเค็ม” ส่งเสริมสุขภาพ ปชช.

    ที่มาภาพ: Emmy Smith บนเว็บไซต์ Unsplash (http://bit.ly/2PJPK0N)

    วันที่ 8 พ.ย. 2561 เว็บไซต์ PPTVHD 36 รายงานว่า นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพาสามิตมีแผนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบการเก็บภาษีจากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มในปริมาณที่มาก ซึ่งถือเป็นต้นเหตุสำคัญในการทำลายสุขภาพ โดยเบื้องต้นการเก็บภาษีจากสินค้าที่มีไขมันและความเค็มมากนั้น จะยึดรูปแบบเดียวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีจากความหวาน

    โดยกรมสรรพสามิตมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนบทบาทการเก็บภาษี จากเป็นกรมที่เก็บภาษีจากสินค้าบาปเป็นหลัก มาเป็นกรมที่เก็บภาษีจากสินค้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยที่ผ่านมามีการเก็บภาษีสรรพสามิตสินค้าที่มีน้ำตาลมาก 
           
    สำหรับแนวทางเบื้องต้น จะให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัว เช่น ให้เวลา 5 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถลดปริมาณไขมันและความเค็มได้ ก็จะมีการปรับลดอัตราภาษีลงให้ แต่หากไม่สามารถลดได้ก็จะต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดไว้ และหากเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดแล้วผู้ประกอบการยังไม่สามารถลดปริมาณไขมันและความเค็มลงได้ก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าแนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค

    นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มองว่า การเก็บภาษีเรื่องไขมันทรานส์คงเป็นไปไม่ได้ เพราะล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศแล้วว่าไม่ให้มีการนำหรือผลิตสินค้าอาหารที่ทำให้เกิดไขมันทรานส์อยู่แล้ว ส่วนการเสนอสินค้าที่มีความเค็มหรือการเพิ่มภาษีความเค็ม ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่คิดว่าน่าจะเป็นในเรื่องของการดูแลอาหารที่ทำสำเร็จแล้วมากกว่า ต้องไม่ให้ใส่เกลือหรือเครื่องปรุงรสเค็มต้องไม่เกินปริมาณเท่าไรแบบนี้มากกว่า เหมือนกับการเพิ่มภาษีพวกน้ำอัดลมต่างๆ ต้องมีปริมาณน้ำตาลต้องไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ เป็นต้น และน่าจะไม่เกี่ยวกับอาหารประเภทปลาเค็ม

    ผศ. นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเข้าใจว่ายังคงเป็นข้อเสนอ ยังไม่เห็นหน้าตาออกมาเป็นรูปธรรมว่า จะมีการเก็บในอัตราเท่าไรอย่างไร แต่คาดว่าคงจะได้ตัวอย่างจากภาษีน้ำตาล ซึ่งหากมีการออกกฎหมายเก็บภาษีความเค็มจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะไปมุ่งเป้าสินค้าอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูง หากไม่อยากเสียภาษีมากก็ต้องปรับสูตรลดความเค็มลง ซึ่งการกินเค็มน้อยจะช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต ฯลฯ ทั้งนี้ หากมีการควบคุมในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจะทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากมีฉลากแสดงปริมาณสัดส่วนของโซเดียมและเกลือในอาหาร ง่ายแก่การควบคุม

    โบอิ้งแถลง เซ็นเซอร์ส่งข้อมูลผิดพลาด ทำไลอ้อนแอร์ตกทะเล

    เว็บไซต์ไทยพีบีเอสรายงานว่า วันที่ 8 พ.ย. 2561 วันนี้ (8 พ.ย.2561) บริษัท โบอิ้ง ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ทางการ โดยมีเนื้อหาระบุว่า ทีมสืบสวนโบอิ้ง กำลังให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิกแก่คณะกรรมการความปลอดภัยในการขนส่งแห่งชาติอินโดนีเซีย และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่รับผิดชอบเกี่ยวกับ เหตุเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 MAX เที่ยวบิน เจที 610 ตกนอกชายฝั่งอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา

    ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่า เครื่องบินไลออนแอร์ เที่ยวบิน เจที 610 ได้รับการป้อนข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจมุมปะทะ (angle of attack – AOA) ตัวใดตัวหนึ่งของเครื่องลำดังกล่าว ซึ่งเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท โบอิ้งได้ออกคู่มือปฏิบัติการบิน (Operations Manual Bulletin) เพื่อให้ลูกเรือใช้ในการแก้ไขปัญหา ในกรณีที่เซ็นเซอร์ AOA ส่งข้อมูลผิดพลาดให้ทุกสายการบินที่ใช้งานเครื่องบินรุ่นดังกล่าวแล้ว

    ด้านสำนักบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) ก็ได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่า ข้อมูลที่ผิดพลาดของเซ็นเซอร์ AOA นั้น จะส่งผลให้แพนหางระดับ (horizontal stabilizers) พยายามกดส่วนหัวของเครื่องบินให้ต่ำลงอยู่เรื่อยๆ จนยากแก่การควบคุมเครื่อง

    ทั้งนี้ การตรวจสอบเที่ยวบิน ไลออนแอร์ 610 กำลังดำเนินการอยู่และโบอิ้งยังคงให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิกตามคำขอและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐในการสืบสวนอุบัติเหตุตามข้อตกลงระหว่างประเทศ และเตรียมส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานสืบสวนที่รับผิดชอบและคณะกรรมการความปลอดภัยในการขนส่งแห่งชาติของอินโดนีเซีย โดยก่อนหน้านี้บริษัท โบอิ้ง ได้ออกแถลงการแสดงความเสียใจกับการสูญเสียในเหตุการณ์เครื่องบิน ไลออนแอร์ เที่ยวบิน เจที 610 ตกในครั้งนี้ และพร้อมให้ความสำคัญกับทุกคนในครอบครัวของผู้เสียชีวิต