ThaiPublica > สู่อาเซียน > ลาวดันสมุนไพรท้องถิ่นสู้โควิด-19 “ฟ้าทะลายโจร-กระชายขาว-คาวตอง”

ลาวดันสมุนไพรท้องถิ่นสู้โควิด-19 “ฟ้าทะลายโจร-กระชายขาว-คาวตอง”

26 สิงหาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

“ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรท้องถิ่นที่กำลังถูกนำมาใช้รักษาโควิด-19 ที่มาภาพ: เว็บไซต์คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ความหลากหลายของพืชพรรณตามธรรมชาติบนภาคพื้นทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิปัญญาที่ถูกพัฒนาและสะสมมานานนับร้อยปีในดินแดนนี้ กำลังถูกกระตุ้นให้เร่งนำกลับมาใช้ประโยชน์ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นับวันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

สปป.ลาว เป็นประเทศหนึ่งที่มองเห็น และยอมรับความสำคัญในจุดนี้

รัฐบาลลาวกำลังวางแนวทางที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ เพื่อนำพืชสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้ต่อสู้กับโควิด-19 เคียงคู่กับยาแผนปัจจุบัน อันเป็นวิทยาการสมัยใหม่

……

ดร.บุนแฝง พูมมะไลสิด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขลาว ที่มาภาพ: สถานีวิทยกระจายเสียงแห่งชาติลาว

วันที่ 9 สิงหาคม 2564 ดร.บุนแฝง พูมมะไลสิด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว ได้ขึ้นกล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติ สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 เกี่ยวกับมาตรการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขการระบาดของโควิด-19 ของรัฐบาลลาว

ดร.บุนแฝงกล่าวในช่วงหนึ่งว่า จากการค้นคว้าของสถาบันการแพทย์และยาพื้นเมือง กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงผลการศึกษาจากนานาประเทศ พบว่ามีสมุนไพร 3 ประเภท คือ “ลาซาบี” กระชายขาว และผักคาวตอง มีสรรพคุณที่สามารถช่วยในการรักษาอาการป่วยจากโควิด-19 ได้

“ลาซาบี” คือชื่อเรียก “ฟ้าทะลายโจร” ในภาษาลาว หรือในบางท้องถิ่นอาจเรียกว่า “หมากพิกขม” หรือ “พริกขม” ซึ่งมีความหมายเดียวกับชื่อของฟ้าทะลายโจร ที่ถูกเรียกกันในภาษาพม่า

ดร.บุนแฝงกล่าวว่า จากผลการศึกษาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจึงได้สั่งซื้อสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด จากสถาบันการแพทย์และยาพื้นเมือง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับแผนกสาธารณสุขของทุกแขวงทั่วประเทศ นำไปใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ควบคู่ไปกับยาแผนปัจจุบัน และยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยตามอาการที่ปรากฏ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลาวบอกว่า การใช้สมุนไพรเพื่อรักษาโควิด-19 ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 7 วัน จากนั้นให้พักอย่างน้อย 3 วัน จึงค่อยกินต่อ หรือควรปรึกษากับแพทย์ก่อนใช้ จะเป็นการดีที่สุด…

ลาวเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยู่บนภาคพื้นทวีปภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภาครัฐได้ออกมายอมรับอย่างชัดเจนถึงแนวทางการใช้ยาสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่น มารักษาโควิด-19 ควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน และได้มีการนำไปใช้ปฏิบัติอย่างจริงจังแล้วในโรงพยาบาลของรัฐ

จากชื่อสมุนไพรทั้ง 3 ชนิดที่รัฐมนตรีสาธารณสุขลาวกล่าวถึง ไม่แตกต่างจากที่ในประเทศไทยกำลังผลักดันอยู่ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร และกระชายขาว จะมีที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือผัก “คาวตอง”

ผักคาวตอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขลาวได้นำมาเป็น 1 ใน 3 สมุนไพรสำหรับใช้รักษาโควิด-19 ที่มาภาพ: เว็บไซต์ medthai.com

ผักคาวตองหรือพลูคาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Houttuynia cordata Thunb เป็นพืชล้มลุกที่พบได้ทั่วไปในทวีปเอเซีย โดยในประเทศไทยรู้จักกันดีในแถบภาคเหนือ จุดเด่นของผักคาวตองคือเมื่อเคี้ยวใบสดจะมีกลิ่นและรสคาวจัด เหมือนคาวปลา ในภาคเหนือของไทยนิยมกินคาวตองเป็นผักแกล้มลาบ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ medthai.com ระบุว่า สรรพคุณของคาวตองเป็นผักที่มีประโยชน์หลายด้าน เช่น ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย มีฤทธิ์ในการต่อต้านและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยรักษาโรคทางเดินหายใจ แก้ไข้ บรรเทาอาการไอ สามารถรักษาโรคมาเลเรีย โรคปอดบวม ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ฯลฯ

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ไม่กี่วันก่อนหน้ารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขลาว จะขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติ ที่ศาลาว่าการแขวงจำปาสัก ได้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือ และรับรองโครงการนำยาสมุนไพรพื้นเมืองมาใช้รักษาโควิด-19

ที่ประชุมประกอบด้วย วิไลวง บุดดาคำ เจ้าแขวงจำปาสัก เป็นประธาน พอนเทบ พนเสนา ที่ปรึกษางานด้านโควิด-19 แขวงจำปาสัก พระอาจารย์คำตู้ อินทะวง รองเจ้าคณะแขวงจำปาสัก หัวหน้าคณะกรรมาธิการสาธารณูปการ ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลแขวงจำปาสัก แผนกสาธารณสุขแขวงจำปาสัก และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่งเข้าร่วม ที่ประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเมินประสิทธิภาพของยาสมุนไพรพื้นเมืองลาว เปรียบเทียบผลที่ได้รับจากการนำยาสมุนไพรเหล่านั้นไปใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19

วิไลวง บุดดาคำ เจ้าแขวงจำปาสัก เป็นประธานการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนนำพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาใช้รักษาโควิด-19 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

จำปาสักอยู่ในภาคใต้ เป็นอีกแขวงที่มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 สะสมเป็นจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นช่องทางหลักช่องทางหนึ่ง สำหรับการเดินทางกลับประเทศของแรงงานชาวลาวที่เคยทำงานอยู่ในประเทศไทย และต้องประสบปัญหาตกงานจากการระบาดของโควิด-19 แรงงานเหล่านี้ หลายคนติดโควิด-19 จากประเทศไทย ก่อนข้ามกลับเข้ามายังฝั่งลาว

แรงงานจำนวนมากที่เดินทางกลับเข้ามาในแขวงจำปาสัก ไม่สอดคล้องกับปริมาณยาแผนปัจจุบันที่เตรียมไว้สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทำให้เกิดสถานการณ์มียาไม่เพียงพอ ฝ่ายสาธารณสุขแขวงจำปาสักจึงได้เริ่มนำยาสมุนไพร เช่น กระชายขาว ไปใช้ร่วมในการรักษาด้วย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษา หรือวางแนวทางการใช้สมุนไพรเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ

วิไลวง บุดดาคำ เจ้าแขวงจำปาสัก ได้กำชับต่อที่ประชุม ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งวางแผนงาน ตั้งคณะรับผิดชอบงานแต่ละด้าน แบ่งสรรหน้าที่รับผิดชอบของผู้ช่วยชาญแต่ละคน รวมถึงกำหนดพื้นที่ซึ่งจะใช้ยาสมุนไพรมารักษาโควิด-19 เพื่อให้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้วิเคราะห์ถึงประสิทธิผลของการรักษา และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนาการใช้ยาสมุนไพรของลาวในระยะยาวต่อไปในอนาคต…

ที่ผ่านมา ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนว่า กระทรวงสาธารณสุขลาวได้นำยาแผนปัจจุบันชนิดใดมาใช้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในลาว แต่เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวนับแต่โควิด-19 เริ่มต้นระบาดในลาวเมื่อเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา จีนเป็นประเทศที่มีบทบาทมากในการให้ความช่วยเหลือแก่ลาวในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีทีมแพทย์ชุดใหญ่จากมณฑลยูนนาน เดินทางเข้ามาในลาว เพื่อร่วมให้การรักษาผู้ป่วยแล้วอย่างน้อย 2 ชุด รวมถึงมีแพทย์จากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ที่อยู่ประจำ คอยให้คำปรึกษาแก่แพทย์ของกองทัพประชาชนลาว ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

นอกจากนี้ยังมีทีมแพทย์จากเวียดนามอย่างน้อยอีก 1 ชุด ที่เคยเดินทางมาให้คำแนะนำ และร่วมให้การรักษากับทีมแพทย์ลาว โดยเฉพาะในแขวงภาคกลางลงไปถึงภาคใต้

ปัจจุบัน นอกจากสถาบันการแพทย์และยาพื้นเมือง ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขลาวแล้ว ยังมีภาคเอกชนของลาวอีกหลายราย ที่มีโรงงานแปรรูปสมุนไพรเพื่อนำมาผลิตเป็นยาพื้นเมืองออกจำหน่ายเป็นการทั่วไป

“ลาซาบี” หรือฟ้าทะลายโจรแบบหยาบบรรจุแคปซูล ซึ่งมีการผลิตและจำหน่ายโดยผู้ประกอบการลาว ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กของขันทอง คำวิไลทอง เจ้าของบริษัทเวียงทอง เทรดดิ้ง

มีผู้ผลิตรายใหญ่คือบริษัทเวียงทอง เทรดดิ้ง ซึ่งมีโรงงานและสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองสีสัดตะนาก นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาจากสมุนไพรมากกว่า 200 ชนิด ในยี่ห้อ “กระทิงทอง” และเป็นบริษัทที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุขลาว รวมถึงยังเป็นแหล่งสำหรับดูงานและฝึกงานของนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวอีกด้วย…

การวางแนวพัฒนายาสมุนไพรของลาว ไม่ได้เป็นความเคลื่อนไหวเฉพาะที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น แต่มีหลายหน่วยงานในระดับรัฐบาลกลาง ที่กำลังลงทุนวางโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาในระดับประเทศอยู่ในขณะนี้

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่โรงแรมแลนด์มาร์ก นครหลวงเวียงจันทน์ ได้มีการเซ็นสัญญาสัมปทานโครงการปลูกพืชเป็นยาและสวนยาพื้นเมือง ของกองทัพประชาชนลาว คู่สัญญาได้แก่ กรมเสนารักษ์ กรมใหญ่พลาธิการกองทัพ กองทัพประชาชนลาว กับบริษัทอู่คำ ที่ปรึกษา จำกัด

ผู้ร่วมเซ็นสัญญา ประกอบด้วย พลจัตวา ดร.คำแพง พูมมะแก้ว หัวหน้ากรมเสนารักษ์ และยมมาลา อู่คำ ผู้อำนวยการ บริษัทอู่คำ ที่ปรึกษา จำกัด โดยมี พลโท ทองลอย สิลิวง รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน

พิธีเซ็นสัญญาสัมปทานโครงการปลูกพืชเป็นยาและสวนยาพื้นเมือง ระหว่างกรมเสนารักษ์ กรมใหญ่พลาธิการกองทัพประชาชนลาว กับบริษัทอู่คำ ที่ปรึกษา เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่มาภาพ: เว็บไซต์กองทัพประชาชนลาว

โครงการนี้ กองทัพประชาชนลาวได้ให้ความสำคัญไว้ในระดับสูง โดยจะนำที่ดินยุทธศาสตร์ รวมถึงที่ดินว่างเปล่าซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกองทัพที่มีอยู่ทั่วประเทศ มอบเป็นสัมปทานให้แก่บริษัทอู่คำฯ นำไปพัฒนา สร้างเป็นสวนป่าสมุนไพรครบวงจร ศูนย์ศึกษา ค้นคว้า วิจัยด้านการแพทย์ของกองทัพ โรงงานผลิตยาจากพืชสมุนไพร และบางจุดจะสร้างเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักอาศัยร่วมอยู่ด้วย

ยมมาลา อู่คำ ผู้อำนวยการ บริษัทอู่คำ ที่ปรึกษา เปิดเผยว่าโครงการนี้มีอายุสัมปทาน 50 ปี คาดว่าต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดของพืชสมุนไพรที่จะนำไปปลูกในพื้นที่ แต่เธอบอกว่าเป็นพืชที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีหวงห้ามตามแจ้งการของสำนักงานนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 173/หสนย. ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564

สำหรับผลผลิตยาสมุนไพรที่ได้จากโครงการนี้ นอกจากจะถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วยภายในประเทศลาวเองแล้ว ยังมีแผนจะส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศอีกด้วย…

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ได้มีการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันการแพทย์และการยาพื้นเมือง กรมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กับบริษัทคัลติวา จำกัด (Cultiva) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของลาว

ผู้ลงนามใน MOU ประกอบด้วย ดร.บุนเลื่อน ดวงเดือน หัวหน้าสถาบันการแพทย์และการยาพื้นเมือง และพอนสะหวัน ฟาม ผู้อำนวยการ บริษัทคัลติวา โดยมี ดร.บุนแฝง พูมมะไลสิด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข, สมพัน แพงคำมี อดีตรองประธานสภาแห่งชาติลาว และ ดร.บุนกอง สีหาวง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยาน

สถาบันการแพทย์และการยาพื้นเมือง เซ็น MOU ให้บริษัทคัลติวาเป็นผู้สร้างห้องทดลอง เพื่อใช้ศึกษาวิจัย ก่อนให้การรับรองมาตรฐานยาที่ผลิตจากพืชสมุนไพรท้องถิ่นของลาว เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

เนื้อหาใน MOU บริษัทคัลติวาจะสร้างอาคารและห้องทดลองที่ได้มาตรฐานสากลสำหรับค้นคว้า วิจัย เกี่ยวกับพืชเป็นยาและพืชเศรษฐกิจ บทบาทของห้องทดลองแห่งนี้ จะหน่วยงานที่จะกำหนดมาตรฐานของพืชสมุนไพร และยาที่ผลิตจากพืชสมุนไพรในลาว รวมถึงเป็นสถาบันกลางที่สามารถให้ใบรับรองคุณภาพและความปลอดภัยของยาที่ผลิตจากพืชสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจของลาว ที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล

สถาบันการแพทย์และการยาพื้นเมือง เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ในสมัยนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด โดยมี ดร.บุนกอง สีหาวง เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข โดยให้ขึ้นกับกรมอาหารและยา มีบทบาทในการพัฒนาการนำพืชสมุนไพรพื้นเมืองมาผลิตเป็นยารักษาโรค

……

บนภาคพื้นทวีป ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายของทรัพยากร โดยเฉพาะพืชพรรณที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ในแต่ละท้องถิ่นล้วนมีภูมิปัญญาและองค์ความรู้เป็นจำนวนมาก ที่ถูกพัฒนาและสะสมเอาไว้มานานนับร้อยปี

การอุบัติขึ้นของโควิด-19 ได้กระตุ้นให้เกิดการขวนขวาย เพื่อดึงภูมิปัญญาเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์ ก่อนองค์ความรู้ที่มีคุณค่าเหล่านี้จะถูกกลืนจนสูญหายไปกับวิทยาการสมัยใหม่ ที่ส่วนใหญ่ถูกพัฒนามาจากภายนอก…